แถลงการณ์เครือข่ายกะเหรี่ยงเพื่อวัฒนธรรมและสิ่งแวดล้อม (กวส.)

เครือข่ายกะเหรี่ยงเพื่อวัฒนธรรมและสิ่งแวดล้อม (กวส.) ภายใต้ความร่วมมือของนักกิจกรรม ผู้นำชุมชนชาวกะเหรี่ยง นักวิชาการชาติพันธุ์ และองค์กรภาคประชาสังคมที่ผลักดันรณรงค์ขับเคลื่อนเพื่อสร้างความมั่นคงในที่ดิน ที่ทำกิน ที่อยู่อาศัย พื้นที่ทางจิตวิญญาณ และการพัฒนสคุณภาพชีวิต รวมทั้งการสืบทอดวิถีวัฒนธรรมของกลุ่มชาติพันธุ์กะเหรี่ยงที่อาศัยอยูในพื้นที่ต่าง ๆ ได้แก่ เชียงใหม่ เชียงราย แม่ฮ่องสอน ลำพูน ลำปาง แพร่ ตาก สุโขทัย กำแพงเพชร กาญจนบุรี สุพรรณบุรี อุทัยธานี ราชบุรี เพชรบุรี และประจวบคีรีขันธ์ จึงได้จัดตั้งกลไกเชื่อมประสานในการดำเนินกิจกรรมร่วมกัน โดยเฉพาะการดำรงรักษาไว้ซึ่งประเพณี วัฒนธรรมอันดีงาม องค์ความรู้ ภูมิปัญญาพื้นบ้าน การจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยชุมชนชาติพันธุ์ท้องถิ่นที่มีการปฏิบัติและสืบทอดกันมาตั้งแต่บรรพบุรุษ สอดคล้องกับการอยู่ร่วมกันในพหุสังคมที่เป็นธรรม สันติและยั่งยืน

การประชุมเครือข่ายฯ เพื่อถอดบทเรียนการขับเคลื่อนพื้นที่เขตวัฒนธรรมพิเศษตามนโยบายฟื้นฟูวิถีชีวิตชาวกะหรี่ยง ระหว่างวันที่ 25-26 กันยายน 2566 เพื่อสรุปความคืบหน้า ปัญหาและอุปสรรค ในการขับเคลื่อนกิจกรรมเพื่อปกป้องสิทธิ์เครือข่ายฯ ดังกล่าวแล้วข้างต้น พร้อมรับฟังความเห็นและข้อเสนอแนะจากสมาชิกเครือข่ายฯ และภาคีต่างๆ ทั้งภาครัฐ และเอกชน รวมทั้งผู้แทนชุมชนต่างๆ เข้ามามีส่วนร่วมในการสรุปบทเรียน โดยเน้นเนื้อหา 13 ปีการขับเคลื่อนกิจกรรมภายใต้มติคณะรัฐมนตรี 3 สิงหาคม 2553 โดยเฉพาะการถอดประสบการณ์พื้นที่วัฒนธรรมพิเศษในพื้นที่นำร่องจังหวัดเชียงใหม่ พร้อมทั้งเชิญพื้นที่อื่นๆ ที่สนใจมาร่วมแลกเปลี่ยน เพื่อเอามาบทเรียน และใช้ในการวางกระบวนการขับเคลื่อนเครือข่ายฯ และกิจกรรมภายใต้มติคณะรัฐมนตรีดังกล่าวนี้ ให้นำไปสู่การปฏิบัติการจริงต่อไปนั้น

13 ปี นับตั้งแต่การประกาศใช้มติคณะรัฐมนตรี 3 สิงหาคม 2553 ถึงวันนี้เป็นที่ประจักษ์แล้วว่า แนวนโยบายในการฟื้นฟูวิถีชีวิตชาวกะเหรี่ยง” กำลังเผชิญกับกฎหมายที่ไม่เป็นธรรม โดยเฉพาะพระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติ พ.ศ. 2562, พระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2562, มติคณะรัฐมนตรี 26 พฤศจิกายน 2561 เรื่อง พื้นที่เป้าหมายและกรอบมาตรการแก้ไขปัญหาการอยู่อาศัยและทำกินในพื้นที่ป่าไม้ (ทุกประเภท) ล้วนไม่สอดรับกับแนวคิดสิทธิชุมชน วิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ “คนอยู่ป่า” และการปกป้องกลุ่มชาติพันธุ์และชนเผ่าพื้นเมือง โดยเฉพาะกรณีรัฐบาลมีนโยบายที่สนับสนุนการฟอกเขียวของภาคอุตสาหกรรมที่ปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจก อันเป็นสาเหตุที่ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศหรือปัญหาโลกร้อน ดังปรากฏคำแถลงว่า “รัฐบาลจะสานต่อนโยบาย Carbon Neutrality เพื่อให้ประเทศไทยเป็นผู้นำของอาเซียนในด้านการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สู่ชั้นบรรยากาศ” นั้น ยิ่งจะทำให้ที่ดินของกลุ่มชาติพันธุ์ถูกแย่งยึดเพื่อเอาไปทำโครงการ “ปลูกป่า” เราเรียกร้องให้รัฐหยุดนโยบาย “ฟอกเขียว” โดยข้ออ้างโลกร้อนแล้วแย่งที่ดินที่ทำของผู้ยากไร้ คนชายขอบ และกลุ่มชาติพันธุ์ ดังปรากฎโครงการปลูกป่าทับที่ทำกินของชุมชนกลุ่มชาติพันธุ์ในพื้นที่เครือข่ายฯ เราเห็นว่า นโยบายการค้าคาร์บอนเครดิต ตามแนวนโยบาย BCG Model นอกจากจะไม่แก้ไขปัญหาโลกร้อนแล้ว โครงการดังกล่าวยังเอื้อประโยชน์กลุ่มทุนรายใหญ่ที่ทำลายสิ่งแวดล้อมและละเมิดสิทธิมนุษยชน ได้ทำฟอกตัวเอง เสมือนผู้รักษ์โลก ทั้ง ๆ ทุนรายใหญ่เหล่านั้นคือผู้ทำลายโลก

เพื่อให้บรรลุการคุ้มครองพื้นที่วัฒนธรรมของชุมชนกะเหรี่ยง เครือข่ายฯ และภาคประชาสังคม เห็นพ้องต้องกันว่าให้การขับเคลื่อนเพื่อยกระดับมติคณะรัฐมนตรี 3 สิงหาคม 2553 ให้สามารถคุ้มครองวิถีชีวิตอย่างเป็นรูปธรรม จึงมีข้อเสนอต่อผู้ที่เกี่ยวข้องดังต่อไปนี้

1.ขอเรียกร้องให้เครือข่ายชุมชนกะเหรี่ยงในประเทศไทย และภาคีเครือข่ายออกแบบกระบวนการเรียนรู้ มติ ครม. 3 สิงหาคม 2553 อย่างเข้าใจ เพื่อเป็นเครื่องมือในการฟื้นฟู ปกป้อง พัฒนา ปรับตัวและยกระดับวิถีชีวิตคนกะเหรี่ยงท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงอย่างอยู่รอด อยู่ร่วม อย่างมีศักดิ์ศรี

2.ขอให้รัฐมีกฎหมายรับรองไร่หมุนเวียน เป็นระบบการเกษตรภูมิปัญญาตามมรดกวัฒนธรรมของชนเผ่ากะเหรี่ยง เพื่อให้สามารถสืบทอดวิถีการทำไร่หมุนเวียนได้อย่างมีความมั่นคงปลอดภัย ดุลยภาพและยั่งยืน

3. ขอเรียกร้องให้รัฐบาลผลักดันให้มีกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองสิทธิและส่งเสริมวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์และชนเผ่าพื้นเมือง


.4. ขอเร่งให้รัฐมีการออกกฎหมายว่าด้วยการนิรโทษกรรมคดีป่าไม้-ที่ดิน และกฎหมายป้องกันการซ้อมทรมาน-อุ้มหาย ให้มีผลบังคับใช้โดยเร็วที่สุดสืบไป

——————————————-
ด้วยความเชื่อมั่นในอยู่ร่วมกันระหว่างคน ทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งเหนือธรรมชาติ

#เครือข่ายกะเหรี่ยงเพื่อวัฒนธรรมและสิ่งแวดล้อม (กวส.)
ณ #สมาคมศูนย์รวมการศึกษาและวัฒนธรรมของชาวไทยภูเขาในประเทศไทย (IMPECT)
26 กันยายน 2566