กองทุนสมานฉันท์สำหรับชนเผ่าพื้นเมืองในเอเชีย

Indigenous Peoples of Asia Solidarity Fund (IPAS)

โดย ฝุยุ่น สภาชนเผ่าพื้นเมืองแห่งประเทศไทย

เมื่อวันที่ 31 มีนาคม – 3 เมษายน 2566 ผู้แทนและแกนนำชนเผ่าพื้นเมืองจากประเทศต่างๆ ในเอเซียได้มาร่วมกันหารือและมีมติเป็นเอกฉันท์ให้มีการจัดตั้งกองทุนสมานฉันท์สำหรับชนเผ่าพื้นเมืองในเอเซียขึ้นมา ณ กรุงบาหลี ประเทศอินโดนีเซีย ซึ่งประเทศไทยก็มีตัวแทนชนเผ่าพื้นเมืองเข้าไปร่วมด้วย

ภาพบน: พิธีเปิดประชุมแบบบาหลี ภาพล่าง:คณะกรรมการบริหารกองทุน IPAS ชุดแรกวาระ 2023-2027

ความเป็นมาของกองทุนสมานฉันท์สำหรับชนเผ่าพื้นเมือง?

กองทุนสมานฉันท์สำหรับชนเผ่าพื้นเมือง หรือ Indigenous Peoples of Asia Solidarity Fund (IPAS) เป็นกองทุนที่ชนเผ่าพื้นเมืองในเอเซียได้ร่วมกันจัดตั้งขึ้นมา โดยมีวัตถุประสงค์หลักเพื่อเสริมสร้างความเข้มแข็งให้แก่ชุมชนและองค์กรชนเผ่าพื้นเมืองในด้านการจัดการป่าไม้และความหลากหลายทางชีวภาพ รวมทั้งการต่อสู้กับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การปกป้องสิ่งแวดล้อมและส่งเสริมการพัฒนาที่ยั่งยืน เพราะจากการศึกษาพบว่าชนเผ่าพื้นเมืองในเอเซียนั้นมีจำนวนมาก ประมาณ 411 ล้านคน ส่วนใหญ่เป็นประชากรชายขอบ ถูกเลือกปฏิบัติและยังไม่ได้รับการยอมรับจากรัฐในประเทศที่ตนเองอาศัยอยู่ นอกจากนี้ชนเผ่าพื้นเมืองยังเผชิญกับข้อท้าทายต่าง ๆ เช่น การเข้ามากว้านซื้อที่ดินจากนายทุน ป่าไม้ถูกทำลาย ปัญหาสิ่งแวดล้อม และถูกละเมิดสิทธิทั้งสิทธิเชิงปัจเจกและสิทธิส่วนรวม อย่างไรก็ตามชนเผ่าพื้นเมืองก็ยังยืนกรานที่จะปกป้องและรักษาความหลากหลายทางชีวภาพและระบบนิเวศน์ในพื้นที่เขตแดนของตนเองไว้เพื่อความอยู่รอดของคนในชุมชนและคนรุ่นต่อไป

ชนเผ่าพื้นเมืองเป็นผู้ดูแลและจัดการความหลากหลายทางชีวภาพของโลกมากกว่าร้อยละ ๘๐ แต่พวกเขากลับมีข้อจำกัดในการเข้าถึงทรัพยากรจากแหล่งต่างๆ เพื่อมาส่งเสริมและพัฒนาตนเอง จากการศึกษาพบว่ามีเพียงร้อยละ 0.13 ของงบประมาณในการให้ความช่วยเหลือด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและการพัฒนาเท่านั้นที่ชนเผ่าพื้นเมืองได้รับ ส่วนใหญ่เป็นทุนขนาดเล็กและมีระยะสั้น บางครั้งต้องดำเนินการผ่านหน่วยงานที่ทำหน้าที่คนกลางให้กับชนเผ่าพื้นเมือง เนื่องจากชนเผ่าพื้นเมืองไม่มีศักยภาพในการบริหารและจัดการโครงการได้ด้วยตนเอง ดังนั้นการจัดตั้งกลไกเงินทุนเฉพาะสำหรับชนเผ่าพื้นเมือง ที่ชนเผ่าพื้นเมืองเป็นผู้บริหารและจัดการเองจึงเป็นเรื่องที่สำคัญ

กองทุนนี้จะเป็นกองทุนที่ชุมชนชนเผ่าพื้นเมือง องค์กรและเครือข่ายชนเผ่าพื้นเมืองจากประเทศต่างๆ สามารถเข้าถึงได้โดยตรง  ซึ่งสอดคล้องกับความต้องการและช่วยให้พวกเขาสามารถดำเนินการต่อเนื่องในการปกป้องป่าและการอนุรักษ์ทรัพยากรของตนได้

ผู้เข้าร่วมประชุม

การดำเนินงานจัดตั้งกองทุน

การดำเนินงานเพื่อจัดตั้งกองทุน IPAS นี้แบ่งออกเป็น 3 ระยะ คือ

1. ช่วงระยะเวลาเตรียมการ ในระยะนี้มีการดำเนินกิจกรรมหลายอย่าง ได้แก่ การศึกษาและทบทวนโครงสร้างและกลไกการบริหารจัดการที่มีอยู่ขององค์กรชนเผ่าพื้นเมืองและแหล่งทุนอื่น ๆ ในระดับชาติและภูมิภาค การยกร่างกลไกและโครงสร้างการบริหารจัดการสำหรับกองทุน IPAS  การยกร่างนโยบายและแนวทางที่จำเป็นสำหรับการจัดตั้งกองทุน การเผยแพร่เอกสารและการจัดเวทีทำความเข้าใจให้กับชนเผ่าพื้นเมืองในแต่ละประเทศ

2. ช่วงระยะเวลาการจัดตั้งกองทุน การเริ่มงาน และการดำเนินการ: จัดตั้งกองทุน IPAS โดยผ่านกระบวนการที่โปร่งใส รวมทุกฝ่าย และเป็นประชาธิปไตย

กิจกรรมที่สำคัญในระยะนี้ คือ การจัดประชุมสมัชชาเพื่อพิจารณาและรับรองกลไก โครงสร้างการบริหารงานของกองทุน รวมทั้งนโยบายต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง เช่น นโยบายต่อต้านการคอร์รัปชั่น นโยบายเพศสภาพ ฯลฯ

การประชุมสมัชชากองทุนครั้งแรกจัดขึ้นที่กรุงบาหลี ประเทศอินโดนีเซีย (วันที่ 31 มีนาคม – 3 เมษายน 2566) ที่ประชุมมีมติรับรองกลไกและโครงสร้างการดำเนินงาน นโยบายที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งมีการเลือกตั้งคณะกรรมการบริหารกองทุน ซึ่งมีทั้งหมด 11 คน มีองค์ประกอบดังนี้ มีตัวแทนจากภูมิภาคย่อยในเอเซีย 7 ท่าน คือ ภูมิภาคเอเซียใต้ 2 คน ภูมิภาคแม่น้ำโขง 2 คน ภูมิภาคเอเซียตะวันออกเฉียงใต้ 2 คน และเอเซียตะวันออก 1 คน นอกจากนี้คณะกรรมการยังมีตัวแทนจากเครือข่ายชนเผ่าพื้นเมืองในระดับเอเซียอีก 4 เครือข่ายๆ ละ 1 คน ได้แก่ เครือข่ายสตรี เครือข่ายผู้พิการ เครือข่ายเยาวชน และเครือข่ายประสานความร่วมมือในเอเซีย (AIPP) รวมเป็น 4 คน คณะกรรมการบริหารกองทุนนี้จะมีอำนาจสูงสุดในการตัดสินใจเกี่ยวกับประเด็นต่างๆ ของกองทุน โดยจะมีการจัดตั้งสำนักงานเลขาธิการกองทุน และคณะกรรมการกำกับกองทุน รวมทั้งคณะกรรมการชุดอื่นๆ เพื่อมาสนับสนุนและช่วยบริหารงานให้กับกองทุนดังกล่าว คณะกรรมการบริหารกองทุนมีการประชุมครั้งแรกที่บาหลี และมีมติให้สำนักงานเลขากองทุนตั้งอยู่ที่กรุงจาร์กาต้า ประเทศอินโดนีเซีย เนื่องจากมีความเหมาะสมมากกว่าประเทศอื่นๆ และมีแผนระยะสั้น คือ การจดทะเบียนที่ตั้งสำนักงานกองทุน การปรับปรุงเอกสารทั้งหมดให้เป็นฉบับสมบูรณ์ และเริ่มประสานกับแหล่งทุนต่างๆ เพื่อมาสนับสนุนกองทุน IPAS ของชนเผ่าพื้นเมืองในเอเซียให้สามารถดำเนินตามเป้าหมายและวัตถุประสงค์ที่วางเอาไว้ร่วมกัน

3. ระยะที่สาม ช่วงระยะเวลาหลังการจัดตั้ง

ระยะนี้จะเน้นการประสานงานกับแหล่งทุนและแสวงหาเงินทุน การพัฒนายุทธศาสตร์และการจัดการกองทุนที่ยั่งยืน การดำเนินงานตามแผน การกำกับติดตามและประเมินผลการดำเนินงานของกองทุน การจัดประชุมสมัชชากองทุน ฯลฯ

บทส่งท้าย

กองทุนสมานฉันท์สำหรับชนเผ่าพื้นเมืองในเอเซียนี้ถือว่าได้มีการจัดตั้งอย่างเป็นทางการแล้ว สิ่งที่ต้องทำต่อจากนี้คือ การเผยแพร่ข้อมูลและทำความเข้าใจให้กับผู้แทนชุมชนชนเผ่าพื้นเมืองที่อาศัยอยู่กระจายไปตามพื้นที่ต่างๆ โดยผ่านทางสื่อช่องทางต่างๆ เพื่อให้ทุกกลุ่ม ทุกเครือข่ายสามารถเข้าถึงกองทุนนี้ได้อย่างเสมอภาคและเท่าเทียมกัน นอกจากนี้ พวกเรายังต้องช่วยกันเป็นกำลังใจและสนับสนุนให้กองทุนนี้สามารถธำรงอยู่คู่กับชนเผ่าพื้นเมืองในเอเซียอย่างยั่งยืนตลอดไป

หมายเหตุ – ข้อมูลรายละเอียดของกองทุนนี้ทางสภาชนเผ่าพื้นเมืองแห่งประเทศไทยจะติดตามและนำเอามาเผยแพร่ให้กับพวกเราอย่างต่อเนื่องต่อไป

กลุ่มเยาวชนชนเผ่าพื้นเมืองหารือกันเกี่ยวกับการคัดเลือกผู้แทนตนเอง
เครือข่ายสตรีหารือกันเกี่ยวกับผู้แทนตัวเอง