ชาติพันธุ์ ≠ ชนเผ่าพื้นเมือง ชาติพันธุ์คือใครแล้วทำไมต้องชนเผ่าพื้นเมือง

“ทุกคนมีความเป็นชาติพันธุ์ เพียงแต่ว่ามีบางคนที่ความเป็นชาติพันธุ์นั้นมีความเป็นชนเผ่าพื้นเมือง ด้วยเหตุที่ยังเป็นกลุ่มที่มีอำนาจด้อยกว่าทางสังคม มีความมุ่งมั่นที่จะสืบทอดอัตลักษณ์ทางวัฒนธรรมให้แก่คนรุ่นอนาคต มีภาษาของตนเองที่ไม่ใช่ภาษาของชาติ”

คำกล่าวข้างต้นเป็นคำสรุปจากการพูดคุยในหัวข้อ ‘ชาติพันธุ์คือใคร แล้วทำไมต้องชนเผ่า

พื้นเมือง’ บนพื้นที่เพจเฟสบุ๊กของ IMN เครือข่ายสื่อชนเผ่าพื้นเมืองเมื่อวันที่ 25 มีนาคมที่ผ่าน ที่ชี้ให้เห็นถึงความแตกต่างระหว่างชาติพันธุ์กับชนเผ่าพื้นเมือง

แต่แค่คำกล่าวข้างต้นยังไม่เพียงพอที่จะอธิบายที่มาที่ไปทั้งหมดของเรื่องดังกล่าว และตลอดการพูดคุยเรื่องนี้ร่วมกว่า 1 ชั่วโมง ทาง IMN ได้สรุปสาระสำคัญมาไว้ในบทความชิ้นนี้

ชาติพันธุ์กับชนเผ่าพื้นเมืองแตกต่างกันอย่างไร

“นิยามชาติพันธุ์เป็นการมองหาลักษณะร่วมที่เหมือนกัน แต่ไม่พูดถึงความสัมพันธ์เชิงอำนาจ แต่ถ้าเป็นนิยามชนเผ่าพื้นเมือง ชนเผ่าพื้นเมืองก็เป็นกลุ่มชาติพันธุ์เหมือนกัน แต่ว่ามีลักษณะความสัมพันธ์เชิงอำนาจที่พวกเขาอยู่ในสังคมใหญ่ในลักษณะที่ด้อยกว่า ไม่เท่าเทียมกับกลุ่มใหญ่ๆ ในสังคม”

ชูพินิจ เกษมณี คณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติคุ้มครองและส่งเสริมวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ พ.ศ. …  ผู้ซึ่งทำงานคลุกคลีกับชนเผ่าและกลุ่มชาติพันธุ์ในประเทศไทยมาช้านาน ได้อธิบายนิยามความแตกต่างระหว่างคำว่าชาติพันธุ์กับชนเผ่าพื้นเมืองที่สังคมไทยยังมีความสับสนกันอยู่

เขายกตัวอย่างลูกหลานคนจีนที่อพยพมาอยู่ประเทศไทย ซึ่งโดยภาพรวมแล้วคนจีนในไทยนั้น ล้วนมีฐานะทางเศรษฐกิจและสังคมที่ดี รวมทั้งมีอำนาจทางการเมือง พวกเขายังคงเป็นชาติพันธุ์จีนแต่ไม่สามารถเข้านิยามของชนเผ่าพื้นเมืองได้ ความแตกต่างระหว่างชาติพันธุ์กับชนเผ่าพื้นเมืองจึงอยู่ที่ความสัมพันธ์เชิงอำนาจด้วย หรืออาจเรียกได้ว่าชนเผ่าพื้นเมืองคือคนชายขอบ แต่ชาติพันธุ์นั้นไม่ใช่ เพราะชาติพันธุ์คือการพูดถึงคนทุกคนบนโลกใบนี้ตามนิยามของสหประชาชาติ

ชูพินิจขยายความนิยามของสหประชาชาติเพิ่มเติมว่า ในเวทีการประชุมสหประชาชาติ ชนเผ่าพื้นเมืองมักจะใช้เป็นคำเรียกชนกลุ่มน้อยกลุ่มต่างๆ ซึ่งก็มีอีกหลายคำที่พวกเขาเรียกใช้ เช่น ชนเผ่า (tribe), ชนพื้นเมือง (aboriginal) หรือในแคนาดาผู้คนที่อาศัยมาอยู่ก่อนคนผิวขาวก็จะเรียกว่าประชาชาติแรก (first nation)

ดังนั้นเมื่อมีคำเรียกที่หลากหลาย ทางสหประชาชาติก็มอบหมายให้ผู้รายงานพิเศษชื่อ Martínez Cobo ศึกษาสถานการณ์เรื่องนี้ดู ซึ่งในรายงานของ Cobo เขาก็เลยเสนอให้นิยามรวมกัน ในลักษณะของความเป็นชนพื้นเมืองหรือชนพื้นถิ่นกับความเป็นชนเผ่า จนเกิดเป็นคำว่า ชนเผ่าพื้นเมือง (Indigenous Peoples) 

โดยให้ความหมายของคำนี้ว่าคนที่มีความสืบเนื่องทางประวัติศาสตร์ในภูมิภาคไม่ใช่เฉพาะในประเทศ และความสืบเนื่องนั้นมีมาก่อนยุคอาณานิคม จึงทำให้พวกเขามีวัฒนธรรมประเพณีที่แตกต่างจากสังคมส่วนใหญ่ของประเทศ

“เพราะฉะนั้นถ้าเราจะสรุปลักษณะของความเป็นชาติพันธุ์ ก็คือการหาลักษณะร่วมที่เหมือนกัน แต่นิยามของชนเผ่าพื้นเมือง พวกเขาไม่ได้เป็นกลุ่มครอบงำทางสังคม บางองค์กรก็บอกว่าเป็นคนชายขอบคือเป็นกลุ่มที่ด้อยกว่าอยู่ในสังคมใหญ่” ชูพินิจกล่าวทิ้งท้ายในประเด็นนี้

สถานการณ์ชนเผ่าพื้นเมือง รัฐไทยต้องยอมรับการมีอยู่ของชนเผ่าพื้นเมือง

“เราเป็นม้งเป็นชนเผ่าพื้นเมืองที่อยู่มานาน แต่ถูกเรียกว่าเป็นชาวเขา”

นิตยา เอียการนา เป็นหนึ่งในคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณากฎหมายชนเผ่าพื้นเมือง รวมทั้งเธอยังนิยามตัวเองเป็นชนเผ่าพื้นเมืองม้งที่อาศัยอยู่ในประเทศไทย เธอกล่าวว่ากลุ่มชนเผ่าพื้นเมืองในประเทศไทย คือกลุ่มที่ถูกทิ้งไว้ข้างหลังในอดีตที่ผ่านมา ยกตัวอย่างเช่นในยุคสัมปทานป่า ก็มีการเข้ามาตัดไม้ในพื้นที่อยู่อาศัยของนิตยาใน จ.น่าน พอหมดยุคสัมปทานป่าและไม่เหลือป่าแล้ว รัฐไทยก็ยกที่ดินให้ชนเผ่าพื้นเมืองได้ทำกินและฟื้นฟูสภาพป่า พอป่ากลับมาดังเดิมก็ประกาศกฎหมายป่าอุทยาน เขตป่าสงวน ไม่ให้สิทธิชาวบ้านในการทำกิน รวมทั้งมองว่าพวกเขาเป็นผู้บุกรุก

“สิทธิในการสืบทอดเรื่องที่ทำมาหากินของพวกเราอยู่ที่ไหน” นิตยาเล่า “ถ้าเราไม่สามารถใช้ที่ดินตามวิถีของเราได้อีก เรามีความพยายามอย่างสูงที่จะถ่ายทอดเรื่องวิถีวัฒนธรรม แต่ในขณะเดียวกันความพยายามเหล่านี้ก็ไม่สามารถที่จะไปถึงได้”

โดยความพยายามของรัฐไทยที่ผ่านมานั้น มองว่าการเป็นปึกแผ่นเดียวกันคือเรื่องดีกว่าความแตกต่าง 

ดังนั้นโอกาสในการศึกษาจึงถูกบังคับให้ต้องเลือกเรียนตามระบบการศึกษา ที่ทำให้พวกเขาหลงลืมรากเหง้าของชาติพันธุ์ตนเอง แม้กระทั่งการถูกบังคับให้เปลี่ยนชื่อและนามสกุลเป็นภาษาไทย

“จึงเกิดคำถามว่าทำไมแม้แต่ชื่อ เรายังไม่มีสิทธิที่จะใช้ชื่อตัวเองที่ถูกตั้งโดยพ่อแม่ มันเป็นชื่อที่เราสามารถสื่อสารกับบรรพบุรุษได้” นิตยากล่าว

ชูพินิจกล่าวเสริมในประเด็นนี้ว่ากฎหมายในไทยตั้งแต่พระราชบัญญัติป่าไม้ปี 2484 พระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติปี 2504 พระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติปี 2507 ไม่มีกฎหมายฉบับไหนเลยที่พูดถึงชุมชนทั้งๆ ที่พวกเขาอยู่กันมาก่อนการมีกฎหมายเสียอีก

ในขณะที่สถานการณ์ระดับโลก ย้อนกลับไปในการประชุมของสหประชาชาติตั้งแต่ปี 1992 ครั้งนั้นมีมติต่างๆ ออกมา 2 เรื่องที่ส่งผลมาจนถึงปัจจุบันคืออนุสัญญาเรื่องความหลากหลายทางชีวภาพ ที่ประเทศไทย ได้เข้าไปเป็นภาคีของอนุสัญญาฉบับนี้ด้วย มีการพูดถึงเรื่องการมีส่วนร่วมในการจัดการป่าคุ้มครอง ในอนุสัญญาให้ชุมชนชนเผ่าพื้นเมืองมีส่วนร่วมในการจัดการได้ แต่ในไทยรัฐกลับคิดว่าชนเผ่าพื้นเมืองดูแลป่าไม่ได้

 ต่อมาคือกรอบอนุสัญญาว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ซึ่งอนุสัญญาเหล่านี้พูดถึงเรื่องการส่งเสริมและคุ้มครองชนเผ่าพื้นเมือง ไม่ได้แค่คุ้มครองคนเท่านั้น แต่คุ้มครองภูมิปัญหาของชนเผ่าพื้นเมืองด้วย

“ปัญหาที่เกิดขึ้นคือหน่วยงานรัฐที่ไปผูกพันกับกฎหมายระหว่างประเทศ กับสภานิติบัญญัติที่ออกกฎหมายเป็นคนละส่วนกัน จึงไม่รู้ว่าควรปรับปรุงกฎหมายอย่างไรให้สอดคล้องกับกฎหมายระหว่างประเทศ นี่คือช่องว่างในฝ่ายนิติบัญญัติกับฝ่ายบริหารที่ไม่ได้สื่อสารกัน” ชูพินิจกล่าว

ความจำเป็นในการผลักดันเรื่องชนเผ่าพื้นเมือง

“ตอนนี้มีกว่า 10 กลุ่มชนเผ่าพื้นเมืองที่เสี่ยงจะหายสาบสูญไป บางกลุ่มเหลืออยู่ 3 ชุมชน และมีเพียงชุมชนเดียวที่พูดภาษาตัวเองได้”

โดยชนเผ่าที่นิตยากล่าวถึงคือชนเผ่าบีซู โดยที่ผ่านมาพวกเขาถูกกลืนทางวัฒนธรรมเพราะสังคมคิดว่าพวกเขาคือชนเผ่าลัวะ นอกจากนี้ยังมีชนเผ่ามละบริ หรือชื่อเรียกที่คนภายนอกชอบใช้กันคือผีตองเหลือง พวกเขาเคยมีวิถีชีวิตอยู่ในป่าเก็บของป่าล่าสัตว์ แต่ถูกกระชากออกมาจากป่าให้มาอยู่ในชุมชน ซึ่งรัฐบาลไม่ได้มีกลไกหรือการเตรียมความพร้อมใดๆ ให้ ไม่มีที่ดินทำกินไม่มีการส่งเสริมทักษะอาชีพ

“รัฐบาลคุ้มครองต้นไม้ ก้อนหิน แม่น้ำ สัตว์ป่า แต่กลับไม่อนุญาตให้คนอาศัยอยู่ข้างใน ทั้งที่เขาอาศัยอยู่ในป่ามานาน” นิตยากล่าว

โดย ณ ตอนนี้ประเทศไทยมีกลุ่มชนเผ่าพื้นเมืองอยู่ 46 กลุ่ม กระจายอยู่ทั่วประเทศ จึงเป็นสิ่งสำคัญที่ตัวของผู้คนชนเผ่าพื้นเมืองเองต้องออกมาสื่อสาร และแสดงตัวว่าตนเองคือชนเผ่าพื้นเมือง ควบคู่กันไปกับการผลักดันกฎหมายชนเผ่าพื้นเมืองที่ตอนนี้กำลังอยู่ในกระบวนการพิจารณาในสภาฯ 

“ทุกวันนี้แม้แต่ฝ่ายมั่นคงของไทยก็ยอมรับถึงสังคมพหุวัฒนธรรม” ชูพินิจกล่าวในตอนท้ายของการพูดคุย “เพราะทุกวันนี้พวกเขายอมรับแล้วว่าความหลากหลายมันทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลง”

อย่างไรก็ดีถึงแม้วันนี้สถานการณ์จะดีขึ้นกว่าแต่ก่อน แต่การผลักดันเพื่อสิทธิชนเผ่าพื้นเมืองยังคงต้องทำต่อไป เพราะอย่างที่นิตยากล่าวว่า วันนี้คนรุ่นใหม่ที่เป็นชนเผ่าพื้นเมือง พวกเขาผ่านกระบวนการพัฒนาศักยภาพ จนทุกคนเติบโตขึ้นมาสามารถมาร่วมขับเคลื่อนพัฒนาประเทศไทย ชนเผ่าพื้นเมืองต้องไม่ถูกระบุว่าเป็นภาระของสังคม แต่ควรที่จะลุกขึ้นมาร่วมพัฒนาประเทศชาติได้อย่างมีศักดิ์ศรีและเท่าเทียมกับคนอื่นๆ 

เรียบเรียง: ณฐาภพ  สังเกตุ