“เหนือตะวัน Fest” พื้นที่เรียนรู้ – ชนเผ่าพื้นเมืองสู่ผู้ประกอบการ

เชียงใหม่ในวันที่อุณหภูมิ ความร้อน และค่าฝุ่นควันพุ่งขึ้นถึงขีดสุดจนแทบจะมองไม่เห็นดวงตะวันบนท้องฟ้าที่ปกคลุมอยู่เหนือใจกลางเมือง เราเดินทางฝ่าฝุ่นและอากาศร้อนจัดในวันนั้นมายังงาน “เหนือตะวัน Fest” ที่ Get Farmily ริมถนนวงแหวนเชียงใหม่รอบ 3 (ทางหลวงหมายเลข 121) แถวสันผีเสื้อ เพื่อมาพบปะเพื่อนพี่น้องชาติพันธุ์และชนเผ่าพื้นเมืองจากพื้นที่ต่าง ๆ ที่เป็นผู้ประกอบการมาจำหน่ายสินค้าในงานนี้ และหลายคนยังเป็นคนคุ้นเคยที่เรารู้จักกันดีอยู่แล้ว

สำหรับเรามองว่า เหนือตะวัน Fest เป็นทั้งกิจกรรม พื้นที่ และสัญลักษณ์ความก้าวหน้าของสังคมและวัฒนธรรมของพี่น้องชาติพันธุ์และชนเผ่าพื้นเมืองในประเทศไทยที่มีไม่น้อยกว่า 60 กลุ่ม หลังจากที่ร่าง พ.ร.บ.ชาติพันธุ์และชนเผ่าพื้นเมืองรวม 5 ฉบับสามารถตั้งต้นเป็นก้าวแรกได้สำเร็จจากการโหวตผ่านวาระรับหลักการของสภาผู้แทนราษฎรเพื่อไปหารือต่อในชั้นคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ส่งเสริมและคุ้มครองวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ ก่อนนำข้อสรุปเข้าสู่วาระที่ 2 และ 3 ต่อไป

เหนือตะวัน Fest อาจเป็นโอกาสแรกที่ได้มาทำความรู้จักกับพี่น้องชาติพันธุ์และชนเผ่าพื้นเมืองสำหรับหลายคนที่ได้มาเดินเที่ยวชมภายในงานนี้ แต่สำหรับหนึ่งในผู้จัดงานนี้ขึ้นมาอย่าง จั๊มพ์ ณัฐดนัย ตระการศุภกร ที่มีสิ่งที่อยากจะสื่อสารออกไปได้มากกว่าการถูกมองเป็นแค่กาดขายคัวหรืองานอีเว้นท์ทั่วไป

จั๊มพ์ ณัฐดนัย ตระการศุภกร

“เหนือตะวันมาจากกลุ่มเครือข่ายพี่น้องชนเผ่าพื้นเมืองในพื้นที่ภาคเหนือและภาคตะวันตกเป็นหลัก ซึ่งพี่น้องฯ ที่มาร่วมกับเราในงานนี้มีทั้งผู้ประกอบการชุมชนและกลุ่มเครือข่ายที่มีประสบการณ์การทำงานร่วมกับภาคส่วนต่าง ๆ ที่สนใจเรื่องการพัฒนาทักษะอาชีพ การเป็นผู้ประกอบการบนฐานชุมชนและวัฒนธรรมของตนเองให้ได้นำสินค้า ผลิตภัณฑ์ หรือภูมิปัญญาต่าง ๆ มานำเสนอเพื่อให้เกิดการซื้อขาย พูดคุยแลกเปลี่ยนประสบการณ์ระหว่างผู้ร่วมจัดงานกับผู้เข้าชมงาน รวมไปถึงทำให้ผู้ร่วมจัดงานด้วยกันเองได้รู้จักกันด้วย” จั๊มพ์เล่าให้ฟังถึงแนวคิดการจัดกิจกรรมเหนือตะวัน Fest เป็นครั้งแรกและมีผู้ประกอบการจากชุมชนชาติพันธุ์และชนเผ่าพื้นเมืองจากภูมิภาคดังกล่าวมาร่วมงานฯ ไม่น้อยกว่า 40 – 50 ชุมชน

“ตอนแรกคิดว่าจะสู้อากาศร้อนและฝุ่นควันไม่ไหว แต่ทุกคนที่มาร่วมงานในวันนี้พากันก้าวข้ามปัญหานั้นแล้วช่วยสร้างสีสันให้กับเหนือตะวัน Fest ได้อย่างน่าประทับใจ โดยเฉพาะผู้มาเที่ยวชมงานฯ ที่มีทั้งคนสนใจเรื่องชนเผ่าพื้นเมืองอยู่แล้ว หลายคนเป็นแฟนคลับของชุมชนหรือพี่น้องชนเผ่าพื้นเมืองกลุ่มต่าง ๆ รวมไปถึงภาคีเครือข่ายหรือพันธมิตรที่ทำงานร่วมกันอยู่แล้ว” ไม่เพียงแต่ผู้คนที่มาเที่ยวชมงานฯ จะมาจากหลากหลายกลุ่ม จั๊มพ์กล่าวเสริมต่อถึงการพบกันระหว่างผู้คนภายในงานฯ ที่นอกจากจะทำให้ทุกคนได้เห็นการมีอยู่ของพี่น้องชาติพันธุ์และชนเผ่าพื้นเมืองแล้ว ยังช่วยให้ทุกคนได้เรียนรู้ความหลากหลายทางวัฒนธรรมและความเข้าใจในสิ่งที่พวกเขาอยากจะสื่อสารออกมาให้คนทั่วไปได้รับรู้

We are Indigenous Peoples: เราคือชนเผ่าพื้นเมือง

เหนือตะวัน Fest อาจยังเป็นเพียงเสียงเล็ก ๆ ของพี่น้องชาติพันธุ์และชนเผ่าพื้นเมืองที่ได้มาบอกว่า พวกเขาคือชนเผ่าพื้นเมืองในประเทศไทย พวกเขามีรากเหง้า ภูมิปัญญา วิถีชีวิตที่เป็นอัตลักษณ์ของตนเองตั้งแต่บรรพบุรุษ แต่สิ่งที่พวกเขาต้องการเติมเต็มจากสภาพแวดล้อมและสังคมปัจจุบันเพื่อให้การมีอยู่ของพี่น้องชาติพันธุ์และชนเผ่าพื้นเมืองได้รับการยอมรับโดยสมบูรณ์คือ การมีหลักประกันที่จับต้องได้และได้รับการรับรองโดยรัฐ

“ถ้ามีกฎหมายรับรองการมีอยู่ของพี่น้องชนเผ่าพื้นเมืองจะไม่ใช่แค่การยืนยันตัวตนและอัตลักษณ์ของพวกเรา แต่กฎหมายยังช่วยเชื่อมต่อกับพี่น้องชนเผ่าพื้นเมืองในต่างประเทศให้เกิดเครือข่ายหนุนเสริม ขับเคลื่อนประเด็นสิทธิต่าง ๆ ที่ประชาคมโลกรองรับได้ง่ายขึ้น” จั๊มพ์อธิบาย

ผศ.สุวิชาน พัฒนาไพรวัลย์ หรือ อ.ชิ ได้พูดถึงประเด็นที่เชื่อมต่อจากคำอธิบายของจั๊มพ์อีกว่า แม้ในปัจจุบันประเทศไทยมีพื้นที่คุ้มครองวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ 21 แห่ง แต่การมีกฎหมายอย่าง พ.ร.บ.ส่งเสริมและคุ้มครองวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์และชนเผ่าพื้นเมืองยังจะช่วยให้การยอมรับความหลากหลายของพี่น้องชาติพันธุ์และชนเผ่าพื้นเมืองเกิดเป็นแนวทางปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรมซึ่งครอบคลุมทั้งเรื่องสิทธิ วิถีชีวิต ภูมิปัญญา และวัฒนธรรม ภายใต้ความแตกต่างทางบริบทพื้นที่ของแต่ละภูมิภาคในประเทศไทย

“อย่างพี่น้องปกาเกอะญอในภาคเหนือยังมีวัฒนธรรมที่แตกต่างกับพี่น้องปกาเกอะญอในภาคตะวันตก แต่พี่น้องทั้งสองภูมิภาคล้วนมีองค์ความรู้และทักษะเป็นเครื่องมือดำรงชีพเหมือนกัน ดังนั้นกระบวนการสร้างการรับรู้ถึงการมีอยู่ของพี่น้องชาติพันธุ์และชนเผ่าพื้นเมือง นอกจากจะขับเคลื่อนเรื่องกฎหมายแล้ว กระบวนการสร้างการเรียนรู้ถือเป็นอีกส่วนสำคัญของเรื่องนี้ด้วย เพราะบางอย่างในชีวิตของเราก็จำเป็นต้องหมุนไปตามโลกด้วย” นอกจากจะพูดถึงความสำคัญของการมีอยู่ของพี่น้องชาติพันธุ์และชนเผ่าพื้นเมืองแล้ว อ.ชิ ยังพูดถึงกระบวนการสร้างการเรียนรู้ที่นำมาสู่การเกิดเหนือตะวัน Fest ในครั้งนี้อีกด้วย

“พี่น้องทุกกลุ่มชาติพันธุ์และชนเผ่าพื้นเมืองมีทั้งความรู้ เครื่องมือ ทักษะ และวิธีคิดเพื่อยังชีพอยู่แล้ว แต่สิ่งเหล่านี้ในวันนี้อาจกำลังไม่เพียงพอที่จะทำให้พวกเขาอยู่รอดในระยะยาว ดังนั้นสิ่งที่องค์กรภาคส่วนต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นรัฐ เอกชน ภาคการศึกษา หรือภาคประชาสังคมกำลังเข้าไปสนับสนุนพวกเขาคือติดอาวุธทางความคิด มองความสัมพันธ์ระหว่างภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมกับสถานการณ์ปัจจุบัน ปัญหา ความน่าท้าทาย โอกาสคืออะไร แล้วสิ่งที่องค์กรหรือเครือข่ายนำเข้ามาในพื้นที่และหนุนเสริมซึ่งกันและกันจะช่วยยกระดับสิ่งที่พี่น้องชาติพันธุ์และชนเผ่าพื้นเมืองมีอยู่ในชุมชนของพวกเขาได้อย่างไร” อ.ชิ อธิบายถึงกระบวนการสร้างการเรียนรู้โดยใช้ชุมชน (ชาติพันธุ์) เป็นฐาน

ผศ.สุวิชาน พัฒนาไพรวัลย์ หรือ อ.ชิ

เหนือตะวัน : เราไม่ได้ผลิตเพื่อแค่บริโภค

สิ่งที่ อ.ชิ ได้สะท้อนบทเรียนตามเวทีสาธารณะต่าง ๆ ทำให้เรามองเห็นสถานการณ์ปัจจุบันของพี่น้องชาติพันธุ์และชนเผ่าพื้นเมืองว่า ถ้าจะผลิตเพื่อบริโภคตามวัฒนธรรมดั้งเดิมอาจทำให้วิถีชีวิตของพวกเขาไปต่อได้อีกไม่ไกล โจทย์สำคัญที่เรามองว่าเป็นได้ทั้งความน่าท้าทายและโอกาสคือ พวกเขาจะผลิตและนำเสนอเพื่อบริโภคอย่างไรให้หล่อเลี้ยงทั้งร่างกาย จิตวิญญาณ และตัวตนไปพร้อมกันได้

“ถ้าเราไม่ขายคนอื่น คนอื่นก็จะขายเรา แล้วเราจะขายอย่างไรให้รักษาคุณค่าของเราและไม่ใช่การขายเพื่อขายจิตวิญญาณของเรา”

สำหรับเรามองว่าโจทย์ข้อนี้คือการยกระดับการนำเสนอของดีในบ้านของตนเองอย่างไร อย่างที่ อ.ชิ ได้กล่าวไปว่า ทุกชุมชนของพี่น้องชาติพันธุ์และชนเผ่าพื้นเมืองล้วนมีเรื่องราวที่จะนำมาสู่การมีของดีหรืออัตลักษณ์ประจำถิ่นที่นำออกสู่สายตาคนภายนอกได้ เพียงแต่ว่าจะนำเสนออย่างไรให้คนเห็นแล้วว้าว หรือมีความรู้สึกร่วมกับผู้ผลิตหรือผู้ขายอย่างไร

“การสร้างแบรนด์ สร้างเรื่องราว เสริมวิธีคิดทางการตลาด เพิ่มความเข้าใจการค้าบนโลกดิจิทัล ทักษะเหล่านี้ที่ผมพูดมาเป็นสิ่งที่ล้วนต้องสื่อสารกับคนภายนอกทั้งสิ้น เพราะไม่ใช่แค่การเรียนรู้เพื่อให้ได้มาซึ่งแบรนด์ที่มีโลโก้หรือแพ็กเกจจิ้งสวยงาม แต่ยังเป็นการเรียนรู้เพื่อเข้าใจอัตลักษณ์และความร่วมสมัยที่มีอยู่ของเราที่ไม่ใช่แค่ตัวเราเท่านั้นที่เข้าใจ แต่คนภายนอกที่มาเห็นจะเข้าใจเหมือนที่เราเข้าใจหรือเปล่า ถือว่าน่าท้าทายไม่น้อย แต่ถ้าเราก้าวข้ามความน่าท้าทายจากตรงนี้ไปได้ มันก็จะเป็นโอกาส”

แสงไฟที่ประดับภายในงานเหนือตะวัน Fest ได้เปิดเพื่ออำลาดวงตะวันที่เพิ่งลับขอบฟ้าและต้อนรับผู้คนที่ยังคงเดินเข้ามาภายในงานฯ อย่างไม่ขาดสาย จั๊มพ์ผู้เหน็ดเหนื่อยจากการจัดการความเรียบร้อยภายในงานฯ ท่ามกลางฝุ่นและอากาศร้อนเมื่อยามบ่ายได้กลับมาพูดคุยกับเราอีกครั้งในระหว่างที่นั่งกินข้าวด้วยกัน

“ถ้าไม่มีงานอย่างเหนือตะวัน Fest เกิดขึ้นในพื้นที่แบบนี้ พี่น้องชนเผ่าพื้นเมืองก็จะยังคงถูกทำให้โดดเดี่ยว ทำงาน หรือขับเคลื่อนแบบต่างคนต่างทำ แต่พอวันนี้มีงานแบบนี้เกิดขึ้น พื้นที่ตรงนี้เลยกลายเป็นเหมือนกับ HUB ที่ทำให้ทุกคนจากหลากหลายชนเผ่า หลากหลายพื้นที่ได้มาเจอกัน แล้วสิ่งที่พี่น้องชนเผ่าพื้นเมืองที่มาร่วมงานในวันนี้จะได้กลับไปคือ เกิดไอเดียใหม่หรือแรงบันดาลใจจากการพูดคุยที่สามารถนำไปพัฒนาแบรนด์ของแต่ละคนต่อในชุมชนของตนเองได้”

เราถามคำถามสุดท้ายกับจั๊มพ์ว่า ความคาดหวังและอนาคตของพี่น้องชาติพันธุ์และชนเผ่าพื้นเมืองที่อยากเห็นหลังจบงานนี้เป็นอย่างไร จั๊มพ์เล่าให้ฟังอย่างมีความหวังว่า การที่ชุมชนของพี่น้องชนเผ่าพื้นเมืองมีทั้งผู้ประกอบการ มีแบรนด์สินค้าหรือผลิตภัณฑ์ มีคนรุ่นใหม่กลับบ้านและกลุ่มเครือข่ายที่หนุนเสริมเชื่อมโยงระหว่างกัน ทั้งหมดนี้ได้พิสูจน์ให้เห็นถึงพลังจากเสียงของคนตัวเล็กคนหนึ่งที่ได้ยืนหยัดในวิถีและวัฒนธรรมของตนมาโดยตลอดว่าสามารถดำรงชีพโดยพึ่งพาตนเองได้มากน้อยแค่ไหน ภายใต้รากฐานวัฒนธรรมและภูมิปัญญาที่มีอยู่ในชุมชนของเขา

เหนือตะวันที่ลับขอบฟ้าไปแล้วยังคงถูกปกคลุมไปด้วยฝุ่นควัน สำหรับเรามองว่าคงเป็นสถานการณ์หรือความรู้สึกเดียวกับที่พี่น้องชาติพันธุ์และชนเผ่าพื้นเมืองต้องจับมือต่อสู้และฟันฝ่าไปด้วยกันอีกยาวไกล หลังจากที่งานเหนือตะวัน Fest จบลงท่ามกลางปัญหาและความท้าทายที่ยังคงไม่ไปจากเราง่าย ๆ  

เรื่องและภาพ : รัชชา สถิตทรงธรรม (เนย)

ข้อมูล ณ วันที่ 7 เมษายน 2567