เนาวนิตย์ แจ่มพิศ

มอแกนเป็นชนเผ่าพื้นเมืองกลุ่มชาติพันธุ์ชาวเลที่มีวิถีชีวิตผูกพันกับผืนทะเลมายาวนานในประเทศไทย และสังคมทั่วไปเพิ่งเริ่มรู้จักตัวตนของพวกเขาหลังเหตุการณ์สึนามิปลายปี พ.ศ. 2547 พวกเขาเป็นชนเผ่าพื้นเมืองที่เดินทางทำมาหากินตามชายฝั่งทะเลและเกาะแก่งต่างๆ ในทะเลอันดามันอย่างยาวนานหลายศตวรรษ การใช้ชีวิตล่องลอยกลางทะเลไม่ว่าจะด้วยความจำเป็นหรือการปรับตัวเข้ากับสภาวะแวดล้อมในถิ่นที่อยู่อาศัยและวิถีการทำกิน หรือเป็นหนทางของการเอาชีวิตรอดของบรรพบุรุษจากการหนีกลุ่มคนที่มีอำนาจและแสวงหาผลประโยชน์บีบบังคับใช้แรงงานพวกเขาเยี่ยงทาสก็ตาม การออกเดินทางไช้ชีวิตร่อนเร่ลอยเรือกลางทะเล ไม่ยึดถือครอบครองผืนแผ่นดินเป็นของตนเอง มอแกนจึงกลายเป็นกลุ่มคนเร่ร่อน ไร้สัญชาติ ไร้สิทธิครอบครองในที่ดิน เมื่อรูปแบบสังคมเปลี่ยนแปลงตามยุคสมัย ที่ดินบนเกาะแก่งต่างๆ สามารถออกโฉนดแสดงกรรมสิทธิ์ส่วนบุคคลได้ ผืนดินบนเกาะจึงมีมูลค่าเพิ่มที่สูงขึ้นพร้อมๆ กับการพัฒนาพื้นที่เป็นสถานที่พักผ่อนและแหล่งท่องเที่ยวตากอากาศของผู้มีทุนและอำนาจ ไม่ว่าจะเป็นเกาะพยาม เกาะช้าง หาดทรายสวยงามต่างๆ จึงถูกจับจองเป็นเจ้าของและออกโฉนดที่ดินบุกเบิกเป็นโรงแรมที่พักราคาสูงบริการนักท่องเที่ยว ชาวมอแกนผู้อาศัยอยู่ในพื้นที่ยาวนานต่างถูกบีบขับให้ไปอยู่ตามยถากรรรมในดงป่าชายเลนท้ายเกาะ

มอแกนเกาะเหลา แม้ว่าจะมีการตั้งบ้านเรือนอยู่ในพื้นที่เกาะเหลานอก หมู่ 6 ตำบลปากน้ำ อำเภอเมืองระนอง จังหวัดระนอง และหลังเหตุการณ์สึนามิ พ.ศ. 2547 สถานีพัฒนาป่าชายเลนระนอง ได้อนุญาตให้ชุมชนมอแกนเกาะเหลาตั้งบ้านเรือนอยู่ในพื้นที่ 6 ไร่ 2 งาน และต่อมามีการดำเนินงานตามนโยบายคณะกรรมการที่ดินแห่งชาติ (คทช.) ในปี พ.ศ. 2562 ได้รับอนุญาตให้ใช้ประโยชน์ภายในเขตป่าสงวนแห่งชาติป่าคลองหัวเขียวและป่าคลองเกาะสุย ท้องที่ชุมชนบ้านเกาะเหลา ตำบลปากน้ำ อำเภอเมืองระนอง จังหวัดระนอง เพื่อจัดที่ดินอยู่อาศัยในพื้นที่ป่าชายเลน แต่เนื้อที่คงเหลือเพียง 2 ไร่กว่าๆ เท่านั้น แม้จะดูประหนึ่งว่าชาวมอแกนเกาะเหลามีความมั่นคงในที่ดินอยู่อาศัยระดับหนึ่งจากการอนุญาตของหน่วยงานรัฐดังกล่าว แต่ชาวมอแกนบนเกาะเหลาก็ยังคงเผชิญกับปัญหาที่ค้างคามายาวนานนั่นคือ ปัญหาการไร้สัญชาติ ทำให้ขาดโอกาสเข้าถึงสิทธิพื้นฐานอื่นๆ ซึ่งสร้างความยากลำบากในการใช้ชีวิตและการทำกินหาเลี้ยงครอบครัวของพวกเขา การรับจ้างเรือทำประมงต้องมีใบอนุญาตและใช้เวลาทำหลายขั้นตอน รวมทั้งต้องใช้เงินเป็นจำนวนมาก ลำพังการหาเงินเลี้ยงครอบครัวแต่ละวันชาวมอแกนก็ไม่สามารถแสวงหาได้อย่างเพียงพอ ปัญหาการขาดสิทธิพื้นฐานของเด็กชาวมอแกน เด็กเกิดใหม่จากพ่อแม่ที่ไร้สัญชาติ และถึงแม้พ่อหรือแม่ได้สัญชาติแล้ว แต่เด็กก็ยังไม่มีสถานะทางทะเบียนตามพ่อแม่ ทุกวันนี้ครอบครัวมอแกนจึงได้แต่ดูแลกันไปตามยถากรรม เด็กมอแกนอายุต่ำกว่า 6 ปีทุกคนจึงไม่มีโอกาสได้รับสวัสดิการใดๆ เด็กในวัยเรียนบางส่วนไม่ได้เข้าเรียน บางส่วนที่เรียนอยู่ก็ต้องออกกลางคันเพราะเรียนไปก็ไม่รู้อนาคตของตนเอง สวัสดิการใดๆ หรือการเยียวยาจากผลกระทบต่างๆ ตามมาตรการเยียวยาและช่วยเหลือของรัฐหลายมาตรการในช่วงโควิด 19 ทั้งกลุ่มแรงงาน กลุ่มประมง กลุ่มผู้สูงอายุ ผู้พิการ และเด็ก ชาวมอแกนไม่สามารถเข้าถึงสิทธิเหล่านั้น และยังคงต้องดิ้นรนต่อสู้ด้วยการออกจับสัตว์ทะเลขายตามยถากรรมต่อไป

สถานการณ์ไร้สิทธิ์ ไร้เสียงของมอแกนเกาะเหลา จึงสะท้อนถึงการตกค้างหรือการละเลยจากการพัฒนาสังคมไทยในยุคหลังความทันสมัย (postmodern era) ได้เป็นอย่างดี หลังวิกฤติโควิด 19 ตั้งแต่ต้นปี 2566 เป็นต้นมา สถานการณ์ที่จะก่อให้เกิดผลกระทบกับชาวมอแกนเกาะเหลาเริ่มก่อเค้าขึ้น จากที่มีกลุ่มคนมารังวัดเพื่อออกเอกสารสิทธิ์ที่ดินทับพื้นที่สุสานฝังศพมอแกน และแจ้งความดำเนินคดีกับมอแกนเกาะเหลาจนเกิดการหวาดกลัวทั้งชุมชน มอแกนจึงมีแต่ความทุกข์ฝังอยู่อยู่ในใจพวกเขา บางคนเกรงกลัวอำนาจจึงอพยพครอบครัวไปลอยเรืออยู่กลางทะเล

การทำมาหากินถึงแม้จะตกอยู่ในภาวะยากลำบากด้วยเหตุแห่งธรรมชาติที่เปลี่ยนแปลงและกฎเกณฑ์ทางราชการที่ไม่เข้าใจวิถีชีวิตทำกินของพวกเขา ได้ถูกทุบซ้ำด้วยผลประโยชน์เชิงธุรกิจ ปัญหาผลกระทบจากการออกเอกสารสิทธิ์ในที่ดินเอกชนทับซ้อนพื้นที่สุสานฝังศพชาวมอแกนเกาะเหลา ปัจจุบันเรื่องยังค้างคาอยู่ในการพิจารณาของคณะกรรมการแก้ไขปัญหาที่หน่วยงานราชการตั้งขึ้น แต่วันดีคืนดีก็มีกลุ่มคนแบกเสาปูนมาปักหลักเขตอ้างสิทธิ์ในที่ดินดังกล่าว และอ้างว่าได้ซื้อที่ดินต่อจากเจ้าของเดิมแล้ว และกำลังจะมาพัฒนาที่ดินผืนนี้รวมถึงการใช้ที่ดินโดยรอบๆ เพื่อธุรกิจของตนเอง ปรากฎการณ์ดังกล่าวจึงก่อให้เกิดความไม่สบายใจให้กับชาวมอแกนเกาะเหลาทุกคน เพราะไม่รู้ว่าชะตาชีวิตของตนเองจะเป็นเช่นไรต่อไป จึงเป็นเรื่องที่น่าเศร้าใจสำหรับชะตาชีวิตของมอแกนเกาะเหลา นับจากนี้ไปต้องเฝ้าระวังการรุกคืบของนายทุนกับการแปลเปลี่ยนผืนดินบนเกาะเหลานอกจะไปในทิศทางใดต่อไป
ชาวมอแกนได้แต่เฝ้ามองว่าเมื่อไหร่ปัญหาของพวกเขา จะแปลเปลี่ยนจากความไม่เข้าใจ ไม่เห็นคุณค่าในความเป็นมนุษย์ที่มีความเท่าเทียมกันมาตั้งแต่เกิดตามหลักสิทธิมนุษยชน และการดูถูกดูแคลนเอารัดเอาเปรียบจากกลุ่มผู้หวังประโยชน์จากมอแกน จะถูกเปลี่ยนมาเป็นความใส่ใจ เข้าใจและร่วมพัฒนาชาวมอแกนให้เป็นกลุ่มชาติพันธุ์ที่มีสิทธิ มีเสียง อยู่อย่างมีศักดิ์ศรี และตายให้มีที่ฝัง
