พระศรีสุวรรณคีรี

พระศรีสุวรรณคีรี

พระยาศรีสุวรรณคีรี เจ้าเมืองสังขละบุรี นายด่านพระเจดีย์สามองค์

พระศรีสุวรรณเป็นชื่อตำแหน่งของเจ้าเมืองสังขละบุรี กาญจนบุรี เมืองสังขละบุรีมีเจ้าเมืองสืบต่อกันมาหลายคน ชื่อสังขละบุรีปรากฏครั้ง,แรกเมื่อครั้งที่พระนเรศวรและพระอนุชานำกองทัพไปตีเมืองหงสาวดี ในปี พ.ศ.2126 กองทัพของพระองค์ได้หยุดพักที่สังขละบุรี ในปี พ.ศ.2365 ขุนพินิจ ลูกชายขุนสุวรรณนำกองกำลังกะเหรี่ยง 38 คน มอญ 74 คน เข้าไปหาข่าวได้ซุ่มไล่จับทหารพม่า 8 คน จับได้ 2 คน รัชกาลที่ 2 พระองค์ได้ให้ตำแหน่งกับผู้นำกะเหรี่ยงสังขละบุรีว่า ขุนสุวรรณ ตามระเบียบราชการสังขละบุรีถูกจัดให้เป็นหัวเมืองแขวงชั้นสามของเขตการปกครองเช่นเดียวกับศรีสวัสดิ์ มีคณะกรรมการปกครอง 52 คน ที่มาของชื่อพระศรีสุวรรณคีรี

ตำแหน่งพระสุวรรณเป็นตำแหน่งที่รัชกาลที่ 3 มอบให้แก่ผู้นำชาวกะเหรี่ยงเมื่อพระองค์ยกฐานะเมืองสังขละบุรีเทียบเท่าหัวเมือง พระศรีสุวรรณ หรือ ขุนสุวรรณ ท่านแรกมีชื่อกะเหรี่ยงว่า ภูวะโพ่ ได้ปกครองอาณาเขตที่มีแหล่งแร่ทองคำ กระจายกันอยู่มากมาย กษัตริย์ไทยจึงได้ตั้งชื่อตำแหน่งตามข้อเท็จจริง ของทรัพยากรที่มีค่าคือแร่ทองคำที่มีอยู่ในพื้นที่เขตปกครองของเมืองสังขละบุรี พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 3 ยังได้พระราชทาน ลูกประคำทองคำและพระแก้วให้แก่พระยาศรีสุวรรณคีรี เจ้าเมืองสังขละบุรี พระแก้วเป็นพระบ้านคู่เมืองสังขละบุรี ปัจจุบันได้ถูกเก็บรักษาไว้อย่างปลอดภัยที่วัดสนีผ้อง หมู่บ้านกะเหรี่ยงที่เคยเป็นที่ตั้งของเมืองสังขละบุรีในอดีต

พระศรีสุววณ คนสุดท้าย ที่เป็นนายอำเภอสังขละบุรีคนแรก

ลำดับพระศรีสุวรรณเจ้าเมืองสังขละบุรี

ตำแหน่งพระศรีสุวรรณ เจ้าเมืองสังขละบุรี ได้รับการสืบทอดกันโดยผ่านสายตระกูลของผู้นำชาวกะเหรี่ยงโผล่ว จากเอกสาร สมุดราชบุรี และจากปากคำบอกเล่าของชาวกะเหรี่ยงสังขละบุรี พระศรีสุวรรณ เจ้าเมืองสังขละบุรี มี 5 ท่าน#กะเหรี่ยง 1.พระยาศรีสุวรรณคีรี(ขุนสุวรรณ) ภูวะโพ่

2.พระศรีสุวรรณคีรี กรมเมจะ เป็นลูกของ ภูวะโพ่

3.พระศรีสุวรรณคีรี ยังมะตุ เป็นลูกของ ภูวะโพ่

4.พระศรีสุวรรณคีรี ปวยดองภู เป็นหลานของ กรมเมจะ

5. พระศรีสุวรรณคีรี ทะเจียงโปรย เลื่อนขึ้นมาจาก หลวงวิเศษสงคราม ลูกของปวยดองภู พระยาศรีสุวรรณคีรี เจ้าเมืองสังขละบุรีได้รับได้รับพระราชทานเบี้ยหวัดเงินปีปีละ 60 บาท ต้องลงไปถือน้ำพิพัฒน์สัตยา ที่เมืองกาญจนบุรี 3 ปีต่อครั้ง นำเครื่องราชบรรณาการเช่นต้นไม้ทำด้วยเงิน 2 ต้น มีผ้าขาว ผ้าแดง ที่ที่กะเหรี่ยงทำเอง 20 ผืน ที่เรียกว่าผ้าเสมียนละว้า เครื่องยาและของป่า รวมทั้งแร่ทองคำ แร่ดีบุก ที่เรียกว่าส่วยทอง ส่วยดีบุก ไปถวายพระเจ้าแผ่นดินที่กรุงเทพ โดยมีพระยาพลเทพปลัดทูลฉลองกระทรวงกลาโหม

พระพุทธรูปคู่เมืองสังขละบุรี รัชกาลที่3มอบให้พระศรีสุวรรณเจ้าเมืองสังขละบุรี

พระศรีสุวรรณทะเจียงโปรยเจ้าเมืองสังขละบุรี คนสุดท้าย

เป็นผู้นำเข้าเฝ้าพระศรีสุวรรณคีรี ทะเจียงโปรย เสตะพันธุ ได้สร้างบ้านอยู่ที่บ้านสะนีผ้องต.ไล่โว่ อ.สังขละบุรี ต่อมาได้ย้ายออกมาอยู่ที่บริเวณอำเภอสังขละบุรี ที่เรียกว่า สามสบ การย้ายจากบ้านสะนีผ้อง ออกมาอยู่ที่บริเวณบ้านนี่เถะ(บ้านต้นผึ้ง) นั้นเนื่องจากบ้านนี่เถะ อยู่ริมน้ำสามสบ สะดวกในการติดต่อกับภายนอก ชาวบ้านกะเหรี่ยงโผล่วบ้านสะนีผ้อง เล่าสืบต่อกันมาว่าเหตุที่พระศรีสุวรรณต้องย้ายบ้านออกมาอยู่ที่บ้านนี่เถะ (ต้นผึ้ง) เพราะพระศรีสุวรรณกระทำผิดจารีตประเพณีของชาวกะเหรี่ยง ที่พระศรีสุวรรณไปมีภรรยาอีกสองคนคือภรรยาที่เป็นคนมอญ และคนไทย ความผิดเช่นนี้เป็นความผิดที่ร้ายแรงมากในสังคมของชาวกะเหรี่ยง แม้แต่แม่พระธรณีก็ไม่พอใจ จึงทำให้พื้นดินที่พระศรีสุวรรณสร้างบ้านอยู่ถึงกับทรุดตัวยุบลงมา พระศรีสุวรรณถูกห้ามจากฤาษีบ้านเลตองคุไม่ให้ขึ้นมากราบนมัสการเพื่อจะถวายเทียนขี้ผึ้งที่มีน้ำหนักเท่ากับน้ำหนักของตัวเจ้าเมือง ตามประเพณีในลัทธิตะละคง ที่เจ้าเมืองสังขละบุรีทุกท่านได้ปฏิบัติสืบทอดกันมาในทุกๆ 3 ปี เมื่อพระยาวรเดชศักดาวุธข้าหลวงเทศาภิบาลมณฑลราชบุรี ได้เดินทางเข้าไปยังบ้านสะนีผ้อง เมื่อวันที่ 31 ธันวาคม 2443 บ้านสะนีผ้องอันเป็นเมืองสังขละบุรีที่พระศรีสุววณฯตั้งบ้านอยู่ มีบ้านกะเหรี่ยง 33 หลัง ประชากร 160 คน พระยาวรเดชศักดาวุธเห็นว่าราษฎรหน้าตาเป็นสุขพระยาวรเดชได้แนะนำให้พระศรีสุวรรณฯหาไม้สักมาปลูกและให้ถือว่าป่าไม้สักเป็นของหลวง พระศรีสุวรรณคีรีได้รับการแต่งตั้งเป็นนายอำเภอสังขละบุรีก่อนหน้านั้น พระยาวรเดชศักดาวุธพร้อมด้วยพระยาประสิทธิเจ้าเมืองกาญจนบุรีได้ให้พระศรีสุวรรณหาคนกะเหรี่ยงจำนวน 7 คนเพื่อฝึกหัดให้เป็นตำรวจ ภูธร ให้คนกะเหรี่ยงช่วยกันสร้างโรงตำรวจสิ้นเงินจำนวน 447 บาทให้ราษฎรปลูกต้นสักจำนวน 300 ต้น พระยาวรเดชฯเห็นว่าพระศรีสุวรรณมีบุตรหลานกำลังรุ่นหนุ่มสาวหลายคนแต่ยังไม่รู้หนังสือไทยจึงแนะนำให้ส่งลูกหลานไปเรียนฝึกหัดที่เมืองกาญจนบุรี เมื่อจบแล้วจะได้ส่งไปเรียนต่อที่โรงเรียนฝึกหัดราชการกระทรวงมหาดไทยกรุงเทพ พระศรีสุวรรณฯรับปากว่าจะส่งไปให้เรียน

ภายหลังจากเสร็จภาระกิจการสำรวจตรวจราชการพระยาวรเดชฯ ได้สรุปรายงานและกราบทูลต่อ พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหลวงดำรงราชานุภาพ เสนาบดีกระทรวงมหาดไทย ว่าให้เก็บเงินค่าราชการต่อชาวกะเหรี่ยงที่อยู่ในถิ่นกันดาร โปรดเกล้าให้เก็บคนละกึ่งตำลึงตามสมควรแก่ภูมิประเทศ ยังได้เสนอแนะแก่พระยาประสิทธิ์และพระศรีสุวรรณว่า ให้นำคนกะเหรี่ยงที่อยู่กระจัดกระจายกันในที่ห่างไกลตามถูเขา ให้มาอยู่รวมกันเป็นชุมชนตามริมน้ำ เพื่อจะได้ไม่ต้องอพยพโยกย้ายตามธรรมเนียมของชาวกะเหรี่ยง และเป็นสิ่งที่จะชักนำให้เรือสินค้านำสินค้ามาขาย และเพื่อให้อำเภอไทรโยค อำเภอวังกะ และอำเภอศรีสวัสดิ์ ซึ่งมีประชากรส่วนมากเป็นชาวกะเหรี่ยง มีความเจริญนั้นสมควรให้ราษฎรทำการค้า ขาย ตัดไม้ ฟันเสา หรือปลูกพืชที่จะเป็นสินค้า จะทำให้ราษฎรมีรายได้อันจะเป็นประโยชน์กับรัฐบาล

ครอบครัวพระศรีสุวรรณคีรี

ชาวกะเหรี่ยงกาญจนบุรีให้ความยกย่องสถานะของเจ้าเมืองสังขละบุรีเป็นดังเช่นเมืองประเทศราช พระศรีสุวรรณคีรีจึงมีสถานะดังเช่นกษัตริย์ของชาวกะเหรี่ยง เมืองสังขละบุรีมีพลเมืองที่เป็นทั้งมอญ พม่า ละว้า ลาว จีน และคนไทย พระศรีสุวรรณฯมีภรรยาที่เป็นคนเชื้อสายกะเหรี่ยงชื่อว่า นังติวัง มีลูกด้วยกัน 6 คน ลูกชายคนโตที่เกิดกับภรรยากะเหรี่ยงพระศรีสุวรรณคาดหวังให้เป็นผู้ที่จะสืบตำแหน่งแทนตน ท่านได้ส่งลูกชายคนโตไปเรียนหนังสือที่กรุงเทพฯตามที่พระยาวรเดชศักดาวุธได้แนะนำ ปรากฏว่าบุตรชายคนโตผู้นี้ได้หายสาบสูญไปไม่มีผู้ใดพบเห็น บ้างก็ว่าเป็นเรื่องการเมืองที่พวกอังกฤษได้ลักตัวไปที่ประเทศอังกฤษ บ้างก็ว่าฝรั่งขอตัวไปเลี้ยงเป็นบุตรบุญธรรม บ้างก็ว่าเสียชีวิตเพราะเจ็บป่วย บ้างก็สงสัยว่าเป็นเรื่องภายในครอบครัว เนื่องจากการมีภรรยาหลายคน การหายสาบสูญไปของลูกชายพระศรีสุวรรณที่เป็นลูกที่เกิดจากภรรยากะเหรี่ยงยังคงเป็นปริศนามาจนถึงวันนี้ ลูกสาวคนเล็กที่ชื่อ กอเปี้ยะ เสตะพันธุ ได้แต่งงานกับ ร.ต.ท.ขุนปรีย์ ประชาบาล ผบ.กอง.ตร.ภูธร สังขละบุรี พระศรีสุวรรณคีรีมีภรรยาเป็นคนมอญชื่อ “นางอีเข่ง”หรือ เฮ็ม มีลูกด้วยกัน 4 คน ปัจจุบันยังมีทายาทสายมอญอยู่ทางบ้านห้วยมาลัย ต.หนองลู อำเภอสังขละบุรี พระศรีสุวรรณฯต้องลงมาถือน้ำพิพัฒสัตยาที่เมืองกาญจนบุรี ทุกๆ 3 ปี โดยการเดินทางจากสังขละบุรี ต้องล่องเรืองลงตามลำน้ำแควน้อยมาขึ้นฝั่งที่หน้าเมืองกาญจนบุรี บริเวณท่าน้ำหน้าเมืองเป็นย่านธุรกิจการค้าของคนเมืองกาญจนบุรี พระศรีสุวรรณคีรีได้รู้จักคุ้นเคยกับครอบครัวพ่อค้าที่ทำการค้ากับคนกะเหรี่ยง ในปี พ.ศ.2444 จึงได้ภรรยาคนไทยอีก 1 คน ชื่อว่าแม่โยง หรือ (หยุ่น) ขณะที่อายุ 19 ปี เป็นลูกสาวของแม่ทองคำ คนบ้านหนองขาว ทั้งคู่ได้ทำการค้ามีตึกแถวอยู่ตรงข้ามกับประตูหน้าเมืองกาญจนบุรี ซึ่งยังอยู่จนถึงวันนี้ มีบุตรด้วยกัน 1 คน ชื่อ ร้อยตรี สมจิตร เสตะพันธ์ มีโอกาสเรียนหนังสือที่โรงเรียนสวนกุหลาบ แต่ต้องออกจากโรงเรียนเพราะบิดาคือพระศรีสุวรรณเสียชีวิต ได้เข้าร่วมรบในสงครามอินโดจีนจนได้เลื่อนยศเป็น ร้อยตรี สมจิตร เสตะพันธุ์ได้ทำธุรกิจเหมืองแร่ในเขต ปิล็อค ทองผาภูมิ สร้างความมั่งคั่งแก่ตระกูล เสตะพันธ์ ร้อยตรี สมจิตร ยังได้รับเลือกให้เป็นนายกเทศมนตรีเมืองกาญจนบุรีในสมัยต่อมา .

ในปี พ.ศ.2467 พระศรีสุวรรรคีรี ทะเจียงโปรย เสตะพันธุ นายอำเภอสังขละบุรี ได้ลาออกจากราชการเพราะความชรา ได้รับพระราชทานบำนาญเดือนละ 156 บาท 25 สตางค์ ได้รับพระราชทานนามสกุล “ เสตะพันธุ ”จากพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 6

บ้านของพระศรีสุววณ ในเมืองกาญจนบุรี อยู๋บริเวณ ประตูเมืองกาญจนบุรี

อ้างอิง

ความเป็นมาของกะเหรี่ยง พ.ศ.2393-2475 เอกสาร โรเนียว สมภพ ลาชโรจช์ แปลสมุดราชบุรี 2468 น. 24 บันทึกการตรวจราชการพระยาวรเดชศักดาวุธ 2443 หอจดหมายเหตุ
ตะละคง เป็นภาษามอญ เป็นชื่อของลัทธิหนึ่งของพุทธศาสนาบางครั้งก็เรียกว่าลัทธิฤาษี ที่มี ฤาษีเป็นผู้นำ ผู้เล่า มหาสุชาติ เสตะพันธุ์ ทายาทพระศรีสุวรรณ ปัจจุบันเป็นครู ก.ศ.น.บ้าน กองม่องทะ ต.ไล่โว่
อ.สังขลบุรี และ ผู้ใหญ่ หม่อเอหมี่ บ้านเลตองคุ ต.แม่จัน อ.อุ้มผาง จ.ตาก
สมชาย ศรีสุข 2544 บทบาทหน้าที่ผู้บริหารกับการอนุรักษ์วัฒนธรรมและวรรณกรรมท้องถิ่น อำเภอสังขละบุรี ประวัติพระศรีสุวรรณคีรี ที่สัมภาษณ์ ส.ต.ท.ชาญชัย เสตะพันธุ ทายาทรุ่นที่ 8

เขียนโดย: อาจารย์วุฒิ บุญเลิศ