ทำไมวัฒนธรรมของชนเผ่าพื้นเมืองถึงทรงคุณค่า และมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการช่วยกันร่วมอนุรักษ์และสืบสานให้คงอยู่ในสังคมร่วมกันสืบต่อไป

นำเสนอบทเขียนโดย อนุธิดา มูลนาม

ใครที่กำลังเกิดคำถามเช่นนี้อยู่ในใจไว้แล้ว หรือใครที่ได้ย้อนคืนกลับมาเชื่อมโยงถึงคุณค่าและความหมายอันสำคัญยิ่งของการดำรงอยู่ในแบบฉบับของชนเผ่าพื้นเมืองอยู่แล้วนั้น คงจะทราบกันดีว่าทำไมวัฒนธรรมของชนเผ่าพื้นเมืองทั้งหลาย ถึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่ผู้คนในยุคสมัยนี้จะต้องลุกขึ้นมาศึกษาเรียนรู้กันใหม่อีกครั้ง และย้อนกลับมาช่วยกันร่วมอนุรักษ์สืบสานวิถีชีวิต วัฒนธรรมความเชื่อ และภูมิปัญญาดั้งเดิมของพี่น้องชนเผ่าพื้นเมืองเอาไว้ให้ถ่องแท้กันยิ่งขึ้น เพื่อจะใช้เป็นรากฐานขององค์ความรู้ทางนิเวศวิทยาในการปฏิบัติตนต่อโลกธรรมชาติ และต่อทุกสิ่งมีชีวิตอื่นบนโลกได้อย่างตระหนักรู้กันมากขึ้น เพื่อใช้เป็นแนวทางของการดำรงอยู่ในรูปแบบใหม่ที่จะสอดคล้องกับทุกชีวิตอื่นๆ มากยิ่งขึ้น รวมถึงเพื่อใช้เป็นหลักคติคำสอนทางประวัติศาสตร์บอกเล่าประจำท้องถิ่นให้กับตนเอง และรุ่นลูกหลานของเราทุกคนได้สืบทอดกันต่อไปชั่วนิรันดร์ “และก็เพื่อว่าพวกเราทุกคนจะได้ย้อนคืนกลับมาเป็นชนพื้นเมืองด้วยกันอีกครั้ง ”  ที่ซึ่งจะได้กลับมาอยู่อาศัยร่วมกันอย่างอิสระและเท่าเทียม โดยมิแบ่งแยกความเป็นมนุษย์ด้วยกันเอง และกับทุกสิ่งมีชีวิตอื่นที่เหลืออยู่ในสิ่งแวดล้อมของเราได้อีกครั้งในที่สุด

น้ำตกสอยดาว มนต์เสน่ห์สายธารแห่งตำนานผืนป่า

หาก ณ จุดหนึ่งในอนาคตอันใกล้หรือไกลนี้ ด้วยเหตุที่ว่า “ถ้าความเจริญความพัฒนา ความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของสังคมยุคใหม่ จะดำเนินไปถึงจุดสูงสุด และถึงคราที่จะดับสิ้นลงไปอย่างถาวรนั้น” ตนเชื่อมั่นมากว่า สิ่งที่จะยังคงเหลืออยู่ให้พวกเราและลูกหลานของเราได้ย้อนกลับคืนมายึดมั่นถือมั่นกันอีกครั้ง ซึ่งนั่นก็คือ “องค์ความรู้ดั้งเดิมตามวิถีของชนเผ่าพื้นเมืองและตามวิถีพื้นบานในทุกจังหวัดทั่วประเทศนั่นเอง” เพราะตลอดหน้าประวัติศาสตร์ของมนุษยชาติที่มีการบันทึกหลักฐานไว้โดยเหล่านักปรัชญา นักประวัติศาสตร์ นักโบราณคดี นักมานุษยวิทยา นักคิดและนักเขียนเฉพาะทาง และอื่นๆ ที่ได้บันทึกข้อมูลอย่างเป็นองค์รวม โดยส่วนใหญ่จะระบุไว้เสมอว่า “ทุกครั้งที่สังคมเกษตรและอารยธรรมชาวศิวิไลซ์ในอดีตล่มสลายแตกไป ก็จะยังคงมีสังคมและวัฒนธรรมของชนเผ่าพื้นเมืองและวัฒนธรรมพื้นบ้านดั้งเดิมดำรงอยู่รอดต่อไปเสมอมา” และพวกเขาถือเป็นผู้คนกลุ่มเดียวตลอดประวัติศาสตร์ที่อยู่รอดผ่านพ้นวิกฤตการณ์ต่างๆ มาได้ทุกครั้ง ทั้งจากทางภัยพิบัติตามธรรมชาติ และจากหายนะที่ก่อโดยมนุษย์อีกกลุ่มในสังคมยุคใหม่ที่มุ่งมั่นเอารัดเอาเปรียบเพื่อนร่วมโลกอย่างหูหนวกตาบอดและบ้าคลั่ง นั่นก็คือ“กลุ่มคนในสังคมเกษตรกรรมและในสังคมอุตสาหกรรมนับมาจากยุคปฏิวัติต่างๆ ในยุคก่อนจนถึง ณ ปัจจุบันนี้เอง”

เหตุผลที่วิถีชีวิตของชนเผ่าพื้นเมืองต่างๆ ยังดำรงอยู่รอดมาได้ตลอดกาล นั่นก็เป็นเพราะว่า “พวกเขาคือมนุษย์กลุ่มเดียวที่รู้จักการเอาตัวรอดในป่าดงพงไพร หรือแม้แต่ในสังคมยุคใหม่ทุกวันนี้อีกด้วย พวกเขารู้จักแหล่งอาหาร และการนำมาประกอบอาหารอย่างหลากหลายเพื่อเลี้ยงชีพตนและครอบครัว รวมถึงญาติมิตรชิดใกล้ต่างๆ พวกเขารู้จักวิถีการรักษาเยียวยาโรคภัยให้กับตัวเองและพี่น้องที่อยู่ทั้งใกล้และไกลในยามเจ็บไข้” และที่สำคัญมากก็คือ “พวกเขารู้จักวิถีการเพาะปลูกอาหารอย่างหลากหลายมากที่สุดโดยแท้ พร้อมยังมีวิถีการทำเกษตรที่มิตรกับสิ่งแวดล้อมและชุมชนชีวิตมาโดยตลอด” และเป็นสังคมมนุษย์กลุ่มเดียวที่มีวิถีการดำเนินชีวิตที่สงบสุขและเรียบง่ายอย่างแท้จริง มีความเท่าเทียมกันในทุกๆ ด้าน ชื่นชอบการแบ่งปันและการร่วมมือกันในทุกๆ อย่าง และยังถือเป็นกลุ่มคนที่รู้จักวิถีการออกหาอาหาร รู้จักการพึ่งพาธรรมชาติและการอนุรักษ์ฟื้นฟูแหล่งทรัพยากรเพื่อส่วนรวม และวิถีการเพาะปลูกอาหารดังจะกล่าวต่อไปนี้ ซึ่งถือเป็นวิธีการเพาะปลูกอาหารของชนเผ่าพื้นเมืองโดยทั่วไป ซึ่งจะช่วยตอบโจทย์เรื่องความมั่นคงทางอาหารของคนในชุมชนได้ตลอดไปอีกด้วย อาทิเช่น:

การทำไร่หมุนเวียน (Shifting cultivation)” ด้วยวิถีต่างๆ ของแต่ละชนเผ่าพื้นเมืองในภูมิภาคเอเชีย ซึ่งต่างก็ตั้งอยู่บนพื้นฐานของ “การเลี้ยงชีพเพื่อความอยู่ดีมีสุข ความอุดมสมบูรณ์ทางนิเวศวิทยาและจิตวิญญาณ และการพึ่งพิงอาศัยธรรมชาติมาโดยตลอด” มากกว่าที่จะเป็นการทำลายล้างสรรพชีวิต หรือทำลายฐานทรัพยากรธรรมชาติ ตามที่ถูกกล่าวหาจากทางภาครัฐและเหล่านายทุน การทำไร่หมุนเวียนคือ วิถีการทำเกษตรนิเวศ หรือ (Ecological farming) อีกวิถีหนึ่ง ที่มีความสลับซับซ้อนและละเอียดอ่อนมาก ซึ่งเน้นการอนุรักษ์ฟื้นฟูและการดูแลพืชพรรณและสัตว์ป่าเพื่อผลประโยชน์ของส่วนรวม เน้นเรื่องการเพาะปลูกอย่างหลากหลายในแต่ละฤดูกาล และในแต่ละช่วงเวลาที่สับเปลี่ยนพื้นที่ทำไร่ เน้นความสำเร็จของการเปลี่ยนแปลงทางนิเวศวิทยาในแต่ละช่วง หรือที่เรียกว่า (Ecological succession) นับไปตั้งแต่ระดับพื้นหญ้าไปจนถึงการมีผืนป่าที่อุดมสมบูรณ์ได้อีกครั้ง และก็หมุนเวียนพื้นที่ทำไร่ต่อเนื่องกันไปเรื่อยๆ ภายในช่วงเวลา 7-12 ปี ของวัฐจักรการทำไร่หมุนเวียนของชาวกะเหรี่ยงทางภาคเหนือในเมืองไทย  และ ภายในช่วงเวลา 7-10 ปีโดยเฉลี่ยในประเทศอื่นๆ ของภูมิภาคเอเชีย


ภาพพื้นที่ปลูกข้าวไร่ ที่มีพืชผักพื้นบ้านและตามที่เกิดเองเกิดปะปนกันอยู่ รวมกับจุดทำไร่บนที่สูงข้ามภูเขาไปด้านบน
โดยมีป่าที่ฟื้นตัวแล้วกั้นอยู่ระหว่างไร่หมุนเวียน
(Cr. ภาพจากเพจ การทำไร่หมุนเวียนตามภูมิปัญญาดั้งเดิมของกะเหรี่ยง Rotational Farming)

การเพาะปลูกพืชสวนด้วยเทคนิควิถีต่างๆ ของชนเผ่าพื้นเมืองทั่วโลก (Indigenous horticultural techniques) ซึ่งมีการเพาะปลูกพืชอาหารในพื้นที่เล็กๆ อย่างผสมผสานหลากหลายและสอดคล้องกลมกลมกับแนวทางของธรรมชาติ กล่าวคือเน้นการปลูกพืชร่วมที่โตด้วยกันได้ และส่งเสริมการเติบโตของกันและกันได้สูง โดยเลือกพื้นที่ทำการเพาะปลูกเพื่อยังชีพ อาจจะเป็นชั่วคราวหรือถาวรก็ได้ไม่จำกัด และเป็นวิถีการเพาะปลูกที่ช่วยอนุรักษ์และฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติไว้ไปด้วยในตัวเพื่อคนรุ่นหน้าจะยังมีแหล่งที่อยู่อาศัยที่มีความอุดมสมบูรณ์ และมีความหลากหลายของพันธุ์พืชและพันธุ์สัตว์ได้อีกตราบนานเท่านาน จนแยกไม่ออกว่าวิถีการเพาปลูกเช่นนี้ดูเหมือนป่าตัวจริงหรือป่าปลูกกันแน่ ในระยะยาวเมื่อทุกอย่างงอกงามเติบโตอย่างสมบูรณ์แล้ว


ภาพชนเผ่าพื้นเมืองจากทวีปอเมริกาใต้ ในผืนป่าดิบชื้นอเมซอน (ชาว Yanomami) ทำการเพาะปลูกพืชสวนในพื้นที่ทำกินเล็กๆ โดยมักปลูก พืชกินหัว อย่างมันพื้นบ้านและมันป่า พืชผัก ไม้ผล บางทีก็ปลูกพืชไร่ และได้แหล่งอาหารส่วนอื่นๆ มาจากการเก็บหาของป่าและล่าสัตว์

รวมถึงรู้จักเทคนิควิถี การออกล่าสัตว์และเก็บของป่า หรือรู้จักออกหาพืชอาหารกินเองอย่างเชี่ยวชาญมาแต่กำเนิด “ซึ่งจัดเป็นวิถีการดำรงอยู่ที่ยาวนานมากที่สุดของเผ่าพันธุ์มนุษย์เรา คิดเป็น 99 เปอร์เซ็นต์ของมนุษย์สกุลโฮโม” กล่าวคือ เป็นวิถีการเลี้ยงชีพที่พึ่งพาธรรมชาติและพึ่งพาตัวเองเป็นหลัก ซึ่งเน้นการออกเก็บหาอาหารในผืนป่า ออกล่าสัตว์ป่า ออกตกปลา สัตว์น้ำชนิดต่างๆ และเก็บเกี่ยวพืชหัว พืชผล เห็ดป่า แมลง น้ำผึ้ง และไม้ผลที่กินเมล็ดได้ในผืนป่าเท่านั้น เป็นต้น “จึงถือเป็นสังคมมนุษย์สังคมเดียวที่มีแหล่งอาหารการกินตามธรรมชาติที่หลากหลายมากที่สุด และทำงานน้อยมากที่สุดอีกด้วย” เพราะแทบจะไม่มีการเพาะปลูกพืชอาหารใดๆ เลย แต่ก็สามารถดำรงชีพอยู่มาได้อย่างยั่งยืนจนถึงทุกวันนี้เลยทีเดียว อย่างน้อยๆ ก็ยังมีกลุ่มคนพื้นเมืองดั้งเดิมที่ยังทำการล่าสัตว์และออกหาของป่าหลงเหลืออยู่บ้างในบางประเทศและในทุกทวีป และในประเทศไทยก็ยังมีอยู่บ้างเช่นกัน อย่าง “ชาวมานิ ชาวมอแกน และชาวมละบริ”แม้ว่าพวกเขาเหล่านั้นต่างก็กำลังถูกบีบคั้นให้หยุดดำรงชีพด้วยวิถีเช่นนี้ไปอย่างถาวรก็ตามที “แต่วิถีชีวิตในแบบชนล่าสัตว์และเก็บของป่า คือวิถีชีวิตตามธรรมชาติของมนุษย์สกุลโฮโมมาตลอดช่วงเวลากว่า 3,000,000 ปีเลยทีเดียว!” จึงเรียกได้ว่าเป็นวิถีชีวิตของมนุษย์ที่ยั่งยืนมากที่สุดและสามารถดำเนินต่อมาได้ยาวนานมากที่สุดอีกด้วย ดังนั้น “หากสังคมยุคใหม่นี้จะไร้ซึ่งเงินสดลงเมื่อใดก็ตามที และจะไร้ซึ่งสิ่งของอำนวยความสะดวกต่างๆ ไปตอนไหนก็ได้นั้น กลุ่มคนที่รู้จักการล่าสัตว์และเก็บของป่าเหล่านี้ ก็จะยังเป็นผู้คนกลุ่มเดียวที่จะยังสามารถดำเนินชีวิตต่อไปได้อย่างง่ายดายในอนาคตอย่างแน่นอน”


กลุ่มชนล่าสัตว์และเก็บของป่า “ชาวปีนัน” เก็บเกี่ยวพืชผลในป่าเป็นอาหารอย่างหลากหลายครบรส
เป็นร้อยๆ ชนิด มีเห็ดป่าหลายชนิด และพืชผักป่า และพืชปาล์มอีกหลายชนิดที่กินได้ แค่นี้ก็อิ่มท้องกันทั้งครอบครัว โดยไม่ต้องทำการเพาะปลูกใดๆ เลย (ภาพถ่าย ณ แห่งแม่น้ำอุบง ในผืนป่าดิบชื้นบนหมู่เกาะบอร์เนียว ปี ค.ศ.1993) รัฐซาราวัก ประเทศมาเลเซีย (จากหนังสือ “Nomads of the Dawn: The Penan of the Borneo Rain Forest)

การดำรงอยู่ในสังคมชนเผ่าพื้นเมืองในยุคก่อนเกษตรกรรม ยุคก่อนอุตสาหกรรม และยุคร่วมสมัย คือสิ่งที่พวกเราทั้งหลายในยุคสมัยนี้ คงจะคาดฝันกันไม่ถึงหรอกว่า บรรพบุรุษของพวกเราในยุคนั้น หรือในยุคนี้เอง ต่างก็ดำรงอยู่อย่างเรียบง่ายและสอดคล้องกลมกลืนกับโลกธรรมชาติได้สูงมากเพียงใด “เพราะสังคมยุคใหม่ไม่อนุญาตและไม่เปิดโอกาสให้พวกเราได้รับรู้เรื่องราวเหล่านี้อย่างลึกซึ้งเท่าที่ควร!” กลับกันในสังคมยุคใหม่ ณ ปัจจุบันนี้ ก็มีแต่จะเบียดขับ ปิดกั้น และผลักดันให้พวกเราทั้งหลายมุ่งมั่นไปแต่ข้างหน้าเสียอย่างเดียว จนแทบจะไม่เหลือใครที่จะยังคงจดจำวิถีชีวิตดั้งเดิมกันได้อีกต่อไป “ซึ่งถือเป็นวิถีชีวิตที่ทรงค่าต่อการสืบสานเอาไว้ให้ได้มากที่สุด ยิ่งในยามวิกฤตของสังคมที่กำลังเกิดขึ้นไปทั่วโลกเช่นนี้” กล่าวคือ ถ้าหากสูญสิ้นความเป็นอยู่ในยุคสังคมโลกาภิวัตน์ไป ณ จุดหนึ่ง แล้ววิถีชีวิตแบบใดจะยังช่วยเหลือให้พวกเราอยู่รอดต่อไปได้อีกเล่า หากมิใช่ “วิถีชีวิตของชนเผ่าพื้นเมือง และวิถีชีวิตพื้นบ้านดั้งเดิมของพวกเราทุกคนเอง!” ขอชวนสัมผัสกับวิถีชีวิต และหนทางการหยั่งรู้ผ่านเรื่องเล่าในอดีตกาล ของชนเผ่าพื้นเมืองอีกกลุ่มหนึ่ง “ชาวสินอย (The Aboriginal Sng’oi)” ในประเทศมาเลเซีย จากหนังสือเล่มนี้: “Original Wisdom: Stories of an Ancient Way of Knowing เขียนโดย Robert Wolff” เป็นชนเผ่าดั้งเดิมที่ดำรงอยู่ด้วยการล่าสัตว์และเก็บของป่าเป็นหลัก เคลื่อนย้ายถิ่นไปตามแหล่งอาหาร มีวิถีการดำรงชีวิตอย่างเรียบง่าย ชื่นชอบการใช้ชีวิตอยู่ในปัจจุบันเสมอ ไม่รู้จักความเร่งรีบและความขัดแย้ง พวกเขาคือผู้คนที่มีความอิสระเสรีโดยแท้ในแบบของตนเอง ซึ่งก็มีบรรพบุรุษร่วมกันกับ “ชาวมานิ หรือ Mani” ทางฝั่งภาคใต้ของประเทศไทยนับมาตั้งแต่ยุคอดีตที่เคยเดินทางข้ามภูเขาถึงกันมาก่อนอีกด้วย

ฉะนั้นในแง่ของการดำรงอยู่และความเชื่อทางจิตวิญญาณของชนเผ่าพื้นเมืองดั้งเดิมทั้งสอง จึงมีความคล้ายคลึงกันมากเป็นที่สุด แม้ว่าความทันสมัยจะได้เข้ามาแทรกแซงวิถีความเป็นอยู่ดั้งเดิมของพวกเขาไปแล้ว แต่เรื่องความเฉลียวฉลาดในการเอาตัวรอด และเรื่องธรรมชาติโดยแท้ของเผ่าพันธุ์มนุษย์ก็จะยังคงอยู่กับพวกเขาไปตลอดกาล ชวนดูตัวอย่างเพิ่มเติมกับชนเผ่าพื้นเมือง “ชาวปินัน (The Penan)” ที่ยกตัวอย่างไว้ด้านบนซึ่งเป็นอีกหนึ่งในชนเผ่าพื้นเมืองดั้งเดิม ที่เคลื่อนย้ายถิ่นไปตามแหล่งอาหารในแต่ละฤดูกาล และเป็นชนล่าสัตว์และเก็บของป่าในยุคสุดท้าย ที่ยังดำรงอยู่เช่นนี้ต่อมาจนถึงปลายศตวรรษที่ 19 ของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ จากนั้นก็โดนรัฐชาติบีบบังคบให้ออกจากป่า โดนทำลายหลักความเชื่อและวัฒนธรรมดั้งเดิม และโดนทำลายที่อยู่อาศัยในผืนป่าบอร์เนียวที่เป็นบ้านเกิดของพวกเขา ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของผืนดิบชื้นอันเก่าแก่และอุดมสมบูรณ์มากที่สุดแห่งหนึ่งในโลกไปอย่างถาวร เล่มนี้เลย: “Nomads of the Dawn: The Penan of the Borneo Rain Forest เขียนโดย Wade Davis / Ian MacKenzie และ Shane Kennedy”

ผู้เขียนได้สะท้อนมุมมองทางวัฒนธรรมของพวกเขาไว้ว่า “ตามที่ผืนป่าเลือนหายไป วัฒนธรรมของชนเผ่าพื้นเมืองต่างๆ  ก็ตกเป็นคนที่ต้องทนทุกข์ทรมานมากที่สุด ซึ่งเป็นกลุ่มคนที่มีองค์ความรู้อย่างละเอียดลึกซึ้งในผืนป่ามาเป็นหลายพันปี ทั้งจากหญิงและชายที่ไร้ซึ่งเทคโนโลยีเพื่อเปลี่ยนแปลงผืนป่า แต่พวกเขาเลือกที่จะเข้าใจหนทางของผืนป่าแทน ตอนนี้มีชนเผ่าพื้นเมืองเป็นร้อย ๆ ชนเผ่าที่กำลังประสบกับการโดนทำลายล้างวัฒนธรรม ที่พวกเราเฝ้าเห็นเป็นพยานในการสูญเสียภูมิปัญญาที่พวกเขาสั่งสมมาเป็นพันๆ ปี ไปภายในคนเพียงรุ่นเดียว” ตนขอนำเสนอเสียงสะท้อนของชาวปินันบางส่วน ในบางบทตอนของหนังสือเล่มนี้ถึงผลกระทบที่พวกเขาได้รับจากคณะรัฐบาลที่อนุญาตให้บริษัทต่างชาติเข้ามาทำธุรกิจค้าไม้เชิงพาณิชย์อย่างมักง่าย และจงใจที่จะทำลายวิถีชีวิตของชาวปีนันไปอย่างถาวร ดังนี้:

“รัฐบาลบอกว่ากับพวกเราว่า จะเอาความพัฒนาและความก้าวหน้ามาสู่เรา แต่ความพัฒนาที่เราได้เห็นกลับมีเพียง การตัดไม้ ตัดถนน และโยกย้ายแหล่งที่อยู่อาศัยของเรา สำหรับเราชาวปีนัน สิ่งที่รัฐเรียกกันว่าความก้าวหน้า มันแค่หมายถึง ความอดอยากหิวโหย ต้องพึ่งพาคนอื่น และทำให้วัฒนธรรมของเราเสื่อมเสีย รัฐบาลบอกว่ามันคือการสร้างงานให้ชนเผ่าเรา แต่งานเหล่านี้จะหายไปพร้อมๆ กับผืนป่า ในเวลาอีก 10 ปี งานเหล่านั้นก็จะหมดไป และผืนป่าที่หล่อเลี้ยงพวกเรามานานนับพันปีก็จะสูญหายไปหมดเช่นกัน ทำไมเราถึงต้องมีงานทำ? ทั้งพ่อและคุณตาของเราต่างก็ไม่เคยของานจากรัฐบาลเลย พวกเขาไม่เคยถูกว่าจ้างอีกด้วย พวกเขาดำรงอยู่มาได้กับที่ดินและด้วยผืนป่า มันคือวิถีชีวิตที่ดีมาก เรามีเวลาว่างมากมาย แล้วเราก็ไม่เคยต้องอดอยาก”

นอกจากนี้แล้ว ยังมีตัวอย่างอีกมากมายว่าทำไม“องค์ความรู้ดั้งเดิมและวิถีชีวิตดั้งเดิมของชนเผ่าพื้นเมืองทั่วโลกถึงมีความสำคัญยิ่ง” ที่พวกเราทั้งหลายควรจะหันกลับมาศึกษาเรียนรู้และนำมาปรับใช้ในชีวิตประจำวันของเรากันให้มากยิ่งขึ้น “เพราะโดยเนื้อแท้แล้วมนุษย์ไม่ได้ชอบทำลาย” กล่าวคือ พวกเราทุกคนล้วนที่จะสามารถย้อนคืนกลับมาเป็นส่วนหนึ่งของธรรมชาติได้ เราสามารถที่จะย้อนกลับมาดำรงอยู่อย่างถ้อยทีถ้อยอาศัยกับเหล่าพืชพรรณและสัตว์ป่าร่วมกันได้อีกครั้ง และที่สำคัญพวกเราสามารถที่จะย้อนกลับมาฟื้นคืนความสัมพันธ์อันดีงามต่อกัน และร่วมมือกันให้เกิดประโยชน์สุขของทุกฝ่ายได้ และดำรงอยู่ต่อไปด้วยความเข้าใจถึงความหมายของการเป็นมนุษย์ได้เฉกเช่นเดียวกับชนเผ่าพื้นเมืองทั้งหลายอีกด้วย “เพราะวิถีชีวิตและการดำรงอยู่ของชนเผ่าพื้นเมืองทั่วโลกต่างก็มีบทบาทที่เกื้อกูลต่อระบบนิเวศและสิ่งแวดล้อมของโลก ที่ต่างฝ่ายต่างก็ต้องพึ่งพิงอาศัยกันมาอย่างสอดคล้องกลมกลืนกันมาโดยตลอด เมื่อเทียบกับสังคมเกษตรกรรมแบบเบ็ดเสร็จ หรือ Totalitarian agriculture และอารยธรรมอุตสาหกรรม หรือ Industrial civilization ในยุคปัจจุบันที่มุ่งทำทุกสิ่งอย่างแบบตรงกันข้ามอย่างสิ้นเชิง”

ชวนศึกษาความอุดมสมบูรณ์ในพื้นที่ทำกินและที่อยู่อาศัยของชุนชนของชนเผ่าพื้นเมือง “ที่คิดเป็นเพียงน้อยกว่า 5 เปอร์เซ็นต์ของประชากรโลก” แต่กลับเป็นผู้คนที่ปกป้องดูแลรักษาความหลากหลายของพืชพรรณและสัตว์ป่าในโลกได้สูงมากที่สุด สืบค้นตัวอย่างได้ที่นี้: พื้นที่ที่มีความหลากหลายทางชีวภาพสูงถึง  80 เปอร์เซ็นต์ เป็นพื้นที่ทำกินของชนเผ่าพื้นเมือง และหากมีการสำรวจเพิ่มเติมไปทุกๆ แห่งที่มีชนเผ่าพื้นเมืองอยู่อาศัยมา ก็จะพบความหลากหลายของทุกสิ่งมีชีวิตที่มากมายอย่างน่าทึ่งเช่นเดียวกันนี้อย่างแน่นอน!

อนึ่ง หากสังคมยุคใหม่อยากจะหันมาใช้คำว่า “การดำรงอยู่ในสังคมอย่างยั่งยืน หรือการก้าวไปสู่สังคมที่ยั่งยืนอย่างแท้จริงในอนาคตกันบ่อยยิ่งขึ้น” พวกเราทั้งหลายควรย้อนกลับมาที่จุดกำเนิดของสังคมที่มีความเท่าเทียมกันและดำรงอยู่กันมาอย่างยั่งยืนได้จริงๆ ตลอดประวัติศาสตร์ให้ถ่องแท้กันเสียก่อน ที่จะเริ่มต้นใช้คำว่า “ความยั่งยืน” ในมิติต่างๆ กันต่อไป เพราะไม่เช่นนั้น ทั้งเหล่าภาครัฐ นายทุน บรรดานักธรุกิจน้อยใหญ่โดยทั่วไป รวมถึงเหล่าผู้นำโลกทั้งหลาย คงจะหยิบยกคำนี้ไปใช้กันโดยผิดๆ (ซึ่งก็เกิดขึ้นอยู่แล้ว และไม่ค่อยมีใครจะเอะใจสักเท่าไหร่!) แต่หนทางที่สำคัญต่อการออกแบบอนาคตอย่างยั่งยืนคืออะไร? และต้องเริ่มอย่างไรกันแน่นั้น? ชวนสืบค้นได้จากผลงานตีพิมพ์ชิ้นล่าสุด จากสถาบันนานาชาติเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน (International Institute for Sustainable Development หรือ IISD) ที่บ่งชี้ไว้ว่า: องค์ความรู้ดั้งเดิม และระบบความรู้ของชนเผ่าพื้นเมือง คือหนทางสำคัญต่อการออกแบบอนาคตที่ยั่งยืนได้สำหรับทุกคน

ชนเผ่าพื้นเมืองต่างๆ คือผู้คนที่มีความหลากหลายทางความคิดและวัฒนธรรมมากที่สุดในโลก ซึ่งมีจำนวนประชากรโดยรวมประมาณ 370 ล้านคนทั่วโลก มีพื้นที่อยู่อาศัยของชนพื้นเมืองทั่วโลก คิดเป็น 20 เปอร์เซ็นต์โดยประมาณ และมีวัฒนธรรมที่แตกต่างกันมากถึง 5,000 วัฒนธรรมทั่วโลกอีกด้วย ถึงแม้ว่าพวกเขาจะถูกนับว่าเป็นเพียงชนกลุ่มน้อยก็ตามที! พอเทียบดูกับการมีเพียงวัฒนธรรมเดียวเท่านั้นที่สังคมยุคใหม่ยึดถือปฏิบัติกันอยู่ในตอนนี้ คุณคิดว่าใครกันจะสามารถอยู่รอดต่อไปได้มากกว่า ทั้งในตอนนี้แล้วและในอนาคตอีกด้วย ระหว่างกว่า 5,000 วัฒนธรรมทั่วโลก ที่ดำรงอยู่สืบทอดกันมาอย่างช้านานนับหลายพัน หลายหมื่น และหลายแสนปี กับเพียงวัฒนธรรมเดียวของความเป็นโลกกาภิวัตน์ทั่วโลก หรือ Globalization  ที่พึ่งมีมาเมื่อไม่กี่ร้อยปีนี้เอง? ซึ่งถือเป็นวัฒนธรรมเดียวเท่านั้นที่มักทำลายล้างทุกสรรพชีวิตอื่นๆ และยังกลืนกินฐานทรัพยากรส่วนรวมของโลกไปอย่างรวดเร็ว จนมิอาจจะนำกลับคืนมาได้เพียงในช่วงเวลาอันสั้นๆ อีกต่อไป!

องค์ความรู้ดั้งเดิมทางนิเวศวิทยา หรือ Traditional ecological knowledge (TEK) ของ “ชนเผ่าพื้นเมืองอเมริกัน (Native-American)” ในหลากหลายมิติ ได้ช่วยเหลือให้ชาวโลกเริ่มตั้งคำถามกับสังคมยุคใหม่ให้ลึกซึ้งยิ่งขึ้น ที่ซึ่งกำลังหลงลืมบทบาทสำคัญของมนุษย์บนผืนดินที่ทำกินของตนเอง ชวนนึกคิดไปด้วยกันกับตัวอย่างคติคำสอนดั้งเดิมของชนเผ่าพื้นเมืองชาว “Anishinabekwe (คำอ่าน อานิชาเบกเว)” ทางฝั่งอเมริกาเหนือ เช่นว่า “สำหรับพวกเราทุกคน​ การเป็นคนพื้นเมืองในพื้นที่ใดสักแห่งหนึ่ง​ ย่อมหมายถึง ​การดำรงชีวิตอยู่ราวกับว่าอนาคตลูกหลานของคุณมีความสำคัญยิ่ง ด้วยการดูแลผืนแผ่นดินราวกับชีวิตของตน​ ทั้งทางจิตวิญญาณ และทางวัตถุ​ต่างก็ต้องพึ่งพาดินผืนแห่งนั้นเสมอ” และผู้เขียนยังชี้ให้เห็นถึงความชัดเจนของนิสัยใจคอของ “ผู้รุกรานคนต่างถิ่น” ที่เข้ามาครอบครองพื้นที่ทำกินของชนเผ่าพื้นเมืองไว้อย่างชัดเจน ดังเช่น “ในจิตของผู้ตั้งรกราก ที่ดินถือเป็นแค่ทรัพย์สิน อสังหาริมทรัพย์ ทุนทรัพย์ หรือเป็นแค่ทรัพยากรธรรมชาติ แต่สำหรับชนเผ่าพื้นเมืองของพวกเรา ที่ดินเป็นทุกสิ่งทุกอย่าง เป็นเอกลักษณ์ เป็นจุดเชื่อมโยงกันกับบรรพบุรุษของเรา เป็นบ้านสำหรับมิตรสหายที่มิใช่มนุษย์ เป็นร้านยาของเรา เป็นห้องสมุดของเรา และเป็นแหล่งหล่อเลี้ยงพวกเราทั้งมวล” คติคำสอนเช่นนี้ล้วนแสดงถึงอัตลักษณ์และภูมิปัญญาดั้งเดิมของชนพื้นเมืองทั่วโลกทั้งนั้น ชวนอ่านต่อกับบทรีวิวของหนังสือนี้เล่มนี้: “Braiding Sweetgrass : Indigenous Wisdom, Scientific Knowledge and The Teachings of Plants  เขียนโดย Robin Wall Kimmerer”

ตามที่ได้กล่าวไปทั้งหมดเบื้องต้นนี้ คงจะสร้างความตื่นรู้และความเข้าใจถึงภาพใหญ่ให้กับคุณผู้อ่านได้มากพอแล้วว่า ทำไมวัฒนธรรมของชนเผ่าพื้นเมืองถึงทรงคุณค่า และมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการช่วยกันร่วมอนุรักษ์และสืบสานให้คงอยู่ในสังคมร่วมกันสืบต่อไป จากนี้ตนจะพาคุณผู้อ่านไปเสาะหาคำตอบกันต่อว่า แล้วทำไมเราๆ จึงไม่ค่อยได้ยินเรื่องราวเช่นนี้จากประวัติศาสตร์ของชนเผ่าพื้นเมืองกันเท่าไหร่เลยล่ะ ทั้งๆ ที่ก็เห็นชัดเจนมาก ทั้งในเรื่องของ องค์ความรู้ดั้งเดิม วิถีชีวิตดั้งเดิมที่ยั่งยืน ความเชื่อทางจิตวิญาณที่หล่อเลี้ยงดวงจิตของทุกคนให้สมบูรณ์อยู่เสมอ และวัฒนธรรรมดั้งเดิมของกลุ่มคนพื้นเมืองต่างๆ ซึ่งพอมองโดยรวมแล้ว ล้วนมีความเป็นอยู่ที่ร่มเย็นเป็นสุข และเป็นหนึ่งเดียวกันกับโลกธรรมชาติเสมอมา!


ตัวอย่าง คติคำสอนดั้งเดิม อาหารการกินและวิถีชีวิตที่ผูกพันกับธรรมชาติอย่างแน่นแฟ้น
ของคนพื้นเมืองชาวกะเหรี่ยงหลายกลุ่มคน ทางภาคเหนือในประเทศไทย จากนิตยสารสารคดี
ชุดกะเหรี่ยงคนของป่า “ออทีเกอตอที ออก่อเกอตอก่อ หมายถึง กินน้ำต้องรักษาน้ำ กินอยู่กับป่าต้องรักษาป่า”

และทำไมพวกเราทั้งหลายจึงควรจะย้อนกลับคืนมาศึกษาเรียนรู้วิถีชีวิต ภูมิปัญญาดั้งเดิม และความเชื่อทางจิตวิญญาณ รวมถึงการนำกลับมาปรับใช้ในแบบฉบับของตนให้ได้เพื่อความอยู่รอดในอนาคต?


ภาพสวนป่าที่ตนพึ่งพิงอยู่อาศัย ณ ปัจจุบัน ซึ่งได้รับแรงบันดาลในการสับเปลี่ยนการดำรงอยู่
มาจากวิถีชีวิตพื้นบ้านของตน และวิถีชีวิตของชนเผ่าพื้นเมืองที่ว่า “คนและป่าอยู่ร่วมกันได้อย่างอุดมสมบูรณ์เสมอ”

เหตุผลหลักๆ เลยก็คือ เราต่างก็โดนปิดกั้นจากวัฒนธรรมหลัก หรือ Dominant culture ซึ่งในที่นี้คือวัฒนธรรมไทย และวัฒนธรรมไทยเองก็โดนปิดกั้นอีกทีมาจากวัฒนธรรมหลักที่ครอบงำวัฒนธรรมอื่นๆ ไปทั่วโลก หรือ Dominant worldview ซึ่งนั่นก็คือ แนวคิดและวัฒนธรรมของชาวตะวันตก ชาวยุโรป และชาวตะวันออกกันเองที่ก็พลอยมีส่วนร่วมกับเขาไปด้วย เริ่มเครียดกันแล้วไหมเอ่ย? แบบนี้ต้องขอหยิบคำอธิบายขั้นเทพจากนักเขียนในดวงใจคนเดิมของตนขึ้นมาอีกครั้ง เพื่อใช้เป็นตัวไขปริศนาอันลึกลับเช่นนี้ให้คุณผู้อ่านได้เห็นภาพชัดเจนยิ่งขึ้น มาเริ่มกันเลย! จากหนังสือ“The Story of B: An adventure of the Mind and spirit” ของนักปรัชญาระดับตำนาน พร้อมกับงานเขียนที่วิเคราะห์วิจารณ์ทางวัฒนธรรมของสังคมโลกและเป็นผู้สะท้อนมวลปัญหาของโลกมนุษย์ไว้อย่างเฉียบแหลม นั่นก็คือ “แดเนียล ควินน์ (Daniel Quinn)” ในอีกบทตอนหนึ่งที่เขาเรียกว่า “The Great Forgetting หรือ การหลงลืมครั้งใหญ่”

ซึ่งเขาได้ชี้ให้ผู้อ่านทั่วโลกได้มองเห็นว่า พวกเราทั้งหลายล้วนมีความตระหนักรู้ทางวัฒนธรรมของตนเอง หรือ “Cultural self-awareness” ที่ต่างก็ได้รับมาจากพ่อแม่ และเราก็จะส่งต่อให้กับรุ่นลูกหลานของตนกันต่อไป แต่การรับรู้เช่นนี้กลับตั้งอยู่บนฐานของ “การหลงลืมครั้งใหญ่” ทั้งสิ้น ซึ่งปรากฎอยู่ในรากฐานทางวัฒนธรรมของพวกเรานับตั้งแต่การเริ่มต้นก่อตั้งอารยธรรมมนุษย์มาเป็นหลายพันปีแล้ว “สิ่งที่เกิดขึ้นในยุคปฏิวัติเกษตรกรรมครั้งแรก เมื่อ 12,000 ปี ก็คือ จากที่มีมนุษย์บางส่วนเริ่มดำรงอยู่เป็นชุมชนที่ทำการเพาะปลูกเล็กๆ ก็กลายไปสู่การเพาะปลูกที่ใหญ่ขึ้น และเริ่มมีการตั้งถิ่นฐานถาวรอยู่รวมกันเป็นหมู่บ้าน และพอมีหมู่บ้านต่างๆ เยอะขึ้น ก็เปลี่ยนผ่านไปสู่การตั้งเมือง และพอมีเมืองต่างๆ ที่รวบรวมเข้าไว้ด้วยกันเยอะขึ้น ก็กลายไปสู่การก่อตั้งเป็นอาณาจักรต่างๆ เรื่อยมา”

และเหตุการณ์ทั้งหมดเหล่านี้ก็เกิดขึ้นมาพร้อมกับ การแบ่งงานกันทำ หรือ “Division of Labor” รวมกับการก่อตั้งอาณาจักรขึ้นในระดับภูมิภาค และมีระบบการค้าระหว่างภูมิภาคและภูมิทวีป รวมถึงการปรากฎขึ้นของการพาณิชย์ที่แบ่งความเชี่ยวชาญชัดเจนยิ่งขึ้น “และในช่วงเวลาทั้งหมดนี้เอง ก็ก่อให้เกิดการหลงลืมครั้งใหญ่ขึ้นว่า มันเคยมีช่วงเวลาหนึ่ง และมันเป็นช่วงเวลาอันแสนยาวนาน ที่วิถีชีวิตของเผ่าพันธุ์มนุษย์เราต่างก็ดำรงอยู่มาด้วยการล่าสัตว์และเก็บของป่า หรือ (Hunting and Gathering) มากกว่า การดำรงอยู่มาด้วยการเลี้ยงสัตว์ และการทำเกษตรกรรม”  ซึ่งมันเป็นช่วงเวลาที่ไม่มีใครสักคนเดียวที่ดำเนินชีวิตด้วยการทำอาชีพเครื่องปั้นดินเผา หรืออาชีพจักสานตะกร้า หรือทำอาชีพเป็นช่างตีเหล็ก มันเป็นช่วงเวลาที่เรื่องการค้าขายสินค้ากลับเป็นเรื่องที่คาดไม่ถึงเลยว่า “มันจะกลายมาเป็นความหมายของการดำรงชีวิตของมนุษย์ในยุคนี้” พวกเราก็แทบจะไม่ตกใจอะไรเลยกับการหลงลืมเช่นนี้! มันจึงเข้ามาแทนที่จุดยืนของมวลมนุษย์เรา มาตลอดประวัติศาสตร์ที่เหลืออยู่ทั้งหมดกว่า 300,000 ปี ของมนุษย์สายพันธุ์โฮโมเซเปียนส์

แท้จริงแล้ว ถ้าเราย้อนกลับไปให้ไกลกว่าช่วงเวลาเพียงหนึ่งหมื่นปีนั้น เราก็จะเริ่มเห็นภาพที่ไม่มีที่ใดเลยที่จะมีการสร้างเมืองต่างๆ  หรือมีช่างฝีมือต่างๆ และที่สำคัญก็ไม่มีการค้าพาณิชณ์ใดๆ อีกด้วย “ดังนั้น ควินน์ จึงเล่าต่อว่า อดีตของบรรพบุรุษพวกเราทุกคนที่เป็นชนล่าสัตว์และเก็บของป่า กลับไม่ใช่แค่เรื่องที่ถูกหลงลืมไปเท่านั้น แต่มันเป็นเรื่องที่ไม่มีใครที่จะจินตนาการถึงการดำรงอยู่เช่นนี้ได้เลยอีกต่างหาก!” การหลงลืมครั้งใหญ่เช่นนี้จึงเกิดขึ้นกับทั้งก่อนรุ่นคุณปู่ย่า ตายาย และรุ่นของเรามาตั้งแต่แรกเกิดกันเลยทีเดียว เพราะองค์ความรู้ทั้งหลายจากเหล่านักคิดร่วมสมัยผู้โด่งดังต่างๆ กลับไม่ได้รวบรวมองค์ความรู้ไว้อย่างเป็นองค์รวมเลยแม้แต่น้อย! และผู้คนทั่วโลกก็ไม่ได้ตั้งคำถามกับเหล่านักคิดเหล่านั้นเลย เพราะเราต่างก็เชื่อใจว่าพวกเขาล้วนบันทึกประวัตศาสตร์ไว้ได้ถูกต้องสมบูรณ์แล้ว!

ควินน์ ขยายความต่อว่า แล้วเราทั้งหลายต้องทำอะไรต่อดีหลังจากการรับรู้ขึ้นใจกันใหม่แล้วว่ามันมีการหลงลืมครั้งใหญ่เกิดขึ้นตลอดประวัติศาสตร์ของมนุษย์เรา เขาจึงนำเสนอแนวทางไว้ว่า เราทั้งหลายต้องเริ่มต้นกันใหม่กับสิ่งที่เขาเรียกว่า“The Great Remembering หรือ การฟื้นคืนความทรงจำครั้งใหญ่”  ซึ่งอะไรก็ตามที่ถูกหลงลืมไปในการหลงลืมครั้งใหญ่นั้น มันไม่ใช่เรื่องที่ว่า มนุษย์เรามีวิวัฒนาการมาจากมนุษย์สายพันธุ์อื่นๆ ในเวลาหลายล้านปีหรอก แต่เรื่องราวที่ถูกหลงลืมไปนั่นก็คือ “ความจริงก่อนการเกิดขึ้นของสังคมเกษตรกรรม” ควินน์ พยายามสะท้อนต่อผ่านตัวบทนี้ว่า แนวคิดพื้นฐานของบรรดานักคิดทั้งหลายในวัฒนธรรมยุคใหม่ของพวกเรา ต่างก็จินตนาการไว้เพียงว่า “มวลมนุษย์ล้วนเกิดมาเป็นนักทำเกษตรกรรม และเป็นนักสร้างอารยธรรม” เมื่อเหล่านักคิดต่างๆ ในศตวรรษที่ 19  ถูกบังคับให้ทบทวนกรอบการคาดการณ์เช่นนี้ขึ้นใหม่ พวกเขาก็เพียงแค่กลับคำขึ้นใหม่ว่า “เอาล่ะ มนุษย์อาจจะมิได้เกิดมาเพื่อเป็นนักทำเกษตร และมิได้เกิดมาเพื่อเป็นนักสร้างอารยธรรมก็จริง แต่ในท้ายที่สุดแล้ว มวลมนุษย์ก็กลายมาเป็นนักทำเกษตรและเป็นนักก่อสร้างอารยธรรมอยู่ดี”

ซึ่งนี่ถือเป็นจุดเริ่มต้นที่มีการแบ่งแยกความเป็นมนุษย์อย่างเท่าเทียมกันของโฮโมเซเปียส์ ออกไปจากช่วงเวลาทั้งหมดกว่า 300,000 ปีของมนุษย์สายพันธุ์เรา ที่ดำรงอยู่มาจนถึง ณ ปัจจุบันนี้ แต่ถ้าคุณเป็นนักประวัติศาสตร์ นักบรรพชีวินวิทยา นักมานุษยวิทยา และนักโบราณคดี เป็นต้น คุณก็คงจะทราบกันดีอยู่แล้วอย่างถ่องแท้เกี่ยวกับประวัติศาสตร์ความเป็นมาของเผ่าพันธุ์มนุษย์ในยุคต่างๆ ของโลกที่ได้ถือกำเนิดขึ้นมาแต่เดิมที แต่หากนับเป็นเปอร์เซ็นต์คงจะมีน้อยคนนักที่จะเข้าถึงข้อมูลเหล่านี้ได้อย่างถ่องแท้ แม้แต่กับเหล่าผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านโดยส่วนใหญ่เอง “ต่างก็เผชิญกับการหลงลืมครั้งใหญ่มาเช่นเดียวกันตามที่ควินน์กล่าวไว้ในตัวบท” ซึ่งผู้เขียนบทความนี้เองก็พึ่งจะได้ย้อนกลับมาศึกษาใหม่อีกครั้งอย่างต่อเนื่อง ในวันที่ดวงตาสว่างขึ้น ตนจึงขอยกคำอธิบายของ แดเนียล ควินน์ ซึ่งเป็นผู้เปิดทางให้ตนได้เข้าใจวัฒนธรรมและสังคมของมนุษย์มากยิ่งขึ้นมานำเสนอต่อผู้อ่าน ดังต่อไปนี้:

ควินน์ ได้นิยามการหลงลืมครั้งใหญ่ขึ้นมา ก็เพื่อแสดงให้เห็นว่า ทุกสิ่งอย่างที่พวกเราล่ำเรียนกันมาในทุกระดับชั้นเรียน เกี่ยวกับเรื่องราวทางประวัติศาสตร์ของเผ่าพันธุ์มนุษย์นั้น มักจะเป็นเพียงช่วงเวลาไปไม่กี่หมื่นปีมานี้เอง และมักเป็นข้อมูลจากเหล่านักคิดนักสำรวจ และนักสร้างทฤษฎีผู้โด่งดังต่างๆ ที่สร้างความเข้าใจให้กับพวกเราเพียงแค่ว่า “โอ้ มนุษย์เกิดมาเพื่อทำเกษตรกรรม และเพื่อเป็นนักสร้างอารยธรรมไงล่ะ ที่เมื่อประมาณ 10,000 หรือ 12,000 ปีที่แล้วมา มนุษย์ทั่วทุกทวีปได้หันมาทำเกษตรกันหมดเลย และก็หยุดดำรงอยู่ในแบบชนล่าสัตว์และเก็บหาของป่าไปโดยสิ้นเชิง! และในยุคก่อนประวัติศาสตร์ หรือในช่วงยุคหินเก่า สังคมมนุษย์ต่างก็ไม่มีอะไรเกิดขึ้นมากสักเท่าไหร่ หรือไม่มีอะไรเกิดขึ้นเลย เป็นต้น และผู้สอนเหล่านี้ก็มักจะเน้นให้ความสำคัญกับช่วงเวลาหลังช่วง 12,000 ปีที่แล้วลงมานี้เสียมากกว่า”

เช่นว่า สังคมมนุษย์เราล้วนเริ่มต้นขึ้นมากับการตั้งถิ่นฐานถาวรอยู่ที่เดิม /การเริ่มต้นทำเกษตรกรรม /การก่อตั้งอารยธรรม /การแบ่งชนชั้นทางสังคมก็ปรากฏขึ้น /มีการแบ่งงานกันทำอย่างสุดโต่งก็ตามมา /มีการกดขี่ขูดรีดกันเองเยี่ยงข้าทาส /ระบบศาสนาใหญ่ต่างๆ ก็เข้ามาแทนความเชื่อดั้งเดิมทางจิตวิญญาณของเหล่าชนพื้นเมืองที่ยึดถือกันมาก่อนอย่างช้านานให้หมดสิ้นไป /มีระบบการเขียน /มีระบบการนับเลข /มีระบบกฎหมายที่สุดโต่งและเข้มงวด เพื่อควบคุมมนุษย์ด้วยกันเองไว้แค่ในกำมือของเหล่าผู้ครองอำนาจเท่านั้น /มีสงครามแบ่งแยกดินดินของเหล่ามหาอำนาจในทุกยุคทุกสมัย /มียุคแห่งความอดอยากปากแห้ง และมียุคแห่งโรคระบาดไปทั่วทุกหนแห่ง ซึ่งก็เกิดจากการเข้าล่าอาณานิคมของชาวผิวขาว /มีช่วงเวลาที่จำนวนประชากรโลกเพิ่มสูงขึ้นเป็นประวัติการณ์ /มีการเปลี่ยนโฉมโครงสร้างทางสังคมมนุษย์ขึ้นใหม่หมด /มีการบีบคั้นให้เกิดสับเปลี่ยนจากวัฒนธรรมประเพณีดั้งเดิมไปสู่การยึดมั่นในอารยธรรมที่เจริญแล้วแทน และมีการตั้งระบบเศรษฐกิจอย่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาดขึ้นมาครอบงำทุกชีวิตอื่นๆ ทั้งในโลกมนุษย์และในโลกธรรมชาติ โดยเน้นการสร้างฐานการผลิตอาหารและสิ้นค้าอย่างเหลือเฟือและอย่างฟุ่มเฟือยให้ได้มากที่สุด เพื่อทำกำไรส่วนตนให้ได้มากที่สุด และเพื่อได้มีความมั่งคั่งร่ำรวยมากที่สุดสำหรับกลุ่มมหาอำนาจเพียงบางกลุ่มทั่วโลก และมีการปล่อยทิ้งชุมชนดั้งเดิม และชุมชนรากหญ้าที่เหลืออยู่ทั้งหมดไว้ข้างหลัง นับตั้งแต่อดีตจนถึงทุกวันนี้อย่างไม่หยุดหย่อน และตนคาดว่าเหตุการณ์เหล่านี้คงจะดำเนินต่อไป และจะทวีความรุนแรงยิ่งขึ้นไปกว่าเดิมในอนาคตอันใกล้นี้ จนกว่าฐานทรัพยากรที่หมดแล้วหมดเลย (non-renewable resources) จะไม่เอื้อให้เหล่ามหาอำนาจได้เข้าครอบครองชุมชนชีวิตอื่นๆ อีกต่อไป!

โดยตัวอย่างเหตุการณ์เต่างๆ ที่ตนพึ่งยกมาให้ดูร่วมกันนี้ ก็เพื่อชี้ให้เห็นว่า “ใช่แล้ว มันไม่มีช่วงเวลาไหนเลยจริงๆ ที่เราๆ จะได้เข้าใจและรับรู้เรื่องราวของบรรพบุรุษของตนเอง ที่เป็นชนเผ่าพื้นเมืองและชนล่าสัตว์เก็บของป่าอย่างถ่องแท้เลย ถ้าหากไม่ได้สนใจศึกษากันเองอย่างจริงจัง” มันจึงเด่นชัดมากว่า การหลงลืมครั้งใหญ่ที่ ควินน์ ได้นำเสนอผ่านหนังสือเล่มนี้ของเขาล้วนตั้งอยู่บนความจริงใจและถูกต้องเป็นอย่างมาก และพื้นฐานทางความคิดของเหล่านักคิดต่างๆ ในสังคมยุคใหม่นับแต่อดีตเป็นต้นมานั้น ก็ถือว่าเป็น “แนวคิดแบบลดทอน หรือ Reductionistic view มากกว่าที่จะเป็นแนวคิดแบบองค์รวม หรือ Holistic view ตามที่ควินน์ได้มุ่งนำเสนอต่อชาวโลก” ทั้งนั้นเลยจริงๆ!

ผู้อ่านหลายคนอาจกำลังเริ่มสับสนกันใหญ่แล้วหรือเปล่าเอ่ย? หรือกำลังเกิดคำถามต่อในใจกันแล้วไหมว่า แล้วเจ้า “การหลงลืมครั้งใหญ่” มันเกิดขึ้นมาได้ยังไงกันแน่ ทั้งๆ ที่ทุกสิ่งอย่างที่เห็นและเป็นอยู่มาโดยตลอดผ่านช่วงชีวิตของเรานั้น มันก็เหมือนถูกต้องทั้งหมดอยู่แล้วนี่? และที่จริงก็ไม่เคยได้ยินอะไรแบบนี้มาก่อนเลยด้วยซ้ำ งั้นตนจะขอนำเสนออีกมุมหนึ่งที่อาจช่วยให้ผู้อ่านได้เข้าใจชัดเจนยิ่งขึ้น และจะได้หายสงสัยเรื่องนี้กันได้ง่ายขึ้น“ควินน์ มีหนังสืออีกหนึ่งเล่ม จากทั้งหมดเป็นสามเล่มด้วยกัน ที่เขาได้นิยามคำว่า “Mother culture หรือ แม่วัฒนธรรม พร้อมยังได้นิยามคำว่า ผู้ถือครอง (Takers) และผู้ละทิ้ง (Leavers) ขึ้นมาเพื่ออธิบายให้กับชาวโลกได้ร่วมไขปริศนาอันลี้ลับนี้ไปด้วยกันให้ได้” ซึ่งหนังสือเล่มนี้ได้รับการแปลเป็นฉบับภาษาไทยอีกด้วยชื่อว่า“อิชมาเอล จิตวิญญาณทัศนาจร หรือ Ishmael” เป็นนวนิยายชุดเชิงปรัชญาและอิงประวัติศาสตร์ที่สะท้อนถึงความอคติทางวัฒนธรรมที่เป็นตัวขับเคลื่อนอารยธรรมยุคใหม่ ควินน์ ได้นำพาผู้อ่านออกไปสำรวจเรื่องทางจริยธรรม ความยั่งยืน และความหายนะไปทั่วโลกจากการดำรงอยู่ในแบบผู้ถือครอง แต่มันกลับตรงกันข้ามจากการดำรงอยู่ในแบบผู้ละทิ้ง ตามที่เอ่ยถึงไปตะกี้ ผ่านการเล่าเป็นนิทาน จากตัวละครตัวเอกที่ชื่อว่า อิชมาเอล ในเนื้อเรื่องทั้งหมดที่เขาพยายามขยายความได้อย่างสมน้ำสมเนื้อให้กับผู้อ่านทั่วโลก อันดับแรกเลย อิชมาเอล ได้นิยามคำว่า “แม่วัฒนธรรม หรือ Mother culture” ไว้ดังนี้ว่า มันก็คือ “สิ่งต่างๆ ที่พวกเราได้ยิน ได้ฟัง และได้พบเห็นกันมาตั้งแต่แรกเกิดนั้น มันก็เป็นเพียงเสียงของแม่วัฒนธรรมที่พร่ำสอนทุกๆ คนอยู่เสมอว่า ทุกสิ่งอย่างที่เห็นและเป็นอยู่ทั้งในอดีตและในปัจจุบันนี้นั้น ต่างก็เป็นแค่เพียงสิ่งที่มันจะควรเป็นไปตามปกติธรรมดาอยู่แล้วเท่านั้นเอง กล่าวคือ สิ่งต่างๆ เป็นแบบนั้นหรือแบบนี้ได้อย่างไร แม่วัฒนธรรมมักมีคำตอบไว้ในใจให้กับเราเองตลอด และเสียงนี้จะคอยบอกพวกเราในหูซ้ำแล้วซ้ำเล่า จนมันติดอยู่ในจิตสำนึกของเราอยู่ตลอดเวลา ว่าต้องทำยังไงดีกับเรื่องที่พึ่งเกิดขึ้นกับตัวเรา”

 ตัวอย่างเสียงของแม่วัฒนธรรม ดังเช่น ทำไมเราต้องเข้าโรงเรียน? ทำไมเราต้องมีบ้านหลังใหญ่และมีรถยนต์คันสวยหรูขับ? ทำไมเราต้องนับถือศาสนา? ทำไมถึงมีรัฐชาติและกฎหมาย? ทำไมเราต้องปล่อยทิ้งวิถีชีวิตอันแสนเรียบง่ายและสงบสุขในอดีตไป? ทำไมเราต้องมีอาชีพและฐานะทางสังคมที่สูงส่ง? ทำไมคนบางกลุ่มถึงร่ำรวยมาก แล้วทำไมคนอีกบางกลุ่มถึงยากจนขัดสนยิ่งกว่า? ทำไมเราต้องไปหาหมอที่โรงพยาบาล? ทำไมเราต้องทำประกันสุขภาพ? ทำไมเราต้องทำมาหากินโดยการที่มีเงินเป็นตัวแปร? ทำไมชีวิตเราถึงต้องมุ่งไปข้างหน้าอย่างสุดขีด? ทำไมสังคมเราต้องเจริญและพัฒนาก้าวหน้าเพียงเท่านั้นถึงจะดี? ทำไมชีวิตในสังคมยุคใหม่ต้องดำรงอยู่บนความสะดวกสบายและความมั่งคั่งให้ได้มากที่สุด? และอีก ฯลฯ ซึ่งคำตอบของคำถามเหล่านี้ล้วนเป็นเสียงของแม่วัฒนธรรมทั้งนั้น ที่มันจะปรากฏขึ้นมาเองในใจของเรา ตามที่เรานั่งตอบคำถามเหล่านี้ให้กับตัวเอง ลองตอบคำถามเหล่านี้กันดู แล้วคุณก็จะรู้ว่านั่นแหละคือเสียงของแม่วัฒนธรรมชัดๆ เลย! (คำถามที่ตนยกมาเป็นตัวอย่างในที่นี้ เป็นคำถามที่ตนคิดมาเองเพื่ออธิบายให้ผู้อ่านได้เข้าใจมากยิ่งขึ้นว่า แม่วัฒนธรรมคืออะไร)

นอกจากนี้แล้ว อิชมาเอล ยังอธิบายถึงความเป็น “ผู้ถือครอง​ หรือ ​Takers (ล้วนจัดอยู่ในวัฒนธรรมเดียวของสังคมยุคใหม่นี้ อาทิ เหล่าเจ้าขุนนายเมือง เหล่าผู้นำประเทศและผู้นำโลก เหล่านักล่าอาณานิคม เหล่านักธุรกิจยักษ์ใหญ่และยักษ์เล็ก และเหล่ามหาอำนาจนิยมทั่วโลก เป็นต้น)”​ และ “ความเป็นผู้ละทิ้ง หรือ Leavers (ล้วนจัดอยู่ในวัฒนธรรมอื่นๆ อีกมากมายที่เหลือยู่ของบรรพบุรุษพวกเรา อาทิ วัฒนธรรมของสังคมชนล่าสัตว์และเก็บของป่าทั่วโลก และวัฒนธรรมของชนเผ่าพื้นเมืองดั้งเดิมและร่วมสมัยทั่วโลก)” อิชมาเอล ได้นิยามคำสองคำนี้ขึ้นเพื่อแสดงถึง บทบาทของมนุษย์ทั้งสองกลุ่มว่ามีความแตกต่างกันอย่างชัดเจนโดยสิ้นเชิง กล่าวคือ  มนุษย์ในกลุ่มผู้ถือครองคือ “มนุษย์กลุ่มที่ชอบทำลายล้างทุกชีวิตอื่นๆ ไม่สนใจเรื่องผลประโยชน์สุขของส่วนรวม ไม่สนใจความหลากหลายและความอุดมสมบูรณ์ของชุมชนแห่งชีวิต มักเอารัดเอาเปรียบผู้อื่นและไม่ชอบแบ่งปัน มักเป็นกลุ่มคนที่ชอบแบ่งแยกชนชั้น เพื่อได้มาซึ่งความมั่งคั่งและความเรืองอำนาจของตนอย่างสุดโต่งเพียงผู้เดียวเป็นต้น” และ มนุษย์ในกลุ่มผู้ละทิ้งคือ “มนุษย์กลุ่มที่ดำรงอยู่อย่างถ้อยทีถ้อยอาศัยกับโลกธรรมชาติ รู้จักพึ่งพาอาศัยกันและกันไม่มีความแบ่งแยกกัน และไม่ทำลายล้างชีวิตอื่นๆ เพื่อให้ตนอยู่ได้รอดเพียงผู้เดียว ล้วนชื่นชอบการแบ่งปันของกินของใช้ทุกสิ่งอย่างร่วมกันเสมอ ดำรงอยู่ในสังคมที่มีความเท่าเทียมกันในทุกๆ ด้าน เป็นกลุ่มคนที่ชอบการเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ต่อทุกสิ่งมีชีวิต ชอบร่วมมือร่วมใจกันทำงานเพื่อประโยชน์สุขของทุกชีวิตที่อาศัยอยู่ร่วมกัน เป็นกลุ่มคนที่เคารพทุกชีวิตอย่างเท่าเทียม มีประวัติศาสตร์บอกเล่า และมีหลักความเชื่อทางจิตวิญญาณเป็นของตัวเอง จึงถือเป็นกลุ่มคนที่มีองค์ความรู้ดั้งเดิมทางนิเวศวิทยาสูงสุด และมีภูมิปัญญาดั้งเดิมที่เป็นแบบอย่างในการดำรงชีวิตของมนุษย์ได้อย่างสมบูรณ์” ซึ่งถือเป็นการดำรงอยู่อย่างมีคุณค่า มีความหมาย และมีความสงบสุขร่มเย็นร่วมกันกับเพื่อนร่วมโลกสายพันธุ์อื่นๆ มาตลอดประวัติศาสตร์ของเผ่าพันธุ์มนุษย์เรา (ตัวอย่างเสริมที่ตนยกมานำเสนอเองเหล่านี้ ก็เพื่อช่วยเหลือให้ผู้อ่านได้เห็นภาพชัดเจนยิ่งขึ้นเท่านั้น)

มีอีกเรื่องหนึ่งที่ อิชมาเอล ยกขึ้นมาอธิบายลักษณะความแตกต่างของเหล่าผู้ถือครองและเหล่าผู้ละทิ้ง ที่ห้ามพลาดติดตามเลยทีเดียว ซึ่งนั่นก็คือ ผู้ถือครองเชื่อว่า “มันมีอะไรบางอย่างที่ผิดพลาดในตัวมนุษย์เอง”  บางอย่างที่ทำให้คนโง่เง่า ชอบทำลาย โลภมาก และสายตาสั้น ลักษณะที่สำคัญสุดของวัฒนธรรมผู้ถือครอง คือการลุ่มหลงเชื่อฟังคำสอนของแม่วัฒนธรรม และพึ่งพาอำนาจบารมีของศาสดา อย่าง โมเสส พระพุทธเจ้า ขงจื๊อ พระเยซู และพระโมฮัมหมัด เป็นหลัก ผู้ถือครองปฏิเสธที่จะทำตาม กฎการรักษาความสงบ และเชื่อถืออีกว่าโลกเป็นของมนุษย์ และโลกนี้ถูกสร้างขึ้นมาเพื่อมนุษย์ แล้วมนุษย์จึงถูกสร้างขึ้นมาเพื่อปกครองโลก” ซึ่งลักษณะเช่นนี้กลับไม่ปรากฏอยู่เลยแม่แต่น้อยในสังคมของเหล่าผู้ละทิ้ง!

ต่อมาคือเรื่องของ “กฎขีดจำกัดของการแข่งขัน หรือ The Law of Limited Competition” ที่ อิชมาเอล สานต่อให้กับพวกเรานั้น มันก็คือว่า“คุณอาจจะแข่งขันอย่างสุดขีด​ แต่คุณไม่สามารถ​ไล่ล่าคู่แข่ง​ หรือทำลายอาหารของคู่แข่ง​ หรือปฏิเสธคู่แข่งไม่ให้เข้าถึงแหล่งอาหาร​ หรืออีกนัยหนึ่ง​ คุณอาจแข่งขันแต่ไม่ใช่​ ทำสงครามต่อกัน” และกฎธรรมชาติข้อนี้เองในเหล่าผู้ถือครองต่างก็ไม่ปฏิบัติตามเลยนับมาตั้งแต่เริ่มต้นทำเกษตรกรรมแบบเบ็ดเสร็จเมื่อหมื่นปีที่แล้วมา แต่กฎข้อนี้มีการยึดถือและปฏิบัติอย่างสม่ำเสมอร่วมกันมาโดยตลอดเวลากว่า 3 ล้านปีของเหล่าผู้ละทิ้ง!

อิชมาเอล ยังพร่ำบอกกับลูกศิษย์ในตัวบทเพิ่มอีกว่า แม่วัฒนธรรมสอนว่า​ ในช่วงก่อนการปฏิวัติ​เกษตรกรรม ชีวิตมนุษย์ไร้ความหมาย​ ดักดาน​ ว่างเปล่า​ ไร้ค่า​ ชีวิตก่อนการปฏิวัตินั้น​น่ารังเกียจ แม่วัฒนธรรมยังสอนให้เราอีกด้วยว่า วิถีชีวิตของผู้ละทิ้ง ไม่น่าสรรเสริญ ต้องหยุดดำรงอยู่แบบนั้นซะเถอะ และหันมาอยู่ในแบบผู้ที่เจริญแล้วจะดีกว่า โดยการพร่ำสอนเราไว้ว่า คนล่าสัตว์และเก็บหาของป่ามีชีวิตที่ทุกข์ยากลำบาก /ทรหด /จนตรอก /น่าอดสู /ใช้ชีวิตเหมือนสัตว์ /ต้องต่อสู่ดิ้นรนไม่หยุดหย่อนเพื่อให้มีชีวิตรอด /มีชีวิตแขวนอยู่บนเส้นด้าย และอีก ฯลฯ “แต่ในความเป็นจริงแล้วสังคมของผู้ละทิ้งกลับตรงกันข้ามจากที่แม่วัฒนธรรมกระซิบบอกเราไว้เป็นอย่างมาก เพราะชนล่าสัตว์และเก็บของป่าเป็นกลุ่มชนที่ไม่เคยต้องเผชิญกับความอดอยาก ทั้งๆ ที่ก็ไม่ต้องกักเก็บอาหาร และไม่ปลูกอาหารเหมือนสังคมชาวเกษตร /เป็นกลุ่มคนที่มีเวลาว่างมากที่สุดในโลก /เป็นกลุ่มคนที่ทำงานน้อยมากที่สุดในโลก และที่สำคัญเป็นสังคมที่มีความมั่นคงในชีวิตโดยแท้มาตลอดเวลากว่าสามล้านปี”

 อิชมาเอล ทิ้งท้ายเอาไว้ว่า “การที่เราจะปฏิเสธเสียงคำสอนของแม่วัฒนธรรมได้นั้น มันช่างง่ายนิดเดียว ซึ่งนั่นก็คือ เพียงแค่ต้องหยุดเชื่อฟังเสียงนั้น และเริ่มต้นตอบคำถามให้กับตัวเองในรูปแบบใหม่ นั่นก็คือในรูปแบบของเหล่าผู้ละทิ้งกันให้ได้มากยิ่งขึ้น และทุกสิ่งอย่างก็จะเริ่มชัดเจนขึ้นเองหลังจากนั้น”      

 เอาละมาติดตามต่อกับ “The Great Remembering หรือการฟื้นคืนความทรงจำครั้งใหญ่” ว่ามันคืออะไรตามนิยามของนักเขียนอาวุโสผู้นี้ ที่มุ่งมั่นส่งต่อองค์ความรู้ในแบบองค์รวมให้กับชาวโลก เพื่อให้เกิดความเข้าใจที่ถ่องแท้ยิ่งขึ้นเกี่ยวกับสังคมมนุษย์ จากหนังสือ “The Story of B: An adventure of the Mind and spirit” ที่ได้เกริ่นนำไว้แล้วด้านบนๆ ควินน์ยกตัวอย่างให้กับพวกเราต่ออีกหน่อยว่า วัฒนธรรมยุคใหม่ของพวกเราทุกวันนี้ไม่ว่าจะเป็นจากฝั่งตะวันตกและฝั่งตะวันออก หรือ East and West นั้น ล้วนทำเกษตรกรรมแบบเบ็ดเสร็จ (Totalitarian agriculture) ทั้งนั้น และคนส่วนใหญ่ต่างก็เชื่อฟังชุดคำสอนของแม่วัฒนธรม (Mother culture) ในแบบเดียวกันทั้งหมด ดังนั้นโครงสร้างพื้นฐานทางสังคมและวัฒนธรรมของสังคมยุคใหม่ในแต่ละประเทศที่ได้ปรับเปลี่ยนไปตามกระแสของวัฒนธรรมหลัก จากสังคมชาวตะวันตกและชาวตะวันออก ล้วนจัดตั้งอยู่ในหมวดของเหล่าผู้ถือครอง (Takers) เป็นส่วนใหญ่ และแน่นอนว่าผู้คนในสังคมนี้โดยทั่วไปก็ปฏิเสธเรื่อง “กฎขีดจำกัดของการแข่งขัน หรือ the law of limited competition” ที่อธิบายไว้แล้วกันทั้งนั้น!

ควินน์ ได้ยกแผนภาพนี้ขึ้นมาอธิบาย เพื่อให้ผู้อ่านได้เห็นภาพประวัติศาสตร์อันแสนยาวนานของเผ่าพันธุ์มนุษย์ เพื่อเปรียบเทียบให้เห็นทุกคำนิยามที่ ควินน์ ได้นำเสนอผ่านตัวบทของหนังสือเล่มนี้ ไว้อย่างง่าย ดังนี้:

ตนหวังเป็นอย่างยิ่งว่า ทุกอย่างที่ได้นำเสนอมาอย่างเข้มข้นนี้จะพอช่วยให้ผู้ที่อ่านบทความฉบับนี้อยู่ได้เกิดความตระหนักรับรู้ทางวัฒนธรรมของเรากันมากยิ่งขึ้น และใช้เป็นแรงบันดาลใจให้เกิดการตั้งคำถามกับสังคมยุคใหม่ และการดำรงชีวิตอยู่ในวัฒนธรรมของเหล่าผู้ถือครองร่วมกันมากยิ่งขึ้นได้ว่า แท้จริงแล้ว พวกเรากำลังหลงลืมวัฒนธรรมดั้งเดิมของเราเองไปด้วยแล้วหรือไม่ โดยที่เราไม่ได้รับรู้มาก่อนเลยว่า เราอยากจะเข้าร่วมกระบวนการเช่นนี้กันต่อไปอีกหรือเปล่า เพราะในวันที่เราต่างก็เริ่มต้นที่จะจดจำได้ขึ้นใจแล้วว่า เพียงในช่วงเวลาเพียงไม่กี่หมื่นปี กับการหันมาดำรงอยู่ตามวิถีการดำเนินชีวิตของเหล่าผู้ถือครอง มันกลับมีแต่จะทำลายล้างชุมชมชีวิตในโลกธรรมชาติที่เหลืออยู่ให้สูญสิ้นไปในท้ายที่สุด และมีแต่จะทำลายล้างชีวิตของตัวเองและคนที่ตนรักให้จำต้องเผชิญกับความหายนะที่เราเองก็มีส่วนร่วมในการก่อให้เกิดสิ่งเลวร้ายต่างๆ ร่วมกันต่อไป ถ้าหากเราทั้งหลายไม่ย้อนกลับคืนมาดำรงอยู่ในวิถีของเหล่าผู้ละทิ้งได้ทันเวลา ทั้งหมดที่ตนได้เชื่อมโยงความเกี่ยวเนื่องกันที่ว่า ทำไมพวกเราทั้งหลายจึงควรจะหันมาศึกษาเรียนรู้และนำมาปรับใช้ในแบบฉบับของตนให้ได้เพื่อความอยู่รอดในอนาคต? นั้นก็อยู่ในบทเขียนด้านบนนี้หมดแล้ว

แต่เรื่องราวที่ตนอยากจะนำเสนอต่อผู้อ่านยังไม่จบเพียงเท่านี้  ซึ่งเป็นอีกเหตุผลใหญ่ๆ นั่นก็คือ “เรื่องสภาพภูมิอากาศของโลกที่เอาแน่เอานอนไม่ได้อีกต่อไปแล้ว” และภาพด้านล่างนี้สามารถใช้ขยายความเข้าใจได้ชัดเจนยิ่งขึ้น จากทุกสิ่งอย่างที่ ควินน์ ได้พยายามไขปริศนาลึกลับนี้ให้กับพวกเรา ซึ่งนี่ก็แสดงถึงบทบาทของมนุษย์ในฐานะผู้ถือครองทั้งหมดเลย และก็ไม่มีบทบาทของผู้ละทิ้งสักเท่าไหร่จริงๆ จากภาพรวมทางประวัติศาสตร์ของสังคมมนุษย์ เพราะถ้าเคยมีอยู่จริง พวกเราคงจะได้เห็นภาพที่แตกต่างกันไปโดยสิ้นเชิง ขอชวนมาติดตามกันต่อเลยดีกว่า!


ภาพรวมสภาพภูมิอากาศของโลก วิวัฒนาการของมนุษย์สายพันธ์ต่างๆ และการก่อตั้งอารยธรรม:
คำอธิบายภาพเริ่มจากด้านล่างสุด ดังนี้: เส้นกราฟด้านล่างสุดชี้ให้เห็นว่า สภาพอากาศของโลกมีความผันผวนขึ้นลงอย่างต่อเนื่องนับมาตั้งแต่ช่วงเวลาประมาณ 800,000 ปีก่อน (ดูเทียบกับเส้นบอกห้วงเวลาทั้งหมดจาก 1,000,000 ปีก่อน ตรงกลางในภาพ ที่แสดงถึงการปรากฎตัวขึ้นของมนุษย์สายพันธุ์ต่างๆ อีกด้วย) ความน่าสนใจของภาพนี้ก็คือการชี้ให้เห็นถึงว่า“ในช่วงเวลากว่า 12,000 -10,000 ลงมานี้เองที่จัดอยู่ในยุคโฮโลซีนทั้งหมดที่มีสภาพอากาศคงที่ยาวนานเป็นพิเศษ จึงส่งผลให้มนุษย์ในยุคนี้สามารถทำเกษตร ตั้งถิ่นฐานถาวร ก่อตั้งอารยธรรม และขยายฐานเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมได้เรื่อยมาจนถึง ณ ปัจจุบันนี้”  โดยแสดงถึงหลักฐานนับตั้งแต่การเริ่มหันมาทำการเพาะปลูกอาหารในพื้นที่เล็กๆ เริ่มมีการเลี้ยงสัตว์ร่วมด้วย จากนั้นก็เริ่มมีการทำเกษตรอย่างมีแบบแผนยิ่งขึ้น จากนั้นก็มีการตั้งเมืองต่างๆ และก่อตั้งอารยธรรมโบราณในยุคสมัยต่างๆ ขึ้น เรื่อยมาจนถึงยุคอุตสาหกรรมในปัจจุบัน ผ่านแต่ละช่วงเวลาโดยประมาณที่อิงตามหลักฐานทางประวัติศาสตร์ (ดูเทียบกับห้วงเวลาด้านบนสุดในภาพ)

อีกหนึ่งหลักฐานชิ้นสำคัญที่มุ่งชี้ให้เห็นภาพใหญ่ร่วมกันว่า ทั้งการดำรงอยู่ในแบบชนเผ่าพื้นเมืองดั้งเดิมและร่วมสมัย และในแบบชนล่าสัตว์และเก็บของป่าทั่วโลกนั้น ล้วนมีความสำคัญจริงๆ ต่อความอยู่รอดของมานุษยชาติทั้งในปัจจุบันนี้และในอนาคตอีกด้วย นั่นก็คือ ผลงานวิจัยชิ้นสำคัญสุด ซึ่งเป็นบทความเรียงของ John Gowdyศาสตราจารย์กิตติคุณประจำคณะเศรษฐศาสตร์ จากสถาบันโพลิเทคนิคเรนส์ซเลียร์ (Rensselaer Polytechnic Institute) เมืองทรอย รัฐนิวยอร์ก ประเทศสหรัฐอเมริกา ในชื่อวิจัยเรื่อง“อนาคตของเราในแง่ของการเป็นชนล่าสัตว์และเก็บของป่า: การเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศ  เกษตรกรรม และการมุ่งหน้าไปสู่ความไร้ซึ่งอารยธรรม” หรือ Our hunter-gatherer future: Climate change, agriculture and uncivilization ซึ่ง John Gowdy ได้มุ่งนำเสนอนโยบายเข้มงวดหลักๆ อยู่สามอย่าง ได้แก่ นโยบายการลดจำนวนประชากรอย่างเข้มงวด นโยบายการฟื้นฟูธรรมชาติ “rewilding” และนโยบายอนุรักษ์ปกป้องวัฒนธรรมชนพื้นเมืองที่ยังคงเหลืออยู่ในโลก ซึ่งนโยบายเหล่านี้ล้วนมีงบประมาณต่ำและจะเห็นผลลัพธ์ที่มีประสิทธิภาพสูงมากในระยะยาว  ชวนอ่านบทสรุปย่อและบทเขียนเสริมความเข้าใจจากบทความที่ตนได้นำเสนอสู่สังคมเอาไว้ในชื่อ “เมื่อชีวิตในแบบชนล่าสัตว์-เก็บของป่า (hunter-gatherer) ไม่ใช่อดีตอีกต่อไป!” 

ทั้งนี้ John Gowdy ได้เปิดเผยข้อมูลอย่างตรงไปตรงมาเลยว่า ตลอดช่วงเวลากว่า 300,000 ปีก่อน มนุษย์สายพันธุ์โฮโมเซเปียนส์ต่างก็ดำรงมาในแบบชนล่าสัตว์และเก็บของป่าอย่างเท่าเทียมกันและอย่างยั่งยืน ซึ่งคิดเป็น 97 เปอร์เซ็นต์เลยทีเดียว และคิดเป็นเพียง 3 เปอร์เซ็นต์เท่านั้นที่มนุษย์เราเคยดำรงอยู่ด้วยการทำเกษตรกรรมและก่อตั้งอารยธรรม ฉะนั้น หากจะพูดถึงเรื่องการอยู่รอดและการเปลี่ยนถ่ายไปสู่การมีสังคมที่เท่าเทียมกันและสามารถที่จะดำรงอยู่ได้อีกยาวนานอย่างยั่งยืน เราอาจจะต้องย้อนกลับมาศึกษาวิถีชีวิตดั้งเดิมของบรรพบุรุษเรากันให้มากขึ้น และนำการตระหนักรู้เช่นนั้นมาปรับใช้ในแบบของเราให้ลงตัว เพื่อที่ว่าเราจะสามารถดำรงรงอยู่ได้ร่วมกันกับชุมชนชีวิตที่อุดมไปด้วยความหลากหลาย ความอุดมสมบูรณ์ และความสงบสุขอันแท้จริงได้ในที่สุด!

ด้วยความน่ากลัวและน่าห่วงเป็นอย่างยิ่ง ของภัยพิบัติต่างๆ ที่จะเกิดขึ้นในอนาคตอันใกล้นี้ ทั้งจาภัยของสภาวะโลกร้อน และภัยความไม่มั่นคงทางสังคม การเมือง และเศรษฐกิจ เป็นต้น ที่มันจะส่งผลเกี่ยวเนื่องถึงกันทั้งหมดในสุดท้าย ยกตัวอย่างเช่น ภัยน้ำท่วมหนักและยาวนาน ภัยแห้งแล้งรุนแรงและยาวนาน ภัยความเสี่ยงต่อการที่จะได้ผลเก็บเกี่ยวทางพืชเกษตรน้อยลงอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับพืชอาหารหลักจำพวก “ข้าว ข้าวโพด และข้าวสาลี ซึ่งถือเป็นแหล่งพลังงานที่มนุษย์บริโภคกันสูงถึง 60 เปอร์เซ็นต์”  ภัยจากแนวโน้มการขาดแคลนน้ำกินน้ำใช้ต่างๆ ภัยการสูญเสียชั้นดินดีไปอย่างถาวร ภัยการสูญเสียสารอาหารในดิน ภัยสูญเสียแมลงผสมเกสรที่สูงขึ้นไปทั่วโลก ภัยเงียบจากการเพิ่มขึ้นของระดับน้ำทะเลจะกลายเป็นปัญหาหลักต่อผลผลิตทางการเกษตรอีกด้วย ในด้านการสูญเสียพื้นที่ทำเกษตรกรรม และการมีดินเค็มเพิ่มขึ้นจากภัยพายุกระหน่ำ (ซึ่งจะยากลำบากยิ่งขึ้นต่อการเพาะปลูกอาหาร) ภัยจากปัญหาความรุนแรงของทั้งคลื่นความร้อนและไฟป่าที่จะทวีความรุนแรงขึ้นอย่างสุดขั้วไปทั่วทุกทวีป ตามที่ระดับบอุณภูมิโลกจะเพิ่มสูงขึ้นมากไปกว่า 2 องศา ภายในช่วงปี ค.ศ. 2100 นี้ ซึ่ง Gowdy ได้ระบุไว้ในงานวิจัยของเขาอย่างชัดเจนว่า:

“หากไม่มีข้อตกลงใดๆ ที่จะแสดงความรับผิดชอบ และนำมาปฏิบัติร่วมกันเพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกอีกแล้ว โลกมีโอกาสร้อนขึ้นมากกว่า 3 องศา ซึ่งอุณหภูมิสูงกว่าช่วงก่อนยุคอุตสาหกรรม ถึงแม้จะสามารถบรรลุเป้าหมายตามข้อตกลงและคำสัญญาที่ให้กันไว้ล่าสุดได้จริง มันก็ยังมีความเป็นได้ที่อุณหภูมิโลกจะเพิ่มสูงขึ้นถึง 4 องศา ภายในปี ค.ศ. 2100 คิดเป็น 20 เปอร์เซ็นต์ ถ้าหากข้อตกลงที่จะปฏิบัติร่วมกันทั่วโลกไม่ถึงจุดที่ตั้งเอาไว้ อุณภูมิโลกที่จะร้อนขึ้นในระดับ 4 องศา อาจจะปรากฏขึ้นเร็วกว่าอีกมาก ภายในปี ค.ศ. 2060”

หลายคนอาจจะตกใจพอได้ยินว่า Gowdy มีนโยบายการลดจำนวนประชากรอย่างเข้มงวด หรือ “Aggressive population reduction policies” มานำเสนอต่อสังคมโลก แต่ตามที่เขากล่าวไว้ในงานวิจัยชิ้นนี้ก็เป็นเพียงว่า

“จำนวนประชากรของมนุษย์บนโลกนี้จะลดลงอย่างรุนแรง ในช่วงศตวรรษที่กำลังจะมาถึงนี้เอง แบบไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง เช่น จากสภาวะตรึงเครียดของสภาพสิ่งแวดล้อมในการทำเกษตรกรรมขนานใหญ่ต่อไปอีกมิได้ จากการเปลี่ยนแปลงทางสภาภูมิอากาศอย่างสุดขั้ว และจากการลดลงของผลผลิตทางอาหารอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ รวมถึงอาจจะเกิดภัยโรคระบาดครั้งใหญ่ขึ้นอีกหลายครั้ง จึงอาจทำให้จำนวนประชากรมนุษย์ลดน้อยลงไปเองอยู่ดี และเมื่อเกิดปัญหามากมายต่อผลผลิตของธัญพืชจำพวกข้าว สังคมต่างๆ ที่มีรัฐควบคุมอย่างเป็นทางการ (state societies) ตามที่เรารู้จักกัน ก็จะมีความยุ่งยากในการบริหารจัดการมากยิ่งขึ้น แต่นี่คือเรื่องดีสำหรับโลก และสำหรับความเป็นอยู่ที่ดีของมนุษย์รายบุคคล Scott (2017) สก็อตท์ได้ยกข้อถกเถียงไว้อย่างหนักแน่นว่า บุคคลโดยทั่วไปมีชีวิตดีขึ้นมากกว่า หลังจากสังคมต่างๆ ที่มีรัฐครอบครองในอดีตล่มสลายไป”

ดังนั้น หากสมมุติว่ามีจำนวนประชากรมนุษย์ลดลงอย่างฮวบฮาบ และมนุษย์สายพันธุ์เราในตอนนั้นก็จะถูกกำหนดลักษณะทางสังคมไว้ในรูปแบบที่แยกกันอยู่เป็นกลุ่มๆ ซึ่งนั่นก็คือจะอยู่เป็นกลุ่มเหมือนในสังคมของชนล่าสัตว์-เก็บของป่ากันอีกครั้ง แล้วการหันไปทำเกษตรขนานใหญ่จะหวนคืนมาอีกไหม? Gowdy นำเสนอว่าคงจะเป็นไปไม่ได้แล้ว เหตุผลแรกคือ ด้วยระดับอุณหภูมิที่ไม่คงที่มากจนเกินไปสำหรับการเพาะปลูกธัญพืชจำพวกข้าวเป็นหลัก (ตนขอเสริมในจุดนี้ว่า แต่พืชอื่นๆ ที่คงทนต่อสภาพอากาศสุดขั้ว ก็จะยังเพาะปลูกได้ต่อไป โดยเฉพาะพืชพันธุ์พื้นบ้านและชนิดพันธุ์ป่าต่างๆ) เหตุผลที่สอง ชนิดพันธุ์ข้าวที่ปลูกกันอยู่ในปัจจุบันอย่าง ข้าวสาลี และข้าวโพดจะอยู่รอดต่อไปไม่ได้หากมนุษย์ไม่ช่วยดูแลและจะตายไปในที่สุด เหตุผลที่สาม มนุษย์ชนล่าสัตว์-เก็บของป่าในยุคไพลสโตซีนไม่ได้ “เลือก” ทำเกษตรกรรม และคงจะไม่ทำแบบนั้นอีกในอนาคต (Gowdy & Krall,2014)

Gowdy  ได้อธิบายให้กับเราอีกว่า เพราะเหตุใดกันสังคมมนุษย์ยุคใหม่ของเราถึงประสบแต่ปัญหาความวุ่นวายและความล้มเหลวมาโดยตลอด เขาบอกว่ามันก็เป็นเพราะ “กลุ่มคนในสังคมที่เรียกกันว่า WEIRD ซึ่งย่อมาจาก ชาวตะวันตก (western) ผู้มีการศึกษา (educated) เป็นประเทศอุตสาหกรรม (industrial) มั่งคั่งร่ำรวย (rich) และเป็นประชาธิปไตย (democratic)” ที่ได้ขึ้นมาเป็นผู้ที่ถือครองมุมมองทางโลกในแบบต่างๆ ซึ่งพวกเขามีกรอบแนวคิดที่แยกออกไปจากแนวคิดของวัฒนธรรมอื่นๆ ที่เหลือโดยส่วนใหญ่ ถ้าหากเราจะกำหนดความพึงใจของมนุษย์ในสังคม ณ ตอนนี้ได้ไม่ดี แล้วเราจะทราบกันได้อย่างไรถึงความพึงใจของผู้คนที่จะอยู่รอดต่อไปในเวลาอีกหลายร้อยปีข้างหน้า? แล้วทุกวันนี้ทุกสังคมทั่วโลกต่างก็กำลังเปลี่ยนถ่ายมาเป็นเหมือนสังคมWEIRD ทั้งนั้น ซึ่งชัดเจนว่าจะนำพามานุษยชาติไปสู่จุดจบเป็นแน่ หากไม่ปรับเปลี่ยนออกไปจากแนวคิดและมุมมองในแบบเดิมของพวกเขากันให้ได้!

“ด้วยเหตุผลนี้จึงมีความสำคัญมากยิ่งขึ้นไปกว่าเดิมที่เราจะต้องมีการสนับสนุนและปกป้องอนุรักษ์วัฒนธรรมของชนเผ่าพื้นเมือง หรือ “Protect the world’s remaining traditional cultures” ที่ยังเหลืออยู่ในโลกเอาไว้ให้ได้มากที่สุด ซึ่งเป็นวัฒนธรรมเดียวที่ยังคงมีความสามารถที่จะดำรงอยู่ได้เหนือกว่า การดำรงอยู่ตามขอบเขตที่จำกัดของอารยธรรมยุคใหม่ และสังคมมนุษย์ดังกล่าวยังคงมีตัวตนอยู่ แม้จะมีการติดต่อสื่อสารกับโลกภายนอกค่อนข้างน้อย แต่มนุษย์กลุ่มนี้อาจจะเป็นเพียงมนุษย์กลุ่มเดียว ที่มีวิธีการเชิงทักษะที่จำเป็นต่อการอยู่รอดได้ จากเรื่องสภาพอากาศเปลี่ยนสุดขั้ว จากเรื่องสังคมที่ลดความซับซ้อนลง และจากเรื่องจุดจบทางเทคโนโลยี”

แวะมาดูนโยบาย การฟื้นฟูธรรมชาติ “Rewilding ของ Gowdy กันสักหน่อย ซึ่งเขาเล่าว่า เมื่อใดก็ตามที่มีการพูดคุยกันว่า เราต้องอนุรักษ์ความเป็นป่าของธรรมชาติเอาไว้ คนบางส่วนก็จะโต้แย้งขึ้นทันทีว่า “แล้วมนุษย์ล่ะ? คุณใส่ใจเรื่องธรรมชาติมากกว่าเรื่องของมนุษย์รึไง!” แต่การฟื้นฟูธรรมชาติไม่ได้เกี่ยวข้องกับการขับไล่มนุษย์ออกไป

“มันเกี่ยวข้องกับการห้ามเอา หลักการตลาด และอุตสาหกรรมเศรษฐกิจเข้ามาใช้ต่างหาก ปัญหาความขัดแย้งที่เกิดขึ้นโดยทั่วไปคือประเด็นระหว่าง ธรรมชาติและการแสวงหาผลกำไรทางเศรษฐกิจ ไม่ใช่ระหว่างมนุษย์และธรรมชาติเอง การย้อนกลับคืนไปเชื่อมโยงกับโลกธรรมชาติจะส่งผลให้เรามีความเป็นมนุษย์มากยิ่งขึ้นไม่ใช่น้อยลง”

นอกจากนี้แล้ว Gowdy ยังมุ่งเปิดประเด็นอย่างดุเดือดว่า มันจริงหรือเปล่าจากคำกล่าวอ้างที่เหล่าผู้เชี่ยวชาญทางศาสนา หรือจากเหล่าผู้นำโลกต่างๆ ที่มักใช้กันโดยส่วนใหญ่ที่ว่า โอ้ มนุษย์ที่มีอารยธรรมล้วนเป็นมนุษย์ที่ฉลาดกว่า หรือมีความประเสริฐศักดิ์มากกว่าสัตว์อื่นๆ ที่เหลืออยู่ หรือมนุษย์สกุลโฮโมเซเปียนส์เป็นมนุษย์ฉลาดกว่าสายพันธุ์อื่นๆ มนุษย์ยุคนี้จึงสามารถทำไรก็ได้ตามอำเภอใจ แต่จากหลักฐานของขนาดสมองที่Gowdy ยกมาให้ดูในงานวิจัยชิ้นนี้ มันก็ชัดเจนมากว่าสมองของมนุษย์ลดขนาดลงอย่างรวดเร็วนับมาตั้งแต่ช่วงทำเกษตรกรรมอย่างเข้มข้น (จากที่มีปริมาตรสมองโดยรวมอยู่ที่ 1,500 เซนติเมตร กลับลดมาเป็น 1,350 เซนติเมตร) ตามที่ Hawks (2011) ชี้ถึงการลดลงของขนาดสมองในระหว่างช่วงเวลา 10,000 ปี ที่ขนาดสมองมนุษย์ลดลงเป็น 36 เท่า เมื่อเทียบกับในระช่วงเวลาเป็น 800,000 ปี ที่มนุษย์ยังมีขนาดสมองใหญ่กว่า

“จึงไม่พบหลักฐานใดเลยที่ว่า มนุษย์ยุคใหม่แค่ฉลาดหรือฉลาดมากกว่า เพียงเพราะเรามีพัฒนาการของสมองที่ให้ใช้งานได้อย่างมีประสิทธิภาพสูงกว่า ดังนั้นก็ไม่มีหลักฐานใดที่พบว่า สมองของมนุษย์มีความซับซ้อนมากขึ้นในขณะที่มันมีขนาดลดลง”

เรื่องที่ทำให้ประเด็นนี้เลวร้ายยิ่งไปกว่าเดิมอีกก็คือ จากการค้นพบหลักฐานที่ว่า ผลลัพธ์จากระดับก๊าซ CO2 ที่เพิ่มสูงขึ้นจะส่งผลให้ความสามารถทางการรับรู้ของสมองลดลง มีงานศึกษาวิจัยชิ้นล่าสุดพบว่าความสามารถทางการรับรู้ของสมองจะลดลงเป็น 15 เปอร์เซ็นต์ เมื่อระดับก๊าซ CO2 เพิ่มขึ้นถึงระดับการปลดปล่อยที่ 950 ppm และลดลงเป็น 50 เปอร์เซ็นต์ เมื่อระดับก๊าซ CO2 เพิ่มขึ้นถึงระดับ 1400 ppm ซึ่งระดับก๊าซ CO2 นอกชั้นบรรยากาศโลกมีโอกาสเพิ่มถึง 1000 ppm ในศตวรรษหน้า!

บทสรุปของงานวิจัยชิ้นนี้มีอยู่ว่า: ปัจจัยหลักต่อการเปลี่ยนแปลงวิวัฒนาการทางสังคมในประวัติศาสตร์ของมนุษย์คงจะมาจากการทำเกษตรกรรมด้วย “ซึ่งเกษตรกรรมเกิดขึ้นได้ก็เป็นเพราะมีช่วงที่สภาพอากาศอบอุ่นเป็นพิเศษ และการมีสภาพอากาศคงที่ของยุคโฮโลซีน แต่ความมั่นคงทางสภาพอากาศในตอนนี้เองกลับตกอยู่ในสภาวะที่ไม่มั่นคงอีกรอบขึ้นแล้ว จากการปลดปล่อยก๊าซ CO2 ที่เป็นผลมาจากการเผาไหม้เชื้อเพลิงฟอสซิลขึ้นสู่ชั้นบรรยากาศ จากระบบเศรษฐศาสตร์อุตสาหกรรม” ระบบสภาพอากาศจะรุนแรงมากยิ่งขึ้นกว่านี้ ถ้าหากเรายังทำการเผาเชื้อเพลิงฟอสซิลกันต่อไปในเวลาอีกไม่กี่สิบปี หากปราศจากความมั่นคงทางสภาพอากาศ และพลังงานราคาถูกที่มีอยู่มากมายมหาศาลของศตวรรษที่ 20 แล้วนั้น มันจึงดูเหมือนว่าเราจะไม่สามารถทำเกษตรกรรมขนานใหญ่ต่อไปได้อีกในศตวรรษที่ 21 และในศตวรรษต่อๆ ไป อารยธรรมยุคใหม่คงจะล่มสลายลง หรือลดความซับซ้อนลงไปเรื่อยๆ จนคงจะเหลืออยู่เล็กมาก ซึ่งนั้นคือข่าวดี สำหรับโลกธรรมชาติที่จะได้มีโอกาสฟื้นคืนความสมดุลของตัวเองได้อย่างสุดขีด และสำหรับสังคมมนุษย์ที่จะดำรงอยู่ด้วยความเรียบง่ายกันยิ่งขึ้น ผ่านช่วงเวลาของศตวรรษต่างๆ ที่กำลังจะมาถึงนี้!


ภาพตัดจากบทความวิจัยที่แสดถึงความผันผวนของอุณภูมิโลกในยุคหินลงมา เมื่อประมาณกว่า 40,000 ปีก่อนปัจจุบัน มาจนถึงยุคโฮโลซีนที่เริ่มมีสภาพอากาศคงที่ยาวนานเป็นพิเศษจากเมื่อประมาณ 12,000 ปีที่แล้วมาจนถึงปัจจุบันนี้ และแสดงถึงการคาดการณ์ความผันผวนอย่างสุดขั้วของสภาพอากาศหลังจากปีปัจจุบันเป็นต้นไปที่จะเริ่มเปลี่ยนผันขึ้นลงๆ สลับขั้วกันเหมือนในช่วงยุดหินขึ้นอีกครั้งแล้ว ซึ่งนั่นจะยากลำบากต่อการทำเกษตรขนานใหญ่ไปทั่วโลก!

ปัจจัยต่างๆ ที่ยกมาให้ดูร่วมกัน อาจทำให้อารยธรรมยุคใหม่ดูเหมือนจะมีโอกาสสิ้นสุดลงได้จริงๆ แต่นั่นก็ไม่ได้หมายความว่า เราควรจะยอมแพ้ให้กับการลดปริมาณก๊าซ CO2 และการรับมือต่อการเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศไปด้วย เช่น เราจะต้องมีการเปลี่ยนแปลงขั้นรุนแรงเกิดขึ้นในระบบอุตสาหกรรมการเกษตรของโลก สังคมเราต้องมีความเท่าเทียมกันมากยิ่งขึ้นในแง่ของความเป็นมนุษย์และโอกาสในการอยู่รอด หรือนำนโยบายเข้มงวดส่วนที่เหลือไปใช้ให้เกิดผลสูงสุด ความหวังของเราที่จะอยู่รอดต่อไปก็จะสูงมากขึ้นอย่างเห็นได้ชัด ถ้าหากเราควบคุมระดับอุณหภูมิที่เพิ่มขึ้นให้อยู่ที่ 3 องศา แทนที่จะเป็น 6 ถึง 8 องศา โดยการรวมพลของคนในสังคมทั่วโลก และใช้นโยบายทางสิ่งแวดล้อมอย่างเข้มงวด เพื่อลดผลกระทบขั้นร้ายแรงสุดจากการเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศ “หากมองถึงผลลัพธ์ในระยะยาว แนวคิดของการย้อนกลับคืนไปดำรงชีวิตในแบบเชนล่าสัตว์และเก็บของป่าคือความหวังเชิงบวกอย่างยิ่ง” นั่นก็เป็นเพราะว่า พวกเราทั้งหลายล้วนเป็นมนุษย์ในแบบชนล่าสัตว์และเก็บหาของป่ากันมาอยู่แล้ว และเราจะสามารถนำเอาธรรมชาติของมนุษย์ของเรากลับคืนมาได้ ก็ต่อเเมื่อตอนที่เราจะได้ย้อนกลับคืนไปดำรงชีวิตอยู่ในรูปแบบนั้นกันอีกครั้ง!

ตามที่ Clark et al. (2016 p. 366) กล่าวไว้ ดังนี้

“การประเมินมูลค่าความเสี่ยงจากผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศที่คำนวณถึงเพียงในเวลาอีก 85 ปีข้างหน้า [จนถึงปี ค.ศ. 2100] จะไม่เกิดผลสำเร็จในเรื่องจัดเตรียมข้อมูลสำคัญมากที่สุดให้กับผู้ที่มีส่วนได้ส่วนเสียร่วมกัน ให้กับสาธารณชน และให้กับผู้นำทางการเมืองที่จะเป็นคนที่ต้องตัดสินใจทางด้านนโยบายต่างๆ ในนามตัวแทนของทุกคน จากผลกระทบที่จะอยู่นานเป็นอีกหนึ่งพันปี”


ตัวอย่างภัยแห้งแล้งจัด คลองน้ำแห้งขอด ฝนทิ้งช่วงมานานกว่า 2 เดือน ได้เริ่มต้นขึ้นแล้วในปีนี้ของประเทศไทย ที่ จ.ชุมพร เมื่อเดือนที่แล้ว ทำให้ต้นทุเรียนเล็กยืนต้นตาย รวมถึงกระทบถึงพืชสวนอื่นๆ อีกด้วย(ขอบคุณภาพจากรายงานข่าวไทยรัฐออนไลน์)

สุดท้ายนี้ตนขออธิบายเพิ่มเติมเล็กน้อยกับหลักการและแนวคิดที่ว่า “เพื่อพวกเราทุกคนจะได้ย้อนคืนกลับมาเป็นชนพื้นเมืองด้วยกันอีกครั้ง” ตามที่กล่าวไว้ในหน้าแรกสุดนั้น แนวคิดนี้ได้มาจากองค์กรปกป้องและอนุรักษ์วิถีชีวิตของชนเผ่าพื้นเมืองอเมริกัน ซึ่งมุ่งเน้นทำงานด้านการฟื้นฟูวัฒนธรรมดั้งเดิม การรื้อฟื้นองค์ความรู้และภูมิปัญญาดั้งเดิมของชนพื้นเมืองต่างๆ ให้กลับคืนมาอยู่ในสังคมโลก เพื่อความอยู่รอดร่วมกันต่อไปได้ในอนาคต ตนขอยกตัวอย่างจากหนังสือเล่มนี้เลยที่ชื่อว่าOriginal Instructions: Indigenous Teachings for a Sustainable Future (เป็นหนังสือที่รวบรวมเอาเรื่องเล่าทางประวิติศาสตร์ คติคำสอน แนวคิดการฟื้นคืนวัฒนธรรมชนเผ่าพื้นเมืองไปทั่วโลก และเป็นบทสัมภาษณ์อันเรืองปัญญาของชนเผ่าพื้นเมืองอเมริกันกลุ่มต่างๆ ในประเทศแคนาดา และสหรัฐฯ  เขียนโดย Melissa K. Nelson,John Mohawk, Winona LaDuke, John Trudell และอีกหลายคน ร่วมกันกับองค์กร NGO Bioneers ผ่านการประชุมประจำปีตั้งแต่ปี ค.ศ.1990 ถึงปี ค.ศ 2006)

หนังสือเล่มนี้บอกกับชาวโลกว่า “พวกเราทั้งหลายล้วนเป็นชนพื้นเมืองกันทั้งนั้นมาแต่เกิดอยู่แล้ว” แต่ด้วยความที่ว่าโครงสร้างทางสังคมได้เปลี่ยนไปหมด จึงทำให้เราตัดขาดกับความเข้าใจนี้ไปตั้งแต่แรก แต่เราทั้งหลายล้วนที่จะสามารถย้อนกลับคืนมาเป็นชนพื้นเมืองร่วมกันอีกครั้งได้อย่างแน่นอน ถึงแม้ว่าโดยภาพรวมของชนพื้นเมืองทั่วโลกแล้ว มักจะถูกมองว่าเป็นเพียงชนกลุ่มน้อย แต่นั่นก็เป็นเพียงในแง่ของจำนวนประชากรเท่านั้น และ

“ชนเผ่าพื้นเมืองทั้งหลายไม่ใช่ชนกลุ่มน้อยเลยในแง่ขององค์ความรู้ดั้งเดิม วัฒนธรรม  และความหลากหลายทางความคิดที่ใช้งานได้ดีมากในการแก้ไขปัญหาของสังคมยุคใหม่ หรือ อย่างน้อยๆ ก็ใช้งานได้อย่างมีประสิทธิภาพมาโดยตลอดในสังคมของพวกเขาเอง”

องค์ความรู้ของชนเผ่าพื้นเมือง (Indigenous knowledge) หรือ ความรู้ดั้งเดิมทางนิเวศวิทยา (Traditional Ecological knowledge) มันก็คือรากฐานของวิทยาศาสตร์พื้นบ้าน (Native science) นั่นเอง ซึ่งชนพื้นเมืองได้รับมาจากความทรงจำจากรุ่นสู่รุ่น จากการเฝ้าสำรวจสิ่งต่างๆ รอบตัวอย่างใกล้ชิดและอย่างลึกซึ้ง จากเรื่องเล่าต่างๆ ที่ส่งต่อถึงกันมาอย่างยาวนาน และมันก็คือการได้มีองค์ความรู้และความเข้าใจถึงเรื่องราวต่างๆ มาด้วยการฝึกปฏิบัติตามกฎของธรรมชาติในแต่ละพื้นที่ทั่วโลกนั่งเอง “องค์ความรู้เช่นนี้เองคือความรู้ที่มีความสำคัญมากที่สุดเหนือสิ่งอื่นใดต่อการอยู่รอด”

ตนขอยกตัวอย่างแนวคิดเรื่องการย้อนกลับมาเป็นชนพื้นเมืองแบบสรุปสั้นๆ จากตัวบทหนึ่งที่ทรงคุณค่าต่อการอ่านมากยิ่ง ดังนี้ หลักการนี้นิยามขึ้นโดย John Mohawk และคณะ ในชื่อว่า “Re-Indigenization หรือ การนำเอาความเป็นคนพื้นเมืองกลับคืนมา” โดยการรื้อฟื้นวิถีชีวิตของชนเผ่าพื้นเมืองทั้งหลายทั่วโลกขึ้นมาใหม่ และการฟื้นฟูทางวัฒนธรรมดั้งเดิมทั้งหลายให้กลับมาอีกครั้ง ซึ่งการนำเอาความเป็นคนพื้นเมองกลับคืนมาจึงหมายความว่า

“เราทั้งหลายจะต้องปลดปล่อย ดวงจิตวิญญาณ ดวงกายและใจ ออกไปจากอำนาจมืดของชาวอาณิคมที่ครอบงำวิถีชีวิตของเราอยู่ให้ได้ก่อน และจึงนำเอาพลังใหม่ของวัฒนธรรมพื้นบ้านดั้งเดิม และวัฒนธรรมชนเผ่าพื้นเมืองดั้งเดิมในแต่ละท้องถิ่นของเราให้คืนชีพขึ้นมาอีกครั้ง”

ผ่านการย้อนกลับคืนมาศึกษาและเรียนรู้วิถีชีวิติของกลุ่มชนเผ่าพื้นเมือง และวิถีชีวิตพื้นบ้านในแต่ละท้องถิ่นที่ถือเป็นบ้านเกิด ซึ่งเต็มไปด้วยองค์ความรู้ดั้งเดิมของบรรพชนพวกเราเอง และจึงนำองค์ความรู้เก่าแก่เหล่านั้น “มาปรับใช้ในชีวิตประจำวันของเราให้มากยิ่งขึ้น” (ซึ่งก็ไม่จำเป็นว่า จะต้องนำทุกสิ่งอย่างกลับมาให้เหมือนเดิมทั้งหมดอย่างสุดโต่ง แต่มันคือการหยิบยกเอาหลายสิ่งอย่างที่เราเห็นว่ามันอาจจะใช้งานได้ดีกับตัวเรา ทั้งทรงคุณค่าและเต็มไปด้วยความหมายต่อการนำมาสืบทอดร่วมกันต่อไปได้ เช่น วิถีการเพาะปลูกดั้งเดิม วิถีการออกหาอาหารและนำมาประกอบเมนูพื้นบ้านดั้งเดิม วิถีความเชื่อทางจิตวิญญาณที่ตั้งอยู่บนการเคารพสิทธิและอำนาจศักดิ์สิทธิ์ของเหล่าพลังธรรมชาติ และที่สำคัญสุดเลยก็คือ บทบาทของมนุษย์เราที่จะดำรงอยู่อย่างถ้อยทีถ้อยอาศัยกับเพื่อนร่วมโลกที่เหลืออยู่ได้อย่างมั่นคงและสงบสุขตลอดไป)

ฉะนั้นการย้อนกลับมาเชื่อมโยงกลับกลุ่มคนที่ดำรงอยู่มาก่อนที่จะมีการเข้ายึดครองอำนาจ ก่อนที่จะมีการแบ่งเขตแดนที่อยู่อาศัยและประกาศเป็นประเทศ และก่อนจะมีการแบ่งชนชนทางสังคมกันเกิดขึ้นได้อีกครั้ง มันก็คือการย้อนกลับมาสร้างความเข้าใจใหม่เกี่ยวกับ “วิถีชีวิตตามธรรมชาติของมวลมนุษย์เรา มันคือการย้อนกลับมาใช้ภาษาพื้นถิ่น และยังช่วยอนุรักษ์ภาษาดั้งเดิมไว้ได้ไปในตัวด้วย มันคือการย้อนกลับมากินอาหารพื้นบ้านและอาหารพื้นเมืองของเราเอง เพื่อจะได้ช่วยอนุรักษ์และสืบสานวิถีการเพาะปลูกและวิธีการปรุงอาหารในเมนูต่างๆ ไว้บอกต่อให้กับลูกหลานรุ่นหน้าไปในตัว มันคือการย้อนกลับมารู้จักกับชนิดพืชพรรณในป่าใหญ่ สมุนไพรนานาชนิด และสัตว์ป่าประจำถิ่นกันอีกครั้ง เพื่อจะได้ย้อนกลับเรียนรู้ถึงวิธีการออกหาอาหาร การเตรียมอาหาร และการเยียวยารักษาตัวเองและครอบครัวในยามที่เจ็บป่วยได้กันเองอีกครั้ง มันคือการย้อนกลับมาดำรงอยู่ด้วยการพึ่งพาตัวเองและการพึ่งพิงอาศัยทรัพยากรธรรมชาติในท้องถิ่นได้อย่างตระหนักรู้ ซึ่งนั่นก็จะช่วยให้สังคมเรามีความยั่งยืนและไร้โรคภัยร้ายแรงต่างๆ ได้สูงขึ้นต่อไปในอนาคต เพราะการดำเนินชีวิตด้วยวิถีดั้งเดิมเช่นนี้ จะส่งผลให้พวกเราทั้งหลายมีปัญหาสุขภาพน้อยลงอีกด้วยในระยาว ยิ่งหากเรามีสิ่งแวดล้อมที่อุดมสมบูรณ์ได้ ทุกสิ่งมีชีวิตอื่นและตัวเราก็จะดำรงอยู่ต่อไปได้อย่างมีความสุข ไร้โรคภัยด้วยเช่นกัน” เป็นต้น

 ทั้งหมดที่ยกมานี้มันก็คือ แนวทางในการนำเอาความเป็นคนพื้นเมืองกลับมานั่นเอง และในขณะเดียวกัน วิธีการนี้ก็จะเป็นตัวช่วยให้เราทั้งหลายได้กลายมาเป็น คนที่มีความรู้สึกนึกคิด มีองค์ความรู้และวัฒนธรรมที่มีรากฐานมาจากที่ดินทำกินของตนเอง ได้เฉกเช่นเดียวกันกับชนเผ่าพื้นเมืองทั่วโลกกันอีกครั้ง และนั่นก็คือ“จุดเริ่มต้นในการดำรงอยู่ในแบบใหม่ของเหล่าผู้ละทิ้งยุคใหม่ร่วมกันสืบไป”

นำเสนอบทเขียนโดย อนุธิดา มูลนาม: (นกน้อยทำรังแต่พอตัว /นักแปลอิสระ: เน้นงานการกลับคืนสู่ธรรรมชาติ และวิถีชีวิตของชนเผ่าพื้นเมืองดั้งเดิม)