เขียนโดย นพพล ไม้พลวง
6 วันต่อเนื่อง ช่วงกลางเดือนมีนาคม พ.ศ. 2566 เป็นสถิติใหม่ของโลกที่จังหวัดเชียงใหม่ ได้ครองแชมป์เมืองหมอกควันยาวนานสุด 172 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร คือค่าเฉลี่ยมลพิษจากฝุ่นละอองขนาดเล็ก (PM 2.5) ในระยะแรก ก่อนทะลุตัวเลขกว่า 200 ในระยะเวลาต่อมา และหากมองจากเรดาร์ที่ประชาชนทั่วไปอ่านยากจะพบว่า จำนวนจุดความร้อนของฝุ่นควันเคยมีมากจนทุบทุกสถิติ 508 จุด
เรื่องนี้เป็นปัญหาจนทำให้เกิดการเข้าชื่อประชาชน 58,720 คน เพื่อเสนอร่างพระราชบัญญัติอากาศสะอาดฯ แต่การมีกฎหมายที่ถูกเสนอโดยประชาชนคงเป็นเรื่องยากเกินไป เมื่อมันไม่ถูกพิจารณาในวาระรัฐบาลนายกประยุทธ์ก่อนยุบสภา
เมื่อรายล้อมด้วยปัญหา หลายฝ่ายต่างชี้นิ้วไปที่คนบางกลุ่ม จนทำให้ประชาชนเริ่มมองเห็น “แพะ” ลาง ๆ ท่ามกลางหมอกควัน และต่อไปนี้คือเรื่องราวของ แพะสามตัวในหมอกมัวของฝุ่นควันและไฟป่า

แพะผู้นำ แม้อยู่หน้าแต่ล้าหลัง
จากแผนเฉพาะกิจเพื่อแก้ไขปัญหามลพิษด้านฝุ่นละออง ปี 2566 บนหลักการ สื่อสารเชิงรุก – ยกระดับปฏิบัติการ – สร้างการมีส่วนร่วม ที่หน่วยงานภาครัฐนำโดยกระทรวงมหาดไทย กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้มอบนโยบายให้กับผู้ว่าราชการจังหวัดทั่วประเทศ ไปดำเนินงานร่วมกับกรมป้องกันบรรเทาสาธารณภัย ทั้งการบังคับใช้กฎหมายที่เกี่ยวข้องอย่างเข้มงวด หรือการประกาศเพิ่มวันห้ามเผา จากครอบคลุมระยะเวลาแค่ 60 วัน ขยายเป็น 111 วัน ล่วงไปจนมีการจัดกำลังชุดผสม ระหว่างท้องถิ่นและฝ่ายปกครอง เพื่อลงพื้นที่ทำความเข้าใจกับประชาชนผู้ใช้ประโยชน์ในเขตป่า หรือแม้กระทั่งเกิดการตั้งวงหารือระดับนายกรัฐมนตรีประเทศไทย ลาวและเมียนมา เพื่อแก้ปัญหามลพิษหมอกควันข้ามแดน ด้วยการทำข้อตกลงลดจุดความร้อน แต่ปัญหาหมอกควันก็ยังไม่วาย …ไม่นับรวมถึง “ท่าไม้ตาย” ของหลายจังหวัด คือ การจัดรถบรรทุกฉีดน้ำขึ้นฟ้า และรับอาสาสมัครท้องถิ่นมาชำระชะล้างเส้นทางสาธารณะ

แต่หากกวาดสายตาดูว่า “ความสำเร็จ” ของรัฐในการจัดการแก้ปัญหานั้นมีบ้างหรือไม่อย่างไร ข้อเขียนนี้คงเจอกับ “ความล้มเหลว” ที่ยังไม่สามารถหานโยบายใดที่ประสบความสำเร็จได้เลย
โดยข้ออ้างจากรัฐ คือ การที่หน่วยงานท้องถิ่นและภาครัฐไม่ได้รับความร่วมมือจากประชาชน โดยเฉพาะการลักลอบเผาในพื้นที่เกษตรและบริเวณป่า การมีข้อจำกัดเมื่อต้องดับไฟป่า ทั้งงบประมาณและกำลังคน ตลอดจนเพราะว่าประชาชนยังไม่พร้อม สำหรับการลดมลพิษบนท้องถนนอย่างจริงจัง
แพะอุตสาหกรรม กับการพัฒนาที่อยากก้าวกระโดด
จากการที่ประเทศไทยไม่มีข้อกฎหมายระบุให้อุตสาหกรรมเปิดเผยที่มาตลอดห่วงโซ่การผลิต จึงทำให้ไม่สามารถประเมินการสร้างมลภาวะหรือฝุ่น PM 2.5 อย่างจริงจังได้เลย ดังนั้น การลุกขึ้นมาอ้างสิทธิในการรับรู้ข้อมูลการก่อมลพิษของบริษัทอุตสาหกรรม ซึ่งเชื่อมโยงกับการเข้าถึงอากาศบริสุทธิ์ของประชาชนจึงสามารถพูดได้โดย “ชอบธรรม”

ขณะเดียวกัน หากสำรวจข้อเท็จจริงแล้วย้อนกลับไปเดือนกุมภาพันธ์ 2566 อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม เปิดเผยข้อมูลสำคัญว่า กรมฯได้ดำเนินตามมาตรการเร่งด่วนด้วยการลงตรวจ 5 กลุ่มโรงงานอุตสาหกรรม ที่มีกระบวนการเผาไหม้ ซึ่งเสี่ยงให้เกิดฝุ่นละอองขนาดเล็ก จำนวน 896 โรงงาน ผลปรากฎว่า “ผ่านทุกแห่ง”
โดย นายจุลพงษ์ ทวีศรี อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม กล่าวในบางช่วงว่า “จากการลงสุ่มตรวจ ยังไม่พบรายใดปล่อยฝุ่นละอองขนาดเล็กเกินมาตรการ รวมทั้งหลายโรงงานมีความตื่นตัวเรื่องฝุ่นละอองขนาดเล็กมากขึ้น และปีนี้ผู้ประกอบการมีการกํากับการประกอบกิจการของตนเองดีขึ้นกว่าปีที่ผ่านมา…”
เช่นเดียวกับกระทรวงอุตสาหกรรม ซึ่งประกาศนโยบายชัด พร้อมอัดสินเชื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตอ้อยอย่างครบวงจรเพื่อการลดมลภาวะฝุ่นควัน

แต่เมื่อลองพิจารณาเพิ่มเติม ข้อมูลจากเฟซบุ๊กกลุ่มบริโภคที่รัก มีการเปิดเผยว่า จากมลภาวะฝุ่นควันที่เกิดขึ้น ทั้งหมด ปริมาณมากถึงร้อยละ 40 มาจากการเผาเพื่อปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ซึ่งเป็นต้นธารของโรงงานอุตสาหกรรมในประเทศ และเช่นเดียวกัน เมื่อภาครัฐยังไม่มีมาตรการควบคุมสินค้าที่มาจากวงจรธุรกิจที่มีการเผาเพื่อเกษตรกรรม โรงงานและระบบอุตสาหกรรมคงเลี่ยงไม่ได้ ในการเป็นแพะอีกตัว ท่ามกลางสถานการณ์หมอกควันไฟป่า
แพะผู้คน ชนเผ่าพื้นเมืองและเกษตรกร
ในความเชื่อของปกาเกอะญอ ทุกอย่างในโลกล้วนมีเจ้าของ ไม่เว้นแม้กระทั่งไฟ ทุกกองเพลิงที่ถูกจุดมาจากความคิด ความเชื่อ และวัฒนธรรมของการดำเนินชีวิต ปัจจุบันหลายพื้นที่ยังมีการเลี้ยงผีไฟ เพราะผู้คนล้วนใช้ไฟเพื่อเผาผลาญทำลายล้าง ทั้งวัชพืชหรือไม่เว้นแม้แต่สิ่งมีชีวิตในการประกอบอาหาร
ไฟคือบุญคุณ และกลายเป็นสิ่งมีวิญญาณ ท่ามกลางความคิดความเชื่อของหลากหลายชนเผ่าพื้นเมืองในประเทศ ซึ่งให้ความสำคัญกับการใช้ไฟ เช่นกัน หากยึดโยงกับแนวความเชื่อโบราณ ประโยชน์สูงสุดของการมีพิธีกรรมเกี่ยวกับไฟ อาจหมายถึงการนำผู้คนมาพบเจอกันเพื่อสร้างความสามัคคี และการเผาทำลายวัชพืชของกลุ่มคนชาติพันธุ์ผู้อาศัยร่วมกับป่า ก็เป็นไปเพื่อการดำรงชีพ และพิทักษ์ทั้งผืนป่า

แน่นอนว่าการเผาป่าบริเวณพื้นที่เกษตรกรรม และการดำรงชีวิตของผู้อาศัยร่วมกับป่า ทำให้เกษตรกรและผู้อาศัยบนพื้นที่สูง กลายเป็นอีกกลุ่มคนสำคัญผู้ตกเป็นจำเลยของสังคม ด้วยข้อหา “เป็นต้นเหตุ” ให้เกิดปัญหาฝุ่นควันและมลพิษ เรื่องนี้ มานพ คีรีภูวดล อดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไทยแบบบัญชีรายชื่อ สังกัดพรรคอนาคตใหม่ (ปัจจุบันเป็นพรรคก้าวไกล) ให้ข้อมูลว่า

“ชวนย้อนกลับไปมองปัญหานี้ตั้งแต่เริ่ม ปีที่มีงานพืชสวนโลก ประมาณ พ.ศ. 2550 – 2551 ช่วงนั้นเรายังเรียกฝุ่นจิ๋วว่า PM10 พอมันเกิดขึ้นหลายคนมองว่า อาจเกิดมาจากการที่มีนักท่องเที่ยวขึ้นมาเยี่ยมชมจังหวัดเชียงใหม่หนาตา เพราะบรรดารถทัวร์ขนคนมากันเต็มไปหมด ปล่อยไอเสียกันเต็มถนน …แล้วหลังจากนั้นพอปริมาณคนเริ่มกลับเป็นปกติ แต่ฝุ่นมันยังอยู่ สิ่งที่เราทำคือ ต่างชี้นิ้วโทษกันไปมา คนในเมืองบอกว่าเป็นเพราะพวกอยู่ติดป่ามันเผา คนอยู่ใกล้ป่าก็ชี้ไปที่ชาวเขา ว่าเผาทำเกษตรกรรมหมุนเวียน ส่วนพวกเรากลุ่มชาติพันธุ์บนพื้นที่สูงก็เห็นว่า มลภาวะจากเมืองนั่นแหละเยอะที่สุด…ทุกคนจึงกลายเป็นแพะกันไปหมด”
จากข้อครหาเรื่องคนบนเขาเผาป่า หนึ่งในแพะของสถานการณ์หมอกควันอย่างมานพยืนยันว่า เรื่องนี้หากมองเป็นเพียงสถานการณ์ โดยไม่เริ่มจากการทำความเข้าใจและจัดการทั้งระบบก็เป็นเรื่องยากจะแก้ไข
“คุณต้องเข้าใจป่า เพื่อจัดการไฟ เพราะนิเวศน์ของป่าแต่ละชนิดมีความต้องการดูแลไม่เหมือนกัน คนภาคเหนือเรามีคำพูดที่ว่า เดือนห้าเข้ามาฟืนดีผ่า ป่าดีเผา นั่นไม่ใช่นิทาน…เพราะการใช้ทรัพยากรบางชนิดต้องพึ่งพิงไฟในการรักษาป่า แต่ตอนนี้เราเหมารวมเอาว่า ไฟมันคือปิศาจ เช่นกันกับพื้นที่อาศัยของพี่น้องชาติพันธุ์ซึ่งส่วนใหญ่เป็นป่าดิบ ป่าต้นน้ำ อุดมด้วยต้นไม้เปลือกบางไม่ทนไฟ พวกเขาจึงต้องพยายามทำแนวกันไฟ…ดังนั้นแล้วเขาจะไปจุดไฟเล่นทำไมล่ะ ใครอยากจะเผาบ้านตัวเองบ้าง
แล้วภูมิปัญญาหนึ่งของพวกเราที่ถูกห้ามปรามคือ การเผาเพื่อตัดตอนไฟป่า ขอเล่าว่าสมัยก่อนหลังเสร็จหน้านา เราจะเข้าป่าไปหาของกิน เมื่อเจอว่าตรงไหนแห้ง ตรงไหนมีซากไม้ทับถมเยอะ เราก็จะจุดเผาตรงนั้น เป็นการเผาแบบขนมครกหลาย ๆ หลุม เพื่อป้องกันไม่ให้ความรุนแรงจากไฟ เหมือนเราตัดตอนเชื้อเพลิงเมื่อเกิดไฟป่าในหน้าแล้ง ภาษาเราเรียกว่าชิงเผาเพื่อรักษาป่า เหมือนการตัดนิ้วเพื่อรักษาชีวิต
หรือการจุดไฟของพี่น้องชาติพันธุ์เช่นกะเหรี่ยง ซึ่งคนชอบบอกว่าทำไร่หมุนเวียน มันก็ใช่ เพราะไร่หมุนเวียนเป็นรูปแบบการทำเกษตรดั้งเดิม เป็นวิถีชีวิตผู้อาศัยและใช้พื้นที่ภูเขาสูง การเผาก็เป็นไปเพื่อการเตรียมพื้นที่ปลูกในวงจำกัดทำกันปีละครั้ง ซึ่งพอมีวิธีคิดแบบ Zero Burning เข้ามา ก็กลายเป็นโยนความผิดให้ไฟ การเผาอะไรก็ทำไม่ได้เลย
ดังนั้นแล้ว แม้จะเป็นจังหวัดเดียวกัน ก็ไม่ควรมีรูปแบบการแก้ปัญหาแบบเดียว เพราะในอำเภอเดียวกันอาจมีป่าสามสี่นิเวศน์ แต่ประเทศไทยกำลังจัดการปัญหานี้แบบตัวใครตัวมัน งบประมาณใครงบประมาณหน่วยงานนั้น ทางแก้ที่ดีที่สุด อาจเริ่มจากการให้อำนาจและงบประมาณกับท้องถิ่นเพื่อจัดการปัญหาฝุ่นควันตามระบบนิเวศน์”
เรื่องทั้งหมดนี้ ไม่มีการชี้ผิดชี้ถูก เพียงแต่ทำให้เห็นว่า เราต่างเป็นแพะพวกเดียวกัน ที่กำลังสูดดมหมอกควันเอาไว้เต็มปอด และตลอดเวลาที่ใช้ชีวิตอยู่นี้ จะดีกว่าไหมหากช่วยกันประคองตนออกจากปัญหา ไม่ใช่โพนทะนาหาผู้ร้าย จนอาจไม่มีเวลาเหลือพอสำหรับการมีชีวิต…