เยาวชนกับการเชื่อมโยงคุณค่าจากป่าสู่เมือง

เยาวชนกับการเชื่อมโยงคุณค่าจากป่าสู่เมือง

วิถีชีวิตการพึ่งพิงธรรมชาติ

            ณ หมู่บ้านสบลาน ต.สะเมิงใต้ อ.สะเมิง จ.เชียงใหม่ เป็นหมู่บ้านเล็ก ๆ ราว 30 หลังคาเรือน มีประชากรประมาณ 100 คน เป็นชุมชนของชาวปกาเกอะญอ หรือรู้จักกันในนามของกะเหรี่ยง ที่มีวิถีชีวิตในการอาศัยอยู่ร่วมกันกับธรรมชาติ มีการทำไร่หมุนเวียน ทอผ้า จักสาน และการเก็บน้ำผึ้งป่า โดยใช้ภูมิปัญญาและความเชื่อในการดูแลจัดสรรค์ทรัพยากรณ์ในการดูแลธรรมชาติ 

“เมื่อก่อนชนเผ่าปกาเกอะญอนั้นเป็นชนเผ่าที่ยากจน ถ้าอยากจะมีเสื้อใส่ก็ต้องทอผ้าเอง อยากได้สีสวยก็ต้องย้อมผ้าเอง”พีมื่อ ผู้รู้เรื่องการย้อมผ้าและการทอผ้าในชุมชน ได้เล่าเรื่องราวให้เราฟัง การย้อมสีธรรมชาติ การทอผ้าจึงเป็นองค์ความรู้ที่สืบทอดกันมารุ่นสู่รุ่นตั้งแต่อดีต กว่าจะสามารถเป็นผ้า 1 ผืนนั้น ตั้งแต่กระบวนการย้อมสี จนกลายเป็นเสื้อที่สามารถสวมใส่ได้นั้นล้วนอัดแน่นไปด้วยภูมิปัญญาและความเชื่อ เช่นการเก็บสีจากเปลือกไม้นั้นจะต้องไม่ถากเปลือกไม้รอบต้นไม้ ขั้นตอนการย้อมที่ห้ามคนไม่สบายทำ ห้ามทอผ้าหรือเก็บวัตถุดิบในการย้อมสีในช่วงของวันพระ ต้องทำการขอขมา ขอบคุณธรรมชาติทุกครั้งที่เสร็จสิ้นการทอผ้า โดยภูมิปัญญาและความเชื่อทั้งหมดนั้นล้วนเกิดขึ้นจากพื้นฐานความเคารพ การใช้ทรัพยากรณ์ธรรมชาติอย่างยั่งยืน เพื่อให้มีใช้ต่อไปในรุ่นสู่รุ่น

            แต่วิถีดั้งเดิมที่เน้นการอยู่แบบพอเพียง พึ่งพาตนเองในชุมชน ก็เริ่มที่จะไม่ตอบโจทย์กับความต้องการของคนรุ่นใหม่ท่ามกลางยุคสมัยที่เปลี่ยนแปลง ทุกคนต่างต้องการรายได้มากขึ้นจากค่าครองชีพที่เพิ่มขึ้น ค่านิยมที่เปลี่ยนไป ทุกคนต้องการจะมีสิ่งอำนวยความสะดวกในการดำเนินชีวิต การที่จะได้มาซึ่งสิ่งอำนวยความสะดวกเหล่านั้นล้วนต้องพึ่งพาเงินที่มากกว่าเดิม วิถีชีวิตเดิมจึงไม่สามารถตอบโจทย์ความต้องการเหล่านั้นได้ คนจึงต้องปรับเปลี่ยนวิถีชีวิตของตน บ้างก็ต้องออกไปรับจ้างใช้แรงงานในเมือง บ้างก็เริ่มที่จะทำเกษตรเชิงเดี่ยว วิถีเดิมจึงค่อย ๆ เลือนลางและจางหายออกไปจากหัวใจของผู้คนทีละนิด 

วิถี ยุคสมัย การปรับตัว

แต่ในขณะเดียวกันก็มีกลุ่มเยาวชนที่ตั้งคำถามกับสิ่งที่เกิดขึ้น “ถ้าหากเราอยากจะทำงานอยู่ที่บ้านแบบเดิมเราจะต้องทำอะไรบ้าง” จากการตั้งคำถามไปสู่การค้นหาคำตอบ ของการปรับตัวเข้ากับยุคดิจิทัลในปัจจุบัน จึงเกิดการรวมกลุ่มของเยาวชนที่รวมตัวกันทำสร้างวิสาหกิจชุมชน เชื่อมโยงความรู้นอกชุมชน กับความรู้ในชุมชนเพื่อเพิ่มมูลค่าจากวิถีดั้งเดิม โดยเริ่มจากการเก็บข้อมูลต่าง ๆ ที่มีอยู่ในชุมชน บอกเล่าเรื่องราวของสินค้าที่มีอยู่ในชุมชน อย่าง ผ้าทอมือย้อมสีธรรมชาติ น้ำผึ้งป่า และเรื่องราวของวิถีชีวิตที่ทำให้เกิดผลิตภัณฑ์ พัฒนาผลิตภัณฑ์ในชุมชนต่อยอดผ้าทอมือ เป็นปกสมุดบันทึกทำมือ หรือปรับเป็นสินค้าที่เข้ากับแฟชั่นในยุคปัจจุบันมากขึ้น ออกบูธขายของตามงานอีเว้นท์ ออกแบบโปรแกรมการท่องเที่ยวเชิงการเรียนรู้ตามปฏิทินวิถีชีวิตชุมชน  พัฒนาไปสู่การทำร้านค้าออนไลน์ ทั้งการทำเว็บไซต์ เฟสบุ๊ค สื่อสารประชาสัมพันธ์เพื่อให้สามารถสื่อสารกับคนวงกว้างได้มากขึ้นกว่าเดิม “เราก็จำเป็นที่จะต้องเปลี่ยนแปลงบางอย่าง เพื่อให้เราสามารถขายของของเราได้ ถ้าเราทำเหมือนเดิมก็จะไม่มีใครมาซื้อของของเรา” หน่อเซอ เยาวชนที่ประกอบอาชีพทอผ้าในชุมชนกล่าว

            หลังมีการเริ่มดำเนินการไปในระยะหนึ่งก็เริ่มเกิดการเปลี่ยนแปลงบางอย่างในชุมชน อย่างการที่คนในชุมชนเริ่มให้ความสนใจกับกลุ่มเด็กที่ทำงานมากขึ้น ให้ความร่วมมือในการวางกฎกติการ่วมกัน อย่างการไม่ใช้สีเคมี  ไม่ขายผลิตภัณฑ์ที่ทำลายสิ่งแวดล้อมในชุมชน กำหนดมาตราฐานในการผลิต ขนาด ราคา “การทำแบบนี้เอาในตอนนี้อาจจะไม่ได้สร้างรายได้มากมายอะไร แต่ที่เราเห็นได้ก็คือทุกคนมีความสุขมากขึ้น” ชาติ แกนนำกลุ่มเยาวชนกล่าว ในเวลาต่อมาก็ได้มีการร่วมมือจากครูนิดจากศูนย์การเรียนโจ๊ะมาโลลือหล่า ได้จดทะเบียนกลุ่มวิสาหกิจชุมชนเป็นบริษัทเพื่อสังคมโจ๊ะIDEE คำว่า โจ๊ะ ในภาษาปกาเกอะญอแปลว่าโรงเรียน ID มาจากคำว่า Identity (เอกลักษณ์) ตัว E ที่หนึ่งมาจากคำว่า Education (การศึกษา) และตัว E ตัวสุดท้ายคือ Environment (สิ่งแวดล้อม)

โจ๊ะIDEE กับเส้นทางท่ามกลางความเปลี่ยนแปลง

            “จากการดำเนินงานที่ผ่านมาโจ๊ะIDEE ก็ยังไม่สามารถเรียกได้ว่าประสบความสำเร็จเต็มที่ แต่อย่างน้อยในช่วงเวลาที่ผ่านมาก็สามารถสร้างทางเลือกให้กับคนในชุมชน” ชาติ แกนนำเยาวชนกล่าว ผลกระทบที่เกิดขึ้นภายนอกชุมชนคือคนเริ่มรู้จักเรามากขึ้น การติดตามในเพจ การสั่งซื้อของก็เพิ่มขึ้น ปกติของการทำงานนั้นย่อมเกิดปัญหาเป็นธรรมดา ด้วยความที่ทุกคนล้วนเป็นมือใหม่ ได้พบเจอปัญหาตั้งแต่การทำสต๊อกของผิดพลาด ทำสินค้าหาย สินค้าได้รับความเสียหายจากการขนส่ง และอื่น ๆ อีกสาระพัด แต่เราก็ต้องเรียนรู้จากความผิดพลาด ปรับปรุงแก้ไขเพื่อให้การทำงานของเรานั้นสามารถพัฒนาต่อไปได้เรื่อย ๆ 

            ประตูสู่ความคิดที่จะขยายพื้นที่การทำงานเพื่อสร้างประโยชน์ให้กับพื้นที่อื่น ๆ จึงได้เริ่มต้นขึ้น 

ได้มีการทบทวนถึง ต้นทุนที่เกิดขึ้นจากการดำเนินงาน ความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้นต่อไป ข้อท้ายทายอันยิ่งใหญ่ก็ได้ปรากฎขึ้นจากคำถามง่าย ๆ “ถ้าพวกเราโตแล้วออกไปเรียนข้างนอกหมู่บ้านแล้วใครจะเป็นคนมาทำต่อ” โจทย์ใหม่ในการทำงานไม่ใช่เพียงแค่เรื่องของการสร้างรายได้ แต่มีเรื่องของการจะทำอย่างไรให้สามารถดำเนินงานได้อย่างยั่งยืน แผนการดำเนินงานของโจ๊ะIDEE จึงได้มีเรื่องของการพัฒนาศักยภาพกลุ่มเยาวชนในพื้นที่ เพื่อสร้างคนรุ่นใหม่ที่จะมาสานต่อการทำงาน 

ในปัจจุบันโจ๊ะไอดีประกอบไปด้วยบุคคลที่หลากหลายช่วงวัย ที่มองฝันในอย่างเดียวกัน มาร่วมกันผลักดันให้โจ๊ะไอดีสามารถเป็นแพลตฟอร์มกลางของกลุ่มคนเผ่าได้จริง คำว่าให้เยาวชนในชุมชนเป็นตัวเชื่อมโยงคุณค่าจากป่าสู่เมืองก็จะเห็นได้ชัดขึ้น แม้จะได้รับความรู้ที่มาจากภายนอก แต่ภายในก็ยังมีความรักในวิถีชีวิต ภูมิปัญญาในชุมชนชนเผ่าของตนเอง พร้อมกับการปรับตัวให้สามารถอาศัยอยู่ได้ในยุคดิจิทัล เพื่อสังคมพหุวัฒนธรรมสร้างความเข้าใจและอาศัยอยู่ร่วมกันอย่างจริงแท้

ต่าบลึ๊ (ขอบคุณครับ)