เมื่อช่วงวิกฤติโควิด -19 ที่ผ่านมา เกิดปรากฎการณ์แลกเปลี่ยนข้าวสารอาหารแห้งระหว่างชนเผ่าพื้นเมืองในประเทศไทยโดยเฉพาะ ชาวเลภาคใต้ กับชาวกะเหรี่ยงทางภาคเหนือ และชาวนาภาคอีสาน รวมปริมาณมากกว่าหนึ่งหมื่นกิโลกรัม กิจกรรมนี้ประสบความสำเร็จเป็นอย่างมาก จนนำไปสู่การต่อยอดเพื่อให้เกิดความยั่งยืน พร้อมรับมือกับทั้งการแพร่ระบาดของโควิดรอบที่ 2 และมีความพร้อมแลกเปลี่ยนอาหารทั้งในยามวิกฤตและยามปกติสุข โดยได้นำร่องโครงการไปแล้ว 6 ชุมชน
ทบทวนเหตุการณ์
สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ที่ส่งผลกระทบไปทั่วทุกมุมโลกรวมถึงประเทศไทยด้วย แม้ขณะนี้ประเทศไทยจะได้รับการยอมรับและยกย่องว่าเป็นประเทศที่สามารถรับมือและจำกัดการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ได้ดีเป็นอันดับต้น ๆ ของโลก โดยสถิติ ณ วันที่ 5 ตุลาคม 2563 นับเป็นระยะเวลา 133 วันแล้วที่ไทยไม่พบผู้ติดเชื้อภายในประเทศ (อย่างไรก็ตามประเทศไทยก็เคยผ่านจุดที่สถานการณ์เลวร้ายที่สุดมาก่อนเช่นกัน คือระหว่างช่วงเดือนกุมภาพันธ์ ถึง เดือนเมษายน และเริ่มคลี่คลายลงตั้งแต่ช่วงเดือนพฤษภาคมเป็นต้นมา ในช่วงนั้นรัฐบาลได้กำหนดมาตรการเข้มงวด และทำทุกวิถีทางเพื่อจำกัดการแพร่ระบาดของโรค มีการประกาศเคอร์ฟิว สั่งปิดห้างร้าน สถานบริการที่มีการรวมตัวกันของผู้คน สถานศึกษา เป็นต้น
มาตรการดังกล่าว ค่อนข้างได้ผลในการจำกัดการแพร่ระบาดของโรคโควิด – 19 แต่ก็ส่งผลกระทบให้ประชาชนเดือนร้อนจากการขาดแคลนรายได้ ลูกจ้างประจำหลายพันคนตกงาน กิจการหลายแห่งต้องปิดตัวลง เลวร้ายสุดคือประชาชนเริ่มขาดแคลนอาหารเพราะระบบขนส่งเป็นอัมพาต มีภาพประชาชนออกมาตั้งแถวเพื่อรับอาหารตามจุดบริการต่าง ๆ

อีกสิ่งหนึ่งที่ปรากฎตามพื้นที่สื่อคือ “้น้ำใจและการแบ่งปันของคนไทย” ไม่ว่าจะเป็นการตั้งจุดบริการอาหารแก่คนไร้บ้าน คนตกงาน การตั้งตู้ปันสุขเพื่อแจกจ่ายอาหารแห้งและของใช้จำเป็นแก่ผู้ที่ประสบความเดือดร้อน รวมถึงการแบ่งปันอาหารกันระหว่างชุมชนชนเผ่าพื้นเมืองชาวเลภาคใต้ กับชาวกะเหรี่ยงภาคเหนือผ่านกิจกรรม “ข้าวแลกปลา”
วันที่ 24 มีนาคม 2563 ขบวนรถบรรทุกนำข้าวสารจำนวน 8,000 กิโลกรัม อาหารสดและอาหารแห้งอีกจำนวน 1 ตัน ออกจากจังหวัดเชียงใหม่ มุ่งหน้าสู่ภาคใต้ปลายทางที่หาดราไวย์ จังหวัดภูเก็ต เพื่อนำไปแลกกับปลาของชาวเล โดยครั้งนั้นได้ปลาตากแห้งมาประมาณ 1 ตัน กระจายกลับไปยังชุมชนต้นทาง 40 กว่าชุมชนทางภาคเหนือ ในพื้นที่ 5 จังหวัด ได้แก่ เชียงใหม่ เชียงราย แม่ฮ่องสอน ลำปาง และจังหวัดตาก ซึ่งทั้งหมดนี้เป็นชุมชนกะเหรี่ยงที่ยังคงทำเกษตรด้วยระบบไร่หมุนเวียนอยู่ นอกจากนี้ได้เกิดการต่อยอดกิจกรรมในชื่อ “ข้าวชาวนา แลกปลาชาวเล” โดยเป็นความร่วมมือของชาวนาจังหวัดยโสธร ผู้ว่าราชการจังหวัดพังงา และกองทัพอากาศ ได้ลำเลียงข่าวสาร 5 ตัน และพริกแห้งอีก 1 ตัน ส่งมอบให้ตัวแทนชาวเลในจังหวัดพังงา โดยมีมูลนิธิชุมชนไทย ที่ทำงานใกล้ชิดกับชาวเลเป็นหน่วยประสานงานประจำพื้นที่
จุดเริ่มต้นของ “ข้าวแลกปลา”
ผศ.ดร. สุวิชาน พัฒนาไพรวัลย์ รองคณะบดีฝ่ายเครือข่ายชุมชน วิทยาลัยโพธิวิชชาลัย มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ จังหวัดตาก หรือที่ผู้คนทั่วไปรู้จักเขาในฐานะศิลปินปกาเกอะญอ ในชื่อ “ชิ สุวิชาน” เขาเป็นหนึ่งในบรรดาแกนนำที่ร่วมกันสร้างปรากฏการณ์ “ข้าวแลกปลา” ได้เล่าให้เราฟังถึงจุดเริ่มต้นของกิจกรรมว่า เกิดขึ้นจากสถานการณ์ที่เรียกว่า “เรามีข้าว เขามีปลา”
“เขา” ในที่นี้หมายถึง ชาวเลในภาคใต้ ที่ขาดแคลนข้าวสาร เนื่องจากไม่สามารถเดินทางออกจากเกาะมาซื้อของในเมืองได้ เพราะกิจการร้านค้าต่าง ๆ ปิดชั่วคราวตามมาตรการของรัฐ
ส่วนคำว่า “เรา” หมายถึงชุมชนปกาเกอะญอ หรือชาวกะเหรี่ยงที่ขาดแคลนอาหารแห้ง เพราะนอกจากต้องต่อสู้กับโรคระบาดแล้ว ยังต้องต่อสู้กับไฟป่าที่ลุกลามใกล้ชุมชน ต้องมีการเฝ้าระวังทั้งกลางวันและกลางคืน จึงทำให้ไม่มีเวลาไปเก็บหาอาหารตามปกติได้
ดร. ชิ เล่าต่อว่า กิจกรรมนี้ไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่เป็นการต่อยอดจากกิจกรรมที่มีอยู่เดิมแล้ว โดยจัดขึ้นครั้งแรกในปี ค.ศ. 2014 ที่วิทยาลัยโพธิวิชชาลัย อำเภอแม่สอด จังหวัดตาก เป็นกิจกรรมหนึ่งของงานมหกรรมชนเผ่าพื้นเมือง เพื่อเป็นการเชื่อมมิตรไมตรีระหว่างชนเผ่าพื้นเมืองชาวเลกับชนเผ่าพื้นเมืองทางภาคต่าง ๆ ที่มารวมตัวกันในงานนั้น ต่อจากนั้นก็มีการจัดกิจกรรมนี้ต่อเนื่องทุกปีที่มีการจัดงานเฉลิมฉลองวันสากลชนเผ่าพื้นเมืองโลก ที่จัดโดยสภาชนเผ่าพื้นเมืองแห่งประเทศไทยและองค์กรภาคี

“แต่ถ้าเรามองย้อนกลับไปไกลกว่านั้น ไม่ใช้แค่ชนเผ่าพื้นเมืองที่มีวัฒนธรรมเช่นนี้ คนไทยก็มี เรามักได้ยินคำว่า พริกบ้านเหนือ เกลือบ้านใต้ มันคือวิถีชีวิตชาวบ้านสมัยที่ยังไม่มีการซื้อขาย มีแต่การแบ่งปันและแลกเปลี่ยนกันด้วยสิ่งของ ข้าวสารอาหารแห้ง”
ผศ.ดร. สุวิชาน พัฒนาไพรวัลย์
ดร. ชิ กล่าว พร้อมทั้งอธิบายเพิ่มเติมให้เข้ากับยุคปัจจุบันว่า แท้จริงแล้วคือปฏิบัติการ “P2P” หรือ “People to People” และ “Products to Products” หมายถึงการแบ่งปันระหว่างผู้คนด้วยน้ำจิตน้ำใจ และการแลกเปลี่ยนสิ่งที่เขามีเหลือแต่เราขาด กับสิ่งที่เราขาดแคลนแต่เขามีเหลือใช้ เป็นรูปแบบการพึ่งพากันเองในขั้นต้น โดยที่ไม่ต้องรอให้หน่วยงานรัฐหรือคนภายนอกยื่นมือเข้ามาช่วยเหลือเพียงอย่างเดียว เป็นการแลกเปลี่ยนระหว่างประชาชนกับประชาชน และผู้ผลิตกับผู้ผลิต
ต่อยอดสู่ความยั่งยืน
เพื่อต่อยอดกิจกรรม “ข้าวแลกปลา” ให้มีความยั่งยืน จำเป็นต้องมีการวางระบบใหม่หลายด้าน รวมทั้งนำบทเรียนและข้อท้าทายจากกิจกรรมครั้งที่แล้ว มาปรับปรุงให้ดีขึ้น ดร. ชิ สุวิชานมองว่า จำเป็นต้องสร้างพื้นที่ หรือแพลทฟอร์มขึ้นมารองรับ โดยมีองค์ประกอบหลัก 3 ส่วนคือ
- ระบบ (System) เป็นแหล่งรวบรวมข้อมูลทรัพยากรที่แต่ละชุมชนมีอยู่ ซึ่งไม่จำกัดอยู่แค่ข้าวสารและปลาแห้งอีกต่อไป แต่หมายรวมถึงผลผลิตทางการเกษตรที่แต่ละชุมชนมีอยู่และต้องการจะแลกเปลี่ยนกับชุมชนภายนอก เป็นฐานข้อมูลเพื่อจับคู่กับชุมชนปลายทาง หน่วยงานราชการ ภาคเอกชนที่ต้องการซื้อขายหรือแลกเปลี่ยนผลิตภัณฑ์กับชุมชนชนเผ่าพื้นเมือง
- พื้นที่จัดเก็บ (Storage) สำหรับพักผลผลิตจากชุมชนก่อนนำไปแลกเปลี่ยน
- ระบบขนส่ง (Logistic) ต้องเป็นระบบการขนส่งที่เอื้อต่อบริบทของชุมชน ตัดวงจรพ่อค้าคนกลาง เอื้อให้คนต้นทางกับปลายทางแลกเปลี่ยนของกันได้โดยตรง ให้สอดคล้องกับแนวคิด “People to People”

ปัจจุบัน ดร. ชิ ได้นำร่องกิจกรรมนี้กับชุมชนกะเหรี่ยง 6 ชุมชน ในอำเภอท่าสองยาง จังหวัดตาก ซึ่งเป็นชุมชนที่ยังคงวิถีการทำกินแบบไร่หมุนเวียนอยู่ โดยคาดว่ามีพื้นที่ปลูกข้าวไร่รวมประมาณ 3,600 ไร่ โครงการนี้ได้รับความร่วมมือจากอาสาสมัคร ที่เป็นเยาวชนของแต่ละชุมชนจำนวน 65 คน ทำหน้าที่สำรวจข้อมูลในเบื้องต้น เพื่อดูว่าแต่ละชุมชนเก็บเกี่ยวผลผลิตแต่ละชนิดได้เท่าไหร่ แบ่งไว้จำหน่ายและบริโภคในครัวเรือนเท่าไหร่ ต้องการแลกเปลี่ยนมากน้อยเพียงใด และแลกเปลี่ยนกับอะไรบ้าง โดยคาดว่าการสำรวจข้อมูลจะแล้วเสร็จในเดือนตุลาคมนี้
“การแลกเปลี่ยนจะขึ้นอยู่กับชุมชนว่าเขาต้องการอะไร เช่น ชุมชนผลิตข้าวอินทรีย์ได้เยอะ แต่ลูกหลานยังขาดแคลนเครื่องเขียน เขาก็ระบุความต้องการมาว่าต้องการแลกข้าวกับเครื่องเขียน และทุก ๆ ปี ชาวบ้านต้องการอุปกรณ์ดับไฟป่า ก็ระบุไปว่าต้องการเอาผลผลิตนี้ไปแลกกับอุปกรณ์ดับไฟป่า โดยไม่ต้องขอรับบริจาคอีกต่อไป”
ขณะนี้ มีคนแสดงความจำนง ขอแลกข้าวจากไร่หมุนเวียนแล้ว 1,000 กิโลกรัม น้ำมันงาที่ปลูกในไร่หมุนเวียนอีก 100 ขวด ซึ่งถือเป็นสัญญาณที่ดี ดร. ชิ มองว่าถ้าโครงการนี้ประสบความสำเร็จ จะเป็นการผลักดันให้ชุมชนได้แสดงศักยภาพที่แท้จริงออกมา จะเกิดมิติใหม่ในการพึ่งพากันเองของสังคมอย่างแท้จริงทั้งในยามวิกฤตและในชีวิตประจำวันทั่วไป
สนับสนุนการเล่าเรื่องโดย มูลนิธิเพื่อการประสานความร่วมมือของชนพื้นเมืองเอเชีย – เอไอพีพี