ชาวกะเหรี่ยงบ้านพุระกำและบ้านหนองตาดั้ง ร้องผู้ว่าฯ “เราไม่เอาเขื่อน” ค้านเขื่อนพุระกำ ชี้กระทบป่า

วันที่ 19 กันยายน 2566 ชาวชุมชนบ้านพุระกำและชาวบ้านจากบ้านหนองตาดั้ง อ.สวนผึ้ง จ.ราชบุรี ยื่นหนังสือต่อนาย รณภพ เหลืองไพโรจน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดราชบุรี เนื่องจากหน่วยงานภาครัฐมีแผนเดินหน้าผลักดันโครงการอ่างเก็บน้ำบ้านหนองตาดั้งในกลุ่มป่ามรดกโลกแก่งกระจาน เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าแม่น้ำภาชี ชาวชุมชนบ้านพุระกำทั้งหมดและบ้านหนองตาดั้ง บางส่วน มีเจตนารมณ์ในการคัดค้านถึงที่สุด โดยเห็นว่าโครงการดังกล่าวส่งผลกระทบต่อชุมชน ป่าไม้และสัตว์ป่า ทั้งยังเห็นว่าโครงการนี้ไม่คุ้มค่ากับการลงทุน และควรไปปรับปรุงระบบชลประทานที่มีอยู่ให้มีประสิทธิภาพจะใช้งบประมาณน้อยกว่าและแก้ไขปัญหาได้จริง ชี้หากเกิดโครงการจะส่งผลกระทบต่อชุมชนท้องถิ่นดั้งเดิม จำนวน 86 ครัวเรือน ทำให้สูญเสียที่ดินทำกินประมาณ 500 ไร่แล้ว พื้นที่อ่างเก็บน้ำยังอยู่ในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าแม่น้ำภาชี ซึ่งเป็น 1 ใน 4 ของกลุ่มป่าแก่งกระจาน ที่ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกจะต้องถูกน้ำท่วมอีกประมาณ 1,500 ไร่ รวมแล้วพื้นที่ที่ต้องถูกน้ำท่วมทั้งหมดกว่า 2,000 ไร่

โดยผลการศึกษาเพิ่มเติมในด้านสัตว์ป่า พบว่าบริเวณพื้นที่โดยรอบที่จะมีการก่อสร้างอ่างเก็บน้ำดังกล่าวมีสัตว์ป่าสำคัญอาศัยอยู่โดยมีหลักฐานเชิงประจักษ์จากกล้องดักถ่ายภาพสัตว์ป่าที่ชุมชน ร่วมกับเจ้าหน้าที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าแม่น้ำภาชีได้ร่วมกันไปติดตั้ง นอกจากนี้จากการสำรวจแหล่งน้ำโดยผู้เชี่ยวชาญปลาของประเทศไทยมีความเป็นไปได้ว่าจุดพื้นที่น้ำท่วมอาจพบปลาชนิดใหม่ของโลกอีกด้วย

ทั้งนี้ กสม. คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติได้ลงพื้นที่บ้านหนองตาดั้งและบ้านพุระกำ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าแม่น้ำภาชี เพื่อตรวจตามสิทธิที่พึงมีของชุมชน ในการมีส่วนร่วมจัดการทรัพยากรธรรมชาติ ตามมาตรา 43

“มาตรา 43 บุคคลและชุมชนย่อมมีสิทธิ

(1) อนุรักษ์ฟื้นฟูหรือส่งเสริมภูมิปัญญา ศิลปะ วัฒนธรรม ขนบธรรมเนียม และจารีตประเพณีอันดีงามทั้งของท้องถิ่นและของชาติ

(2) จัดการ บำรุงรักษา และใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติ สิ่งแวดล้อมและความหลากหลายทางชีวภาพอย่างสมดุลและยั่งยืนตามวิธีการที่กฎหมายบัญญัติ

(3) เข้าชื่อกันเพื่อเสนอแนะต่อหน่วยงานของรัฐให้ดำเนินการใดอันจะเป็นประโยชน์ต่อประชาชนหรือชุมชน หรืองดเว้นการดำเนินการใดอันจะกระทบต่อความเป็นอยู่อย่างสงบสุขของประชาชนหรือชุมชน และได้รับแจ้งผลการพิจารณาโดยรวดเร็ว ทั้งนี้ หน่วยงานของรัฐต้องพิจารณาข้อเสนอแนะนั้นโดยให้ประชาชนที่เกี่ยวข้องมีส่วนร่วมในการพิจารณาด้วยตามวิธีการที่กฎหมายบัญญัติ

(4) จัดให้มีระบบสวัสดิการของชุมชน สิทธิของบุคคลและชุมชนตามวรรคหนึ่ง หมายความรวมถึงสิทธิที่จะร่วมกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นหรือรัฐในการดำเนินการดังกล่าวด้วย”.

นอกจากสิทธิที่ประชาชนจะมีในมาตรา 43 แล้ว รัฐธรรมนูญฉบับนี้ ยังกำหนดหน้าที่ของรัฐ ในประเด็นที่เกี่ยวข้องเอาไว้ในมาตรา 57-58 กำหนดให้รัฐอนุรักษ์ คุ้มครอง ฟื้นฟู และใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติ โดยให้ชุมชนท้องถิ่นมีส่วนร่วม ให้รัฐต้องทำรายงานผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ (EIA, HIA) และรับฟังความคิดเห็นของประชาชนก่อนดำเนินโครงการต่างๆ ฯลฯ

กสม. คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ รวบรวมและรับฟังข้อเท็จจริงในพื้นที่และประชุมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง พบว่ามีประเด็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนตามฐานสิทธิ ทางคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติได้ส่งคำวินิจฉัยและข้อเสนอมาตรการไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อดำเนินการแก้ไขปัญหาต่อไป

https://drive.google.com/file/d/105deHmG_i3C8udoWdJc7hlxeRCK0GIwk/view?usp=drive_link

ส่วนชาวกะเหรี่ยงบ้านพุระกำและบ้านหนองตาดั้ง มีเจตนารมณ์ในการคัดค้านถึงที่สุด

ชาวบ้านไม่เอาอ่างเก็บน้ำบ้านหนองตาดั้ง