พลวัตของชนเผ่าพื้นเมืองมละบริและมานิในอำนาจอธิปไตย “ไทย”
เขียนโดย: ฟ้าลดา ปัณฑิรา
กลุ่มคนต่างๆ ที่มีแหล่งกำเนิดหรือสถานที่แรกเริ่ม (in situ) เป็นที่อยู่อาศัยและทำมาหากินอย่างพึ่งพิงและเอื้อเฟื้อกันทุกสรรพสิ่งในอาณาเขตบริการของระบบนิเวศ (ecology Service) จึงเป็นชนเผ่าพื้นเมือง (indigenous people) ของพื้นที่นั้นๆ โดยมีป่าไม้เป็นสิ่งปกคลุมพื้นที่ (land cover) และให้บริการกับสิ่งมีชีวิตที่มีวิวัฒนาการมาหลายพันปี ต่อมาในช่วงเวลาร้อยปีมานี้อำนาจของรัฐประเทศขยายอิทธิพลจากการศึกสงครามเปลี่ยนความต้องการเสบียงศึกมาถึงยุคเศรษฐกิจสร้างรายได้ สิ่งทั้งปวงที่นำมาผลิตเป็นสินค้าได้จึงเป็นทรัพยากรที่รัฐพึงต้องได้รับส่วนแบ่งจากมูลค่าสินค้าภายใต้อำนาจอธิปไตย (sovereignty) รวมถึงพื้นที่อาณานิคม (colony) ทั้งหลาย การผูกขาดด้วยอำนาจอธิปไตยแห่งรัฐแสดงถึงความเป็นเจ้าของในทรัพยากรทั้งปวง ทรัพยากรมนุษย์ที่เป็นชนเผ่าพื้นเมืองจึงไม่ถือเป็นทรัพยากรและถูกขีดออกไปจากนิยาม แต่อยู่ในหมู่พลเมืองแห่งรัฐที่เป็นชนกลุ่มน้อย ดังเช่น ชนเผ่าพื้นเมืองมละบริ (ภาคเหนือ) และชนเผ่าพื้นเมืองมานิ (ภาคใต้) แห่งราชอาณาจักรไทย การเป็นชนหมู่น้อยจึงถูกจำกัดในสิทธิและสวัสดิการด้วยปัจจัยที่เป็นเงื่อนไข ถูกผลักดันให้เป็นคนป่า เร่ร่อน และยากลำบากในการติดตามตัวจนถูกละเลย จึงเกิดความสัมพันธ์แบบมีปัญหากับคนกลุ่มใหญ่ ถูกเลือกปฏิบัติและรังเกียจเดียดฉันท์รวมถึงเอารัดเอาเปรียบ ซึ่งเป็นภาพอดีตที่สังคมไทยยังขาดการเรียนรู้การอยู่ร่วมกันภายใต้อำนาจอธิปไตย ปัจจุบันพลังของการเคลื่อนไหวก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงด้วยกฎเกณฑ์ที่เกี่ยวโยงกันหลายด้านทั้งทางการเมือง การปกครอง เศรษฐกิจ และสังคม การเรียนรู้เข้าถึงชนเผ่าพื้นเมืองทั้งสองกลุ่มจึงมีพื้นที่ทางสังคมเพิ่มขึ้นภายใต้การสร้างกลไกการป้องกันตัวเองตามการตัดสินใจขั้นพื้นฐาน การพัฒนาใดๆ หากดำเนินการด้วยความเข้าใจ เข้าถึง แล้วจึงค่อยๆ พัฒนา จะเป็นโอกาสทองของการสร้างความมั่งคั่ง มั่นคง และยั่งยืนได้ดังยุทธศาสตร์ชาติระยะ 20 ปีที่กำหนดวิสัยทัศน์ไว้ พลวัตของชนเผ่าพื้นเมืองมละบริและมานิจึงเป็นดัชนี้ชี้วัดการพัฒนาสังคมไทยในกระแสสังคมโลกได้ประการหนึ่ง
หลักของอำนาจอธิปไตยเหนือพื้นดินเพื่อการเป็นเจ้าของทรัพยากรของรัฐ ก่อให้เกิดการต่อสู้ระหว่างรัฐกับประชาชนในท้องถิ่นมาอย่างยาวนานในหลายๆ ประเทศทั่วโลก ไม่ว่ารัฎฐาธิปัตย์จะมีระบบและรูปแบบการปกครองใดๆ การต่อสู้เกี่ยวกับการควบคุม การจัดการ และการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรในพื้นที่นั้นๆ ยังคงปรากฏให้เห็นระหว่างรัฐกับประชาชนในท้องถิ่นเสมอ โดยเฉพาะประเด็นที่ดินและทรัพยากรป่าไม้ การเพิ่มความเข้มข้นในอำนาจรัฐด้วยการออกนโยบายและใช้กฎหมายเป็นเครื่องมือควบคุมและจัดการ ประชาชนผู้เป็นเสียงข้างน้อยอย่างเช่นชนเผ่าพื้นเมือง ย่อมต้องถูกควบคุมและจัดการโดยปราศจากการให้น้ำหนักไปที่ความต้องการขั้นพื้นฐานจากป่า (basic needs from the forests) ทั้งนี้โดยความสัมพันธ์ระหว่างระบบนิเวศป่ากับคนกลุ่มต่างๆ มีความสำคัญแตกต่างกันออกไป ชนเผ่าพื้นเมืองมละบริและมานิในประเทศไทย ยังคงเป็นสังคมของกลุ่มคนที่ต้องล่าสัตว์หาของป่าเป็นอาหาร (Hunting and Gathering people) ผืนป่าจึงเป็นทั้งที่อยู่อาศัยและแหล่งทำมาหากิน พวกเขาเหล่านี้จึงเป็นไปไม่ได้ที่จะทำลายแหล่งชีวิตของตนเอง ซึ่งแตกต่างจากคนเมือง (city people) ป่าเป็นผู้ให้บริการตามระบบนิเวศและการท่องเที่ยว การลดลงของพื้นที่ป่าขนาดพื้นที่หนึ่งในส่วนใดส่วนหนึ่งของประเทศ จึงเกิดผลกระทบต่อคนเมืองน้อยกว่าชน
มละบริและมานิ เป็นชนเผ่าพื้นเมืองในกลุ่มล่าสัตว์หาของป่าเป็นอาหาร (hunter and gathering people) ที่หลงเหลืออยู่ในประเทศไทย โดยมละบริอาศัยอยู่ในผืนป่าทางภาคเหนือ ส่วนมานิอยู่ทางภาคใต้ มละบริหรือเดิมมีชื่อที่รู้จักกันในชื่อ “ผีตองเหลือง” ถูกบันทึกว่าเป็นชนเผ่าเร่ร่อนล่าสัตว์หาของป่าในพื้นที่จังหวัดน่านและจังหวัดแพร่ในเขตรอยต่อของ 3-4 อำเภอคือ อำเภอร้องกวาง อำเภอสอง จังหวัดแพร่ และอำเภอเวียงสา อำเภอเมือง จังหวัดน่าน มานิ เป็นชนเผ่าพื้นเมืองดั้งเดิมที่มีถิ่นกำเนิดในแถบเทือกนครศรีธรรมราชหรือเทือกเขาบรรทัดที่เป็นสันปันเขตปกครองจังหวัดตรัง สตูล พัทลุง และสงขลา ทั้งสองกลุ่มเป็นกลุ่มคนดั้งเดิมตามประวัติศาสตร์นับพันปี ที่ปัจจุบันอาจเรียกได้ว่าเป็นตัวแทนของกลุ่มคนยุคเริ่มแรกก่อนการลงหลักปักฐานสร้างบ้านเมืองถาวร และเป็นคนกลุ่มสุดท้ายที่ยังคงรักษาองค์ความรู้ของการใช้ชีวิตที่พึ่งพิงธรรมชาติในผืนป่าของประเทศไทยในทางภาคเหนือและภาคใต้ โดยปราศจากซึ่งมายาคติด้านสิทธิเหนือพื้นดินใดๆ แต่เต็มไปด้วยหลักธรรมาธิปไตยว่าด้วยการเกื้อกูลและแบ่งปันอย่างเท่าเทียมภายใต้การสร้างกลไกการป้องกันตัวเองตามการตัดสินใจขั้นพื้นฐาน การดำรงชีวิตแบบดั้งเดิมของชนเผ่าพื้นเมืองทั้งสองกลุ่ม จึงเป็นที่สนใจของการศึกษาวิจัยทางมานุษยวิทยาประวัติศาสตร์ชาติพันธุ์จำนวนหนึ่ง เริ่มตั้งแต่เมื่อครั้งการเข้ามาของกลุ่มนักวิชาการตะวันตก มาจนถึงนักวิชาการชาวไทยในหลากหลายสาขาและมุมมองทางวิชาการ จึงทำให้กลุ่มชนเผ่ามละบริและมานิถูกเรียกชื่อตามการตีความของนักวิชาการเหล่านั้นไป มละบริ ถูกเรียกชื่อจากนักภาษาศาสตร์สองแบบคือ “มลาบลี” กับ “มละบริ”สำหรับคนทั่วไปเรียกตามที่พบคนกลุ่มนี้ที่จะใช้ใบตองสร้างบ้าน เมื่อใบตองเหลืองแล้วก็จะย้ายถิ่นไปเรื่อยๆ พลุบๆ โผล่ๆ ตามป่าลึก จึงถูกเรียกชื่อว่า “ผีตองเหลือง” และตัดคำว่า “ผี” ออกในปัจจุบัน คงเหลือแต่ “ตองเหลือง” คำเรียกเหล่านี้เป็นคำเรียกจากคนภายนอกเรียกพวกเขา แต่พวกเขาเองเรียกตัวเองว่า “มละบริ” ส่วนมานิ นักมานุษยวิทยาประวัติศาสตร์เรียกในชื่อ “เซมัง” หรือ “ซาไก” หรือ“โอรังอสาลี” และคำว่า “เงาะป่า” เป็นการเรียกของคนในสังคมภาคใต้และวรรณคดีพระราชนิพนธ์ของรัชกาลที่ ๒ เรื่อง “สังข์ทอง” และรัชกาลที่ ๕ เรื่อง “เงาะป่า” ในขณะที่ชนเผ่าเองชอบให้เรียกว่า “มานิ” หรือ “มันนิ” มากกว่า เพราะมานิ หรือ มันนิ แปลว่า มนุษย์ ส่วนคำอื่นๆ แปลว่า คนป่า คนเถื่อน พวกเขาทั้งสองชนเผ่าคือคนที่อยู่ป่า อาศัยป่าเลี้ยงตัวเอง ด้วยการหาของป่า และล่าสัตว์เพื่อเลี้ยงชีพ พวกเขาก็มีบ้าน มีชุมชนเป็นของตนเอง แต่เหตุการณ์ในอดีตทั้งการสัมปทานป่าไม้ คอมมิวนิสต์ทำให้เขาต้องอพยพโยกย้ายไปเรื่อยตามป่าเขาด้วยความชำนาญในพื้นที่ จึงทำให้ผู้คนภายนอกรู้จักพวกเขาน้อยมาก ในความเป็นจริงพวกเขายังสัมพันธ์ใกล้ชิดกับคนในพื้นที่ด้วยการแลกเปลี่ยนของป่ากับของจำเป็นที่ใช้ดำรงชีวิต เช่น เสื้อ ผ้า เครื่องนุ่งห่ม เกลือ มละบริและมานิจึงไม่ใช่ชนเผ่าเร่ร่อนตามความเข้าใจของผู้คนทั่วไป แต่พวกเขาคือ ผู้มีภูมิปัญญาเอาตัวรอดอยู่กับป่าได้อย่างมืออาชีพ (professional survival knowledge in forests)
อำนาจอธิปไตยแห่งความเป็นเจ้าของทรัพยากรโดยรัฐ เริ่มปรากฏชัดในยุคสัมปทานไม้ที่มีการจัดการป่าเพื่อเศรษฐกิจโดยรัฐตั้งแต่ปี พ.ศ. 2407 และมีการจัดตั้งกรมป่าไม้มาดูแลกิจการและผลประโยชน์ในปี พ.ศ. 2439 เรื่อยมาจนถึงปี พ.ศ. 2532 กินเวลายาวนานกว่าศตวรรษ จึงมีการประกาศปิดป่าและสิ้นสุดการทำไม้อย่างถาวร ผลจากการสัมปทานป่าตลอดเวลา 100 กว่าปี พื้นที่ป่าถูกสัมปทานไปกว่า 230,000 ไร่ มีการสำรวจพื้นที่ป่าทั่วประเทศปี พ.ศ. 2533 สรุปว่ามีการสูญเสียพื้นที่ป่าไปกว่า 80 % จากพื้นที่ป่าไม้ร้อยละ 70 ของพื้นที่ประเทศเหลือเพียงร้อยละ 28 ในปีดังกล่าว[1] ถึงแม้รัฐได้พยายามอนุรักษ์พื้นที่ป่าโดยการประกาศพรบ.อุทยานแห่งชาติ พ.ศ. 2504 ก็ไม่เป็นผลให้พื้นที่ป่าเพิ่มขึ้น ในขณะที่ผลประโยชน์จากกิจการทำไม้ได้ก่อให้เกิดรายได้แก่รัฐมาเป็นอันดับ 2 รองจากข้าว แต่ก็ไม่เต็มเม็ดเต็มหน่วยเท่าใดนักเนื่องด้วยปัญหานานาประการโดยเฉพาะการคอรัปชั่นในพื้นที่ของผู้แทนรัฐ เอกชนไทยและต่างด้าว ชาวบ้านทั่วไปได้รับประโยชน์เพียงเล็กน้อยหรือไม่ได้ประโยชน์ใดๆ เลย อีกทั้งกลุ่มชนเผ่าล่าสัตว์และหาของป่าอย่างมละบริและมานิที่มีเอกลักษณ์ทางวัฒนธรรมไม่ชอบเกี่ยวข้องกับคนต่างชาติพันธุ์ก็ต้องมีกลไกป้องกันตัวเองด้วยการอพยพเคลื่อนย้ายไปตามผืนป่าที่สมบูรณ์ ทั้งสองชนเผ่ายังคงหลงเหลือร่องรอยของการดำรงวิถีชีวิตตามแบบฉบับดั้งเดิมไว้อยู่ ถึงแม้จะมีการปรับเปลี่ยนบางสิ่งอย่างไปตามยุคสมัยแล้ว เช่น เครื่องนุ่งห่ม อาหารการกิน และการตั้งถิ่นฐานถาวรแต่ไม่เสมอไปในทุกบริบทพื้นที่ ณ ปี 2560 ยังพบกลุ่มมานิบางส่วนที่เคลื่อนย้ายถิ่นฐานไปตามแหล่งอาหารที่สมบูรณ์แถบเทือกเขาบรรทัด ส่วนมละบรินั้นมีถิ่นฐานถาวรตามโครงการของรัฐที่เข้ามาพัฒนา แต่ทั้งสองกลุ่มชนเผ่ายังคงได้รับผลพวงของการใช้อำนาจรัฐอย่างต่อเนื่องจากยุคการสัมปทานป่าเพื่อเศรษฐกิจ มาจนถึงยุคอนุรักษ์ป่าเพื่อสิ่งแวดล้อมเชิงเศรษฐกิจ จากมาตรการของรัฐในการจัดการป่าเพื่อการอนุรักษ์ถึงแม้จะเริ่มต้นในช่วงกลางของยุคสัมปทานป่า โดยการประกาศพระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติ พ.ศ. 2504 มีเป้าหมายหลักเพื่อการรักษาผืนป่าธรรมชาติไว้ให้มากที่สุด คนจึงถูกกันออกจากแนวพื้นที่อนุรักษ์และเป็นที่มาของปัญหา “คนกับป่า” ถึงปัจจุบัน
ชนเผ่าพื้นเมืองมานิและมละบริที่ยังคงอยู่กับผืนป่า มีความแตกต่างกันในบริบทความเข้มข้นในมาตรการอนุรักษ์ กล่าวคือ มละบริที่อาศัยอยู่ในผืนป่าทางเหนือ ปัจจุบันมีการตั้งถิ่นฐานค่อนข้างถาวรเป็นชุมชนบริวารของหมู่บ้านหลักอยู่ในพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติค่อนข้างเด่นชัดในพื้นที่พัฒนาของโครงการภาครัฐ ในขณะที่มานิในผืนป่าเทือกเขาบรรทัดทางภาคใต้มีจำนวนไม่น้อยที่ยังคงใช้วิถีชีวิตใกล้เคียงกับอดีตเคลื่อนย้ายไปตามแหล่งอาหารได้ใช้ผืนป่าอนุรักษ์ในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาบรรทัดเป็นแหล่งทำมาหากินตามวิถี แม้ว่าวิถีชีวิตของทั้งสองกลุ่มชาติพันธุ์จะเข้าสู่การลงหลักปักฐานไม่ได้เป็นไปในทิศทางเดียวกันมีความหลากหลายเกิดขึ้น แต่ก็ยังอยู่ช่วงการเปลี่ยนผ่านในยุคการอนุรักษป่าเพื่อสิ่งแวดล้อมเชิงเศรษฐกิจ โดยอำนาจรัฎฐาธิปัตย์ได้เพิ่มความเข้มข้นในแนวทางการรักษาและเพิ่มพื้นที่ป่าให้ได้ร้อยละ 40 ของพื้นที่ประเทศ การสนองตอบต่อแนวนโยบายแห่งรัฐของเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานจึงใช้เครื่องมือที่เรียกว่า “กฎหมาย” เข้ามาดำเนินการต่อกลุ่มคนอยู่กับป่าอย่างต่อเนื่อง หลายกลุ่มชาติพันธุ์ที่อพยพเคลื่อนย้ายเข้ามาใช้ประโยชน์จากที่ดินป่าไม้ทำการเกษตรกรรม และแปรเปลี่ยนเป็นกิจการเพื่อการท่องเที่ยวได้รับผลกระทบเพิ่มขึ้น ส่วนชนเผ่ามละบริและมานิได้รับผลกระทบด้านการใช้ประโยชน์ในที่ดินป่าไม้น้อยกว่าตามการผ่อนปรนของเจ้าหน้าที่รัฐในพื้นที่ แต่ก็ไม่สามารถคาดเดาได้ถึงเหตุการณ์ในอนาคตเมื่อความเข้มข้นของการบังคับใช้กฎหมายเพื่อการรักษาผืนป่าอนุรักษ์ไว้ตามเป้าหมายของรัฐ การกันคนออกจากป่าจึงเป็นมาตรการที่เจ้าหน้าที่รัฐต้องกระทำ หากละเว้นการกระทำกฎหมายอาญามาตรา 157 ก็จะสร้างปัญหาให้เจ้าหน้าที่รัฐได้เช่นกัน การเริ่มต้นค้นหาทางเลือกเพื่อการพัฒนาคุณภาพชีวิตตามวิถีวัฒนธรรมของชนเผ่าพื้นเมืองทั้งสองจึงเป็นประเด็นที่ต้องเร่งกระบวนการเรียนรู้ให้ตกผลึกทั้งแนวคิดและแนวทางปฏิบัติอย่างเป็นพลวัต
พลวัตของชนเผ่าพื้นเมืองมละบริและมานิจะเป็นพลังของการเคลื่อนไหวผ่านกระบวนการเรียนรู้ที่จะก่อให้เกิดการอยู่ร่วมกับกฎเกณฑ์ที่เกี่ยวโยงอำนาจทางการเมือง การปกครอง ตลอดจนเศรษฐกิจและสังคมอย่างยั่งยืนได้ จากสถานการณ์ที่เป็นอยู่ ณ ปัจจุบันของชนเผ่ามละบริลงหลักปักฐานเป็นชุมชนแน่นอนแต่อยู่ภายใต้โครงการของรัฐบาลทั้งส่วนกลางและท้องถิ่น สิทธิอำนาจการตัดสินใจโดยตัวตนของชนเผ่ายังอยู่ในอำนาจควบคุมของตัวแทนภาครัฐ ถึงแม้ว่าทุกคนที่เป็นชนเผ่ามละบริจะมีบัตรประชาชนคนไทยที่แสดงว่าเขาเหล่านั้นเป็นเสียงหนึ่งของประชาธิปไตย แต่ในความเป็นจริงเขาทั้งหลายยังขาดสิทธิด้านที่ดินทำกิน การปรับเปลี่ยนวิถีชีวิตจากล่าสัตว์หาของป่ามาเป็นการทำเกษตรกรรมอย่างถาวรจึงเป็นเรื่องยากของการปรับตัวภายใต้การแข่งขันระดับพื้นที่และการปรับตัวเข้าสู่ระบบตลาด การรับจ้างในภาคเกษตรทั่วไปจึงเป็นทางเลือกที่ง่ายกว่าการต่อสู้เพื่อให้ได้ที่ดินทำกินในเขตป่าอนุรักษ์ เพราะเป็นการต่อสู้กับอำนาจรัฐจึงไม่ใช่ทางเลือกที่ดี เช่นเดียวกับชนเผ่าพื้นเมืองมานิในเขตเทือกเขาบรรทัดที่เป็นป่าอนุรักษ์เพื่อสงวนรักษาพันธุ์สัตว์ป่า การดำรงชีพแบบล่าสัตว์หาของป่าถือว่าเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมาย
สิ่งที่ปรากฎในปัจจุบัน จึงเป็นภาพของมานิผู้ด้อยโอกาสในการพัฒนาและต้องรอคอยความช่วยเหลืออยู่ร่ำไป แต่สิ่งที่คาดหวังและมีความน่าจะเป็นคืออุดมคติการพัฒนาอย่างมั่นคงและยั่งยืนผ่านกระบวนการเรียนรู้และแก้ไขอย่างเป็นระบบ