4.2.3 หลากกระบวนการเรียนรู้ เครื่องมือเสริมสร้างศักยภาพคนรุ่นใหม่
ปฏิเสธไม่ได้ว่ากระบวนการเรียนรู้หลากหลายรูปแบบที่เกิดขึ้นตลอดกระบวนการดำเนินโครงการมีส่วนสำคัญอย่างมาก ต่อการพัฒนาและเสริมสร้างอาสาสมัครฯ ไปสู่การเป็นผู้ประกอบการทางสังคมบนฐานของเกษตรอินทรีย์ ซึ่งกระบวนการเหล่านี้เมื่อผนวกรวมกับปัจจัยเงื่อนไขที่เหมาะสม จะทำให้เกิดการยกระดับงานของคนรุ่นใหม่ขึ้นอย่างมีพลัง
1) การจัดการเรียนรู้แบบมีส่วนร่วม
เป็นการดำเนินงานเพื่อสร้างความรู้ ความเข้าใจ และทักษะที่เหมาะสมกับการทำงานในพื้นที่ ซึ่งมีทั้งการเรียนรู้ในลักษณะการจัดอบรมภายใต้หลักสูตรที่ออกแบบมาสำหรับคนรุ่นใหม่ เช่น การ วิเคราะห์ชุมชน สังคม ทุนนิยมโลกาภิวัตน์, การศึกษาชุมชน, การเป็นผู้ประกอบการทางสังคม (SE), วงสนทนาเพื่อเติมเต็มด้านใน(จิตใจ) เพิ่มมุมมองด้านการใช้ชีวิต วิธีคิด วิธีการทำงาน จากบุคคล ในแวดวงการพัฒนา, ดูหนังสร้างแรงบันดาลใจ เป็นต้น โดยเน้นให้เข้าถึงหลักคิดในเรื่อง ของการมอง เชิงระบบ เช่น เกษตรกรรุ่นใหม่ต้องจัดการครบทั้งวงจรตั้งแต่การผลิต (ต้นน้ำ) – การแปรรูป (กลางน้ำ) – การตลาด (ปลายน้ำ), การทำแผนที่มีความเชื่อมโยงระหว่างตัวเอง-ครอบครัว-ชุมชน-สังคม, ความเชื่อมโยงระหว่างระบบการผลิต -เศรษฐกิจ-สังคม-สิ่งแวดล้อม, แนวทางการแก้ไข/ ทางเลือก แต่ละทางสัมพันธ์กันอย่างไร เช่น เกษตรอินทรีย์-พลังงานทางเลือก-การจัดการทรัพยากร ดินน้ำป่าโดยชุมชน ฯลฯ
อย่างไรก็ตาม ในส่วนของเนื้อด้านเทคนิคและองค์ความรู้ด้านการผลิต การแปรรูปสินค้า เกษตรอินทรีย์ และเทคนิคอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง ยังมีความเห็นจากคนหนุนเสริมงานคนรุ่นใหม่กลับ บ้านเกิดบางส่วนว่ายังดำเนินการได้ค่อนข้างน้อย สะท้อนได้จากความต้องการของคนรุ่นใหม่ที่พบเจอ ปัญหาในพื้นที่แล้วต้องการการสนับสนุนองค์ความรู้จากภายนอก เช่น ความรู้เรื่องโรคพืชและการจัดการโรคพืช การเรียนรู้ถึงพิษภัยของการใช้สารเคมีในการทำเกษตรกรรม การเรียนรู้การบริหาร จัดการผลผลิตที่มีอยู่ในชุมชนอย่างมีประสิทธิภาพ และวิธีการเพิ่มมูลค่าสินค้าหรือผลผลิต การ แปรรูปผลผลิตสินค้าเกษตรอินทรีย์ เทคนิคการสร้างความหลากหลายในแปลง การผลิตพืชสัตว์ แบบผสมผสาน การเก็บรักษาและพัฒนาพันธุกรรมพืช สัตว์ในระบบเกษตรกรรมยั่งยืน ความรู้การจัดทำบัญชีและการดำเนินงานวิสาหกิจชุมชน เป็นต้น
ในขณะที่เมื่อพิจารณาหลักสูตรการอบรมภายใต้โครงการสร้างและพัฒนาผู้นำเกษตรกรอินทรีย์รุ่นใหม่ จะเป็นโครงการที่มีเนื้อหาการอบรมที่ครอบคลุมกว่าและให้เวลากับการจัดอบรมมากว่า โดยมีเนื้อหา ที่เกี่ยวข้องตั้งแต่แนวคิดระบบเกษตรนิเวศ มาตรฐานเกษตรอินทรีย์ การผลิตในระบบ เกษตรอินทรีย์ (ข้าว ไม้ผล ปศุสัตว์ ประมง พืชผัก) การวางผังไร่นา วางแผนการผลิต ตลาดเกษตรอินทรีย์ที่เป็นธรรม ไปจนถึงนิเวศวิทยาจิตวิญญาณ เป็นต้น
นอกจากนี้ยังมีการสนับสนุนให้คนรุ่นใหม่ได้มีโอกาสศึกษาดูงานเรียนรู้จากชุมชน บุคคลที่ ประสบความสำเร็จ เช่น ศึกษาประสบการณ์คนรุ่นใหม่กับการพัฒนาชุมชนท้องถิ่นแผ่นดินเกิด กรณีชุมชน แม่ทา เยี่ยมเยือนแลกเปลี่ยนกับอายุ จือป่า (ลี) เจ้าของกาแฟอาข่าอาม่า เยี่ยมบ้านดินเนาว์ (สวนศิลป์บินสิ) จ.ลำพูน แลกเปลี่ยนกับพ่อนิพจน์ เทียนวิหาร นักพัฒนาอาวุโส คุณอดิศร พวงชมพูเจ้าของผลิตภัณฑ์ เสื้อผ้ายี่ห้อแตงโม การพบปะพูดคุยแลกเปลี่ยนกับเครือข่าย คนรุ่นใหม่จาก ประเทศจีน การศึกษาดูงาน ในพื้นที่ภาคอีสาน เน้นตลาดเกษตรอินทรีย์ ที่ใช้วิธีคิด วิถีเกษตรอินทรีย์ ในการประยุกต์กับการทำ เกษตรอินทรีย์มากกว่าการใช้เงินเป็นตัวกำหนดการทำเกษตรกรรม ฯลฯ สิ่งเหล่านี้ ทำให้อาสาสมัคร ได้เรียนรู้แบบอย่างชีวิต และการเป็นผู้ประกอบการ ทางสังคมที่สร้างสรรค์ เป็นต้นแบบ แรงบันดาลใจ และทำให้มีเป้าหมายในชีวิตที่ชัดเจนขึ้น ในการมุ่งมั่นขับเคลื่อนเปลี่ยนแปลงชีวิต สู่แนวทางการพึ่งตนเอง และการเป็นผู้ประกอบการ ทางสังคมบนฐานวิถีเกษตรอินทรีย์
ซึ่งกระบวนการเรียนรู้จากการศึกษาดูงาน นับเป็นการเรียนรู้ที่มีพลังค่อนข้างมาก เพราะ ทำให้คนรุ่นใหม่ ได้เรียนรู้สิ่งใหม่ๆ ที่สามารถนำไปปรับใช้กับการทำงานเกษตรอินทรีย์หรือ การพัฒนาชุมชน ได้เป็นอย่างดี และยังเป็นการเรียนรู้ที่ไม่จำเป็นต้องลองผิดลองถูกให้เสียเวลา ซึ่งเป็นการเรียนรู้ที่ได้รับผล จากประสบการณ์จริงและใช้ได้จริงในพื้นที่ของตนเอง และชุมชน อีกทั้ง หากสามารถนำคนในครอบครัว ไปดูงานร่วมกันได้ ก็จะส่งผลต่อแนวคิดของผู้ปกครอง เมื่อกลับ มาทำงานก็จะช่วยให้เกิดการสนับสนุน ช่วยเหลือได้ดีขึ้น แต่ทั้งนี้ต้องยอมรับว่าการศึกษาดูงานเป็นกิจกรรมที่ใช้ทรัพยากรค่อนข้างมาก จึงไม่ สามารถจัดได้บ่อยครั้งหรือไปยังพื้นที่ไกลๆ ได้มากนัก
นอกจากนี้ การสนับสนุนให้ได้เข้าร่วมกิจกรรม/เวทีสัมมนาวิชาการที่จัดโดยมหาวิทยาลัย และภาคี เครือข่ายต่างๆ เพื่อให้คนรุ่นใหม่ได้รู้จัก ได้ข้อคิดในการดำเนินชีวิตและการทำเกษตรอินทรีย์ มีปฏิสัมพันธ์ กับองค์กร/ผู้คนที่หลากหลาย ซึ่งอาจนำมาซึ่งโอกาสในการเชื่อมโยงงานกัน โดยมีการ เรียนรู้ร่วมกัน ทั้งก่อนลงปฏิบัติการ –ระหว่างปฏิบัติการ-การติดตาม –การสรุปบทเรียน
2) การเรียนรู้เชิงปฏิบัติการในชุมชน
นับเป็นกระบวนการที่ทำให้คนรุ่นใหม่ได้เรียนรู้ชุมชนของตัวเองรู้พื้นฐานของคนในชุมชน มากขึ้น ตั้งแต่ประวัติชุมชนระบบการผลิตในชุมชน วัฒนธรรม ประเพณี รวมถึงการศึกษาข้อมูลการ เปลี่ยนแปลงการทำการเกษตร สถานการณ์ด้านความมั่นคงและการเข้าถึงอาหารที่ปลอดภัย ปัญหา ด้านทรัพยากรและสิ่งแวดล้อมในพื้นที่ เงื่อนไขข้อจำกัดด้านนโยบาย กฎหมาย กระแสสังคม ที่ทำให้ วิถีเดิมของชุมชนเปลี่ยนแปลงไป เป็นต้น ซึ่งข้อมูลเหล่านี้สามารถนำมาสู่การวิเคราะห์ให้เท่าทัน สถานการณ์ภายใน ภายนอกชุมชน และสามารถค้นหาต้นทุนหรือทรัพยากรที่มีอยู่ในชุมชน และ การนำมาต่อยอดในการพัฒนาชุมชน ดังคำกล่าวของคนรุ่นใหม่ที่ว่า
“…การได้เข้าร่วมการเรียนรู้ของโครงการฯ ทำให้เห็นถึงการมีทรัพยากรที่มีค่า ที่สามารถสร้างรายได้ สร้างงานให้กับคนรุ่นใหม่หรือคนในชุมชนได้อย่างที่ไม่เคยคิด มาก่อน ซึ่งเป็นการค้นหาต้นทุนเดิมและการสร้างให้ต้นทุนหรือทรัพยากรของ ชุมชน มีคุณค่าและเป็นประโยชน์ต่อชุมชน รวมถึงเพื่อให้คนในชุมชนตระหนัก ในคุณค่าและร่วมกันรักษาทรัพยากรของชุมชนต่อไป…”
นอกจากนี้ การได้เข้าไปเรียนรู้ภูมิปัญญาในชุมชนและใช้ภูมิปัญญาด้านการเกษตรกรรม ยัง สามารถเป็นตัวเชื่อมกลุ่มคนรุ่นใหม่และคนรุ่นเก่าในชุมชน และรวบรวมข้อมูลเกี่ยวข้องกับภูมิปัญญา ท้องถิ่น เพื่อการต่อยอดที่มีความทันสมัยขึ้นตามกาลเวลา
3) การแลกเปลี่ยนเรียนรู้กันเองในกลุ่มคนรุ่นใหม่
กระบวนการที่สนับสนุนให้คนรุ่นใหม่เกิดการเชื่อมเครือข่าย ร่วมในการทำงานด้วยกัน มีการแลก เปลี่ยนประสบการณ์และช่วยกันแก้ไขปัญหา พร้อมที่จะหนุนช่วยกันโดยเฉพาะเมื่อ สมาชิกเริ่มที่ จะรู้สึกท้อถอย เพราะมั่นใจว่า การมีกลุ่มและช่วยเหลือกันนั้นจะทำให้ไปถึงเป้าหมาย ได้ง่าย และทำให้กลุ่ม มีพลังมากขึ้น อีกทั้ง การทำงานร่วมกันทำให้คนรุ่นใหม่สามารถเรียนรู้ ในเรื่องต่างๆ ได้ดีขึ้น และมีเพื่อน ร่วมคิดร่วมทำการทำงานด้านเกษตรอินทรีย์หรือการทำงาน เพื่อชุมชนก็มีความหมายและมีความสุขมากยิ่ง ขึ้น ดังคำกล่าวบางส่วนที่ว่า
“…การพูดคุยระหว่างคนรุ่นใหม่ทำให้มีพลังในการทำงานมากขึ้น เพราะเราได้ เรียนรู้ จากคนรุ่นใหม่ในเครือข่ายที่ได้รับทำงานด้านเกษตรอินทรีย์และ การพัฒนาชุมชนเหมือนกัน จึงทำให้มีกำลังว่าเรายังไม่ใช่เพียงคนเดียวที่ทำงาน ต่างๆ เหล่านี้และยังมีเพื่อนๆ เครือข่ายที่กำลังพยายามสร้างการเปลี่ยนแปลงใน กับชุมชน และสังคมไปพร้อมๆ กัน…”
4) กระบวนการหนุนเสริมจากภายนอก
นอกเหนือจาก “การสนับสนุนค่ายังชีพรายเดือน” และ “การจัดตั้งกองทุนฯ” เพื่อให้เป็น เครื่องมือในการสร้างเครือข่ายของผู้ประกอบการ บนฐานเกษตรอินทรีย์ การมีคนทำงานส่งเสริม ภายนอกชุมชนเข้าไปติดตามหนุนเสริมคนรุ่นใหม่ในพื้นที่ก็นับเป็นเครื่องมือสนับสนุนการทำงานที่มีความจำเป็นไม่น้อย ซึ่งข้อดีของการหนุนเสริมของพี่เลี้ยงในชุมชน/นอกชุมชน อาทิเช่น
- การได้รับกำลังใจ การเติมเต็มแนวความคิดและความรู้ต่างๆ ที่อาจจะขาดไปใน การดำเนินงาน โดยเฉพาะการทำงานเป็นกลุ่มการทำเพื่อประโยชน์ของชุมชน หรือ ส่วนรวม จำเป็นต้องมีการคิดทบทวนและได้รับการแนะนำอย่างต่อเนื่องจาก พี่เลี้ยง
- การได้รับคำแนะที่เกี่ยวข้องในด้านการเขียนโครงการในการดำเนินงาน หรือการ ต่อยอดการ ทำงานในกลุ่มและชุมชน ที่สามารถทำให้เข้าใจกระบวนการเขียน โครงการและ ความสำคัญ ในการใช้โครงการเป็นเครื่องมือในการพัฒนากลุ่มในการได้มาซึ่งงบประมาณสนับสนุน
- เป็นการกระตุ้น และเป็นการสร้างความตื่นตัวในการดำเนินกิจกรรมของกลุ่มเป็น อย่างดี และที่สำคัญสามารถสร้างความเชื่อมั่น ความเชื่อถือของกลุ่มหรือของตัว อาสาสมัครฯให้ กับกลุ่มและชุมชนด้วย
- การติดตามของพี่เลี้ยงสามารถช่วยพูดคุยหรือการสร้างความเข้าใจในการดำเนินงานของอาสาสมัครฯที่ทำโครงการหรือกิจกรรมต่างๆ ได้เป็นอย่างดี และสมาชิกกลุ่มสนใจและเข้าใจ มากกว่าที่อาสาสมัครฯ พูดคุยเอง
- การแนะนำของทีมงานหรือพี่เลี้ยงเป็นสิ่งจำเป็นต่อการวางแผนหรือการกำหนดกิจกรรมและระบบการดำเนินงานด้านต่างๆ ของกลุ่มและชุมชนเพื่อให้งานสามารถจัดการได้อย่างต่อเนื่อง การวางแผนร่วมกันของกลุ่มและพี่เลี้ยงก็สำคัญในการเริ่มต้นการทำงานกับชุมชน
- การสร้างความสัมพันธ์เชิงการทำงานปฏิบัติการในการเข้าหาคนในชุมชนเป็นเรื่องจำเป็นใน การเริ่มในการทำงานหรือโครงการฯ การที่พี่เลี้ยงได้เข้ามาเป็นตัวประสานในการพูดคุย หรือการเข้าร่วมในการทำงานกับชุมชน ทำให้อาสาสมัครฯมีความกล้าที่จะพูด กล้าทำ และการที่จะคิดในการพัฒนาชุมชนและการทำในสิ่งที่แตกต่าง
- การติดตามของพี่เลี้ยงยังสามารถเข้ามาร่วมแก้ไขปัญหาในบางเรื่องที่กลุ่มหรือชุมชนไม่สามารถแก้ไขได้ เช่น การจัดกิจกรรมขาดงบประมาณ การขาดกำลังคน หรือการขาดระบบ การจัดการในกลุ่ม เป็นต้น
- การติดต่อประสานงานกับหน่วยงานราชการในพื้นที่บางเรื่องจำเป็นต้องขอความช่วยเหลือจากพี่เลี้ยงในการดำเนินเรื่องทางราชการ เช่น การตั้งกลุ่มวิสาหกิจชุมชน หรือโครงการต่างๆ ของภาครัฐ เป็นต้น
ทั้งนี้ การไปพื้นที่ไปเยี่ยมเยือนให้กำลังใจ โดยผู้หลักผู้ใหญ่ หรือ คนที่ได้รับการยอมรับ ในสังคม จะเป็นตัวสร้างความตื่นตัวของคนในชุมชน มีส่วนให้คนรุ่นใหม่สามารถทำงาน ในชุมชน/ในพื้นที่ได้ง่ายขึ้น อย่างไรก็ตามระบบการติดตามหนุนเสริมโดยพี่เลี้ยงนอกชุมชน จะมีข้อจำกัดและจุดอ่อนอยู่บ้าง เช่น เรื่องการกำหนดเป้าหมายการติดตามที่ไม่ชัดเจน การจัดทีม ความถี่และความสม่ำเสมอในการลงพื้นที่ ทำให้บางครั้งไม่สามารถลงไปหนุนเสริมได้อย่าง เหมาะสมกับสถานการณ์ปัญหาและความต้องการของ คนรุ่นใหม่ในพื้นที่
นอกจากนี้ การสรุปบทเรียนโดยการสนับสนุนขององค์กรภายนอก ก็นับเป็นกระบวนการ ที่ช่วยให้เกิดการร่วมกันทบทวนประมวลกระบวนการเรียนรู้จากการทำงานที่ผ่านมาของคนรุ่นใหม่ในแต่ละพื้นที่ ทำให้เกิดการนำเสนอผลการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นกับตนเอง-ครอบครัว-ชุมชน การประเมินผลกระบวน การเรียนรู้ซึ่งจะช่วยให้ทีมฯ นำข้อมูลความเห็นที่ได้ไปเพื่อพิจารณา ปรับปรุงกระบวนการสนับสนุน ในโอกาสต่อไป และรวมถึงเป็นการระดมความคิดถึงแนวทาง การพัฒนาปรับปรุงงานคนรุ่นใหม่ ในพื้นที่ตนเองและพื้นที่อื่นๆ