“ญัฮกุร” คนในดง คนบนเขา ชาวมอญโบราณ ทวารวดี

ย้อนเวลาไปช่วงสมัยทวารวดี มีกลุ่มชาติพันธุ์มอญโบราณกลุ่มหนึ่งอาศัยอยู่บริเวณภูเขา ลึกเข้าไปในป่าใหญ่ คนกลุ่มนี้ได้เรียกตัวเองว่า ญัฮกุร (ยะ-กุ้น) คำว่า ญัฮ แปลว่า คน ส่วนคำว่า กุร แปลว่า ภูเขา เมื่อนำมารวมกัน จึงหมายถึงคนที่อาศัยอยู่ในป่าดงบนภูเขา เมื่อเวลาผันเวียนเปลี่ยนผ่านไป ชาวญัฮกุรยังคงสืบเชื้อสายต่อๆ กันมา โดยได้กระจายตัวกันอาศัยอยู่บริเวณพื้นที่ในแถบเชิงเขาพังเหย จังหวัดชัยภูมิ ไปจนถึงเชิงเขาเพชรบูรณ์ และลงมาถึงเชิงเขาพนมดงรัก เขตรอยต่อนครราชสีมากับปราจีนบุรี

ญัฮกุร คือ ใคร

“ญัฮกุร” คนทั่วไปรู้จักคนกลุ่มนี้ในนาม คนดง หรือ ชาวบน เนื่องจากอาศัยอยู่บริเวณพื้นที่สูงหรืออยู่ในป่าลึกไกลจากบริเวณที่คนไทยอาศัยอยู่ ปัจจุบันชาวญัฮกุรได้กระจายตัวกันไปตั้งถิ่นฐานในเขตภาคเหนือตอนล่างซึ่งอยู่ในเขตจังหวัดเพชรบูรณ์ และบริเวณภาคอีสานในจังหวัดชัยภูมิและนครราชสีมา ชาวญัฮกุรมีภาษาพูดเป็นของตัวเองแต่ไม่มีตัวอักษรที่ใช้เขียน เป็นภาษาที่อยู่ในตระกูลออสโตรเอเชียติก สาขามอญ – เขมร มีความ จากจารึกวัดโพธิ์ร้าง หนึ่งในจารึกภาษามอญโบราณที่เก่าแก่ที่สุดที่พบในประเทศไทย ได้มีคำจารึกที่ตรงกับภาษาพูดของคนญัฮกุร ในเขตอำเภอเทพสถิต จังหวัดชัยภูมิ ทำให้นักภาษาศาสตร์เชื่อมโยงถึงความเก่าแก่ของกลุ่มชาติพันธุ์ญัฮกุร ในฐานะชนเผ่าพื้นเมืองที่อยู่ในดินแดนแถบนี้มาแต่โบราณ

จากอดีตจนถึงปัจจุบัน ชาวญัฮกุรได้มีการอยู่ร่วมกันกับคนต่างถิ่น กลายเป็นชุมชนสังคมพหุวัฒนธรรม ไม่มีข้อจำกัดในเรื่องการสืบทอดเผ่าพันธุ์ คนญัฮกุรสามารถมีเขยหรือสะใภ้เป็นคนต่างถิ่นได้ จึงทำให้ทุกวันนี้ เด็กๆ และคนในชุมชนใช้ภาษาไทยและภาษาถิ่นอีสานเป็นหลัก ส่งผลให้ภาษาญัฮกุรและวัฒนธรรมดั้งเดิมเริ่มเลือนหายไปตามกาลเวลา เหลือแต่ผู้เฒ่าผู้แก่ใช้สื่อสารกัน อาจพูดได้ว่าภาษาญัฮกุรจัดอยู่ในภาวะวิกฤต เนื่องจากมีคนพูดได้เป็นจำนวนน้อย แต่จากการที่นักภาษาศาสตร์ได้เข้าพื้นที่ศึกษาวิจัยภาษาญัฮกุรที่บ้านไร่ อำเภอเทพสถิต จังหวัดชัยภูมิ นับเป็นการสร้างแรงกระตุ้นครั้งสำคัญให้กับคนญัฮกุรได้หันมาสืบค้นภาษาและวัฒนธรรมของตนเอง เกิดกระบวนการศึกษาวิจัยอย่างเป็นระบบร่วมกับสถาบันภาษาและวัฒนธรรมเอเชีย มหาวิทยาลัยมหิดล พัฒนาระบบตัวเขียนภาษาญัฮกุร ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2548 เป็นต้นมา โดยยืมอักษรในภาษาไทยมาเขียนเพื่อสะดวกในการเรียนออกเสียง และบันทึกภาษาเรื่องราวของพวกเขาลงในหนังสือ นิทาน เรื่องเล่า ตำนานชุมชน และวัฒนธรรมภูมิปัญญาองค์ความรู้ไว้สืบทอดในชุมชน ต่อลมหายใจให้ภาษา สืบค้นอัตลักษณ์ของเผ่าพันธุ์ และทำความเข้าใจอดีตเชื่อมสู่ปัจจุบัน

นับจากนั้น ได้มีการสร้างแรงกระเพื่อมขึ้นมาอีกหลายๆ ระลอก ทั้งจากปราชญ์ชุมชนเอง และหน่วยงานต่างๆ รวมไปถึงเครือข่ายนักวิชาการ ครูอาสาทั้งไทยและต่างชาติ ร่วมแรงร่วมใจกันขับเคลื่อนวัฒนธรรม สร้างห้องเรียนภาษาและวัฒนธรรมญัฮกุรขึ้น ส่งต่อวัฒนธรรมสู่คนรุ่นหลังจนตอนนี้ ผ่านมา 4 รุ่นแล้ว ผ่านโครงการที่มีชื่อว่าห้องเรียนภาษาวัฒนธรรมญัฮกุร ที่ได้งบสนับสนุนกิจกรรมจาก กรมส่งเสริมวัฒนธรรมและวัฒนธรรมจังหวัดชัยภูมิ ในการขับเคลื่อนผ่านอาสาสมัครจัดการโดยชุมชนเอง โดยปราชญ์ชุมชนชวนเด็กไปเรียนรู้นอกห้องเรียนด้วยภาษาวัฒนธรรมญัฮกุรและชวนนักท่องเที่ยวผู้สนใจมาร่วมเรียนรู้ไปกับเรา เพื่อให้เด็กๆรักและภูมิใจ ไม่ลืมรากเหง้าของตน และสามารถพูดสื่อสารภาษาญัฮกุรได้ต่อไปแม้ว่าคนที่พูดได้จะน้อยลงทุกที เพราะพวกเขาเชื่อว่า หากภาษาคงอยู่ วัฒนธรรมก็ยังคงอยู่เฉกเช่นเดียวกัน

จากธรรมชาติ สู่อัตลักษณ์ ส่งต่อคนรุ่นหลัง

ธรรมชาติ กับ ชาวญัฮกุร เรียกได้ว่ามีความใกล้ชิดกันมานับตั้งแต่บรรพบุรุษ เนื่องจากชาวญัฮกุรอาศัยตามไหล่เขาที่มีป่าอุดมสมบูรณ์ มีการพึ่งพาธรรมชาติอาศัยซึ่งกันและกัน ธรรมชาติที่อยู่รอบตัวจึงมีอิทธิพลส่งถึงเอกลักษณ์วัฒนธรรมของชาวญัฮกุร จากแต่เดิมชาวญัฮกุรอาศัยอยู่ในป่า สิ่งที่มองเห็นเป็นรูปสัมผัสต่างๆ ได้จึงถูกดึงมาเล่าเรื่องผ่านลายปักบนผืนผ้า สร้างภาพเชิงสัญลักษณ์สื่อความหมายทางความเชื่อ เช่น ลายงวงคุ ภาชนะสานที่ใช้ตักน้ำ ลายดอกยาง ลายตีนนก  ลายโซ่ ลายตะแกรง ลวดลายบนเสื้อผ้าเหล่านี้กลายเป็นอักลักษณ์เฉพาะที่ทำให้แยกระหว่างชาวญัฮกุร กับกลุ่มคนที่เคลื่อนย้ายเข้ามาใหม่ โดยพวกผู้หญิงจะสวมที่เรียกว่า เสื้อพ็อก กลายมาเป็นสัญลักษณ์อย่างหนึ่งที่สามารถขยายความเล่าเรื่องตนเองส่งต่อไปยังลูกหลาน และสะท้อนถึงจิตวิญญาณของการเคารพธรรมชาติ ดิน ลม น้ำ ไฟ ความอุดมสมบูรณ์ที่อยู่ในป่าที่ให้กำเนิดอาหารและชีวิต

อาหารการกิน ก็นับเป็นอีกหนึ่งร่องรอยโบราณของชาวญัฮกุรที่หลงเหลืออยู่ในวิถีชีวิตปัจจุบัน อาหารจากพืชพื้นถิ่น จัดเป็นกระบวนการฟื้นฟูและสืบค้นอัตลักษณ์ของชาวญัฮกุร ซึ่งอาหารและขนมสามารถสะท้อนถึงพืชพันธุ์ การเพาะปลูก และวิถีชีวิต เหล่านี้เป็นสื่อทางวัฒนธรรมที่บอกเล่าเรื่องราวแก่ผู้มาเยือนได้เป็นอย่างดี อย่างเช่น ขนมข้าวฟ่าง ที่มีรูปร่างหน้าตาละม้ายคล้ายข้าวต้มมัด มีวัตถุดิบหลักคือข้าวฟ่างหางกระรอกหรือข้าวฟ่างหางหมา ซึ่งเป็นธัญพืชอาหารยุคแรกเริ่มของมนุษยชาติ นอกจากนี้ ยังมีอาหารเป็นยา ที่ใช้วัตถุดิบจากพืชผักสมุนไพรที่หาได้ง่ายในท้องถิ่น อย่างเมี่ยม (ภาษาไทยเรียก เมี่ยง) ของชาวญัฮกุร ใช้พืชผักสมุนไพรพื้นบ้านอย่าง ตะไคร้ พริก มะอึก ก้านและใบทูน กล้วยดิบ กุยช่าย มีเครื่องปรุงรสเพียงหนึ่งเดียวคือเกลือ ใส่ห่อรวมกันมัดด้วยใบกุยช่าย กินเป็นคำ และขนมกินเล่นที่มีวัตถุดิบจากธรรมชาติ อย่างขนมลิ้นหมา ซึ่งทำจากแป้งข้าวเหนียว เกลือ กล้วยน้ำว้าสุกงอม และน้ำตาลปี๊บ บดและนวดให้เข้ากัน กดให้เป็นแผ่นแบนๆ คล้ายลิ้นหมา คลุกเคล้าด้วยงาขาว แล้วนำไปทอดให้สุกพอดีกิน

การกินอยู่ของชาวญัฮกุรเต็มไปด้วยความเรียบง่าย ไม่มีการปรุงแต่งใดๆ มากมายนัก ความสุขก็เช่นกัน สามารถเกิดขึ้นได้ง่ายในทุกๆ วัน เมื่อชีวิตมีความสุข การร้องเล่นเต้นรำก็เป็นกิจกรรมหนึ่งที่ขาดไม่ได้ และเครื่องดนตรีก็กลายเป็นส่วนประกอบที่ช่วยสร้างความสรวลเสเฮฮาให้กับคนญัฮกุร ดนตรีชองญัฮกุรเป็นดนตรีที่ควบคู่ไปกับการดำเนินชีวิต ซึ่งล้วนเรียบง่ายเชื่อมโยงกับธรรมชาติและวิถีชีวิตในป่า อย่างการตีโทนดินให้จังหวะไปพร้อมๆ กับการร้องเพลงพื้นบ้าน ที่เรียกว่า เพลงกระแจ๊ะ หรือปะเรเร ที่ผู้ชายและผู้หญิงจะร้องเกี้ยวพาราสีกัน นอกจากนี้ยังมีการเป่าใบไม้ ซึ่งสามารถเป่าเป็นเพลงทำนองต่างๆ ได้ ลักษณะของใบไม้ที่ใช้ ต้องเป็นใบที่ยืดหยุ่น ไม่เปราะหรือแตกง่าย นิยมใช้ใบลำดวนในการเป่า โดยส่วนใหญ่ผู้ชายญัฮกุรบางคนนิยมเป่าใบไม้เวลาเดินทางไปหรือกลับจากป่าหรือไร่ แทนการผิวปาก เพื่อเป่าส่งสัญญาณให้กัน และเป่าเลียนเสียงสัตว์ เช่น เป่าเป็นเสียงชะนี หรือกวาง เพื่อใช้ประโยชน์ในการล่าสัตว์

เครื่องเป่าอีกหนึ่งอย่างของชาวญัฮกุรก็คือ ผวจ ซึ่งการเป่าผวจจะใช้การดีดแท่งไม้ไผ่ ให้ลิ้นไม้เกิดแรงสั่นในแก้ม ทำให้เกิดการสั่นสะเทือนในช่องปาก ออกมาเป็นเสียงทุ้มเสียงแหลมตามการขยายหดตัวของช่องปาก การเป่าผวจยังไม่ได้เป็นโน้ตเพลงแต่เป็นจังหวะเสียงสัญญาณสื่อสารระหว่างหนุ่มสาวเป็นสัญญาณที่รู้ระหว่างกัน นอกจากนี้ยังมีเครื่องดนตรีที่ใช้เคาะให้จังหวะอย่างจุ๊บเปิ้ง ซึ่งเป็นการเคาะบนกระบอกไม้ไผ่ขนาดต่างกัน 3 ท่อน นำมาวางขัดกันเป็นรูปสามเหลี่ยม ใช้ไม้ตี เกิดเสียงต่างๆ เป็นจังหวะคล้ายเสียงไม้ไผ่กระทบยามต้องลมในป่า เครื่องดนตรีสมัยใหม่ที่เข้ามาก็มี ฆ้อง ปี่ชวา กลองโทนดิน ที่เป็นวัฒนธรรมร่วมที่แตกต่างกันไปในแต่ละพื้นที่

ป่า กับ ญัฮกุร

ป่า เรียกได้ว่าเป็นบ้านหลังแรกของชาวญัฮกุรเลยก็ว่าได้ จึงไม่แปลกใจหากชาวญัฮกุรจะมีประสาทสัมผัสที่ไวต่อการรับรู้ในป่า โดยเฉพาะในอดีต พรานหาของป่าจะใช้การสัมผัสทางกายเป็นตัวช่วยในการเดินป่าหรือเดินทางเลียบน้ำตก ซึ่งในตอนกลางคืนจะมองไม่ค่อยเห็น การสัมผัสทางกาย จากลม พื้นดิน หรือพื้นน้ำ จะช่วยในการตัดสินใจเลือกเส้นทางที่ปลอดภัยในป่าทุกฤดูกาล

          เมื่อกินอยู่กับป่า ความเชื่อเรื่องจิตวิญญาณในธรรมชาติ จึงกลายเป็นของคู่กันขาดกันไปไม่ได้ ชาวญัฮกุรมีความเชื่อในเรื่องของพลังเหนือธรรมชาติมาตั้งแต่อดีต โดยศาสนาดั้งเดิมของชาวญัฮกุรเชื่อเรื่องผีและพลังเหนือธรรมชาติ ภายหลังเริ่มนับถือศาสนาพุทธ จนเกิดการผสมผสานเป็นพุทธแต่ก็นับถือผีอยู่ โดยเฉพาะผีบรรพบุรุษ ดังจะเห็นได้จากในพิธีกรรมต่างๆ เช่น การแห่หอดอกผึ้งที่ทำเพื่อไหว้พระ ถวายขี้ผึ้งทำเทียนและขอขมาผึ้งในป่า ทำให้เรามองไกลออกไปที่เพื่อนบ้านในญี่ปุ่นเอง ที่มีแนวคิดดั้งเดิมที่นับถือธรรมชาติอยู่ ในศาสตร์แห่งการอาบป่า ซึ่งคนญี่ปุ่นเรียกว่า ‘ชินริน-โยกุ’ (Shinrin-Yoku) มาจากคำว่า ‘ชินริน’ (Shinrin) ที่แปลว่า ‘ป่าไม้’ บวกกับคำว่า ‘โยกุ’ (Yoku) แปลว่า ‘การอาบน้ำ’ โดยอาศัยประสาทสัมผัสทั้งห้าในการซึมซับพลังจากผืนป่าหรือพื้นที่ธรรมชาติให้เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของร่างกายอย่างมีสติและปราณีตบรรจง เพื่อให้ได้รับประโยชน์สูงสุดทางการรักษาสุขภาพกายและการเยียวยาจิตวิญญาณ เช่น การสูดลมหายใจเข้า-ออกช้าๆ เพื่อรับกลิ่นของไอดินและพรรณพืชนานาชนิดที่เปรียบดั่งยาขนานเอก ช่วยบำบัดความอ่อนล้าที่เกิดขึ้น การเดินทอดน่องด้วยใจที่สงบเพื่อรับรู้กระแสความมีชีวิตชีวาของสรรพสิ่งรอบกาย แล้วหยิบมาเพิ่มพลังชีวิตให้กับตัวเอง หรือการเฝ้าฟังเสียงในธรรมชาติที่สอดประสานพลิ้วไหวราวกับดนตรีบรรเลงแสนผ่อนคลาย หรือบางครั้งอาจเป็นเพียงเสียงกระซิบจากความเงียบที่ช่วยเยียวยาหัวใจ

          วิถีอาบป่า กำลังกลับมาได้รับความสนใจของคนเมืองทั่วโลกที่ต้องการจะพาตัวเองไปสัมผัสกับธรรมชาติและเข้าถึงธรรมชาติผ่านทางประสาทสัมผัสทั้ง 6 รูป รส กลิ่น เสียง สัมผัส และใจ เพื่อเชื่อมระหว่างตัวเรากับธรรมชาติ ซึมซับพลังจากผืนป่าหรือพื้นที่ธรรมชาติให้เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของร่างกายอย่างมีสติ ซึ่งชาวญัฮกุรเองและพี่น้องในหลายชาติพันธุ์ เกิดและโตมาในป่านี้ จึงไม่แปลกที่ประสาทสัมผัสทั้ง 6 ในการสัมผัสกับธรรมชาติของพวกเขาจะละเอียดอ่อนปราณีตกว่าคนในเมืองที่ห่างใกล้ธรรมชาติ หรือนี่อาจเป็นความลับที่ทำให้กลุ่มคนเหล่านี้ มีรอยยิ้ม ความสุข สุขภาพกายใจดี และอายุยืนกันทั้งนั้น แม้แต่กลุ่มผู้สูงวัยในหมู่บ้านทุกวันนี้ก็ยังเดินเข้าป่าได้คล่องแคล่วไม่แพ้คนหนุ่มสาว

จากวิถีชีวิตและวัฒนธรรมที่บ่งบอกถึงความเป็นตัวตนของชาวญัฮกุร จึงทำให้มีการรวมตัวกันเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจชุมชนและเชื่อมโยงเครือข่ายชนเผ่าญัฮกุรในตำบลบ้านไร่ เพื่อขับเคลื่อนเครือข่ายการท่องเที่ยวโดยวิถีชาติพันธุ์ ที่ทุกคนหวังว่าจะเป็นอีกหนึ่งเครื่องมือที่จะช่วยสืบสานวัฒนธรรมของชาวญัฮกุรให้คงอยู่ต่อไป ให้ผู้คนที่มาเที่ยวได้สัมผัสและเรียนรู้ความเป็นคนญัฮกุรผ่านกระบวนการท่องเที่ยวโดยชุมชนญัฮกุร ที่เน้นให้ความสำคัญกับคุณค่าของวิถีชีวิตของชาวญัฮกุรอันเชื่อมโยงกับจิตวิญญาณในผืนป่า สายน้ำ และธรรมชาติ

อาบป่าบำบัด อาบวัฒนธรรมญัฮกุร

จากการลงพื้นที่ชุมชนญัฮกุร อำเภอเทพสถิต จังหวัดชัยภูมิ โดยทีมท่องเที่ยวโดยชุมชนญัฮกุรบ้านไร่ ร่วมกับครูกระบวนกรอาบป่าบำบัดพบว่ามีความน่าสนใจเนื่องจากมีความเชื่อมโยงระหว่าง 3 ตัวแปรเด่นๆ คือ ป่า ชุมชน และวัฒนธรรม ที่มีความสมดุลพร้อมในการจัดกิจกรรมอาบป่าเชิงวัฒนธรรม ซึ่งพื้นที่เช่นนี้พบเจอได้ยาก กระบวนการในการอาบป่าญัฮกุรคือการเปิดสัมผัสทั้ง 6 ของตนเองเพื่อเชื่อมโยงกับธรรมชาติและวัฒนธรรมญัฮกุร อันได้แก่ 

          รูปสัมผัส ทางการมองเห็น เช่น การปล่อยสายตาไปยังทิวทัศน์ทั่วทิศทางอย่างไม่มีขอบเขต การมองใบไม้ สิ่งมีชีวิตที่สัมพันธ์กันในป่า การเฝ้าดูการเป็นไปตามธรรมชาติ การสังเกตและการเคลื่อนไหวอย่างมีสติ ตามวิถีชาวญัฮกุร

          เสียงสัมผัส ทางการได้ยิน เช่น การฟังเสียงนกร้อง เสียงน้ำตก เสียงลม เสียงใบไม้ไหว รวมทั้งเสียงแห่งความเงียบ เพื่อฟังเสียงหัวใจของตนเอง เครื่องดนตรีจากธรรมชาติที่ใช้สื่อสารสร้างเสียงที่ให้อารมณ์ความรู้สึกต่างที่ลอกเลียนมาจากเสียงในธรรมชาติ

          กลิ่นสัมผัส ทางการได้ดม เช่น กลิ่นดอกไม้ กลิ่นดิน กลิ่นน้ำ กลิ่นหญ้า กลิ่นหอมระเหยจากต้นไม้ การขยี้ใบไม้เพื่อสูดดมกลิ่นน้ำมันหอมระเหยในป่าที่ช่วยบอกทาง การจดจำพื้นที่ในป่าตามวิถีชาวญัฮกุรที่มีอยู่ในสายเลือด

          รสสัมผัส ทางการลิ้มรส เช่น เคี้ยวใบไม้ ดอกไม้ ผลไม้พื้นถิ่น ที่สามารถรับประทานได้ หนึ่งในกิจกรรมอาบป่าในรสสัมผัสที่มีอยู่ในวิถีการชิม สำรวจรสชาติตลอดเส้นทาง รู้ประโยชน์จากรสชาติต่างๆ ที่ช่วยลดกระหายน้ำ ลดความเครียด คุณค่าทางสมุนไพรพื้นถิ่นตลอดเส้นทาง

          กายสัมผัส เช่น การสัมผัสลม เท้าแช่ในน้ำ การรับแสงแดด การเดินเท้าเปล่า

ใจสัมผัส การรับรู้ว่ามีสิ่งใดอยู่รอบตัวแม้ว่าสิ่งนั้นไม่ได้สัมผัสกับร่างกายของเรา แต่เราสามารถรับรู้ได้โดยผ่านใจ ซึ่งเกิดขึ้นผ่านการเข้าไปอยู่ในพื้นที่ทางจิตวิญญาณและสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ของพวกเขา

ด้วยความสัมพันธ์ของชาวญัฮกุรที่เชื่อมโยงกับป่าในวิถีตนเอง สามารถนำพากิจกรรมอาบป่าผสมผสานวัฒนธรรมญัฮกุร สร้างการเชื่อมต่อ (Connection) ระหว่างมนุษย์กับธรรมชาติ ในวิถีวัฒนธรรมของตัวเอง ซึ่งกิจกรรมอาบป่าวัฒนธรรมญัฮกุรนี้ นับเป็นก้าวแรกที่นำภูมิปัญญาจิตวิญญาณของพวกเขาออกมาสู่โลกสมัยใหม่ที่เจริญทางวัตถุ แต่จิตวิญญาณเสื่อมถอย และชาวญัฮกุรเองจะช่วยสร้างสมดุลให้คนที่มาเยี่ยมเยียนผ่านกิจกรรมอาบป่า ปรับสมดุลสัมผัสต่างๆ ที่คนเมืองหลงลืมไปให้ฟื้นฟูกลับมาอีกครั้ง และคนเมืองเองก็มีบทบาทที่จะกระตุ้นรื้อฟื้นวัฒนธรรมที่ขาดหายไปจากรุ่นสู่รุ่นให้กลับมาเชื่อมต่อกัน นับเป็นการเชื่อมต่อระหว่างคนเมืองและคนในป่าเพื่อสร้างสมดุลให้กันและกัน

ญัฮกุร คนบนดง สู่การค้นพบความเชื่อมโยงกับ อาณาจักรศรีเทพ

จากทีมนักโบราณคดีนักวิจัย นำโดย ดร. พิพัฒน์ กระแจะจันทร์ หนึ่งในนักวิจัยยุคแรกๆ ของชุมชนญัฮกุร ที่ได้มาสำรวจและสืบค้น ประกอบกับจากคำบอกเล่าของผู้เฒ่าผู้แก่ในบ้านไร่ อำเภอเทพสถิต จังหวัดชัยภูมิ ตรงบริเวณช่องชิด หรือ ช่องขุนชิด ซึ่งเป็นทางขึ้นลงระหว่างที่ราบสูงโคราชกับที่ราบภาคกลาง ลงไปยังอำเภอลำสนธิ ซึ่งเป็นเส้นทางไปยังปรางค์นางผมหอม เทวลัยวัฒนธรรมเขมร ซึ่งมีอายุประมาณพุทธศตวรรษที่ 16 อยู่ห่างออกไปทางใต้ของช่องชิดราวๆ 40-50 กม. ในอดีตช่องชิดนี้เป็นเส้นทางที่ชาวญัฮกุรใช้เดินทางผ่านไปยังเมืองศรีเทพและวิเชียรบุรีในเขตจังหวัดเพชรบูรณ์เพื่อไปแลกเปลี่ยนข้าว โดยเมืองโบราณศรีเทพเป็นเมืองที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในพื้นที่บริเวณใกล้เคียง รวมทั้งมีปราสาทหรือเทวาลัยวัฒนธรรมเขมรโบราณอีกด้วย รวมถึงมีหลักฐานทางด้านภาษา เรื่องเล่าตำนานอีกหลายเรื่อง ดังนั้นจึงมีความเป็นไปได้ว่า ศรีเทพ และ ญัฮกุร อาจมีความเกี่ยวข้องสัมพันธ์กันเมื่อครั้งในอดีต ก่อนที่อาณาจักรศรีเทพจะล่มสลาย ซึ่งชาวญัฮกุรก็ได้กระจัดกระจายตัวกันไปอยู่อาศัยบนเขาตามแนวเทือกเขาพังเหย ปัจจุบันคาดว่าพี่น้องญัฮกุรมีเหลืออยู่ประมาณ 5,000 คน ครอบคลุม 3 จังหวัด ในจังหวัดเพชรบูรณ์ มี  3  หมู่บ้านคือ ในอำเภอเมือง ตำบลตะเบาะ ได้แก่ บ้านน้ำเลา บ้านห้วยไคร้ และในตำบลท่าแดง อำเภอหนองไผ่ ที่หมู่บ้านท่าด้วง

ส่วนในพื้นที่จังหวัดชัยภูมิ รวมตัวอยู่มากที่สุด 20 หมู่บ้าน ในอำเภอเทพสถิต ตำบลบ้านไร่  หมู่บ้านบ้านไร่ ,  บ้านวังอ้ายโพธิ์ , บ้านวังอ้ายคง , บ้านวังตาเทพ , บ้านเทพอวยชัย  ในตำบลนายางกลัก พบที่ บ้านเสลี่ยงทอง,  บ้านโคกสะอาด,  บ้านน้ำลาด ในตำบลโป่งนก พบที่บ้านสะพานหิน,  บ้านสะพานยาว,  บ้านสุขประเสริฐ,  บ้านซับมงคล,  บ้านบุ่งเวียน ในอำเภอหนองบัวระเหว ตำบลวังตะเฆ่ มีที่บ้านห้วยแย้,  บ้านท่าโป่ง ในอำเภอบ้านเขว้า ตำบลชีบน พบที่บ้านวังกำแพง, บ้านหนองอ้อ ใน อำเภอซับใหญ่  ตำบลซับใหญ่  พบที่บ้านหนองบัว, บ้านหนองใหญ่, บ้านบุฉนวน

ในพื้นที่จังหวัดนครราชสีมา อยู่กระจายตัวไม่ชัดเจนมาก ในเขตอำเภอปักธงชัย ตำบลตะขบ  บ้านกลาง,  บ้านพระบึง,  บ้านวังตะเคียน,  บ้านคลองสาลิกา,  บ้านตะขบ และกระจายตัวทั่วไปในเขตอำเภอเทพารักษ์ และอำเภอครบุรี

หากลองลากจุดต่างๆ เหล่านี้จะพบว่า ทั้งหมดรวมเป็นเส้นลากยาวผ่าน 3 จังหวัด ตามรอยเส้นทางการค้าขายในอารยธรรมทวารวดี มอญโบราณ จนเกิดประกายความคิดระหว่างชุมชนและเครือข่ายที่ทำงานกับมายาวนาน มองความเป็นไปได้ในการเชื่อมต่อพี่น้องที่กระจัดกระจายตัวไปแต่ในอดีต ให้มีความหวังว่าเรากำลังค่อยๆกลับมาเชื่อมต่อกัน ผ่านแนวคิดของปราชญ์ผู้นำชุมชนในแต่ละพื้นที่ ที่คิดถึงญาติพี่น้อง และวัฒนธรรมที่ตกหล่นไปในหน้าประวัติศาสตร์ไทย หลอมรวมให้เป็นหนึ่งเดียวอีกครั้ง โดยใช้การท่องเที่ยวเป็นเครื่องมือในการเชื่อมพี่น้องญัฮกุรผ่านเส้นทางการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมในพื้นที่ประวัติศาสตร์ ป่า พื้นที่ศักดิ์สิทธิ์ ที่จะให้ชาวญัฮกุร กลับมาเป็นที่รู้จักอีกครั้งหลังจากหายไปจากหน้าประวัติศาสตร์นับพันปี

หรือนี่อาจตรงกับคำทำนายจากเก่าแก่ที่ผู้เฒ่าเล่าจากรุ่นสู่รุ่นกันมาถึงอดีตและอนาคตของชาวญัฮกุร ว่าพี่น้องเราจะต้องผ่านความลำบาก 3 ยุค ไม่แน่ยุคที่เป็นอนาคตที่ดีจะเกิดขึ้นในรุ่นนี้ หรือรุ่นไหน ต้องส่งกำลังใจให้พี่น้องชาวญัฮกุรรุ่นนี้….แล้วล่ะ

ส่งกำลังใจเชื่อมต่อถึงพวกเขาได้ผ่านเพจ  Fb.ญัฮกุร ชัยภูมิ 

https://www.facebook.com/profile.php?id=100066506536578

ท่องเที่ยวโดยชุมชนญัฮกุร โทร. 08-6602-6366, 09-1842-5391