สหประชาชาติได้ประกาศให้วันที่ ๙ สิงหาคมของทุกปี เป็นวันสากลของชนเผ่าพื้นเมืองโลก เพื่อให้ประชาคมโลกรับรู้และยอมรับถึงการมีตัวตน ตลอดจนตระหนักถึงสภาพปัญหาที่ชนเผ่าพื้นเมืองประสบอยู่ รวมถึงต้องการให้ภาคส่วนต่าง ๆ เข้ามาสนับสนุนและหนุนเสริมเพื่อให้ชนเผ่าพื้นเมืองมีสิทธิและเสรีภาพขั้นพื้นฐานเสมอภาคและเท่าเทียมกับคนกลุ่มอื่น ๆ ในสังคม สามารถธำรงรักษาอัตลักษณ์ วัฒนธรรม และดำเนินตามวิถีชีวิตที่ตนเองปรารถนา สำหรับปีนี้ สหประชาชาติได้กำหนดให้ประเด็น “เราจะไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง: ชนเผ่าพื้นเมืองและสัญญาประชาคมใหม่” เป็นประเด็นหลักสำหรับการรณรงค์ เราจะไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง เป็นข้อความรณรงค์ที่สอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) ที่รัฐภาคีของสหประชาชาติได้รับรองร่วมกันเมื่อเดือนกันยายน พ.ศ. ๒๕๕๘ ประกอบไปด้วย ๑๗ เป้าหมาย เช่น การขจัดความยากจน ความหิวโหย การมีสุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดี มีการศึกษาที่เท่าเทียม ลดความเหลื่อมล้ำ การรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ มีสังคมที่สงบสุขยุติธรรมไม่แบ่งแยก มีความร่วมมือเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน ฯลฯ โดยเป้าหมายทั้งหมดนี้ ต้องการให้บรรลุผลภายในปี พ.ศ. ๒๕๗๓
สำหรับชนเผ่าพื้นเมืองแล้ว สิ่งเหล่านี้คือ สิ่งที่สอดคล้องกับความต้องการของพวกเราและให้มีการปฏิบัติการอย่างจริงจัง บนพื้นฐานของกระบวนการมีส่วนร่วมและการเคารพสิทธิของพวกเรา เพื่อให้การพัฒนาดังกล่าวบรรลุผลตามแผนงานและเป้าหมายที่ได้วางไว้
สำหรับประเทศไทย สภาชนเผ่าพื้นเมืองแห่งประเทศไทย (สชพ.) เครือข่ายชนเผ่าพื้นเมืองแห่งประเทศไทย (คชท.) และภาคีองค์กรและเครือข่ายที่ทำงานในประเด็นชาติพันธุ์และชนเผ่าพื้นเมือง ได้มีความเห็นร่วมว่าการดำเนินงานตามเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน ยังอยู่ห่างไกล พี่น้องชนเผ่าพื้นเมืองยังหิวโหย ไม่มีความมั่นคงทางด้านอาหาร ประสบปัญหาความยากจน และขาดความเท่าเทียมในการเข้าถึงทรัพยากรธรรมชาติและเศรษฐกิจ ไม่มีกรรมสิทธิ์ในที่ดินและทรัพย์สิน มีความเป็นอยู่ที่ต่ำกว่ามาตรฐาน นอกจากนี้ยังได้รับการศึกษาที่ไม่มีคุณภาพ ความเหลื่อมล้ำเหล่านี้ยังคงดำรงอยู่และยิ่งขยายวงกว้างมากขึ้น การดำเนินชีวิตตามวิถีจารีตประเพณี เช่น การทำไร่หมุนเวียน การเก็บหาของป่า การประมงพื้นบ้าน เป็นต้น ยังไม่ได้รับการยอมรับจากภาครัฐ พวกเรายังถูกควบคุมและถูกจำกัดสิทธิในการดำรงวีถีชีวิต ชุมชนบางแห่งถูกบังคับให้อพยพออกจากพื้นที่บรรพบุรุษของตนและโยกย้ายไปอยู่ในพื้นที่ที่รัฐจัดสรรให้ ซึ่งไม่เหมาะสมกับการดำรงชีวิต พวกเรายังขาดความมั่นคงในที่ดิน เพราะที่ดินที่เราใช้ประโยชน์ ดูแล และสืบทอดต่อกันมาหลายชั่วอายุคน ถูกยึดและถูกประกาศเป็นพื้นที่ป่าอนุรักษ์ของรัฐ โดยปราศจากการมีส่วนร่วมและการยินยอมของพวกเรา เช่น ป่าสงวนแห่งชาติ ป่าอุทยานแห่งชาติ และเขตรักษาพันธุ์สัตวป่า เป็นต้น ทำให้พวกเราต้องประสบกับความยากลำบากในการดำรงชีวิต มีที่ดินทำกินไม่เพียงพอ ขาดความมั่นคงในชีวิต ถูกคุกคามและถูกละเมิดสิทธิ สิ่งเหล่านี้ส่งผลให้วัฒนธรรมที่มีคุณค่า องค์ความรู้ด้านต่าง ๆ และเมล็ดพันธุ์พืชพื้นบ้านของพวกเราหลายอย่างเริ่มสูญสลาย
สภาพการณ์เหล่านี้ จะยังคงดำรงอยู่ต่อไป ถ้าไม่มีการแก้ไขที่ถูกต้อง ทั้งในระดับนโยบายและระดับปฏิบัติ ที่ตั้งอยู่บนฐานของหลักการเคารพสิทธิมนุษยชน พวกเราชนเผ่าพื้นเมืองยังคงถูกทิ้งไว้ข้างหลังและเป็นพลเมืองชั้นสองของสังคมไทยเหมือนเดิมเพื่อให้ประชาคมโลกรับรู้ ตระหนักถึงสภาพปัญหาที่ชนเผ่าพื้นเมืองประสบอยู่ รวมทั้งความต้องการให้ภาคส่วนต่าง ๆ เข้ามาช่วยเหลือและสนับสนุน ให้ชนเผ่าพื้นเมือง มีสิทธิและเสรีภาพขั้นพื้นฐาน มีความเสมอภาคและเท่าเทียมกับคนกลุ่มอื่น ๆ ในสังคม สามารถธำรงรักษาภาษา อัตลักษณ์ วัฒนธรรม และดำเนินตามวิถีชีวิตที่พึ่งตนเองได้ พวกเราชนเผ่าพื้นเมืองสัญญาว่าเราจะไม่ทอดทิ้งกัน ความมั่นคงในที่ดินและการเข้าถึงทรัพยากร คือ ความมั่นคงในชีวิตและเป็นปัจจัยหลักที่สร้างความมั่นคงทางอาหารของชุมชนชนเผ่าพื้นเมือง ซึ่งเป็นรากฐานสำคัญในการธำรงอัตลักษณ์ความเป็นชนเผ่าพื้นเมืองไว้ สิทธิเหล่านี้เป็นสิทธิขั้นพื้นฐานที่ทำให้เราอยู่ได้อย่างมีศักดิ์ศรี ตามที่ระบุไว้ในปฏิญญาสหประชาชาติว่าด้วยสิทธิชนเผ่าพื้นเมือง (UNDRIP) ปฏิญญาสากลแห่งสิทธิมนุษยชน และรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ซึ่ง สชพ. คชท.และภาคียังมีข้อกังวลอยู่ว่า นโยบายและแนวทางการแก้ไขปัญหาป่าไม้ที่ดินของรัฐนั้นยังไม่สอดคล้องกับวิถีชีวิตของพวกเรา ชุมชนหลายแห่งต้องประสบกับปัญหาและเผชิญกับความยากลำบาก เนื่องจากที่ดินทำกินถูกยึดเอาไปปลูกป่าตามนโยบายทวงคืนผืนป่า ชาวบ้านถูกจับกุมเมื่อไปทำไร่ พวกเราเห็นว่าแนวทางและวิธีคิดที่มองว่าชุมชนเป็นตัวปัญหา การรวบอำนาจในการจัดการทรัพยากรที่อยู่ส่วนกลาง การบังคับใช้กฎหมายและมาตรการที่เข้มงวดไม่คำนึงถึงสถานการณ์ข้อเท็จจริงในบริบทชุมชน และขาดการมีส่วนร่วมของชุมชนในพื้นที่นั้น เป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้องและขัดกับหลักการสิทธิมนุษยชน และกฎหมายระหว่างประเทศที่รัฐบาลไปให้สัตยาบันเอาไว้
สำหรับการส่งเสริมความมั่นคงทางอาหารในชุมชนชาติพันธุ์และเครือข่ายชนเผ่าพื้นเมือง ยังคงต้องดำเนินการตามกรอบแผนยุทธศาสตร์ของสภาชนเผ่าพื้นเมืองแห่งประเทศไทย ที่ได้กำหนดไว้ และภาคีองค์กรและเครือข่ายต่าง ๆ ดำเนินการอยู่แล้วนั้น เป็นประโยชน์ต่อการดำเนินการสนับสนุนและส่งเสริมให้ชุมชนชาติพันธุ์ต่าง ๆ ของชนเผ่าพื้นเมืองในประเทศไทย มีสุขภาวะที่ดี
ในขณะเดียวกันด้วยสถานการณ์วิกฤติจากการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา (โควิด-19) ที่ผ่านมายังส่งผลกระทบต่อวิถีการดำรงชีวิตของชนเผ่าพื้นเมือง สภาชนเผ่าพื้นเมืองแห่งประเทศไทย (สชพ.) ร่วมกับเครือข่ายชนเผ่าพื้นเมืองแห่งประเทศไทย (คชท.) และภาคีฯ จึงได้วางมาตรการและข้อเสนอแนะงานส่งเสริมความมั่นคงทางอาหารชุมชนชาติพันธุ์และเครือข่ายชนเผ่าพื้นเมือง โดยขอให้ภาคีองค์กรและเครือข่ายต่าง ๆ ทั้งในระดับชุมชนและได้ใช้เป็นแนวทางในการดำเนินงาน โดยให้คำนึงถึง
๑. ทำอย่างไร ? ให้ชุมชนชนเผ่าพื้นเมืองมีอาหารบริโภคอย่างพอเพียง สนับสนุนการขับเคลื่อนให้ชุมชนชนเผ่าพื้นเมืองได้บริโภคผักและผลไม้ที่ปลอดภัยอย่างเพียงพอ หรือลดภาวะน้ำหนักตัวเกินและโรคอ้วน ลดภาวะความหิวโหย และการขาดแคลนอาหาร
๒. ทำอย่างไร ? ให้ชุมชนชนเผ่าพื้นเมืองบริโภคอาหารที่หลากหลาย เพราะอาหารแต่ละอย่างให้ประโยชน์และคุณค่าที่ต่างกัน หันมาลด ละ เลิกการมีวิถีชีวิตที่เร่งรีบ การมีวัฒนธรรมบริโภคอาหารสมัยใหม่ และการส่งเสริมความหลากหลายทางอาหาร
๓. ทำอย่างไร ? ให้ชุมชนชนเผ่าพื้นเมือง บริโภคอาหารที่มีความปลอดภัย ทั้งที่ปลูกจากในสวนของตนเองและจากตลาด มีการเข้าถึงแหล่งอาหารปลอดภัยอย่างทั่วถึง
๔. ทำอย่างไร ? ให้ชุมชนชนเผ่าพื้นเมืองเข้าถึงสิทธิแห่งความมั่นคงทางอาหาร ที่ครอบคลุมสิทธิด้านอื่น ๆ เช่น สิทธิในการมีที่ดินในการผลิตอาหาร สิทธิเรื่องพันธุกรรมพื้นบ้าน สิทธิในการปกป้อง คุ้มครอง เข้าถึงแหล่งอาหาร สิทธิในการดำรงซึ่งวิถีวัฒนธรรมจารีตประเพณีแห่งความมั่นคงทางอาหาร เป็นต้น
ซึ่งเป็นโจทย์ใหญ่ของการทำงานที่ต้องระดมสรรพกำลังของภาคีองค์กรและเครือข่ายที่ทำงานส่งเสริมความมั่นคงทางอาหาร มาช่วยกันแก้ไขปัญหาทั้งในเชิงโครงสร้างและระดับพื้นที่ อาหารไม่ใช่เพียงแค่เป็นปัจจัยในการดำรงชีพของมนุษย์ แต่อาหารคือความมั่นคงของชีวิต การดำเนินงานการตามกรอบแผนยุทธศาสตร์ของสภาชนเผ่าพื้นเมืองแห่งประเทศไทย (พ.ศ ๒๕๖๑ – ๒๕๗๐) โดยเฉพาะยุทธศาสตร์ที่ ๓ การเสริมสร้างครอบครัวและชุมชนของชนเผ่าพื้นเมืองสู่การพึ่งตนเองเพื่อส่งเสริมให้ครอบครัวและชุมชนของชนเผ่าพื้นเมือง มีสัมมาชีพที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมสอดคล้องกับวิถีวัฒนธรรมอันดีงามของตน และสามารถพึ่งตนเองได้อย่างยั่งยืน โดยการส่งเสริมชุมชนนิเวศน์ (Eco-community) เพื่อการพึ่งตนเอง การอนุรักษ์และการใช้ประโยชน์ทรัพยากรธรรมชาติอย่างยั่งยืน ส่งเสริมความมั่นคงด้านที่อยู่อาศัย ที่ทำกิน แหล่งน้ำ และแหล่งอาหารของชุมชนชนเผ่าพื้นเมือง ทั้งส่งเสริมและสร้างการยอมรับการใช้ภูมิปัญญาตามจารีตประเพณีในการจัดการทรัพยากรและสิ่งแวดล้อมที่ยั่งยืน ชุมชนชนเผ่าพื้นเมืองมีความมั่นคงทางอาหารและเกิดการแบ่งปันอาหารซึ่งกันและกัน ชุมชนมีความเข้มแข็ง และมีความตระหนักรู้ในการอยู่พอดี กินพอดี เพื่อสุขภาวะที่ยั่งยืน สามารถดำรงชีวิตอยู่ได้บนฐานภูมิปัญญาและวัฒนธรรมประเพณีที่งดงาม มีจิตสาธารณะ มีการทำระบบเกษตรยั่งยืนตามศาสตร์พระราชา (ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง) ที่มีพื้นที่รูปธรรมในการสร้างความมั่นคงทางอาหารและการส่งเสริมสุขภาวะโภชนาการด้านอาหารให้กับเด็กโดยการทำงานร่วมกับภาคีองค์กรและเครือข่ายสร้างสุขภาวะที่ดีให้กับชุมชนชาติพันธุ์และชนเผ่าพื้นเมืองในประเทศไทย