เรื่องราวที่ทุกท่านกำลังอ่านอยู่นี้ เป็นเรื่องราวที่ผมกล่าวอ้างจากประสบการณ์ตรงที่ได้เข้าไปร่วมกิจกรรมและเรียนรู้ด้วยตนเองในช่วงสิบปีที่ผ่านมา ไม่ได้เป็นข้อมูลทางวิชาการจากแหล่งใด ๆ ดังนั้นเนื้อหาจึงไม่อาจนำไปกล่าวอ้างอิงเป็นข้อมูลเชิงวิชาการได้ การร่วมกิจกรรมเพื่อสานความสัมพันธ์ของชาวลีซูในระดับนานาชาตินั้น ก่อเกิดขึ้นอยู่เสมอ ๆ ทั้งนี้จากการเปิดประเทศและความเจริญทางด้านการคมนาคมและเทคโนโลยีทางการสื่อสารต่าง ๆ นั้น สามารถสร้างการรับรู้และเรียนรู้ได้อย่างก้าวไกล จนก่อให้เกิดการโหยหาการสืบค้นรากเหง้าความเป็นชาติพันธุ์ของตัวเองสำหรับชาวลีซูจากจีน เมียนมา และไทย
สำหรับการเข้าร่วมการประชุมและงานลีซูนานาชาติของแกนนำลีซูไทยนั้น ได้ก่อตัวขึ้นจากการเริ่มต้นของ อาจารย์เจริญ สินลี้ และผู้นำลีซูอีกหลาย ๆ ท่าน ซึ่งเป็นแกนนำในการประสานงานและเชื่อมความสัมพันธ์ระหว่างลีซู ประเทศต่าง ๆ ทั้งจากประเทศจีน เมียนมา และอื่น ๆ ที่มีพี่น้องชาวลีซูอาศัยอยู่ ต่อมายังได้มีการประสานผ่านและส่งต่อมายังแกนนำลีซูท่านอื่น ๆ ตามประเด็นงาน เช่น คุณอรอนงค์ (โจเม) แสนยากุล (ด้านการท่องเที่ยว) คุณอธิวัฒน์ เลาหมู่ (ด้านเศรษฐกิจและการค้า) คุณสิริญา (ซันนี่) ปูเหล็ก (ด้านองค์ความรู้ด้านประวัติศาสตร์ความเป็นมาและสุขภาพ) และคุณศักดิ์ดา แสนมี่ (ด้านวิชาการและงานพัฒนา) เป็นต้น กิจกรรมและความสัมพันธ์ของลีซู มีความชัดเจนและเป็นรูปธรรมมากขึ้น โดยเริ่มจากงานด้านวัฒนธรรมและดนตรีลีซู โดยมีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกันระหว่างผู้รู้ลีซูระหว่างประเทศอย่างสม่ำเสมอ จนเกิดการจัดเวทีลีซูนานาชาติตามมาอย่างต่อเนื่อง เท่าที่ผมจำได้และเข้าร่วมด้วย ได้แก่
ครั้งที่ 1 จากการเดินทางเพื่อศึกษาและแลกเปลี่ยนวิถีชีวิตและร่วมเวทีประชุมวัฒนธรรมลีซูนานาชาติอย่างเป็นทางการ ระหว่างวันที่ 27 เมษายน-10 พฤษภาคม 2558 ที่เขตปกครองพิเศษของลีซูนู่เจียง มณฑลยูนาน ประเทศจีน ซึ่งในครั้งนั้นมีการแต่งตั้งคณะกรรมการร่วมของลีซู 3 ประเทศอีกด้วย คือ จีน เมียนมา และไทย ซึ่งในส่วนประเทศไทยมีแกนนำลีซูไปร่วมเป็นกรรมการ 3 ท่านด้วยกัน
ครั้งที่ 2 งานมหกรรมวัฒนธรรมลีซู ที่เมืองมิตจิน่า รัฐคะฉิ่น ประเทศเมียนมา ระหว่างวันที่ 14-19 กุมภาพันธ์ 2559
ครั้งที่ 3 งานประชุมนานาชาติว่าด้วยการสืบสานวิถีวัฒนธรรมลีซูและการพัฒนาที่ยั่งยืน (International Conference on Lisu Cultural Inheritance and Sustainable Development) ระหว่างวันที่ 23-25 กุมภาพันธ์ 2561 บ้านศรีดงเย็น ต.บ้านช้าง อ.แม่แตง จ.เชียงใหม่ ประเทศไทย จัดโดยความร่วมมือของสมาพันธ์ลีซูนานาชาติแห่งประเทศไทย (Thailand International Lisu Fellowship Alliance: TILFA) ร่วมกับภาคีองค์กรและเครือข่ายลีซูในประเทศไทย และรัฐบาลจากประเทศที่มีประชากรลีซู (ไทย จีน เมียนมา และอินเดีย)
ครั้งที่ 4 เวที “MYANMAR ETHNICS CULTURE FESTIVAL” ระหว่างวันที่ 23-28 มกราคม 2562 ณ สนามกีฬากลางเมืองย่างกุ้ง ประเทศเมียนมา แม้จะเป็นการจัดกิจกรรมเพื่อให้ชนเผ่าต่าง ๆ ในประเทศเมียนมา จำนวน 135 กลุ่มชาติพันธุ์ ได้มารวมกันเพื่อแสดงกิจกรรมภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมและทิศทางการพัฒนาทางเศรษฐกิจของชนเผ่าต่าง ๆ แต่ในกิจกรรมนี้สมาพันธ์ลีซูนานาชาติแห่งประเทศไทยและเครือข่ายลีซูแห่งประเทศไทยได้รับเชิญให้เข้าร่วมกิจกรรมนี้ด้วย และมีผู้แทนลีซูจากประเทศไทยได้เข้าร่วม จำนวน 12 ท่านด้วยกัน แม้ไม่ได้มีการประชุมอย่างเป็นทางการของคณะกรรมการหรือผู้แทนลีซูจากแต่ละประเทศก็ตาม แต่มีการพบปะพูดคุยในวงย่อยอย่างไม่เป็นทางการของแกนนำในระดับต่าง ๆ ด้วย นับว่ามีความสำคัญต่อทิศทางการขับเคลื่อนงานพัฒนาของชาวลีซูแต่ละประเทศอย่างสร้างสรรค์ จนเกิดเป็นแผนงานความร่วมมือและการสร้างสะพานเชื่อมการเรียนรู้ต่อกัน เป็นดั่งคำมั่นสัญญาที่ให้ไว้ต่อกัน โดยเฉพาะในคราวจัดงานมหกรรมวัฒนธรรมลีซูในปี 2559 ที่เมืองมิตจิน่า ประเทศเมียนมา จากการเข้าร่วมงานเหล่านี้ ได้เป็นฐานในการพัฒนาและสร้างการเรียนรู้ร่วมกันอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะที่เกิดสิ่งดี ๆ ที่ผมพอสรุปได้ดังนี้
- การสร้างกระบวนการเรียนรู้แลกเปลี่ยนประสบการณ์และได้บทเรียนเกี่ยวกับการจัดกระบวนการเรียนรู้ภาษา การร้องเพลง ดนตรี และการสืบสานวิถีวัฒนธรรมลีซู รวมทั้งได้ร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้และแสดงออกถึงคุณค่าของมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมลีซูด้วยกัน
- เกิดการเรียนรู้งานพัฒนาชุมชนและองค์กรสำหรับชาวลีซูที่สนับสนุนเกื้อหนุนและเชื่อมโยงกับการขับเคลื่อนงานขบวนของเครือข่ายลีซูในประเทศต่าง ๆ
- เกิดเครือข่ายความร่วมมือในการพัฒนาสังคม เศรษฐกิจ การท่องเที่ยว โดยเริ่มจากต้นทุนที่แต่ละประเทศ มาสู่การวิเคราะห์ความเป็นไปได้ และพัฒนาขีดความสามารถในทุกระดับ
- มีการเรียนรู้เมล็ดพันธุ์พืชพื้นบ้าน ผลผลิตทางวัฒนธรรมอาหารและหัตถกรรมลีซู และผลงานทางวิชาการที่เกี่ยวกับลีซู ให้ได้เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ที่กว้างขวางและเผยแพร่สู่สาธารณะมากขึ้น
- ที่สำสำคัญคือเกิดความรัก ความเอื้ออาทร การชื่นชม และการเสริมพลังต่อกัน จนสร้างเป็นเวทีที่สร้างความสุขกันถ้วนหน้าอย่างเห็นได้ชัดจากรอยยิ้มที่มีให้เห็นกันอย่างอบอุ่นตลอดงาน
นอกจากกิจกรรมที่เป็นเวทีอย่างเป็นทางการแล้ว ยังมีเวทีย่อย ๆ ทั้งที่เป็นการสร้างโดยบุคคลและคณะบุคคลในการจัดกิจกรรม ได้ช่วยเชื่อมความสัมพันธ์ของชาวลีซูไทยกับลีซูประเทศต่าง ๆ อย่างสม่ำเสมอตลอดเวลา ซึ่งเป็นแรงผลักที่สำคัญที่ทำให้เกิดการสร้างความเข้มแข็งและการยอมรับลีซูไทยในเวทีนานาชาติด้วยอีกทางหนึ่ง
สำหรับการเข้าร่วมงานครั้งที่ 5 คือ งานมหกรรมนานาชาติว่าด้วยการสืบสานวิถีวัฒนธรรมลีซูและการพัฒนาที่ยั่งยืน ครั้งที่ 2 (2nd International Festival on Lisu Cultural Inheritance and Sustainable Development) ระหว่างวันที่ 26-28 มีนาคม 2562 ที่บ้านศรีดงเย็น ต.บ้านช้าง อ.แม่แตง จ.เชียงใหม่ ซึ่งเป็นการจัดงานนานาชาติของชาวลีซูครั้งที่ 2 ในประเทศไทย ซึ่งการจัดงานในครั้งนี้มีความสำคัญยิ่ง นับเป็นการแสดงพลังความร่วมมือและเป็นการร่วมกำหนดทิศทางการพัฒนาของลีซูไทยในอนาคต รวมทั้งแสวงหาแนวทางความร่วมมือในการพัฒนาคุณภาพชีวิตพี่น้องชาวลีซูในระดับประเทศและนานาชาติด้วย จึงต้องอาศัยพลังจากชาวลีซูทุกคนในการร่วมเป็นเจ้าภาพจัดงานครั้งนี้ให้ลุล่วงด้วยดี มีความสามัคคีเป็นเจ้าบ้านที่ดีในการต้อนรับผู้นำและตัวแทนเครือข่ายลีซูจากนานาประเทศอย่างอบอุ่นและงดงามตามประเพณีของชาวลีซูด้วยกันนะครับ
ผมต้องขอขอบคุณสมาพันธ์ลีซูนานาชาติแห่งประเทศไทย และเครือข่ายลีซูแห่งประเทศไทย ที่สร้างโอกาสและเปิดพื้นที่ให้ผมได้เข้าร่วมเวทีต่าง ๆ ซึ่งเป็นการร่วมเดินทางที่เต็มไปด้วยความรัก ความอบอุ่น มากด้วยการเรียนรู้ที่มีความหมาย มีคุณค่า มีประโยชน์ต่อการทำงานเพื่อชุมชนและสังคมของชาวลีซูต่อไป
เรื่องราวเหล่านี้ เป็นข้อสังเกตจากการเข้าร่วมกิจกรรมเวทีต่าง ๆ ของลีซูที่ผ่านมาของผม (นายสุพจน์ หลี่จา) ซึ่งอาจจะมีความคลาดเคลื่อนในข้อมูลบ้าง หรือกล่าวอ้างผู้หนึ่งผู้ใดบ้างหรือไม่ได้กล่าวถึง ก็ต้องขออภัยไว้ ณ ที่นี้ด้วย ผมไม่ได้มีเจตนาเป็นอย่างอื่น นอกจากหวังให้เกิดการเรียนรู้ร่วมกันตลอดไปครับ
ด้วยจิตคาราวะ…นายสุพจน์ หลี่จา