บ้านแม่จอก ไร้ไฟฟ้า-สัญญาณมือถือ แต่มีซุปเปอร์มาร์เก็ตขนาดหมื่นไร่

แม้ไม่มีไฟฟ้าใช้ สัญญาณโทรศัพท์เข้าไม่ถึง และมีการปิดชุมชนถึง 3 เดือน เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโรคโควิด แต่ชาวบ้านแม่จอกกว่า 50 ครัวเรือนไม่ต้องกังวลเรื่องอาหาร เพราะมีผืนป่าที่ชุมชนร่วมกันดูแลมากกว่า 1 หมื่นไร่เป็นแหล่งอาหารหลัก เปรียบเสมือนซุปเปอร์มาเก็ตที่เข้าไปเก็บอาหารได้ตลอดเวลา ต่างกันตรงที่ไม่ต้องจ่ายเป็นตัวเงิน แต่จ่ายด้วยน้ำพักน้ำแรงในการร่วมกันดูแลรักษาป่าแทน

สภาพพื้นที่ทำกินและป่าใช้สอยบ้านแม่จอก /พนม ทะโน – imnvoices.com

บ้านแม่จอก ชื่อที่ไม่ค่อยคุ้นหูสำหรับหลายคน เป็นหมู่บ้านชาวปกาเกอญอ อยู่ในตำบลป่าแป๋ อำเภอแม่แตง จังหวัดเชียงใหม่ ใช้เวลาเดินทางจากตัวเมืองประมาณ 3 ชั่วโมงเศษบนถนนสายแม่มาลัย-ปาย เลี้ยวขวาตรงบ้านแม่แสะ ลงเขาไปเพียง 5 กิโลเมตร ก็จะเจอกับหมู่บ้านเล็ก ๆ ล้อมรอบไปด้วยป่าไม้อุดมสมบูรณ์ มีน้ำแม่จอกไหลผ่านหล่อเลี้ยงชาวบ้านกว่า 300 ชีวิต ซึ่งส่วนใหญ่ทำนาขั้นบันได และบางครอบครัวยังทำไร่หมุนเวียนอยู่ จากบันทึกพบว่าบ้านแม่จอกได้ตั้งชุมชนถาวรอยู่ที่นี่กว่า 130 ปีแล้ว

ในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิดที่ผ่านมา บ้านแม่จอกเป็นอีกหนึ่งชุมชนที่ได้ปิดหมู่บ้านห้ามคนเข้าออกเด็ดขาดในระยะแรกเป็นระยะเวลา 15 วัน และต่อมามีการสร้างประตูล็อคกุญแจ จำกัดการเข้าออกเฉพาะกรณีจำเป็น รวมแล้วเป็นระยะเวลาประมาณ 3 เดือน นับตั้งแต่เดือนมีนาคม ถึง พฤษภาคม ทำให้ไม่สามารถจับจ่ายซื้อของจากภายนอกได้ แล้วต้องหันมาพึ่งพาอาหารที่มีอยู่ในขอบเขตชุมชนอย่างเต็มรูปแบบเหมือนในอดีต

ศุภลักษณ์ มุสุลอย หรือ “แอ๊ะถู่” กำลังเรียนอยู่ชั้นมัธยมปีที่ 5 ในตัวเมืองเชียงใหม่ ต้องกลับมาอยู่บ้านเนื่องจากโรงเรียนปิดทำการสอนช่วงโควิด เล่าให้เราฟังว่า “ชาวบ้านแม่จอกไม่ต้องกังวลเรื่องอาหารการกิน เพราะมีพืชป่าให้เก็บหามากมาย ทั้งพืชที่ขึ้นตามเรือกสวนไร่นา ตามข้างทาง หรือในพื้นที่ป่า มีทั้งผัก หน่อไม้ เห็ดป่า ผลไม้ป่า ในลำห้วยก็มีกุ้งหอยปูปลาให้จับ”

พืชผัก ที่แอ๊ะถู่กับเพื่อน ๆ พาเราไปเก็บจากไร่หมุนเวียนและป่าชุมชน / พนม ทะโน – imnvoices.com

“แอ๊ถู่” เชื่อว่าเหตุที่ชุมชนมีความมั่นคงทางอาหารสูงเช่นนี้ เป็นเพราะทุกคนช่วยกันดูป่าอย่างดีมาโดยตลอด พร้อมทั้งยกคำสอนสุดคลาสสิคของปกาเกอญอมากล่าวว่า “เอาะ ที เก่อ ตอที – เอาะ ก่อ เก่อ ตอ ก่อ” หมายถึง “ใช้น้ำให้รักษาน้ำ ใช้ป่าให้รักษาป่า” นั่นเอง 

คำบอกเล่าของแอ๊ะถู่ สอดคล้องกับข้อมูลที่เคยยื่นขอจดทะเบียนเป็นโฉนดชุมชนเมื่อปี 2554 บ้านแม่จอกมีเนื้อที่รวมทั้งสิ้น 10,713 ไร่ 3 งาน 76 ตารางวา แบ่งเป็นพื้นที่อยู่อาศัย 123 ไร่ ที่ทำกิน 758 ไร่ และพื้นที่ป่าอนุรักษ์กับพื้นที่ป่าใช้สอยรวมกันประมาณ 8800 ไร่ หรือคิดเป็นร้อยละ 88 ของพื้นที่ชุมชนทั้งหมด  ในปี 2553 ระหว่างเดือนมกราคม  ถึง เดือนพฤษภาคม มีการจัดแรงงานชาวบ้านเพื่อดูแลป่า เช่น ทำแนวกันไฟ จัดเวรยามลาดตระเวนในผืนป่าอนุรักษ์ และดับไฟป่ารวมทั้งสิ้น 1,062 แรง หากคิดเป็นเงินวันละ 300 บาทตามอัตราค่าแรงขั้นต่ำ เท่ากับว่าชาวบ้านแม่จอกใช้เงินดูแลป่าในปี 2553 จำนวน 318, 600 บาทเลยทีเดียว

แอ๊ะถู่ กำลังทำอาหารจากวัตถุดิบที่เก็บหาจากป่านุชมชน / พนม ทะโน –  imnvoices.com

แอ๊ะถู่ ทิ้งท้ายกับเราว่า “ในฐานะที่เป็นเยาวชน จะพยายามช่วยดูแลผืนป่าของชุมชนแบบนี้ต่อไป และหวังว่ารุ่นน้อง ๆ ก็จะทำแบบเดียวกัน เพราะตลอดระยะเวลา 3 เดือนที่ผ่านมา เป็นบทพิสูจน์ว่าเมื่อมีป่าสมบูรณ์แม่ในยามวิกฤติก็ไม่อดตาย”  

อ้างอิง: รายงานกิจกรรมการจัดการทรัพยากรธรรมชาติของหมู่บ้านแม่จอก, โครงการเครือข่ายการเรียนรู้ (CMLN), สมาคมศูนย์รวมการศึกษาและวัฒนธรรมของชาวไทยภูเขาในประเทศไทย (IMPECT)