สรุปผลการประชุมFWG 9 ของคณะทำงานเอื้ออำนวย “เวทีองค์ความรู้ชุมชนท้องถิ่นและชนเผ่าพื้นเมือง”

31 พฤษภาคม – 3 มิถุนายน 2566 กรุงบอนน์ ประเทศเยอรมันนี

คณะทำงานเอื้ออำนวย (Facilitative Working Group) ของเวทีองค์ความรู้ชุมชนท้องถิ่นและชนเผ่าพื้นเมือง (Local Community and Indigenous Peoples Knowledge Platform – LCIPP) เป็นกลไกที่ประเทศภาคีสมาชิกของอนุสัญญาว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศตั้งขึ้นเพื่อเอื้อให้การดำเนินงานของเวทีองค์ความรู้ชุมชนท้องถิ่นและชนเผ่าพื้นเมืองที่เกี่ยวข้องกับการลดก๊าซเรือนกระจกและการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศไปสู่การปฏิบัติการจริง โดยมีเนื้อหาอยู่ 3 ประเด็นหลัก คือ

  1. การส่งเสริมและสนับสนุนให้มีการแลกเปลี่ยนองค์รู้ ปฏิบัติการที่ดีเกี่ยวกับการลดก๊าซเรือนกระจกและการปรับตัวของผู้รู้ ผู้เชี่ยวขาญชนเผ่าพื้นเมือง
  2. การพัฒนาศักยภาพผู้รู้ ผู้เชี่ยวชาญ รวมทั้งผู้นำชนเผ่าพื้นเมืองให้สามารถเข้าไปมีส่วนร่วมในงานและกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับการลดก๊าซเรือนกระจก และการปรับตัว ซึ่งอยู่ภายใต้ข้อตกลงของปารีส (Paris Agreement) ได้อย่างมีประสิทธิภาพ
  3. เพื่อนำเสนอและร่วมผลักดันให้นโยบาย แผนงานและกิจกรรมที่อยู่ภายใต้ข้อตกลงปารีสไปสู่การปฏิบัติ
การประชุม FWG-9

การประชุมของคณะทำงานเอื้ออำนวย (Facilitative Working Group) ครั้งนี้เป็นครั้งที่ 9 โดยได้จัดขึ้น ณ ศูนย์ประชุมนานาชาติที่กรุงบอนน์ ประเทศเยอรมันนี ระหว่างวันที่ 31 พฤษภาคม – 3 มิถุนายน 2566 มีผู้เข้าร่วมประมาณ 100 คน จากภูมิภาคต่างๆ ทั่วโลกการประชุมวันแรก (31 พฤษภาคม) เริ่มด้วยพิธีเปิดจากชนเผ่าพื้นเมืองประเทศฟิลิปปินส์ จากนั้นตามด้วยการปฐกถาของเลขาธิการสำนักงานอนุสัญญาว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และประธานขององค์กรย่อยด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (SBSTA) ซึ่งได้เน้นย้ำถึงความสำคัญขององค์ความรู้ชนเผ่าพื้นเมืองว่ามีความสำคัญเท่ากับองค์ความรู้วิทยาศาสตร์ และมีความจำเป็นสำหรับการแก้ไขปัญหาโลกร้อนร่วมกัน และเสนอให้มีการเปลี่ยนวิธีคิดใหม่ จากนั้นมีตัวแทนของชนเผ่าพื้นเมือง นายหลักปา นูริ เชอปา มาร่วมกล่าวเปิดด้วย โดยได้ชี้ให้เห็นถึงความสำคัญและบทบาทของชนเผ่าพื้นเมืองในการดูแลและช่วยลดปัญหาโลกร้อน และเสนอแนะให้แผนงานและการดำเนินกิจกรรมที่อยู่ภายใต้อนุสัญญาว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และข้อตกลงปารีสให้ตั้งอยู่บนฐานของการเคารพสิทธิมนุษยชน เพราะการดำเนินกิจกรรมบางอย่างอาจมีผลกระทบต่อสิทธิของชนเผ่าพื้นเมือง หลังจากนั้นมีการทบทวนเกี่ยวกับวิสัยทัศน์และยุทธศาสตร์ของคณะทำงานเอื้ออำนวย

แบ่งกลุ่มย่อย

วันที่สอง-วันที่สี่ (1-3 มิถุนายน 2566) มีการพูดคุยเกี่ยวกับกิจกรรมการดำเนินงานตามแผนงาน 3 ปี (2565 – 2567) ของคณะทำงานเอื้ออำนวย ซึ่งมีอยู่หลายประเด็นได้แก่

1) การแลกเปลี่ยนและเรียนรู้ร่วมกันระหว่างภูมิภาค ซึ่งกิจกรรมนี้ได้จัดไปแล้วหนึ่งครั้งที่ประเทศชาด ระหว่างผู้รู้ชนเผ่าพื้นเมืองจากเอเชียและอัฟริกา (เดือนมีนาคม 2565) และต่อไปจะมีการจัดกิจกรรมอีกสอง-สามครั้งได้แก่ภูมิภาคละตินอเมริกากับอเมริกาเหนือ ภูมิภาคอาร์คติก และภูมิภาคแปซิฟิก

2) การจัดเวทีเสวนาพหุภาคี (In-session multistakeholder dialogues) ของผู้รู้ชนเผ่าพื้นเมืองในช่วงเวทีการประชุมประเทศภาคีสมาชิก ซึ่งจะจัดขึ้นเป็นประจำทุกปี

3) การพัฒนาศักยภาพของผู้รู้และแกนนำชนเผ่าพื้นเมือง – กิจกรรมนี้จะจัดในเวที SBSTA

4) การพัฒนาศักยภาพให้กับผู้แทนประเทศภาคีสมาชิก และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง – กิจกรรมนี้จะจัดในเวที SBSTA

5) เวทีเยาวชน – จะจัดในช่วงเวทีการประชุมใหญ่ของประเทศภาคีสมาชิก

6) หลักสูตรท้องถิ่นและเอกสารเกี่ยวกับการเรียนรู้เรื่ององค์ความรู้ภูมิปัญญาชนเผ่าพื้นเมืองในด้านการปรับตัวและรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ – กิจกรรมนี้ยังไม่มีความก้าวหน้ามากนัก

7) การสื่อสาร – โดยใช้ช่องทางโซเชียลมีเดียและเว็บไซด์8)การทบทวนกิจกรรมการดำเนินงานของคณะทำงานเอื้ออำนวย ซึ่งจะมีขึ้นในปี 2567 รายละเอียดจะเอามานำเสนอให้ทราบเร็วๆ นี้

9) การประสานงานกับหน่วยงานและองค์กรต่างๆ ที่อยู่ภายใต้อนุสัญญาว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและ กลไกอื่นๆ เช่น IPCC, WimExCom, TEC, ฯลฯ

จากนั้นเป็นการแลกเปลี่ยนเกี่ยวกับประเด็นที่จะมีการพูดคุยกันในเวที SBSTA ครั้งที่ 58 ซึ่งจะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 5-15 มิถุนายน 2566 ประเด็นที่สำคัญๆ ได้แก่

  • การจัดทำเป้าหมายสากลเกี่ยวกับการปรับตัว (Global Goal on Adaptation)
  • การทบทวนผลการดำเนินงานระยะที่หนึ่ง (Global Stocktake) ของข้อตกลงปารีส ซึ่งได้ดำเนินการมาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2564 และคาดว่าจะได้ข้อสรุปในเวทีการประชุมประเทศภาคีสมาชิกครั้งที่ 28 ซึ่งจะจัดขึ้นที่เมืองดูไบ ประเทศสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์
  • การจัดกิจกรรมของคณะทำงานเอื้ออำนวยในช่วงเวที SBSTA ครั้งที่ 58

ประเด็นที่ต้องตามต่อ

การเตรียมตัวของชนเผ่าพื้นเมืองเพื่อเข้าร่วมเวทีการประชุมประเทศภาคีสมาชิกอนุสัญญาว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศครั้งที่ 28  ซึ่งจะจัดขึ้นที่เมืองดูไบ ประเทศสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์  ที่ประชุมของเวทีสากลของชนเผ่าพื้นเมืองว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศได้มอบหมายให้ชนเผ่าพื้นเมืองในเอเชียเป็นเจ้าภาพจัดงาน รวมทั้งการต้อนรับเพื่อนๆ จากทวีบต่างๆ เรื่องนี้จะมีการหารือกันในรายละเอียดอีกครั้งเร็วๆ นี้

ผู้เข้าร่วม