เสริมศักดิ์ นำทีม กระทรวง วธ. เยือนแม่ฮ่องสอน Kick Off กฎหมายชาติพันธุ์และชนเผ่าพื้นเมือง

วันนี้ 18 มกราคม 2567 ที่กาดซอกจ่า ตำบลผาบ่อง อำเภอเมือง จังหวัดแม่ฮ่องสอน นายเสริมศักดิ์ พงษ์พานิช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม พร้อมด้วยวัฒนธรรมจังหวัดและส่วนราชการต่าง ๆ  เปิดงาน “Kick Off กฎหมายชาติพันธุ์: เดินหน้าคุ้มครองและส่งเสริมวิถีชีวิตทุกกลุ่มวัฒนธรรมบนความเสมอภาค” พร้อมย้ำการรักษาวัฒนธรรมคือการรักษาชาติ อยากเห็นทุกคนมีความเท่าเทียมกัน

ผมก็เรียนว่ารัฐบาลนี้นะครับภายใต้การนําของท่านนายกรัฐมนตรีท่านเศรษฐา ทวีสิน ท่านได้แถลงนโยบายต่อรัฐสภา มาตราหนึ่งนะครับที่เป็นนโยบายสําคัญ ก็คือนะครับท่านอาจจะมุ่งมั่นที่จะให้พี่น้องทุกเผ่าพันธุ์เนี่ยนะครับมีความเสมอภาค  มีความเท่าเทียม มีการคุ้มครองนะ  ทั้ง 3 เรื่องนี้ เป็นสิ่งที่ชัดเจนมาก นายเสริมศักดิ์กล่าว


สำหรับการ Kick Off การผลักดันกฎหมายชาติพันธุ์และชนเผ่าพื้นเมืองในวันนี้ นายเสริมศักดิ์กล่าวว่า สืบเนื่องมากจากรัฐบาล โดยศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร ได้ยกร่างมาระดับหนึ่งแล้ว  จึงอยากมารับฟังเสียงจากประชาชนผู้มีส่วนได้เสียเพื่อนำไปรับปรุงร่างให้มีความสมบูรณ์ครบถ้วนมากขึ้น

“กฎหมายทั้งหลายนั้น ก็ต้องร่างจากความเห็นชอบ ด้วยการมีส่วนร่วมของผู้ที่เกี่ยวข้องทั้งหมด ที่มาวันนี้เพื่อจะดูว่ายังมีส่วนไหนที่ยังต้องเพิ่มเติม พี่น้องจะได้มีส่วนในการร่วมผลักดันด้วย”

ในช่วงเที่ยงของวันเดียวกัน รัฐมนตรี วธ. ได้ให้สัมภาษณ์ต่อรายการตรงประเด็น ช่องไทยพีบีเอส ว่าการผลักดันกฎหมายฉบับนี้เกี่ยวข้องกับหลายกระทรวง อาทิ กระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงมหาดไทย กระทรวงทัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และกระทรวงการต่างประเทศเป็นต้น ในฐานะกระทรวงวัฒนธรรมที่เป็นเจ้าภาพร่างกฎหมายฝั่งรัฐบาล มั่นใจมากน้อยแค่ไหนว่าจะได้รับความร่วมมือจากทรวงเหล่านั้น

โดยในประเด็นคำถามนี้ นายเสริมศักดิ์กล่าวว่า ตนมั่นใจว่าจะได้รับความร่วมมือจากกระทรวงอื่นๆ ถึงแม้จะมาจากคนละพรรคการเมืองกันก็ตาม เพราะการจะพัฒนาคุณภาพชีวิตประชาชน จำเป็นต้องทำรอบด้าน ทั้งการศึกษา และอาชีพ

ทางด้านศักดิ์ดา แสนที่ เลขาธิการสภาชนเผ่าพื้นเมืองแห่งประเทศไทย (ส.ช.พ.) มองว่าความร่วมมือระหว่างศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน) ภายใต้กระทรวงวัฒนธรรม และสภาชนเผ่าฯ  ในการจัดงานในครั้งนี้ขึ้นมา เป็นสัญญาณว่ารัฐบาลจะต้องเร่งรัดการนำร่างกฎหมายที่เกี่ยวข้องขึ้นมาพิจารณา โดยเฉพาะร่างฯ ของรัฐบาล ที่ควรจะนำเข้าสู่การประชุมคณะรัฐมนตรีเร็ว ๆ นี้  เนื่องจากร่างกฎหมายที่เสนอโดยสภาชนเผ่าฯ ได้เข้าสู่การพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎรไปแล้ว เมื่อวันที่ 14 ธันวาคม 2566 ได้มีการซักถาม อภิปรายไปเรียบร้อยแล้ว เพียงแต่รัฐบาลของดึงกลับไปพิจารณาอีกรอบ ซึ่งตามเงื่อนไขแล้ว หากรัฐบาล หรือ คณะรัฐมนตรีไม่มีมติใด ๆ ภายใน 60 วัน ร่างกฎหมายที่เสนอโดยภาคประชาชนฉบับนี้ ก็จะถูกนำขึ้นมาพิจารณาเพื่อขอมติจากที่ประชุมสภาฯ หากผลปรากฏว่ามีมติรับรองในเชิงหลักการ ก็จะเข้าสู่กระบวนการแต่งตั้งคณะกรรมาธิการพิจารณาศึกษาต่อไป

สำหรับบรรยากาศภายในงาน นอกจากมีกลุ่มชาติพันธุ์ไทใหญ่ ปะโอ กะยัน กะแย และชนเผ่ากะเหรี่ยงจากจังหวัดแม่ฮ่องสอน ยังมีตัวแทนชนเผ่าพื้นเมืองอีกหลากหลายกลุ่มมาร่วมกันแสดงพลังในการผลักดันกฎหมาย เช่น ชนเผ่ามอแกน มอแกลน อูรักลาโว้ย จากภาคใต้   ไททรงดำ กะเหรี่ยงโพล่ง ผู้แทนชาวมอญจากภาคกลางและภาคตะวันตก รวมทั้งผู้แทนอีกหลายหลายกลุ่มชาติพันธุ์จากทางภาคอีสาน ที่มาร่วมงาน เช่น กูย จากสุรินทร์ ญัฮกุร จากชัยภูมิ และและไทโย้ย จากสกลนครเป็นต้น