วันนี้ (6 เมษายน 2559) แกนนำสตรีชนเผ่าพื้นเมือง เปิดเวทีประชุมสมาชิกสภาชนเผ่าพื้นเมือง วิเคราะห์สถานการณ์ที่กระทบต่อสตรีชนเผ่าฯ หารือทางออกและแนวทางแก้ไข ผ่านกลไกสภาชนเผ่าพื้นเมืองแห่งประเทศไทย
สืบเนื่องจากคราวประชุมสมัชชาประจำปี 2558 ว่าด้วยสภาชนเผ่าพื้นเมืองแห่งประเทศไทย เมื่อวันที่ 9 สิงหาคม 2558 ณ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้มีการรับรองสมาชิกสภาจำนวน 190 คน จาก 38 กลุ่มชาติพันธุ์ และสภาชนเผ่าพื้นเมืองระดับพื้นที่ 2 แห่ง โดยในจำนวนนี้มีตัวแทนที่เป็นผู้หญิงจำนวน 67 คน ทั้งนี้เพื่อให้ตัวแทนสมาชิกสภาที่เป็นผู้หญิงสามารถทำบทบาทของตนเองได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทางสำนักงานสภาชนเผ่าพื้นเมืองแห่งประเทศไทย ร่วมกับเครือข่ายสตรีชนเผ่าในประเทศไทย จึงได้จัดเวทีประชุมเชิงปฏิบัติการเพื่อพัฒนาบทบาทผู้แทนสตรีที่เป็นสมาชิกสภาชนเผ่าพื้นเมืองแห่งประเทศไทย ขึ้นมาในระหว่างวันที่ 7-8 เมษายน 2559 ณ ศูนย์ฝึกอบรมงานพัฒนาชนเผ่าพื้นเมือง สมาคม IMPECT อ.สันทราย จ.เชียงใหม่
ทั้งนี้เพื่อร่วมกันวิเคราะห์สถานการณ์ในพื้นที่ที่กระทบต่อผู้หญิงชนเผ่าพื้นเมือง และทำความเข้าใจกิจการของสภาฯ และร่วมออกแบบบทบาทของสมาชิกสภาที่เป็นผู้หญิงให้สามารถสนับสนุนงานเครือข่ายและงานสภาชนเผ่าพื้นเมืองแห่งประเทศไทยได้อย่างมีประสิทธิภาพ รวมทั้งร่วมพัฒนากลไกและจัดทำแผนงานขับเคลื่อนกิจการสภาฯ ให้เกิดความชัดเจนและพร้อมขับเคลื่อนอย่างรูปธรรม
นางสาวคะติมะ หลี่จา สมาชิกสภาชนเผ่าพื้นเมืองแห่งประเทศไทย ชนเผ่าลีซู จากจังหวัดเชียงใหม่ กล่าวว่า “สถานการณ์ที่สตรีชนเผ่าพื้นเมืองประสบอยู่มีหลายเรื่องมาก แต่ที่ต้องการให้เกิดการแก้ไขอย่างเร่งด่วนที่สุดคือ ปัญหาเรื่องการขาดสิทธิในที่ดิน ที่อยู่อาศัย ที่ทำกิน และพื้นที่ตามความเชื่อดั้งเดิมของชนเผ่าพื้นเมือง วันนี้คาดหวังว่าสภาชนเผ่าฯ จะเป็นพื้นที่ส่งเสริมและพัฒนาศักยภาพให้กับแกนนำสตรีชนเผ่าพื้นเมือง มีบทบาทในการแก้ไขปัญหาต่างๆ ได้อย่างเท่าเทียมกับผู้ชาย”
ด้านตัวแทนจากภาคใต้ กานดา ประโมงกิจ ชาวอูรักลาโวยจ จากเกาะสิเหร่ จังหวัดภูเก็ต กล่าวว่า “ชนเผ่าพื้นเมืองทางใต้ ที่ประกอบด้วย มอแกน มอแกลน และอูรักลาโวยจ ก็ประสบปัญหาขาดสิทธิในที่ดิน ที่อยู่อาศัย ที่ทำกิน และพื้นที่ประกอบพิธีกรรม ประกอบกับความขัดแย้งกับทุนใหญ่ในพื้นที่ ปัจจุบันมีชาวบ้านถูกฟ้องร้องดำเนินคดีอยู่มากมาย อยากเห็นกลไกของสภาชนเผ่าพื้นเมืองฯ เป็นศูนย์รวมพลังชนเผ่า โดยเฉพาะสตรีชนเผ่าพื้นเมือง ในการสะท้อนเสียง เรียกร้องสิทธิของชนเผ่าฯ หากไม่มีสภา สตรีชนเผ่าก็อาจไม่มีความเข้มแข็งเหมือนทุกวันนี้”
อย่างไรก็ตาม กลไกสภาชนเผ่าพื้นเมืองแห่งประเทศไทย ไม่ได้ทำหน้าที่ในการแก้ไขปัญหาเท่านั้น แต่ยังเป็นพื้นที่สำคัญที่ส่งเสริมให้ชนเผ่าพื้นเมืองได้ดำรงรักษาอัตลักษณ์ ภาษา วัฒนธรรม ประเพณีและวิถีชีวิตอันดีงาม รวมทั้งเผยแพร่สู่สังคมด้วย.