เมล็ดพันธุ์พูดได้

เมล็ดพันธุ์พูดได้ เป็นการการสื่อสารเรื่องราวจากชุมชนผ่านเมล็ดพันธุ์พืชพื้นบ้าน ในงานสมัชชาความมั่นคงทางอาหารชาติพันธุ์และชนเผ่าพื้นเมืองแห่งประเทศไทย จัดขึ้นที่สมาคมศูนย์รวมการศึกษาและวัฒนธรรมของชาวไทยภูเขาในประเทศไทย ระหว่างวันที่ 10 – 11 มิถุนายน 2562 มีกลุ่มชาติพันธุ์กว่า 21 กลุ่มนำเมล็ดพันธุ์พื้นบ้านของตนเองมาจัดแสดง พร้อมทั้งบอกเล่าองค์ความรู้ดั้งเดิมในการใช้ประโยชน์พืชแต่ละชนิด ทั้งนำมาประกอบอาหาร ใช้เป็นพืชสมุนไพรและพืชบางชนิดใช้ประกอบพิธีกรรมตามความเชื่อได้ด้วย

การสาธิตอาหารพื้นบ้านมีหลากหลายเมนูที่น่าสนใจ เช่น “ลาบพริก” ชนเผ่าบีซู จากจังหวัดเชียงราย เป็นการทำอาหารจากวัตถุดิบมีรสชาติเผ็ดร้อน เช่น พริกสด ตะไตร้ ใบชะพลู และหัวปลีกล้วยป่า เป็นต้น ส่วนชนเผ่า “ญัฮกุร” จากจังหวัดชัยภูมิ ก็นำเมนู “เมี่ยง” ที่มีส่วนประกอบจากผักพื้นบ้านมานำเสนอ

ส่วนประกอบ “ลาบพริก” ชนเผ่าบีซู จังหวัดเชียงราย

การจัดงานครั้งนี้ หวังให้ชนเผ่าพื้นเมืองและกลุ่มชาติพันธุ์ได้สำรวจดูสถานะของพันธุ์พืชดั้งเดิมว่าเหลืออยู่มากน้อยเพียงใด มีผู้รู้หรือปราชญ์ที่เชี่ยวชาญการใช้พืชสมุนไพรเหลือกี่คน ตลอดจนสำรวจดูแนวโน้มของคนรุ่นใหม่ที่สนใจสืบทอดองค์ความรู้ดั้งเดิมเหล่านี้ และสาเหตุของการเปลี่ยนแปลงด้วย

จากผลการสำรวจพบว่าสาเหตุหลักที่ทำให้เมล็ดพันธุ์ดั้งเดิมสูญหาย หรือใกล้สูญพันธุ์นั้น ส่วนหนึ่งมาจากการสนับสนุนพืชเชิงเดี่ยวซึ่งส่งผลกระทบโดยตรงต่อการอนุรักษ์และขยายพันธุ์ของพืชท้องถิ่น นโยบายที่กีดกันไม่ให้ชุมชนเข้าไปเก็บหรือใช้ประโยชน์พืชสมุนไพรที่อยู่ในเขตป่าอนุรักษ์ก็เป็นสาเหตุสำคัญด้วย ส่วนองค์ความรู้ด้านสมุนไพรก็มักสูญหายไปพร้อมกับผู้สูงอายุที่จากไป เพื่อให้มีการฟื้นฟูเมล็ดพันธุ์พืชอย่างจริงจัง หลายคนสะท้อนว่าภาครัฐ ตั้งแต่ระดับท้องถิ่นถึงระดับนโยบายต้องให้การสนับสนุนและส่งเสริมอย่างจริงจัง ควรบรรจุองค์ความรู้ด้านสมุนไพรพื้นบ้านให้อยู่ในหลักสูตรการศึกษาท้องถิ่นด้วย นอกจากนี้ยังมีการเริ่มต้นพูดคุยถึงแนวทางการสร้างมูลค่าจากการแปรรูปผลผลิตเหล่านี้ด้วย

IMN เครือข่ายสื่อชนเผ่าพื้นเมือง