ประวัติศาสตร์ความเป็นมาของชาติพันธุ์กูย

ประวัติศาสตร์ความเป็นมาของชาติพันธุ์กูย

กูย เป็นกลุ่มชาติพันธุ์ที่คนทั่วไปหรือคนไทยหลายคนมักเรียกว่า ส่วย  คือ ชนชาติพันธุ์ กูย (Kuy, Kui), กวย (Kuoy) , โกย เญอ , โทร , บรู , ข่า, เขมรป่าดง , เขมรโบราณ  ขอม ฯลฯ แปลว่า คน  ในสมัยปลายกรุงศรีอยุธยาและต้นกรงรัตนโกสินทร์ ชนชาติพันธุ์นี้ถูกเรียกเหมารวมกับชนชาติพันธุ์อื่นๆว่า เขมรป่าดง  เป็นกลุ่มชาติพันธุ์ที่อาศัยอยู่ลุ่มแม่น้ำโขง ลุ่มน้ำมูล  ลุ่มน้ำชี บริเวณแนวเขาพนมดงรักจนถึงบริเวณลาวตอนกลางและลาวใต้ ยังพบที่กัมพูชาตอนบนและเวียดนามตามตะเข็บชายแดนลาวและกัมพูชา

คำว่า “ส่วย” ไม่ใช่ชื่อเรียกของชนชาติพันธุ์ แต่เป็นคำเรียกของฝ่ายปกครองที่ใช้มาตั้งแต่สมัยปลายกรุงศรีอยุธยาและต้นกรุงรัตนโกสินทร์ หมายถึง กลุ่มชนเผ่าหลายเผ่าในพื้นอีสานใต้ในอดีต ได้แก่ ชนเผ่า ขอม เขมรโบราณ กูย ข่า ลาว กุลา กวย โกย กูยซูย กูยเญอ กูยบรู โทร ข่า กูยไม กูยมะไฮ กูยปรือใหญ่ กูยอาเจียง  ฯลฯ เป็นกลุ่มที่ต้องส่ง “สวย” หรือถวายเครื่องราชบรรณาการให้ทางการ (กรุงเทพฯ) ในสมัยโบราณเรียกชนเผ่าแถบอีสานใต้นี้เหมารวมทุกชนเผ่าว่า “เขมรป่าดง” หรือเรียกอีกอย่างว่า “พวกส่วย” ชาวกูย มักจะถูกชาวกัมพูชาเรียกว่า “จนเจียดเดิม” หรือ ชนชาติเดิม  ชาวกูยจึงมีชื่อเรียกหลายชื่อจึงมีการรวมกลุ่มและมีมติให้ใช้ชื่อกลางเรียกแทนกลุ่มที่มีภาษาและวัฒนธรรมเดียวกันหรือคล้ายกัน ว่า “กูย” เมื่อ วันที่ 15 พฤศจิกายน พ.ศ. 2557 โดยมีชมรมชาวกูยแห่งประเทศไทยเป็นองค์กรกลางประสานงานฐานข้อมูลชาติพันธุ์กูย จากการสืบค้นในเอกสารอื่น ๆ พบว่า ในภาษาเขมรเรียกว่า កួយ (អក្សរសព្ទខ្មែរ: /កួយ/) ในภาษาละตินเขียนว่า kuoy (អក្សរសព្ទឡាតាំង: /kuoy/)  และในแผนที่โบราณยังพบคำว่ากูยหรือกวยมาอย่างยาวนาน

พ.ศ. 1974 (ปีกุน) ที่จากหลักฐานกฎหมายตราสามดวงอยุธยาฉบับพ.ศ. 1974 ได้กล่าวถึงกษัตริย์ของเขมรที่นครธม ได้ทรงขอให้เจ้ากวยแห่งตะบองขะมุม ที่มีเมืองสำคัญอยู่ตอนใต้ของเมืองนครจำปาศักดิ์ ส่งทหารไปช่วยพระองค์ปราบขบถ สำเร็จแล้วประมุขของทั้งสองฝ่ายได้อยู่ร่วมกันอย่างสันติ และออกกฎหมายตราสามดวงให้คนสยามห้ามยกลูกสาวให้ชาวฝรั่ง อังกฤษ วิลันดา กับปิตัน กุลา มลายู แขก กวย/กูย และแกว ซึ่งเป็นคนต่างชาติต่างศาสนา และในปีเดียวกันมีมาตรที่ 25 ชาวต่างชาติที่เข้ามาพำนักและค้าขายทั้งทางบก ทางเรือ ได้แก่  แขก  พราหมณ์  ญวน  ฝรั่ง  อังกฤษ  จีน  จาม  มิลันดา  พม่า  มลายู  กวย/กูย/ขอม  (ที่มา:เอกสารของโครงการแผนที่วัฒนธรรมของกลุ่มชาติพันธุ์ชายแดนไทย–กัมพูชา โครงการความร่วมมือระหว่างสถาบันวิจัยภาษาและพัฒนาเพื่อพัฒนาชนบท มหาวิทยาลัยมหิดล)

พ.ศ. 2000 พงศาวดารเมืองละแวก กล่าวถีง กษัตริย์เขมร พระเจ้าธรรมราช ซึ่งครองอยู่พระนครหลวงได้ส่งทูตไปขอกองทัพจากกษัตริย์กวยแห่งตะบองขะมุม ที่มีเมืองสำคัญทางตอนใต้ของเมือง จำปาศักดิ์ ส่งทหารไปช่วยปราบกบฏ เมื่อกองทัพของพระเจ้าธรรมราชและเจ้ากวยแห่งตะบองขะมุมได้ปราบกบฏสำเร็จ ประมุขทั้งสองฝ่ายก็ได้อยู่ร่วมกันอย่างสันติ (ที่มา ไทย : ศรีศักดิ์ วัลลิโภดม 2533:35-36)

พ.ศ. 2103 หลักฐานที่สนับสนุนแนวคิดนี้คือ พงศาวดารล้านช้าง กล่าวว่า “ในปี 2103 สมเด็จพระไชยเชษฐิราชต้องทำการปราบปรามพวกข่า(กูย) และชนเผ่าต่างๆ ที่สร้างบ้านสร้างเมืองอยู่แถวฝั่งแม่น้ำโขงทางใต้นครเวียงจันทน์และใน ที่สุดพระองค์ได้หายสาบสูไปในคราวยกกองทัพไปปราบปรามพวกข่า(กูย) ในแขวงอัตบือ (ที่มา ไทย : ศรีศักดิ์ วัลลิโภดม 2533:35-36)

พ.ศ. 2114 สมเด็จพระไชยเชษฐาธิราช(จากอาณาจักรลานช้าง) ได้เสด็จออกปราบกบฏ ณ เมืองรามรักองการ แล้วสูญหายไปในศึกนั้น ชาวเมืองจึงได้อัญเชิญ พระเจ้าหน่อแก้ว พระโอรสของสมเด็จพระไชยเชษฐาธิราชซึ่งเพิ่งประสูติให้เสด็จขึ้นครองราชย์ (ที่มา:จากประวัติศาสตร์การก่อตั้งอาณาจักรลานช้าง ประเทศลาว)

พ.ศ. 2200 เป็นต้นมา จนถึงปลายอยุธยาตอนปลายปรากฏว่ามีชุมชนกูยเกิดขึ้นอยู่ทั่วไป ตั้งแต่จังหวัดอุบลราชธานีจนถึงจังหวัดบุรีรัมย์ แต่ที่มีชื่อเสียงโด่งดังเป็นหลักฐานทางประวัติศาสตร์ คือชนชาวกูยที่บ้านเมืองที บ้านโคกยาง(สังขะ) บ้านกุดหวาย (รัตนะบุรี) และบ้านโคกลำดวน(เมืองขุขันธ์) จังหวัดศรีสะเกษ

หม่อมอมรวงศ์วิจิตร กล่าวไว้ในพงศาวดารหัวเมืองมณฑลอีสานกล่าวว่า เดิมพื้นที่ในมณฑลลาวทางนี้ เมื่อก่อนจุลศักราชได้ 1,000 ปี ก็เป็นทำเลป่าดง ซึ่งเป็นที่อาศัยของพวกคนอันสืบเชื้อสายมาแต่ขอม ต่อมาเรียกกันว่า กูย, กวย, ส่วย ซึ่งยังมีอาศัยอยู่ในฝั่งโขงตะวันออก ซึ่งปรากฏหลักฐานการสร้างปราสาทหิน และจากอิฐดินเผาจำนวนมากมีกระจายอยู่ทั่วไปในแถบอิสานใต้ ละโว้ (ลพบุรี) ไปจนถึงในเขตภาคกลางและภาคเหนือตอนล่าง

ปลายพุทธศตวรรษที่ 19-20 เคยเป็นอาณาจักรหนึ่ง ชื่อว่าอาณาจักร “ตะบองคะมุน” ถิ่นฐานเดิมอยู่ทางตอนเหนือของเมือง กำปงธม ประเทศกัมพูชา

ราชอาณาจักรกูย,กวย มีพื้นที่กว้างขวาง ปรากฏในพงศาวดารนครจำปาสักว่า ทิศตะวันตกจรดแดนอยุธยาที่ลำกะยุงพิมาย ทิศตะวันออกจดแดนญวนที่เทือกเขาบรรทัด ทิศใต้คงจะถึงเชียงแตงหรือสตึงเตรง ที่โปรดให้ท้าวสุดไปปกครอง ทิศเหนือถึงสาละวันที่โปรดฯให้ท้าวมั่นไปปกครอง ดินแดนที่อ้างถึงนี้สันนิษฐานว่าเป็นราชอาณาจักรกูย,กวยที่นางแพงปกครองอยู่ก่อน แล้วมอบเวนอำนาจให้กับเจ้าหน่อกษัตริย์ต่อมา ปรากฏในพงศาวดารนครจำปาสักตอนเจ้าศรีสร้อยสมุทรพุทธรางกูรตั้งเจ้าเมือง

พุทธศตวรรษที่ 20 เคยส่งทูตมาค้าขายกับอยุธยา เคยช่วยกษัตริย์เขมรปราบกบฏ ต่อมาเขมรได้ใช้ทางการทหารรบกับชาวกูยและผนวกรวมดินแดนเป็นส่วนหนึ่งกับเขมร ด้วยความชอบความอิสระและชอบการผจญภัย ได้อพยพขึ้นเหนือ เข้าสู่เมืองแขวงอัตตะปือ แขวงจำปาศักดิ์ และสาละวัน ทางตอนใต้ของลาว ตามแม่น้ำโขงมาตั้งรกรากอยู่แถบอิสานทางด้านแก่งสะพือ อำเภอโขงเจียม ได้แยกย้ายตั้งรกรากปลูกบ้านเรือนอยู่แถบนี้

พุทธศตวรรษที่ 21-22 มีอพยพมาจากฝั่งซ้ายของแม่น้ำโขง เนื่องจากมีการสู้รบและการเมืองการปกครองในแขวงจำปาสัก โดยมาอาศัยหนาแน่นในเขตพื้นที่จังหวัดสุรินทร์ ศรีสะเกษ แต่เดิมก็มีชาวกูยอาศัยในอิสานใต้มาก่อนแล้ว เช่น กูยปรือใหญ่ พบที่ อำเภอขุขันธ์ เป็นกลุ่มชนชาติพันธ์ดั้งเดิมที่อาศัยอยู่ในแถบพื้นที่เหนือพนมดงรักมานานแล้ว ไม่ได้อพยพมามาที่อื่น

พุทธศตวรรษที่ 23  พระเจ้าเอกทัศน์ พระที่นั่งสุริยามรินทร์แห่งกรุงศรีอยุธยา พระยาช้างเผือกแตกโรง เจ้าเมืองพิมายได้พาหัวหน้ากูยตามหาช้างจนพบและได้รับสถาปนาหัวหน้ากูยให้เป็นเจ้าเมืองต่อมา 1. ให้เชียงสี(บ้านกุดหวาย) เป็น “หลวงศรีนครเตา” (ปัจจุบันคืออำเภอรัตนบุรี จังหวัดสุรินทร์)  2. ให้เชียงปุม(บ้านคูประทาย) เป็น “หลวงสุรินทร์ภักดี” (ปัจจุบันอำเภอเมืองสุรินทร์) 3.ให้เชียงฆะ (บ้านอัจจะปึง)  เป็น “หลวงเพชร”(ปัจจุบันอำเภอสังขะ) 4. ให้เชียงขัน(บ้านลำดวน) เป็น “หลวงสุวรรณ” (ปัจจุบันอำเภอขุขันธ์  จังหวัดศรีสะเกษ) 5. ให้เชียงไชย(บ้านจารพืด) เป็น “หลวงไชยสุริยงค์” (ปัจจุบัน อำเภอศีขรภูมฺ) 6. ให้เชียงสง(บ้านเมืองลีง) สมัยกรุงธนบุรีและสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น มีการขยายอำนาจการปกครองและได้รวมเอาหัวเมืองในภาคอิสาน เรียกว่า “เขมรป่าดง” มาเป็นอำนาจในปกครอง  รัชกาลที่ 1 ได้ให้เจ้าเมืองกูยไปตีเมืองตามลุ่มน้ำโขงจนถึงเวียงจันทร์ และได้รับชัยชนะ มีการกวาดต้อนเชลยศึกมาเป็นจำนวนมากให้มาอยู่ตามหัวเมืองต่างๆ และหัวเมืองต่างๆต้องเก็บ ผลเร่ว น้ำผึ้ง  ชัน  นอแรด  ผ้าไหม ช้าง ควาย ฯลฯ ส่งบรรณาการให้ราชสำนักในเมืองหลวงกรุงเทพฯ จึงถูกคนอื่นๆเรียกว่าส่ง “ส่วย”  ช่วงแรกๆสามารถจัดส่งเครื่องบรรณาการได้ดี เช่น ส่วยทองคำ ช่วงปลายรัชการที่3 ถึงต้นรัชการที่ 4 มีการเพิ่มทองคำเป็นปีละ 8 ชั่ง เมืองอัตตปือไม่สามารถจัดส่งทองคำให้ได้ตามเป้าหมาย  จึงได้มีการจัดส่ง “คน” ไปใช้แรงงานแทนเครื่องบรรณาการ เรียก “ไพร่ส่วย, ข่าส่วย , ข่าไพร่” ซึ่งเกิดขึ้นในช่วงรัชกาลที่ 4 และมีการก่อกบฏขึ้น อาทิ กบฏเชียงแก้ว , กบฏสาเกียดโง้ง

พุทธศตวรรษที่ 24 กบฏผีบุญ และ รัชการที่ 5 พระองค์ทรงประกาศเลิกทาส ทำให้ชาวกูยได้รับอิสระภาพและมีพฤติกรรมมักเก็บตัวเงียบ ระบบการปกครองที่เปลี่ยนไปทำให้ชาวกูยก็ได้เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในการพัฒนาประเทศไทยจนถึงปัจจุบัน แม้บางยุคบางช่วงการเปลี่ยนผ่านมีการห้ามใช้ภาษาถิ่นภาษากูยให้ใช้ภาษากลางหรือภาษาไทยเท่านั้น เนื่องจากส่วนกลางที่มาปกครองดูแลไม่สามารถสื่อสารและเข้าใจมีความหวาดระแวงซึ่งกันและกัน คนกูยมีความสามารถพูดภาษาไทย  ลาว  เขมร  อังกฤษและภาษาอื่นๆได้ดี  แต่คนภายนอกไม่สามารถพูดภาษากูยได้

พุทธศตวรรษที่ 25 ระบบการเมืองการปกครอง  ระบบการศึกษา ระบบสังคม  เศรษฐกิจ และค่านิยมที่เปลี่ยนไป กระแสวัฒนธรรมหลักเข้ามา  หลายชุมชนไม่สามารถรักษามรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมกูยไว้ได้    ไม่สามารถส่งต่อรุ่นต่อไปได้  โดยเฉพาะชุมชนที่มีความเจริญเข้าถึงจะถูกกลืนเป็นกลุ่มแรกๆและชุมชนอื่นๆส่งผลตามมา จนปัจจุบันถึงขั้นวิกฤตทางด้านภาษาและวัฒนธรรม