ค้ายา-ไฟป่า-ล้าหลัง มายาคติกดทับเพื่อนมนุษย์บนพื้นที่สูง

ล่วงเลยมาถึง พ.ศ. 2564 ศตวรรษที่ประเทศไทยพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน การสื่อสาร และสาธารณูปโภคในเขตเมืองไปไกลมาก แต่ดูเหมือนทัศนคติของคนในสังคมไทย (บางส่วน) ที่มีต่อชาวเขา หรือ กลุ่มคนที่นิยามตนเองว่าเป็นชนเผ่าพื้นเมือง ยังไม่แตกต่างจากเมื่อก่อนมากนัก ยังติดภาพจำว่าพวกเขาเป็นคนทำลายป่า เกี่ยวข้องกับยาเสพติด ล้าหลังและด้อยการพัฒนา ซึ่งหากมองถึงต้นตอของปัญหาทั้งหมด อาจกลายเป็นว่าเราเองที่ยังล้าหลังในทัศนคติที่ควรมองคนให้เท่าเทียมกัน

เรียก “เขา” ให้ต่างจาก “เรา”

ผศ.ดร. ประสิทธิ์ ลีปรีชา อาจารย์คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ วิเคราะห์พัฒนาการของการนิยามและใช้เรียกขานกลุ่มประชากรบนพื้นที่สูงว่า ล้วนมาจากมุมมองและบรรทัดฐานที่กำหนดโดยคนนอกวัฒนธรรมทั้งสิ้น สะท้อนทัศนคติที่ไม่ยอมรับว่าเป็นคนไทยอย่างแท้จริง  คำเรียกแต่ละคำแบ่งได้ตามช่วงเวลาต่าง ๆ เช่น

ชนชาติ (race) ก่อนปี พ.ศ.  2502 ใช้เรียกโดยนักมานุษยวิทยา และใช้แพร่หลายในแวดวงวิชาการ และในราชการ เช่น ชนชาติกะเหรี่ยง ชนชาติจีน ชนชาติแม้ว (ม้ง) เป็นต้น

ชนกลุ่มน้อย ยุคสงครามโลกครั้งที่ 2 ใช้เรียกกลุ่มผู้อพยพ เช่น เวียดนามอพยพ ลาวอพยพ และจีนอพยพ กลุ่มนายพลก๊กมินตั๋ง ตลอดจนกลุ่มปกครองตนเองตามแนวชายแดนประเทศเพื่อนบ้าน ส่วนใหญ่คำนี้จะใช้โดยฝ่ายความมั่นคง ไม่ได้มีความหมายเจาะจงถึงชาวเขาโดยตรง

ชาวเขา พ.ศ. 2502 กรมประชาสงเคราะห์ ตั้งคณะกรรมการชาวเขา ตามด้วยศูนย์สงเคราะห์พัฒนาชาวเขาและสถาบันวิจัยชาวเขา คำว่า “ชาวเขา” ถูกใช้เพื่อที่จะเรียกคนบนพื้นที่สูง เป็นคำที่แปลมาจาก Tribe ในภาษาฝรั่ง แต่คำนี้มักใช้โดยชาวฝรั่ง (ชาวอาณานิคม) มีนัยว่าล้าหลัง โบราณ และไม่ศิวิไลซ์เหมือนชาวอาณานิคม  พอมาใช้ในประเทศไทย จึงเติมคำว่า Hill นำหน้า ให้สอดคล้องกับความเป็นพื้นที่สูง  นอกจากนี้นักวิชาการยังใช้คำว่าชาวเขา หมายถึงคนอื่น ๆ ที่ไม่ได้พูดภาษาไทย (None Thai Speaking) หมายถึงคนอื่น (The Others)  ด้วย

ชาวไทยภูเขา พ.ศ. 2510 (กว่า)   ในหลวงรัชกาลที่เก้า ทรงมีพระราชดำริว่า คำนี้มีความหมายที่ไม่ค่อยดี เพราะ แบ่งแยกให้เป็นชาวเขา – ชาวเรา ตีความได้ว่าเป็นคนอื่นที่ไม่ใช่คนไทย ต่อมาไม่นานทางราชการก็เปลี่ยนคำเรียกให้ดูดีขึ้นเป็น “ชาวไทยภูเขา” แต่ภายหลังก็กลับมาใช้คำว่า “ชาวเขา” เหมือนเดิม.

ราษฎรบนพื้นที่สูง  พ.ศ. 2545 รัฐบาลเห็นว่าชาวเขาได้ถูกพัฒนาให้เป็นคนไทยหมดแล้ว จึงสั่งยุบเลิกหน่วยงานสงเคราะห์ชาวเขาทั้งหมดไป ข้าราชการเหล่านั้นก็ลอยเคว้งอยู่พักใหญ่ ก่อนฟื้นตัวกลับมาในนามศูนย์พัฒนาราษฎรบนพื้นที่สูงในปี พ.ศ. 2549

กลุ่มชาติพันธุ์ ไม่ระบุปีที่แน่ชัด ใช้โดยนักวิชาการที่แปลจากคำว่า “Ethnic group” เพื่อให้เป็นคำกลาง ๆ หมายถึง เป็นคนกลุ่มน้อยที่ด้อยเปรียบกว่า ในทางเศรฐกิจ สังคม และการเมือง แต่ไม่ได้มีความหมายในเชิงแบ่งแยกให้เป็นคนนอกอย่างชัดเจนเช่นเดียวกับ “ชาวเขา – ชาวเรา”  ปัจจุบันคำนี้บรรจุอยู่ในรัฐธรรมนูญ ปี 2560

ชนเผ่าพื้นเมือง พ.ศ. 2549 – ปัจจุบัน คำนี้ถูกใช้อย่างเป็นทางการครั้งแรก เมื่อปี 2549 หลังจากที่บรรดาแกนนำชนเผ่าพื้นเมือง กับนักวิชาการมาร่วมกันทำความเข้าใจ และเห็นพ้องว่าควรใช้คำว่า “ชนเผ่าพื้นเมือง” ให้สอดคล้องกับนิยามสากล หมายถึง กลุ่มคนที่ยังคงไว้ซึ่งอัตลักษณ์ ภาษา วัฒนนธรรมและจารีตประเพณีที่มีเอกลักษณ์โดดเด่น และสืบทอดกันจากรุ่นสู่รุ่น ปัจจุบันมีการรวมตัวกันของชนเผ่าพื้นเมือง 39 กลุ่มชาติพันธุ์เรียกร้องให้ใช้คำนี้แทน  นับเป็นครั้งแรกที่ประชากรกลุ่มนี้ได้เลือกการเรียกชื่อด้วยตนเอง

แพะรับบาปของสังคม  ทำลายป่า – ยาเสพติด

ภาพจำอีกอย่างเมื่อมีคนเอ่ยถึงชาวเขา ผู้คนมักจะนึกถึงภาพภูเขาหัวโล้น ไร่เลื่อนลอย การบุรุกทำลายป่าหรือแม้กระทั่งค้ายาเสพติด  เรื่องนี้นายมานพ คีรีภูวดล สส. พรรคก้าวไกล สัดส่วนชาติพันธุ์มองว่าเพราะเราไม่เคยนำข้อเท็จจริงมาพิสูจน์กัน เป็นการส่งต่อวาทกรรมตามความเชื่อ พร้อมชี้แจงว่าเหตุที่พื้นที่ป่าใม้ในประเทศไทยถูกทำลายล้วนมาจากการดำเนินนโยบายของรัฐทั้งสิ้นตั้งแต่ช่วงการสัมปทานป่าไม้  การพัฒนาและขยายเขตเมือง และการส่งเสริมการปลูกพืชเชิงเดี่ยว

“ผมขอท้าพิสูจน์เลย ให้เอาแผนที่แสดงพื้นที่ป่าไม้ในประเทศไทยตั้งแต่ปี พ.ศ. 2400 มาเปรียบเทียบกับปีปัจจุบัน ผมยืนยันว่าพื้นที่ป่าคงเหลือ คือพื้นที่ที่มีชุมชนชาติพันธุ์หรือชนเผ่าพื้นเมืองอาศัยอยู่”

ภาพเปรียบเทียบพื้นที่ป่าไม้ปีกระหว่างปี 2506 กับ ปี 2559 / กองค้นคว้า -กรมป่าไม้

“ประการที่สองคนที่อยู่ในป่า เขาต้องอาศัยป่า อาศัยน้ำ เขาก็ต้องดูแลป่า ทำลายป่าเหมือนการทำลายชีวิตเอง เพราะฉะนั้นจึงไม่มีเหตุผลที่เขาต้องทำลายป่า” สส. มานพกล่าวย้ำ พร้อมทั้งยอมรับว่าปัจจุบันมีบางชุมชนที่เปลี่ยนวิถีชีวิตไปพึ่งพาระบบเกษตรเชิงเดี่ยวตามนโยบายและการส่งเสริมของหน่วยงานรัฐและภาคธุรกิจ

ขณะที่การตีตราเหมารวมว่า “ชาวเขาค้ายา” ส่วนหนึ่งต้องยอมรับมาว่าจากการผลิตซ้ำของสื่อมวลชน ที่มักจะพาดหัวข่าวระบุชื่อกลุ่มชาติพันธุ์เสียแทบทุกครั้งที่มีคนเข้าไปเกี่ยวข้อง แม้จะเป็นเพียงส่วนน้อยเท่านั้น แต่ไม่ค่อยพูดถึงปูมหลังสักเท่าไหร่ เช่น ยุคหนึ่งรัฐบาลเคยทำการค้าฝิ่น

ผู้จัดการออนไลน์เคยลงบทความเกี่ยวกับการค้าฝิ่นในสยามไว้บนเว็บไซต์ เมื่อปี 2559 ว่า เดิมทีนั้นฝิ่นเป็นสินค้าถูกฎหมาย เหตุเพราะสยามในช่วงปลายรัชการที่ 3 จำต้องยอมทำให้ฝิ่นเป็นสินค้าถูกกฎหมายเพราะเกรงว่าจะต้องทำสงครามกับอังกฤษ มีการเปิดสัมปทานค้าฝิ่น และเก็บภาษีเข้าหลวง เพียงแต่อนุญาตให้เสพได้เฉพาะคนจีนเท่านั้น อย่างไรก็ตามพบว่ามีการลักลอบขายและเสพกันเป็นจำนวนมาก ปราบเท่าไหร่ก็ไม่หมด ปัญหาฝิ่นเถื่อนระบาดหนัก จนต่อมาในรัชการที่ 5 รัฐบาลก็ได้รวบรวมการค้าฝิ่นมาทำเสียเอง ตั้งแต่วันที่ 21 ธันวาคม 2414 เรื่อยมาจนถึงสมัยรัฐบาลจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ เป็นนายกรัฐมนตรี ได้ออกประกาศคณะปฏิวัติยกเลิกการค้าฝิ่นอย่างเป็นทางการ ในเดือนมิถุนายน 2502 บ้างสันนิษฐานว่าโดนกดดันจากรัฐบาลสหรัฐอเมริกา แต่ถึงกระนั้น ขบวนการค้าฝิ่นใต้ดินยังรุ่งเรืองและดำเนินต่อมาได้อีกหลายปี ก่อนรัฐบาลยุคต่อมาจะดำเนินนโยบายปราบฝิ่นอย่างจริงจัง ควบคู่กับนโยบายส่งเสริมการปลูกพืชเศรษฐกิจอื่นทดแทน แต่เกษตรกรผู้ปลูกฝิ่นยังคงกลายเป็นจำเลยมาจนถึงทุกวันนี้

ชุมชนอาข่า ถ่ายเมื่อปี 2556 / สมาคม IMPECT

ด้อยพัฒนา ไร้ฝัน ไร้การศึกษา

ดร. ประเสริฐ ตะการศุภกร  นายกสมาคมปกาเกอะญอเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน  การมองเรื่องคนที่อยู่ในป่า ชาวเขา เป็นคนไร้การศึกษา เนื่องจากยุคแรกชาวตะวันออกได้ไปศึกษาเล่าเรียนในต่างประเทศ แล้วไปถือเอาการศึกษาแบบชาวตะวันตกเป็นสุดยอดของความรู้ มีความเจริญ มีความเป็นวิทยาศาสตร์ จึงเอาความรู้เหล่านั้นมาสร้างเมือง มีความศิวิไลซ์ ดังนั้นสังคมชนบทจึงขาดอารยะ เพราะเข้าไม่ถึงความเจริญ หลักคิดเหล่านี้จึงสืบทอดกันมาจากตะวันตก สู่การสร้างเมือง ขยายสู่ชนบท และคนอยู่ในป่า   แต่การมองเหล่านี้จึงเกิดการละเลยองค์ความรู้ดั้งเดิมที่มีอยู่

นักมานุษยวิทยาที่เข้ามาศึกษาชีวิตของคนชนบทในยุคแรก ๆ  มองว่าองค์ความรู้ดั้งเดิมเป็นแบบงมงาย  ไม่มีความเป็นวิทยาศาสตร์ และไม่เป็นไปตามหลักวิชาการ จึงสรุปว่าองค์ความรู้เหล่านั้นไม่มีเหตุผล ไม่ถือว่าเป็นคนมีการศึกษา เชื่อมถึงหลักสูตรการศึกษาโดยเฉพาะหลักสูตรแกนกลางในระยะต่อมา ที่เน้นการ “รวมพวก” แท้จริงแล้วเป็นการ “กลืนกลาย” (Assimilation) ผ่านกลไกการศึกษาพัฒนาชาวเขาให้เป็นคนไทย และตอกย้ำวาทกรรมข้างต้นเข้าไปในระบบการศึกษา ผลผลิตออกมาคือเด็กไม่กล้ายอมรับว่าตนเองเป็นกลุ่มชาติพันธุ์  สังคมไทยจึงมองว่าเขาเป็นอื่น

ชาวกะเหรี่ยงประกอบพิธีด้วยความเชื่อดั้งเดิม เพื่ออนุรักษ์ผืนป่าไว้ /นครินทร์ มานะบุญ – imnvoices.com

ดร. ประเสริฐ เสริมต่อว่า ปัจจุบันกระแสเรื่ององค์ความรู้ท้องถิ่นตอบโจทย์สังคมและโลกมากขึ้น โดยเฉพาะองค์ความรู้เรื่องการจัดการทรัพยากรธรรมชาติ ยกตัวอย่างง่าย ๆ เช่น ชนเผ่ากะหเรี่ยงอยู่ที่ไหน ถ้ายังทำไร่หมุนเวียน และใช้องค์ความรู้ดั้งเดิม ที่นั่นจะยังคงมีป่าอุดมสมบูรณ์อยู่ จนเริ่มมีคนภายนอกยอมรับมากขึ้น  คนที่เข้ามาสัมผัส เช่น นายอำเภอ ข้าราชการท้องถิ่น แม้แต่ในระดับโลก  เช่น องค์กรของสหประชาติยอมรับให้องค์ความรู้ดั้งเดิมของชนเผ่าพื้นเมืองมีคุณค่าเทียบเท่ากับองค์ความรู้ทางวิทยาศาสตร์ ในการแก้ไขปัญหาโลกร้อน

“สิ่งนี้ คือ ความรู้เชิงอนุรักษ์ ที่ชาวบ้านใช้ประโยชน์จากป่าและสร้างป่าไปพร้อมกัน ถ้าดูจากแผนที่ประเทศไทยปัจจุบัน พื้นที่ตั้งแต่ลุ่มน้ำฝั่งตะวันตกของไทย ป่าไม้ที่เหลือส่วนใหญ่ล้วนเป็นที่ตั้งของชุมชนกะเหรี่ยง ป่าอนุรักษ์ที่รัฐไทยประกาศและนำมาจัดการได้นั้น ก็เพราะมีคนท้องถิ่นเหล่านี้ช่วยกันดูแลและรักษาไว้” ดร. ประเสริฐกล่าวทิ้งท้าย

แต่ก็ดูเหมือนว่าการโทษใครสักคนเป็นเรื่องที่ทำได้ง่ายกว่าการโทษตัวเอง และการกล่าวโทษคนที่ด้อยกว่าก็ยิ่งทำได้ง่ายขึ้น โดยเฉพาะเมื่อเขาไม่มีพื้นที่ให้โต้ตอบได้ ปัจจุบันกลุ่มชาติพันธุ์บนพื้นที่สูง ยังเป็นผู้ถูกกล่าวหากลุ่มแรก ๆ กรณีหมอกควันไฟป่า และ PM 2.5

อ้างอิง