ชนเผ่าพื้นเมืองสร้างสังคมและวัฒนธรรม ในการทำมาหากิน การผลิต และการใช้ชีวิตที่สัมพันธ์กับปัจจัยธรรมชาติ ดิน ฟ้า อากาศ จึงเป็นตัวกำหนดวิถีชีวิตของพวกเขาให้ทำไร่ ทำสวน ทำการประมง ตามแต่ละฤดูกาลที่ธรรมชาติออกแบบมาให้
ต่างจากชีวิตในสังคมเมืองที่ ณ ปัจจุบัน ถูกขับเคลื่อนโดยไม่จำเป็นต้องพึ่งพาปัจจัยธรรมชาติ
มากนัก แม้กระทั่งสังคมเกษตรกรรมยุคใหม่ที่มีระบบชลประทานรองรับ ชีวิตของผู้คนในเมืองจึงขึ้นอยู่กับกลไกตลาดและอำนาจรัฐเสียมากกว่า
“ชีวิตของคนชนเผ่า ตั้งแต่ยอดเขาจนถึงท้องทะเล สัมพันธ์กับความเปลี่ยนแปลงของธรรมชาติมากกว่ากลุ่มอื่นๆ”

กฤษฎา บุญชัย เลขาธิการมูลนิธิชุมชนท้องถิ่นพัฒนา องค์กรที่ทำงานเรื่องสิทธิชุมชน ต่อทรัพยากรและการพัฒนาที่ยั่งยืนมา 30 กว่าปี รวมทั้งเขายังเป็นเลขาธิการสมัชชาองค์กรเอกชน ด้านการคุ้มครองสิ่งแวดล้อมและการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ เครือข่ายภาคประชาสังคมด้านสิ่งแวดล้อมที่มารวมตัวกันภายใต้การสนับสนุนของกรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม
IMN ได้พูดคุยกับกฤษฎา ถึงผลกระทบที่ชนเผ่าพื้นเมืองต้องเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ พวกเขาอยู่ในบทบาทใดในปัญหาระดับโลกครั้งนี้ และชนเผ่าพื้นเมืองที่ถือเป็นคนกลุ่มน้อย แต่กลับสร้างผลกระทบต่อสภาพภูมิอากาศได้อย่างมีนัยสำคัญ กฤษฎาได้ให้มุมมองของเขาในฐานะนักมานุษยวิทยาและผู้เคลื่อนไหวทางด้านสิ่งแวดล้อมต่อเรื่องดังกล่าว
เมื่ออำนาจรัฐและกลไกตลาด ทำลายความสามารถในการปรับตัวของชนเผ่าพื้นเมือง
“ดั้งเดิมชนเผ่าพื้นเมืองมีความยืดหยุ่น พวกเขามีวิธีการปรับตัวโดยอาศัยปัจจัยธรรมชาติ”
กฤษฎายกตัวอย่างว่าหากปีไหนเกิดภัยแล้ง ชาวกะเหรี่ยงจะใช้วิธีการปลูกข้าวร่วมแปลงกัน และแบ่งข้าวกัน หรือสามารถเลือกแปลงเพาะปลูกใหม่โดยการทำไร่หมุนเวียน ให้เหมาะสมกับสภาพภูมิอากาศในปีนั้นๆ
แต่ในช่วงหลายสิบปีที่ผ่านมา เมื่อนโยบายจากรัฐและกลไกตลาดเข้าถึงกลุ่มชนเผ่าพื้นเมือง เช่น นโยบายป่าไม้ที่ดิน, เขตป่าอนุรักษ์ต่างๆ ที่ซ้อนทับอยู่กับที่ดินของชนเผ่าพื้นเมือง รวมทั้งกลไกตลาดที่ทำให้พวกเขาต้องการเงินสดมากขึ้น สิ่งเหล่านี้ทำให้ชนเผ่าพื้นเมืองไม่มีอิสระในการทำมาหากิน และปรับตัวเหมือนที่ผ่านมา
“กลายเป็นว่าตอนนี้ชนพื้นเมืองเป็นกลุ่มคนที่เปราะบางที่สุด เมื่อเขาเผชิญการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศขึ้นมา เขาปรับระบบการผลิตของตัวเองไม่ได้”
กฤษฎาอธิบายว่าการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ ไม่ใช่ปัจจัยเดี่ยวที่มีผลต่อชนเผ่าพื้นเมือง แต่มีปัจจัยอื่นๆ เข้ามาเสริมความเปราะบางเช่น โครงการสร้างเขื่อนขนาดใหญ่, การทำเหมืองแร่, นิคมอุตสาหกรรมขนาดใหญ่, โรงไฟฟ้า เป็นต้น
สิ่งเหล่านี้ทำให้สิทธิในทรัพยากรธรรมชาติถูกลิดรอนไป เพราะชนเผ่าพื้นเมืองไม่มีอำนาจในการต่อรอง ทั้งกฎหมายก็ไม่ได้คุ้มครองพวกเขา เมื่อต้องเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในเวลาเดียวกัน จึงเป็นปัจจัยซ้ำเติมให้พวกเขาปรับตัวรับการเปลี่ยนแปลงไม่ทัน
แต่ในขณะที่กลุ่มชนเผ่าพื้นเมืองกำลังได้รับผลกระทบโดยตรงจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ สหประชาชาติก็ได้พูดถึงเรื่องโลกร้อนและความหลากทางชีวภาพ โดยมีการยืนยันว่าพื้นที่ที่มีธรรมชาติสมบูรณ์ และทำหน้าที่ดูดซับก๊าซเรือนกระจกได้ดีที่สุด ส่วนใหญ่ร้อยละ 80% อยู่ในวิถีชีวิตการดูแลของชนเผ่าพื้นเมือง
ดังนั้นแล้วนอกจากการเป็นผู้ได้รับผลกระทบ ชนเผ่าพื้นเมืองยังเป็นตัวละครสำคัญ ที่กฤษฎานิยามว่า เป็นกลุ่มคนที่มีความรับผิดชอบต่อสังคม (Active citizen) ในการปกป้องทรัพยากรธรรมชาติ อันส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศโดยรวม

คุ้มครองสิทธิของชนเผ่าเท่ากับคุ้มครองสิทธิในทรัพยากรธรรมชาติ
“เรื่องโลกร้อน เราต้องไม่มองชนเผ่าพื้นเมืองในมิติของผู้ประสบภัย แต่ต้องมองพวกเขาในฐานะต้นแบบ ผู้คนที่ทำหน้าที่ปกป้องระบบนิเวศน์ เป็นเหตุผลสำคัญว่าทำไมเราถึงต้องสนใจ เรียนรู้วิถีชีวิตและการจัดการทรัพยากรของพวกเขา”
กฤษฎามองว่าเพราะสังคมโลกปัจจุบัน เป็นสังคมคาร์บอนสูงที่ทำร้ายธรรมชาติ ระบบทุนนิยมใช้ธรรมชาติเป็นปัจจัยการผลิต เพื่อความมั่งคั่งและการเติบโต จึงทำให้สังคมอยู่ร่วมกับธรรมชาติแบบแปลกแยก ซึ่งแตกต่างจากวิถีชีวิตของชนเผ่าพื้นเมือง ที่ใช้ชีวิตพึ่งพิงอยู่กับธรรมชาติ แต่ยังมีค่านิยมของคนบางกลุ่มที่มองว่า ชนเผ่าพื้นเมืองคือผู้ทำลายทรัพยากรธรรมชาติ ยกตัวอย่างเช่นเรื่องการทำไร่หมุนเวียน โดยกฤษฎาได้ให้เหตุผลต่อเรื่องนี้ว่า
“การทำไร่หมุนเวียนที่ไม่ได้ใช้เครื่องจักรและปุ๋ยเคมี ดินยังมีความสมบูรณ์ ดังนั้นจึงไม่ใช่การปลดปล่อยก๊าซคาร์บอน มากเท่ากับพื้นที่เกษตรอื่นๆ”
กฤษฎาเสริมข้อมูลเรื่องไร่หมุนเวียนต่อการปลดปล่อยก๊าซคาร์บอนต่อว่า การทำไร่แบบที่ไม่ได้ใช้เครื่องจักร ก๊าซคาร์บอนจะถูกตรึงไว้ที่ดิน ดินจึงเป็นองค์ประกอบสำคัญในการดูดซับคาร์บอน และการทำไร่หมุนเวียนนั้นทำเพียงแค่ฤดูกาลเดียว จากนั้นจึงปล่อยให้พื้นที่ได้ฟื้นตัวกลับมา 7-10 ปี
กฤษฎาชี้ให้เห็นว่านี่คือกระบวนการฟื้นคืนสภาพป่า เกิดกระบวนการดูดซับคาร์บอนกลับมาที่ต้นไม้ ซึ่งเมื่อเทียบกับการทำการเกษตรคงที่ ที่มีการเผา ใช้สารเคมีและเครื่องจักร จนทำให้หน้าดินพังทลาย สูญเสียการดูดซับคาร์บอนและเป็นการปลดปล่อยคาร์บอนออกไปในทุกปี
“ระบบไร่หมุนเวียนเป็นระบบการเกษตรที่ตอบคำถามเรื่องทั้งการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ ความหลากหลายทางชีวภาพ และความมั่นคงทางอาหาร” กฤษฎากล่าว
ดังนั้นแล้วต่อเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สังคมและภาครัฐควรหนุนเสริมให้ชนเผ่าพื้นเมืองสามารถทำหน้าที่ปกป้องระบบธรรมชาติได้อย่างเข้มแข็ง ผ่านการที่นโยบายรัฐและกฎหมายไม่ไปละเมิดสิทธิของชุมชนดั้งเดิม
“แต่โลกก็ไม่ควรผลักภาระทั้งหมดไปไว้กับชนเผ่าพื้นเมือง”
กฤษฎามองว่าแม้ชนเผ่าพื้นเมืองจะมีบทบาทในการบริการระบบนิเวศ แต่คนในเมืองเองก็ควรที่จะเรียนรู้วิธีคิดและคุณค่าหลักการของชนเผ่าพื้นเมืองที่ให้ความเคารพต่อธรรมชาติ
“เรากำลังทำลายกลุ่มคนที่ทำหน้าที่ดูแลระบบนิเวศน์ที่ดีที่สุดของโลกไป ด้วยระบบการพัฒนาของโลกสมัยใหม่ ดังนั้นการส่งเสริมคุ้มครองสิทธิของคนพื้นเมือง จึงเป็นเรื่องเดียวกันกับการให้ชุมชนเข้มแข็งพึ่งพาตนเองได้ พร้อมๆ กับเป็นการช่วยโลกไปด้วย เพราะถ้าพวกเขาเข้มแข็ง ป่าอนุรักษ์จำนวนมากก็จะได้รับการดูแลอย่างดี”

กรอบคุนหมิง-มอนทรีออล และบทบาทของชนเผ่าพื้นเมือง
กรอบงานคุนหมิง-มอนทรีออล คือกรอบงานโลกฉบับใหม่ที่ว่าด้วยความหลากหลายทางชีวภาพของโลก โดยมีเป้าหมายภายในปี 2050 สังคมโลกทั้งหมดจะต้องปรับระบบเศรษฐกิจและสังคม ให้เกื้อกูลกับธรรมชาติ โดยกฤษฎากล่าวว่าสังคมในอุดมคติดังกล่าวนั้น ต้นแบบที่ใกล้เคียงที่สุดในโลกปัจจุบัน ก็คือสังคมของชนเผ่าพื้นเมือง
โดยมีเป้าหมายหนึ่งในสามกลุ่มเป้าหมายหลักที่กล่าวไว้ว่า จะต้องเพิ่มพื้นที่คุ้มครอง 30×30 คือโลกจะต้องเพิ่มพื้นที่คุ้มครองทางบกให้ได้ร้อยละ 30 และทางทะเลให้ได้ร้อยละ 30
กฤษฎาแสดงความเป็นกังวลว่าถ้าภาครัฐยังไม่เปลี่ยนความคิด ด้วยการออกนโยบายประกาศเขตอนุรักษ์เพิ่มทั้งทางบกและทางทะเล ซึ่งเขตอนุรักษ์ส่วนใหญ่ มักจะไปกระทบต่อวิถีชีวิตของชนเผ่าพื้นเมือง ที่ไม่สอดกับกรอบงานคุนหมิง-มอนทรีออล
“ในกรอบงานเขียนไว้เลยว่าต้องเคารพสิทธิของชนเผ่าพื้นเมืองท้องถิ่น ให้เขามีสิทธิในทรัพยากร วัฒนธรรม และดินแดนของตัวเอง”
กฤษฎาให้ข้อเสนอว่าตามนโยบายเรื่องเพิ่มพื้นที่คุ้มครอง 30×30 ภาครัฐควรที่จะเข้าหากลุ่มชนเผ่าพื้นเมือง ให้ความเข้มแข็งแก่พวกเขาเพื่อที่จะสร้างพื้นที่คุ้มครองต่อไป และสิ่งสำคัญที่รัฐควรทำคือ การออกนโยบายคุ้มครองพื้นที่ธรรมชาติจากกลุ่มทุนขนาดใหญ่
“ภาคอุตสาหกรรมพลังงาน ขนส่ง และการเกษตรอุตสาหกรรมแปลงใหญ่ คือผู้ก่อก๊าซเรือนกระจกรายใหญ่ของโลก เราต้องมองมิติเรื่องการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศอย่างรอบด้านและเป็นธรรม เลิกไปโทษคนตัวเล็กตัวน้อยได้แล้ว”
กฤษฎากล่าวในช่วงท้ายว่า ผู้คนที่อยู่กับธรรมชาตินั้น เข้าใจการเปลี่ยนแปลงทางธรรมชาติที่ละเอียดลึกซึ้งกว่านักวิทยาศาสตร์และคนทั่วไป พวกเขามองการเปลี่ยนแปลงของธรรมชาติผ่านสิ่งมีชีวิตที่อยู่รอบตัวเขา
ชนเผ่าพื้นเมืองตระหนักเรื่องภาวะโลกร้อนอยู่ตลอดเวลา ผ่านการเห็นความเปลี่ยนของดินฟ้าอากาศ ดังนั้นรัฐและสังคมโลกต้องเปลี่ยนวิธีการมองชนเผ่าพื้นเมืองใหม่ ผ่านการให้สิทธิในการปกป้องทรัพยากรในพื้นที่ของเขา เพราะชนเผ่าพื้นเมืองคือกลุ่มคนสำคัญ ในการสร้างผลกระทบเชิงบวกต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
ผู้เขียน: ณฐาภพ สังเกตุ
