ชาวเล คือ..ส่วนแบ่งอิสรภาพจากเขตอาณานิคม…

คือ..ส่วนแบ่งอิสรภาพจากเขตอาณานิคม คือ ผู้เลือกให้ตนและแผ่นดิน..เป็นของสยาม

 

ชาวเล..บนแผ่นดินชายขอบกลุ่มชนเผ่าพื้นเมืองดั้งเดิมในประเทศไทย

ชาวเลคือใคร..? ชาวเล อยู่ที่ไหน..? ชาวเล..มาจากหนแห่งใด..?

หลังเหตุการณ์คลื่นยักษ์สึนามิ สังคมไทยเริ่มได้รับรู้ว่าณ.ชายฝั่งและเกาะแก่งตามจังหวัดแถบอันดามันของไทย มีกลุ่มชนดั้งเดิมอาศัยมานานก่อนเป็นประเทศไทยเพราะการเข้าฟื้นฟูชนกลุ่มนี้ขององค์กรเอกชน นักวิชาการและภาคประชาสังคม ได้ข้อมูลทางประวัติศาสตร์ที่บอกยืนยันความยาวนานของชาวเลบนผืนแผ่นดินทั้งจากการอ้างอิงของบันทึกการเดินทางของชาวต่างประเทศและประวัติศาสตร์ของไทยนับล่วงเวลามาก็กว่า๓๐๐ปี เป็นต้นทุนให้ชาวเลมีการนำเอาอัตตาลักษณ์วัฒนธรรมเข้าต่อสู้ความเหลื่อมล้ำเพื่อบ่งชี้ให้สังคมได้รับรู้ และเข้าใจคุณค่าในรูปแบบของความหลากหลาย   ความเป็นตัวตนของชาวเลจึงชัดเกิดขึ้นหลังเหตุการณ์สึนามิ เป็นต้นมา
ผลจากการสำรวจข้อมูลชาวเลหลัง สึนามิ ของมูลนิธิชุมชนไทเมื่อรวบรวมและวิเคราะห์ข้อมูล นักวิชาการและรัฐ ได้นิยามภาพรวมว่า..ชาวเล..หมายถึงชนพื้นเมืองดั้งเดิมในอันดามันแบ่งออกเป็น 3 เผ่าคือ มอแกน มอแกลนและอุรักลาโว้ย มีจำนวนประชากร 13000 คน อยู่รวมเป็นกลุ่มชุมชน44 ชุมชนใน 5จังหวัดได้แก่ พังงา ภูเก็ต กระบี่ สตูล ระนอง กำลังประสบวิกฤติการสูญเสียทางชาติพันธุ์  ปัญหา 95เปอร์เซนต์ของจำนวนประชากรขาดความมั่นคงในที่อยู่อาศัย ที่ทำกิน แหล่งหากิน พื้นที่ทางจิตวิญาณ อคติทางชาติพันธุ์เข้าไม่ถึงการบริการของรัฐ   และอีก 500คน ยังไม่มีสัญชาติ คนรุ่นหลังมีแนวโน้มการไม่พูดภาษาตัวเองเมินเฉยในวัฒนธรรม ไม่ภาคภูมิใจความเป็นตัวตน จากการรวบรวมข้อมูลเชิงลึกยังพบอีกว่าว่าตั้งแต่ในอดีต
รัฐออกนโยบายการพัฒนา/การบริหารจัดการทรัพยากร สภาพแวดล้อมเปิดทางให้เกิดการหาผลประโยชน์บนแผ่นดินถิ่นฐานของบรรพบุรุษชาวเลโดยที่ไม่เคยคำนึงถึงความเปลี่ยนแปลงของภูมินิเวศน์ หรือผลกระทบใดๆต่อชาวเลอย่างจริงจังยิ่งสร้างความทุกข์ยาก และความเป็นอยู่ที่แร้นแค้นลำเค็ญให้แก่ชาวเลมากขึ้น เป็นเหตุให้เครือข่ายชุมชนเพื่อการปฏิรูปสังคมและการเมืองเหล่าองค์กรที่ปรึกษา นักวิชาการสถาบันต่างๆรวมถึงหน่วยงานภาครัฐที่เห็นร่วม เช่นสภาความมั่นคงแห่งชาติได้ร่วมกับชาวเลเสนอและผลักดันต่อเนื่องให้รัฐมีนโยบายคุ้มครองเร่งด่วน ซึ่งได้ประกาศเป็นมติครม.เมื่อวันที่๒ มิถุนายน ๒๕๕๓ คณะรัฐมนตรีเห็นชอบหลักการแนวนโยบายในการฟื้นฟูวิถีชีวิตชาวเล และมอบให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องนำแผนไปปฏิบัติ  ประกอบด้วย การสร้างความมั่นคงด้านที่อยู่อาศัย  การประกอบอาชีพประมง  การช่วยเหลือด้านสาธารณสุข   การแก้ปัญหาสัญชาติ การส่งเสริมด้านการศึกษา /ทุน  /หลักสูตรที่สอดคล้องกับวิถีชีวิต การแก้ปัญหาอคติทางชาติพันธุ์
การส่งเสริมด้านภาษาและวัฒนธรรมของชาวเล  การส่งเสริมชุมชนและเครือข่ายชาวเลให้เข้มแข็งรวมทั้งให้มีงบประมาณส่งเสริม วันนัดพบวัฒนธรรมชาวเล หรือวันรวมญาติชาติพันธุ์ชาวเลที่จัดมาแล้วเป็นปีที่ 6 หากถามว่าแล้วชาวเลไปอยู่ที่ไหนมา..? อยู่อย่างไร..?ถึงเพิ่งเปิดเผยตัวตน
ชาวเล..ดูเป็นผู้มีนิสัยรักสันโดษและสงบ แท้จริงแล้วเพราะมีปมทางประวัติศาสตร์ของกลุ่มชนผู้ด้อยและถอยร่นเข้าอยู่ป่าลึกบ้างก็ไปอยู่ตามเกาะแก่งห่างไกล หรือไม่ก็ล่องเรือในทะเลไปตามเกาะต่างๆตามฤดูกาลอารยะธรรมที่หลงเหลือจึงค่อยลืมหายและกลมกลืนไปกับยุคสมัยและกาลเวลา เป็นชะตาที่คล้ายคลึงกันของชนเผ่าพื้นเมืองในประเทศไทยและประเทศใดๆในโลก
ตั้งแต่มีขอบเขตประเทศไทยชาวเลก็ไม่เคยได้รับรู้ความเปลี่ยนแปลงของประเทศ ดำรงวิถีหากินทางทะเลทำนา ทำไร่ข้าวหมุนเวียน พืชผลก็ปลูกไม้สวนผสมไว้กินไว้แลกแบ่งปัน มีบริเวณบ้านที่ทำจากวัสดุธรรมชาติที่พอบ่งบอกขอบเขตที่ดินในการครอบครองชีวิตอิสระบนความอุดมสมบูรณ์ผ่านไปโดยไม่รู้ตัว  อยู่ๆก็มีการสัมปทานป่า สัมปทานแร่แหล่งหากินในทะเลก็สูญหายพื้นที่ไร่นาก็หมดไป เปลี่ยนวิถีบ้านเล็กในป่าใหญ่ชายทะเลเป็นชุมชนรวม ไม่มีการแลกเปลี่ยนของกินของใช้อีกต่อไปทุกอย่างต้องแลกเปลี่ยนด้วยเงิน  และแล้วเมื่อหมดยุคสัมปทานทั้งคนมีเงิน คนมาอยู่หลังกลับได้ไปออกเอกสารสิทธิ์ในที่ดินกันชาวเลก็ไม่ได้รับรู้หรือมีโอกาสที่สามารถจะทำได้ สิ่งบ่งชี้ว่าชาวเลเป็นคนยุคไหน..ก็ตรงที่ชาวเลชนเผ่ามอแกลนยังคงเรียกคนไทยว่า..คนแฉ้ม เป็นสรรพนามที่ใช้เรียกคนพื้นเมืองที่เพี้ยนมาจากสำเนียงใต้ ว่า คนส๊ะหย้ามหรือ คนสยาม  ชาวเลส่วนใหญ่มารู้จักคำว่าคนไทยหรือประเทศไทย ก็ช่วงตอนสมเด็จย่าทรงพระเสด็จเยี่ยมและพระราชทานนามสกุลให้แก่ชาวเลหลายจังหวัด
ในยุคนั้นนายอำเภอและผู้นำท้องถิ่นจะเป็นฝ่ายรัฐที่จัดให้ชาวเลรับเสด็จชาวเลชนเผ่าอุรักลาโว้ยที่แหลมตงได้มีโอกาสถวายดอกไม้ทะเลแห้ง ส่วนชาวเลชนเผ่ามอแกลน-มอแกนที่เกาะระได้เคยถวายลูกมะพร้าวทั้งทลายให้กับพระองค์ แม้แต่ที่ชุมชนชาวเลเกาะสิเหร่และราไวย์จังหวัดภูเก็ตทั้งพระองค์ท่านและพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ยังเคยเสด็จมาด้วย ทรงได้พระราชทานนามสกุลประมงกิจ ให้ชาวเลที่นั่น  เป็นบันทึกตราตรึงความทรงจำในพระราชกรณีกิจที่สร้างความปลาบปลื้มให้กับชาวเลที่ทั้งสองพระองค์ทรงมีพระมหากรุณาธิคุณต่อชาวเลเป็นล้นพ้นสืบเนื่องมาจนถึงองค์พระเทพรัตนราชสุดาฯ ที่ทรงพระสืบสานพระปณิธานจากสมเด็จย่าและได้ทรงพระอุปถัมภ์ช่วยเหลือชาวเลมาจนถึงปัจจุบัน
ความสัมพันธ์ชาวเลกับคนพื้นถิ่นในอดีตนั้นมีความรู้จักมักคุ้นกันดีรุ่นต่อรุ่นต่างก็บอกเล่ากันมาว่า..เกิดมาก็เห็นชาวเลอยู่มาก่อนแล้ว  แต่อาจเพราะ ภาษา วัฒนธรรมประเพณีปฏิบัติหลักจารีตรวมถึงความเชื่อที่แตกต่างจากความเป็นชนชาติไทยหรือชาติสากล ทำให้คนที่คนพื้นถิ่นรุ่นหลังส่วนใหญ่เริ่มหลงลืมความดั้งเดิมของ ชาวเล ยิ่งช่วงหลังพ.ศ.๒๕๓๐เพื่อเพียงให้ชาวเลได้รับการพัฒนา รัฐได้ประกาศนิยามให้เรียกประเทศไทยเรียกชาวเล ว่า ไทยใหม่ และให้มีสิทธิ
ความเป็นพลเมืองเท่าคนไทย แต่กลับเป็นวิกฤติทางความเข้าใจเป็นภัยวาทะกรรม ล้วนแล้วเมื่อสื่อสรรพนาม หมายให้ชาวเลเป็นคนล้าหลัง ฐานะและสภาพความเป็นอยู่ถูกแบ่งให้เป็นชนชั้นต่ำ สกปรก ไม่ควรแก่การแบ่งโอกาสที่เท่าเทียมและเท่าทัน
การปกครองการพัฒนาที่เข้าถึงปะทะถึงตัวชาวเลโดยไม่ได้รับรู้  การถอยร่นของบรรพบุรุษในอดีต เป็นเหตุทำให้ไม่ได้อยู่ในจำนวนประชากรที่รัฐต้องดูแลแต่แรกจนเมื่อผ่านยุคสมัยจึงกลายเป็นคนที่ขาดการพัฒนาจากรัฐขาดความรู้ในการเข้าถึงโอกาสที่ควรจะได้รับ การถูกแก่งแย่งทำร้ายจากผู้ได้เปรียบในสังคม มักจบปัญหาด้วยการจำยอมและหลบเร้นจนปลูกฝังหวาดกลัวต่อการข่มเหงและเอาเปรียบจนที่สุดบางพื้นที่ก็เปลี่ยนตัวเองไม่ยอมรับความเป็นชาวเลเพื่อให้ตนได้รับการยอมรับในศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ในสังคม
ตลอด 5 ปีที่ผ่านมา การแก้ปัญหาต่างๆยังไม่บรรลุผลอันเนื่องจากปัญหาทั้งหมดทั้งมวลนั้นเกี่ยวข้องกับหลายหน่วยงาน  ซึ่งต้องใช้ความร่วมมืออย่างเข้าใจจากหลายฝ่าย ไม่ว่าทั้งองค์กรทั้งภาครัฐ   ภาคเอกชน องค์กรพัฒนาเอกชน   องค์กรท้องที่-ท้องถิ่น  จังหวัด นักวิชาการ เครือข่ายรวมถึงชุมชนชาวเลเอง  ซึ่งรัฐบาลปัจจุบันได้ตั้งให้ทุกฝ่ายร่วมเป็นคณะกรรมการแก้ปัญหาที่ดินที่ทำกินและพื้นที่ทางจิตวิญญาณชุมชนชาวเลขึ้นมา โดยมีพลเอกสุรินทร์พิกุลทองเป็นประธาน ฯ ประเด็นที่กำลังคืบหน้าคือการตรวจสอบและคุ้มครองพื้นที่สุสาน ๒๓ แห่งมีเอกสารนสล. ๒ แห่ง ถูกบุกรุกหนัก๑๓แห่ง ไม่ให้มีการบุกรุกเพิ่มพร้อมดำเนินการออกนสล.อีก๓ สุสาน
อีกประเด็นคือที่ทำกินในทะเลดั้งเดิมของชาวเลที่ถูกอุทยานฯประกาศทับได้เกิดเป็นข้อตกลงระหว่างชาวเลกับอุทยานฯ ต้องผ่อนปรนให้ชาวเลหากินได้โดยมีเงื่อนไขเรื่องปริมาณ อนุญาตให้ใช้เครื่องมือได้ ๑๗ ชนิด และเป็นช่วงฤดูกาลที่การหากินต้องไม่รบกวนการท่องเที่ยวนอกนั้นก็ช่วงฤดูช่วงฝนที่ปลาวางไข่ ซึ่งชาวเลก็หยุดเป็นปกติอยู่แล้วแต่อย่างไรก็ถือว่าเป็นผลดีที่มีการตกลงกันในระดับหนึ่ง ส่วนเรื่องอื่นๆชาวเลก็ได้รับโอกาสมีการเปิดพื้นที่ให้ได้เข้านำเสนอ เช่น เรื่องที่ดินในเขตรัฐประกาศทับและมีแผนทวงคืนผืนป่า เรื่องสุขภาพการศึกษา การมีส่วนร่วมกับภาคส่วนต่างๆเข้าเสนอแนะและคัดค้าน กฎหมายโยบายที่เกี่ยวข้องและส่งผลกระทบมีส่วนร่วมในการปฏิรูปประเทศและร่างรัฐธรรมนูญ
และสุดท้ายบทความชาวเลยังจบไม่ได้หากไม่ได้เล่าว่า..แล้วต่อไปจะอยู่อย่างไรกับความเปลี่ยนแปลงของสังคมโดยเฉพาะในช่วงที่รัฐส่งเสริมนโยบายการท่องเที่ยว พื้นที่ชาวเลยิ่งถูกรุกรานอย่างมากคงต้องตอบก่อนว่า..ชาวเลผ่านนโยบายต่างๆหลายยุคที่ส่งผลกระทบแม้จะเหลือบาดแผลแห่งการต่อสู้ แต่ชาวเล ก็ยังมีชีวิตอยู่นำแต่ละเสี้ยวความเจ็บปวดมาเป็นบทเรียนเพื่อเดินต่อไปข้างหน้าการลุกขึ้นมาจัดระบบชุมชนที่ใหม่ การรวมตัวจัดตั้งเป็นเครือข่ายชาวเลทั้ง๕ จังหวัดเป็นเครือข่ายชนเผ่าพื้นเมืองภาคใต้ และร่วมมีบทบาทในสภาชนเผ่าพื้นเมืองเป็นส่วนหนึ่งของเครือข่ายชุมชนเพื่อการปฏิรูปสังคมและการเมือง และเป็นส่วนหนึ่งในการร่วมกันผลักดันของขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรมการเชื่อมร้อยเครือข่ายต่างๆเพื่อขยายพื้นที่ทางสังคมให้ทุกส่วนพันธกิจร่วมในการขับเคลื่อนเรื่องราวชาวเลสู่สังคมและ
เวทีแก้ปัญหากับรัฐที่เกี่ยวข้องทุกระดับจนกว่าจะได้รับความเป็นธรรมต่อปัญหาที่หมักหมม สั่งสมมานานด้านการเสริมสร้างความเข้มแข็งให้ตัวเอง ชาวเลได้จัดตั้งกลุ่มออมทรัพย์เพื่อจัดทำสวัสดิการที่สร้างความมั่นคง กองทุนข้าวสารเพื่อชดเชยการสูญเสียพื้นที่เพาะปลูก ทางด้านอาหารทะเลก็มีการรวมกลุ่มแปรรูปอาหารใน1ปีก็มีแผนแลกเปลี่ยนข้าว-ปลากับพี่น้องเครือข่ายชนเผ่าฯภาคอื่นๆเพื่อความมั่นคงทางด้านอาหาร รูปแบบการปรับตัวต่อนโยบายส่งเสริมการท่องเที่ยวชาวเลได้จัดรูปแบการท่องเที่ยวเชิงเรียนรู้วิถี วัฒนธรรมชาวเลซึ่งมีจุดขายที่สามารถนำเสนอเพื่อสอดรับการท่องเที่ยวเชิงคุณค่าทางวัฒนธรรมเป็นการปรับตัวอีกครั้งของชาวเล แต่ครั้งนี้ขอชี้หน้าท้าสู้  ไม่ว่านโยบายจะกระทบกระแทกเพียงไร ชาวเลมั่นใจว่า..บาดแผล..ในสมรภูมินี้อาจเล็กน้อยหรืออาจไร้แม้ริ้วรอยหลังการต่อสู้
#เปลือกหอยเล็กๆ