เขียนโดย: ศิริรุ่ง ศรีสิทธิพิศาลภพ
15 มิถุนายน ผ่านมา ว่าที่นายกฯ พิธา ร่วมเวทีรับฟังเสียงปัญหาของเครือข่ายชนเผ่าพื้นเมือง โดยเสนอต้องแก้ปัญหาเชิงรุกสู่ ‘เศรษฐกิจชาติพันธุ์’ ทางออกเพื่อคนไทยทั้งประเทศ โดยรัฐบาลต้องยึดหลักการสิทธิมนุษยชนที่ได้ลงนามในอนุสัญญาระหว่างประเทศอย่างจริงจัง

“จุดประสงค์ที่ผมลุกขึ้นมา เพราะ ผมอยากให้ความมั่นใจว่านายกรัฐมนตรีคนต่อไปจะเป็นคนที่สนใจและใส่ใจ พร้อมที่จะเรียนรู้ถึงปัญหาและศักยภาพของพี่น้องชาติพันธุ์ พี่น้องชนเผ่าพื้นเมือง ผมจะไม่เสแสร้งว่ารู้ทุกเรื่องของชนเผ่าชาติพันธุ์ไปทั้งหมด แต่ว่าการที่เรามีผู้นำที่พร้อมจะเรียนรู้ในวัฒนธรรมของเราก็เป็นแต้มต่อในการทำงาน” (พิธา ลิ้มเจริญรัตน์)
เมื่อวันที่ 15 มิถุนายน 2566 ที่ผ่านมา สภาชนเผ่าพื้นเมืองแห่งประเทศไทย (สชพ.) และภาคีองค์กรและเครือข่ายที่ทำงานประเด็นชาติพันธุ์และชนเผ่าพื้นเมือง ได้จัดงานพบปะพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ แคนดิเดตนายกฯ พรรคก้าวไกล สู่ว่าที่นายกรัฐมนตรีคนที่ 30 ซึ่งในงานนี้พรรคก้าวไกลได้เดินทางมาร่วมงานพร้อมรับฟังปัญหาของกลุ่มเครือข่ายชนเผ่าพื้นเมือง โดยเครือข่ายสภาชนเผ่าพื้นเมืองมีความหวังว่าว่านายกรัฐมนตรีที่มาจากเสียงของประชาชนจากการเลือกตั้งครั้งนี้ จะทำหน้าที่ช่วยนำปัญหาของพวกเขาขึ้นมาแก้ไขโดยใช้กลไกรัฐสภาในการหาทางออกให้เกิดฉันทามติร่วมกันกับคนในประเทศไทยได้เข้าใจและอยู่ร่วมกันในระบอบประชาธิปไตย
“เชื่อว่าทางสภาชนเผ่าได้รวบรวมข้อเสนอให้กับว่าที่นายกฯ พิธา ซึ่งสิ่งเหล่านี้จะเป็นเสียงสะท้อนที่รวบรวมจากใจพวกเราชนเผ่าทุกคน เราเชื่อว่าการที่ได้พบนายกฯพิธาในครั้งนี้ จะเป็นนิมิตรหมายว่าเสียงของเราจะไปถึงคนอื่นๆในประเทศ จะไปถึงผู้นำประเทศ นี่คือความคาดหวังที่เรามีต่อนายกฯที่จะได้ยินเสียงของเรา และนำเสียงของเราไปทำให้เกิดผล” (ตัวแทนคนรุ่นใหม่ คนม้งจังหวัดเชียงราย)
“ประเด็นที่ฝากถึงท่านนายกฯพิธา เพื่อนำไปสู่สถานการณ์การเปลี่ยนแปลงของพี่น้องชนเผ่า คือ 1.เรื่องทรัพยากรธรรมชาติ สิทธิในการเข้าถึงการใช้ และการดูแลรักษา ที่ผ่านมาเราถูกบอกว่าเรามีหน้าที่ต้องดูแลต้องปกป้องรักษาซึ่งเป็นสมบัติของชาติ แต่เราไม่ค่อยมีสิทธิในการใช้ในการดูแล 2.เรื่องการศึกษาด้วยเรื่องของการเข้าถึงการศึกษาที่มีคุณภาพและสอดคล้องกับบริบทวิถีวัฒนธรรม ผมคิดว่าเป็นประเด็นที่สำคัญต้องบอกว่าระบบการศึกษาปัจจุบัน เป็นเครื่องมือหนึ่งที่ทำพวกเราหลุดออกจากรากเหง้าของตัวเอง เราพูดการปฏิรูปการศึกษามา 20 ปี แต่ไม่เป็นรูปธรรม ยุคของรัฐบาลก้าวไกล เรื่องการศึกษาเราอยากให้มีการปฏิรูปการศึกษาโดยมีภาคประชาชน ภาคท้องถิ่นไปมีส่วนร่วม” (ผศ.ดร.สุวิชาน พัฒนาไพรวัลย์)

พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ กล่าวเปิดงาน โดยเล่าถึงความสนใจส่วนตัวที่มีต่อประเด็นพี่น้องชนเผ่าพื้นเมืองและกลุ่มชาติพันธุ์ เนื่องจากการเติบโตที่ประเทศนิวซีแลนด์ในสมัยเด็ก ได้อยู่กับเพื่อน ‘ชาวเมารี’ หรือ ‘มาวรี’ เป็นกลุ่มชาติพันธุ์ที่เป็นชนพื้นเมืองของประเทศนิวซีแลนด์ การเติบโตท่ามกลางความหลากหลายทางวัฒนธรรมและได้เรียนรู้ประวัติศาสตร์การต่อสู้เพื่อสิทธิของชนพื้นเมืองทำให้เห็นประเด็นเรื่องสิทธิมนุษยชน สิทธิชาติพันธุ์ ในวัฒนธรรมของนิวซีแลนด์ ซึ่งชนพื้นเมืองเหล่านี้ในอดีตก็ถูกลิดลอนสิทธิจากรัฐจนนำไปสู่การต่อสู้เพื่อสิทธิของชนเผ่าพื้นเมืองและพัฒนาศักยภาพให้เป็นที่ยอมรับในระดับประเทศ พิธา กล่าวว่าไม่ใช่แค่เพียงชาวมาวรี แต่ชนเผ่าพื้นเมืองมีอยู่ทั่วโลก อย่างกรณีการต่อสู้ของชาวอะบอริจิน ชนพื้นเมืองในประเทศออสเตรเลีย หรืออย่างประเทศโบลิเวียที่ชนพื้นเมืองเป็นผู้นำประเทศ เป็นต้น ดังนั้น การพูดประเด็นเรื่องสิทธิชาติพันธุ์หรือชนเผ่าพื้นเมืองในประเทศไทย แม้ส่วนใหญ่เราจะเห็นเพียงประเด็ปัญหาเรื่องที่ดินทำกิน สัญชาติ ความเหลื่อมล้ำทางด้านการศึกษา การพัฒนาสาธารณูปโภค แต่คิดว่ากรอบนี้ยังเป็นกรอบคิดที่จำกัดเกินไป การยกระดับศักยภาพ การพูดถึงสิทธิชาติพันธ์นั้นควรไปให้กว้างและไกล เพราะชนเผ่าพื้นเมืองหรือชาติพันธุ์ก็คนไทยที่สามารถพัฒนาได้ในทุกมิติและมีสิทธิที่จะเป็นผู้นำระดับประเทศได้และเข้าถึงสิทธิอื่นๆเช่นเดียวกับคนไทยทุกคนในฐานะพลเมืองโลก
“พรรคอนาคตใหม่เป็นพรรคเดียวที่มีปีกของชาติพันธุ์อยู่ในการเมือง หลายคนกังวลใจว่าทำไมไม่เห็นอยู่ใน MOU เพราะเรื่องนี้เราผลักดันพรรคเดียวครับ ความหลากหลายเหล่านี้เราโอบรับและส่งเสริม พรรคอนาคตใหม่จนถึงพรรคก้าวไกลในปัจจุบัน จะสนใจเรื่องปีกพี่น้องแรงงานและชาติพันธุ์ เพราะคน 2 กลุ่มนี้ มีความสำคัญกับพรรคเรามาก…เพราะฉะนั้นไม่ว่าเรื่องทวงคืนผืนป่า พ.ร.บ.อุ้มหายและซ้อมทรมาน ที่ผ่านทั้งสภาฯร่าง สภาฯบนแต่โดน พ.ร.ก.ที่ทำให้สิ่งที่เกิดขึ้นกับคุณบิลลี่ คุณชัยภูมิ ไม่เกิดขึ้นในประเทศไทยอีก การผลักดัน พ.ร.บ.ชาติพันธุ์ การช่วยเหลือเรื่องสิทธิชนเผ่า เป็นสิ่งที่ทำมาตลอด 4 ปี และจะเป็นสิ่งที่ทำต่อไปเรื่อยๆ”
นอกจากนี้ พิธา กล่าวว่าในฐานะว่าที่นายกรัฐมนตรีนั้นสิ่งที่ตนเองต้องเรียนรู้หลังจากนี้คือการเข้ามาพูดคุยแลกเปลี่ยนกับเครือข่ายชนเผ่าพื้นเมืองทั่วประเทศ เพื่อให้เครือข่ายประชาชนสามารถกำหนดอนาคตด้วยตนเองผ่านระบบกลไกรัฐสภา ไม่ว่าจะปัญหาที่ดินทำกิน การบริหารอุทยาน นอกจากนี้เราต้องเปลี่ยนวิธีการพูดคุยเรื่องชาติพันธุ์และชนเผ่าพื้นเมืองในเชิงรับ คือการพูดถึงสภาพปัญหาที่ไม่ถูกจัดการทั้งเรื่องสัญชาติที่แก้ไม่ได้กว่า 900,000 คนในประเทศไทย การมองปัญหาเชิงรุกในอนาคตต่อไปว่าเราควรตั้งคำถามว่าทำไมรัฐบาลที่ผ่านมาให้พื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษเกิดขึ้นได้ จนไปสู่สิทธิของชาวต่างชาติสามารถเช่าพื้นที่ได้ถึง 99 ปี แต่ในเรื่องพื้นที่เขตวัฒนธรรมพิเศษที่จะเอื้อให้ชนเผ่าพื้นเมืองและกลุ่มชาติพันธุ์ที่อยู่ในประเทศไทยนั้นเกิดขึ้นไม่ได้จริง ดังนั้น จำนวนพี่น้องชาติพันธุ์ กว่า 7 ล้านคนที่อยู่ในประเทศไทย คิดเป็นจำนวนกว่า 10% จึงไม่ใช่คนชายขอบตามที่ชอบพูดกันในเวทีต่างๆ แต่ต้องคำถามว่าทำไมถึงยังมีคนตกหล่นในเรื่องสัญชาติและปัญหาอื่นๆซึ่งไม่ใช่คนชายขอบแต่เป็นกลุ่มจำนวนหนึ่งในประเทศนี้
พิธา ทิ้งท้ายว่า สิทธิชาติพันธุ์หรือสิทธิของชนเผ่าพื้นเมืองจะเกิดขึ้นได้เมื่อรัฐไทยต้องยึดหลักการของกฎสหประชาชาติให้แม่นยำ การคำนึงเรื่องของสิทธิชาติพันธุ์ในระดับสากลเป็นกลไกที่นานาชาติทำตามและยอมรับ ประเทศไทยต้องให้ความสำคัญเรื่องนี้ นอกจากนี้พี่น้องชาติพันธุ์คนไทยต้องเปิดเวทีชนเผ่าในพื้นที่ในเวทีสหประชาชาติ เพื่อขับเคลื่อนในเรื่องเกี่ยวกับสิทธิชาติพันธุ์และสิทธิอื่นๆที่เกี่ยวข้อง เพราะหากปักธงชัดในการขับเคลื่อนได้ นี่คือโอกาส 1 ใน 100 ปี ที่จะพลิกปัญหาเรื่องสิทธิของพี่น้องชาติพันธุ์ให้กลายเป็นโอกาสในการพัฒนาส่งเสริมสิทธิที่ส่งผลต่อคนไทยทั้งประเทศในทางที่ดีร่วมกัน
“เศรษฐกิจชาติพันธุ์ ต้องเกิดขึ้นในประเทศไทย คือการคิดเชิงรับให้เป็นเชิงรุก ไม่ใช่มองเป็นปัญหาเชิงสังคม ไม่ใช่ปัญหาความขาดแคลน ไม่ใช่แค่ปัญหาความเหลื่อมล้ำ indigenous economy โอกาสมากมายมหาศาลขนาดไหน ที่มีเรื่องวัฒนธรรม craft อาหาร ทั้งหมดคือโอกาสที่สร้างเศรษฐกิจได้ เหมือนที่เราไปเที่ยวมาชูปิกชู ในเปรู… เราเสียเงินเป็นแสนแสนบาทไปเที่ยวดูวัฒนธรรมของชาติอื่น แต่เราละเลยเศรษฐกิจหรือชาติพันธุ์ตรงนี้”
ภาพรวมสถานการณ์ชนเผ่าแห่งประเทศไทย ปัญหาใหญ่ที่ต้องเร่งแก้ไข คือ การละเมิดสิทธิมนุษยชน วัฒนธรรมลอยนวลพ้นผิด

กิตติศักดิ์ รัตนกระจ่างศรี ประธานสภาชนเผ่าพื้นเมืองแห่งประเทศไทย กล่าวสรุปว่า ในฐานะตัวแทนสภาชนเผ่าพื้นเมืองชนเผ่าพื้นเมืองในประเทศไทย ที่ปัจจุบันแบ่งเป็น 4 กลุ่มใหญ่ คือ 1.กลุ่มที่อาศัยอยู่บนพื้นที่สูง เช่น กลุ่มชาติพันธุ์กะเหรี่ยง เมี้ยน ลีซู ลาหู่ ฯลฯ 2.กลุ่มที่อยู่พื้นราบ เช่น ไทยยอง ไทยเขิน ณอง 3.กลุ่มที่อาศัยอยู่พื้นที่ทะเล ได้แก่ มอแกน มอแกลน อุลักลาโว้ย และ 4.กลุ่มที่อาศัยอยู่ในป่า เช่น มานิ มลาบลี ซึ่งหลายกลุ่มชนเผ่าพื้นเมืองในไทยยังมีวิถีชีวิตที่พึ่งพิงธรรมชาติ มีวิถีชีวิตและอัตลักษณ์ที่ยังไม่เป็นเมือง และหลายกลุ่มชนเผ่าพื้นเมืองมักจะถูกละเลยและเลือกปฏิบัติ ถูกกระทำจากนโยบายจากรัฐที่ออกมาบางส่วนที่ทำไม่สอดคล้องกับวิถีชีวิต ซึ่งนโยบายหลายอย่างสร้างความลำบากให้กับชนเผ่าพื้นเมืองและถูกผลักไปอยู่ชายขอบ ปัญหาที่เกิดขึ้นเป็นปัญหาเชิงโครงสร้างที่เกี่ยวข้องกับนโยบายและกฎหมายที่คนชนเผ่าไม่สามารถแก้ไขเองได้ต้องอาศัยกลไกทางรัฐสภา ซึ่งหวังว่ารัฐบาลชุดใหม่นี้จะนำปัญหาเหล่านี้ไปสู่การพิจารณาเพื่อการเปลี่ยนแปลงที่สร้างสรรค์ เคารพสิทธิมนุษยชน และมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วน โดยชนเผ่าพื้นเมืองอยากเห็นสังคมที่มีความยุติธรรม ไม่มีการแบ่งแยก ไม่มีอคติ ไม่มีการเลือกปฏิบัติ และเป็นสังคมพหุวัฒนธรรม

ศักดิ์ดา แสนมี่ เลขาธิการสภาชนเผ่าพื้นเมือง สรุปข้อเสนอเชิงนโยบาย โดยเน้นหลักการร่วมและเจตนารมย์ที่สำคัญ ซึ่งมีข้อเสนอเร่งด่วนในกรณีของการละเมิดสิทธิสิทธิชุมชนท้องถิ่นและชนเผ่าพื้นเมือง ไม่ว่าจะกรณีหมู่บ้านชาวกะเหรี่ยงบางกลอย ชาวเลอุลักลาโว้ยเกาะหลีเป๊ะ ชาวม้งม่อนแจ่ม และมีอีกหลายชุมชนที่เป็นกรณีความขัดแย้งที่รุนแรงด้านทรัพยากรกับหน่วยงานรัฐและเอกชน นอกจากนี้ข้อเสนอสำคัญคืออยากให้รัฐบาลพรรคก้าวไกลยุติวัฒนธรรมการลอยนวลพ้นผิด โดยเอาคนผิดมาลงโทษและให้ความเป็นธรรมกับผู้ได้รับผลกระทบ เช่นตัวอย่าง กรณีชัยภูมิ ป่าแส นักกิจกรรมชนเผ่าพื้นเมือง และพลจี รักจงเจริญ หรือ บิลลี่ ที่ถูกอุ้มหายและถูกสังหาร ซึ่งชนเผ่าพื้นเมืองรอวันที่ความเป็นธรรมจะกลับคืนมาโดยหวังการขับเคลื่อนผ่านรัฐสภาโดยรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชนชุดนี้

สรุปปัญหาชนเผ่าพื้นเมือง 5 ข้อ ที่เสนอต่อพรรคการเมืองเพื่อส่งเสริมและพัฒนาศักยภาพ
- การส่งเสริมสิทธิชนเผ่าพื้นเมือง ผลักดันให้รัฐบาลยอมรับการมีตัวตนของชนเผ่าพื้นเมือง และมีมาตรการในการคุ้มครองวิถีชีวิต ทุกกลุ่มชาติพันธุ์ที่อยู่ในประเทศไทย มีแนวทางดำเนินการให้เป็นไปตามที่รัฐบาลไทยได้มีการลงนามรับรองให้สัตยาบรรณเกี่ยวกับพันธกรณีระหว่างประเทศที่เกี่ยวข้องกับชนเผ่าพื้นเมือง อีกทั้งต้องให้รัฐวางแผนมาตรการในการสนับสนุนการปฏิบัติการเรื่องสิทธิมนุษยชนกับสิทธิของชนเผ่าพื้นเมืองในประเทศไทยให้จริงจัง นอกจากนี้คือ ร่างพระราชบัญญัติชนเผ่าพื้นเมืองต้องผลักดันในรัฐสภาให้เกิด อยากให้ทางนายกฯพิธา และพรรคการเมืองฝ่ายรัฐบาลผลักดันให้มีการพิจารณาร่างพระราชบัญญัตินี้
- การแก้ปัญหาเรื่องที่ดินทำกิน ควรจะต้องมีการยกเลิกแก้ไขกฎหมายที่เป็นปัญหาอุปสรรคกับวิถีชีวิตของชนเผ่าพื้นเมือง และสนับสนุนให้เกิดกฎหมายใหม่ที่สอดคล้องกับวิถีชีวิตของคนที่อยู่ในพื้นที่ป่า ตลอดจนประเด็นเรื่องของอนุสัญญาความหลากหลายทางชีวภาพ จะทำอย่างไรให้ประเทศไทยจัดทำแผนปฏิบัติการจัดการความหลากหลายทางชีวภาพที่มีส่วนร่วมของชนเผ่าพื้นเมือง ซึ่งเป็นการดำเนินการที่สอดคล้องกับกรอบงานความหลากหลายทางชีวภาพของโลก
- ปัญหาไร้สัญชาติและสถานะบุคคล รัฐบาลควรหาทางให้มีแผนกระจายอำนาจการตัดสินใจลงในระดับพื้นที่ ระดับอำเภอ เพราะที่ผ่านมามีการแก้ไขระดับกระทรวง จังหวัด จนไปถึงอำเภอ ซึ่งขั้นตอนยืดยาวสร้างอุปสรรคอย่างมาก
- การพัฒนาศักยภาพและตนเองของคนชนเผ่าพื้นเมือง อยากให้เน้นพัฒนาศักยภาพแกนนำชุมชน เยาวชน หรือสตรีที่จะได้เข้ามามีส่วนร่วมในการแก้ปัญหาของตัวเองให้ได้เข้าถึงการบริการจากรัฐและสวัสดิการสังคมที่เท่าเทียมและเป็นธรรม ทั้งเรื่องการศึกษา จนถึงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่ประชาชนร่วมกำหนด
- พัฒนาเศรษฐกิจชุมชนบนฐานวิถีวัฒนธรรม จะทำอย่างไรให้ทุนทางวัฒนธรรมและทรัพยากรที่อยู่ในพื้นที่ ซึ่งชนเผ่าพื้นเมืองมีวิถีผูกพันกับสิ่งเหล่านี้ได้ยกระดับไปสู่การพัฒนาอาชีพและนวัตกรรม ที่สามารถสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจรวมถึงการรักษาระบบนิเวศน์ที่ยั่งยืน