“พื้นที่คุ้มครองวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์กับการยั่งยืนในการพัฒนา (SDCGs)”
กลุ่มชาติพันธุ์ชาวเลเป็นชนเผ่าพื้นเมืองดั้งเดิม หาอยู่หากินบริเวณทะเลอันดามันมาเป็นเวลานานกว่า 300 ปี ปัจจุบันมีชุมชนชาวเล 43 ชุมชน กระจายในพื้นที่ 5 จังหวัด คือ ภูเก็ต พังงา สตูล ระนอง และกระบี่ ประชากรประมาณ 12,241 คน แบ่งออกเป็น 3 กลุ่ม คือ มอแกน มอแกลน และอูรักลาโว้ย
เมื่อวันที่ 2 มิถุนายน 2553 คณะรัฐมนตรีเห็นชอบหลักการแนวนโยบายในการฟื้นฟูวิถีชีวิตชาวเล ตามแนวทางจัดทำพื้นที่วัฒนธรรมพิเศษชาวเลและมอบให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องนำแผนไปปฏิบัติ ประกอบด้วย การสร้างความมั่นคงด้านที่อยู่อาศัย/การให้ชาวเลสามารถประกอบอาชีพประมง หาทรัพยากรตามเกาะต่างๆโดยผ่อนปรนพิเศษในการให้ใช้อุปกรณ์ดั้งเดิมของกลุ่มชาวเลที่ไม่ทำลายล้าง/การช่วยเหลือด้านสาธารณสุขเพื่อฟื้นฟูผู้ได้รับผลกระทบจากการดำน้ำทำให้เกิดโรคน้ำหนีบ/การแก้ปัญหาสัญชาติในกลุ่มชาวเลที่ไม่มีบัตรประชาชน/การส่งเสริมด้านการศึกษาแก่เด็กและสนับสนุนทุนการศึกษาอย่างต่อเนื่องพร้อมกับจัดตั้งการศึกษาพิเศษหลักสูตรท้องถิ่นที่สอดคล้องกับวิถีชีวิตชุมชนชาวเล/การแก้ปัญหาอคติทางชาจิพันธุ์/การส่งเสริมด้านภาษาและวัฒนธรรมท้องถิ่นของชาวเล/การส่งเสริมชุมชน และเครือข่ายชาวเลให้เข้มแข็ง รวมทั้งให้มีงบประมาณส่งเสริมวันนัดพบวัฒนธรรมชาวเล
นอกจากนี้ประเทศไทยได้รับรองปฎิญญาสากลว่าด้วยสิทธิของชนพื้นเมืองที่สหประชาชาติได้ประกาศไว้ตั้งแต่ปี 2007 โดยสาระสำคัญระบุว่า ชนเผ่าพื้นเมือง มีสิทธิในที่ดิน เขตแดน และทรัพยากรซึ่งพวกเขาครอบครอง และเป็นเจ้าของตามประเพณี หรือเคยใช้ หรือเคยได้รับมาก่อน รัฐจักต้องให้การยอมรับและคุ้มครองในทางกฎหมายนายกรัฐมนตรีไทยได้รับรอง เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals) ในฐานะการพัฒนาแห่งสหประชาชาติภายหลังปี 2015 ซึ่งหัวใจของเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนนี้คือจะเน้นการพฒนาที่ไม่ทอดทิ้งใครไว้เบื้องหลัง (Inclusive development principles)
รัฐธรรมนูญ ปี 2560 มาตรา 70 ยังได้ระบุ “รัฐพึงส่งเสริมและให้ความคุ้มครองชาวไทยกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ ให้มีสิทธิดำรงชีวิตในสังคมตามวัฒนธรรม ประเพณี และวิถีชีวิตดั้งเดิมตามความสมัครใจได้อย่างสงบสุขไม่ถูกรบกวน ทั้งนี้ เท่าที่ไม่เป็นการขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน หรือเป็นอันตรายต่อความมั่นคงของรัฐ หรือสุขภาพอนามัย
สภาขับเคลื่อนประเทศไทย (สปท) เสนอให้ตั้งคณะกรรมการอำนวยการบูรณาการนโยบาย เพื่อฟื้นฟูวิถีชีวิตและแก้ไขปัญหากลุ่มชาติพันธุ์ชาวเล โดยยกเรื่องปัญหาที่ดิน มาเป็นอันดับแรก และระหว่างที่มีการฟ้องคดีต้องมีหน่วยงานดูแลคุ้มครอง ช่วยเหลือเยียวยาผู้ที่ประสบปัญหาอย่างทันท่วงที รวมทั้งผลักดันการพัฒนาพื้นที่คุ้มครองทางวัฒนธรรมชาติพันธุ์ชาวเล และขยายผลไปสู่ชาติพันธุ์อื่นๆ
ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปีด้านการสร้างโอกาสและความเสมอภาคทางสังคม (หน้า 44)ข้อ 4.3.5 สนับสนุนการพัฒนา บนฐานทุนทางสังคมและวัฒนธรรม ภายใต้บริบทของสังคมที่มีความหลากหลายมากขึ้นทั้งทางชาติพันธุ์ ศาสนา และวิถีชีวิต ทางวัฒนธรรมโดยไม่เลือกปฏิบัติ ส่งเสริมความตระหนักในสิทธิมานุษยชน สร้างความเท่าเทียมกันในเรื่องสิทธิและศักดิ์ศรี ความเป็นมนุษย์ในกลุ่มชาติพันธุ์ ให้ความสำคัญกับองค์ความรู้และภูมิปัญญา สร้างความภาคภูมิใจในรากเหง้าของคนในท้องถิ่น สร้างความเข้าใจและจุดร่วมบนความแตกต่างอย่างสร้างสรรค์
จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด -19 ที่ส่งผลกระทบต่อประชากรจำนวนมากในเชิงสุขภาพและส่งผลกระทบให้เกิดความเปลี่ยนแปลงของเศรษฐกิจ และสังคมในรากฐานทั้งในระยะสั้น และระยะยาว โดยเฉพาะกลุ่มเปราะบางในสังคมไทย การลดลงของแหล่งอาหาร และเศรษฐกิจที่ตกต่ำทำให้รายได้ของกลุ่มเปราะบาง ที่เดิมเป็นแรงงานหาเช้ากินค่ำต้องประสบกับปัญหาทางรายได้ และการว่างงานในอัตราที่เพิ่มมากขึ้น ทั้งนี้ ความเปราะบางทางรายได้ และความไม่แน่นอนของชีวิตจากสถานการณ์ที่เกิดขึ้นกับกลุ่มเปราะบางมีแนวโน้มที่จะนำไปสู้ปัญหาต่างๆ ทางสังคม โดยเฉพาะกลุ่มชาติพันธุ์ชาวเล เป็นกลุ่มเปราะบางที่มีปัญหาเดิมอยู่แล้ว ทั้งการไร้สัญชาติ การถูกไล่ที่ ความไม่มั่นคงในการอยู่อาศัย ฯลฯ และสถาการณ์ระบาดของไวรัสโควิด -19 ทำให้เกิดปัญหามากยิ่งขึ้น ซึ่งปัญหาที่กำลังเผชิญอยู่ มีดังนี้
- ความไม่มั่นคงในที่อยู่อาศัย มี 25 ชุมชน ที่ไม่มีเอกสารสิทธิ์เป็นของตนเอง ทั้งที่อยู่อาศัยมายาวนานนอกจากขาดความมั่นคงแล้ว หลายรายยังถูกดำเนินคดี
- ความไม่มั่นคงในเรื่องการทำมาหากิน ปัญหาพื้นที่ออกเรือทำกินในทะเล ที่จอดเรือ พื้นที่หน้าชายหาด ส่วนด้านที่ดินทำกิน ในอดีตมากกว่าร้อยปี หลายชุมชนมีวิถีชีวิตทำข้าวไร่ จนกระทั่งมีการให้สัมปทานป่าไม้ รวมถึงประกาศเขตป่าสงวน เขตอุทยานฯ เขตป่าชายเลน ไม่สามารถทำข้าวไร่หมุนเวียนได้อีก
- สุสานและพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์เพื่อประกอบพิธีกรรมถูกรุกราน จากการสำรวจพบว่ากำลังมีปัญหาถึง 15 แห่ง มีทั้งออกเอกสารมิชอบทับที่ ถูกรุกล้ำแนวเขต ถูกห้ามฝังศพ เช่นชุมชนราไวย์ ภูเก็ต สุสานชาวเลเกาะหลีเป๊ะ สตูล เป็นต้น
- ปัญหาเรื่องการศึกษา ภาวะและวัฒนธรรม กลุ่มชาวเลส่วนใหญ่ ไม่มีโอกาสได้เรียนต่อในระดับสูงรวมทั้งขาดความภาคภูมิใจในภาษาและวัฒนธรรม
- ปัญหาเรื่องสุขภาวะ ด้วยปัญหารอบด้านทำให้เกิดความเครียส บางส่วนติดเหล้า และมีปัญหาเรื่องสุขภาพต่างๆตามมา
- ปัญหาการไร้สัญชาติ ยังมีชาวเลกว่า 400 คน ที่ไม่มีสัญชาติไทย โดยเฉพาะชาวเลมอแกน
เมื่อ 28 พฤษจิกายน 2563 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม มูลนิธิชุมชนไท และภาคีที่เกี่ยวข้อง ได้ลงนามบันทึกความเข้าใจร่วมกันขับเคลื่อนพื้นที่เขตคุ้มครองวัฒนธรรมชาวเลและชาวกระเหรี่ยงนำร่อง 30 พื้นที่จนถึงปัจจุบัน แต่อย่างไรก็ตามเพื่อให้การขับเคลื่อนเป็นไปตามมติคณะรัฐมนตรี ทางเครือข่ายได้สนับสนุนร่างกฏหมาย “ส่งเสริมและคุ้มครองวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์” มีทั้งฉบับที่เสนอโดยรัฐบาล ที่ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน) เป็นผู้ยกร่างร่วมกับหลายภาคส่วน และร่างกฎหมายที่เสนอโดยประชาชน ขณะนี้ อยู่ในขั้นการพิจารณาของนายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรี
อนึ่งปัญหาชาวเลเป็นปัญหาเชิงโครงสร้างที่สั่งสมมานานและเกี่ยวข้องกับหลายกระทรวง ทำให้ในช่วงระยะเวลา 12 ปี ที่ผ่านมาไม่อาจจะแก้ปัญหาได้โดยใช้มติคณะรัฐมนตรี 2 มิถุนายน 2553 เพียงอย่างเดียว ดังนั้นจำเป็นที่จะต้องมีกฎหมายส่งเสริมและคุ้มครองวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ ที่สามารถคุ้มครองเขตพื้นที่วัฒนธรรมกลุ่มชาติพันธุ์และเอื้อต่อการแก้ปัญหาที่สั่งสมมานาน ทั้งนี้เพื่อลดความเหลื่อมล้ำในสังคม และไม่ทิ้งใครไว้ข้างเบื้องหลังตามนโยบายรัฐบาล โดยจะประกาศพื้นที่รูปธรรม เขตส่งเสริมและคุ้มครองวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์บ้านทับตะวัน ในช่วงการจัดงานรวมญาติชาติพันธุ์ชาวเล ปีที่ 12 จึงได้จัดขึ้นภายใต้โครงการ “พื้นที่คุ้มครองวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์กับความยั่งยืนในการพัฒนา (SCGs)”
รายงานโดย: นารี วงศาชล