ชนเผ่าพื้นเมืองต้องการการรับรองทางกฎหมาย

ปัญหาที่รุมเร้ายาวนาน

ข้อมูลจากสำนักทะเบียนกลาง ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2565 ระบุว่าประเทศไทยมีประชากรที่ไม่มีสัญชาติไทยจำนวน 984,994 คน ประมาณกันว่าในจำนวนนี้ น่าจะมีชนเผ่าพื้นเมืองร่วมอยู่ระหว่าง 200,000 – 400,000 คน พวกเขาเหล่านี้ถึงแม้จะเกิดในแผ่นดินไทย หรือมีพ่อแม่เกิดในแผ่นดินไทย ย่อมต้องขาดสิทธิในหลายด้าน อาทิเช่น การเข้าไม่ถึงบริการและสวัสดิการของรัฐ สิทธิในฐานะพลเมืองและสิทธิทางการเมือง สิทธิในการครอบครองที่ดินทำกินที่สืบทอดจากบรรพชน แม้แต่จะเดินทางออกนอกจังหวัดก็ไม่ใช่เรื่องง่าย

กฎหมายบางฉบับที่มีบังคับใช้อยู่ได้สร้างปัญหาและอุปสรรคต่อการดำรงชีวิตของชนเผ่าพื้นเมืองจำนวนไม่น้อย กล่าวได้ว่ากฎหมายเหล่านี้ ได้แก่ พรบ. ป่าไม้ พ.ศ. 2484 พรบ. อุทยานแห่งชาติ พ.ศ. 2504 และ พรบ. ป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ. 2507 ถูกบัญญัติขึ้นและบังคับใช้โดยขาดจริยธรรมของกฎหมายอย่างน้อย 2 ประการ:

1) โดยทั่วไปการบัญญัติกฎหมายที่ดี ต้องคำนึงถึงจารีตประเพณีอันดีที่สังคมปฏิบัติอยู่ แต่กฎหมายดังกล่าวถูกบัญญัติขึ้นโดยไม่เห็นว่ามีชุมชนอาศัยอยู่ในป่าเหล่านั้นกันมาก่อนแล้ว

2) ถือเป็นธรรมเนียมปฏิบัติเป็นสากลว่า เมื่อได้ประกาศใช้กฎหมายนั้น ๆ แล้ว ให้เริ่มบังคับใช้สืบไปในเบื้องหน้า แต่กฎหมายเหล่านี้กลับเอาผิดผู้ที่อยู่ในป่ามาก่อนเสมือนเป็นการเอาโทษคนย้อนหลัง บรรดานักวิชาการกฎหมายและผู้บัญญัติกฎหมายกลับปล่อยให้กฎหมายที่ผิดจริยธรรมของกฎหมายเหล่านี้ดำเนินมาได้หลายสิบปีและปล่อยให้ประชาชนถูกกฎหมายดังกล่าวล่วงละเมิดสิทธิขั้นพื้นฐานของพวกเขาซ้ำแล้วซ้ำเล่า โดยกรณีที่ร้ายแรงที่สุดถึงขั้นเสียชีวิต

ถึงแม้ประเทศไทยจะมีนโยบายส่งเสริมความหลากหลายทางวัฒนธรรม แต่กลับไม่มีมาตรการคุ้มครองทางวัฒนธรรม โดยเฉพาะภาษาแม่ของกลุ่มชาติพันธุ์ต่าง ๆ ซึ่งยอมรับกันว่าภาษาเป็นเครื่องมือสำคัญของการสืบทอดมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมหรืออาจเรียกรวมว่าอัตลักษณ์ทางวัฒนธรรม ปัญหาที่กล่าวมาเหล่านี้ได้สร้างความเดือดร้อนนานาให้กับชนเผ่าพื้นเมือง

ปัญหาชื่อเรียก

ทุกวันนี้ คำว่า “กลุ่มชาติพันธุ์” ถูกใช้ให้มีความหมายเหมือนเป็นชนกลุ่มน้อยในสังคม ทั้ง ๆ ที่ทุกคนในโลกย่อมสังกัดอยู่ในกลุ่มชาติพันธุ์ทั้งสิ้น เมื่อสหประชาชาติได้กำหนดให้ Indigenous Peoples ควบรวมความหมายของความเป็นชนพื้นถิ่นกับความเป็นชนเผ่าเข้าไว้ด้วยกัน เราจึงใช้ภาษาไทยว่า “ชนเผ่าพื้นเมือง” ให้สอดคล้องกับเจตนารมณ์ของสหประชาชาติโดยพิจารณาจากเกณฑ์ ดังนี้:

  1. เป็นกลุ่มคนที่มีวัฒนธรรมประเพณี วิถีชีวิตและภาษาที่แตกต่างไปจากสังคมกระแสหลัก
  2. พวกเขามีความมุ่งมั่นที่จะสืบทอดอัตลักษณ์ทางวัฒนธรรมดังกล่าวให้แก่คนรุ่นอนาคตของตน
  3. พวกเขามิได้เป็นกลุ่มครอบงำทางสังคม หรือถูกกระทำให้กลายเป็นคนชายขอบของสังคม
  4. เป็นกระบวนการระบุตนเองของพวกเขา และได้รับการยอมรับจากคนกลุ่มอื่น ๆ แน่นอนว่าในประเทศไทยย่อมมีกลุ่มชนที่เข้าลักษณะเหล่านี้อยู่หลายกลุ่มที่มิได้เป็นเพียงกลุ่มชาติพันธุ์หนึ่ง แต่มีลักษณะของการเป็นชนเผ่าพื้นเมืองสอดคล้องกับเกณฑ์ที่ใช้กันอยู่ระหว่างประเทศด้วย

ความหมายของ “การกำหนดตนเอง”

สนธิสัญญาและกติการะหว่างประเทศหลายฉบับส่งเสริมหลักการของการกำหนดตนเอง (Self-determination) ซึ่งถูกตีความด้วยทัศนคติที่ต่างกัน มองในเชิงลบ การกำหนดตนเอง ถูกอธิบายว่าเป็นการแบ่งแยกดินแดนพร้อมกับยกตัวอย่างบางพื้นที่ในโลก แต่หากมองในเชิงบวก การกำหนดตนเองถูกอธิบายว่าเป็นเรื่องของการจัดการตนเองในมิติของการพัฒนาที่รวมถึงการสืบทอดวัฒนธรรมประเพณีวิถีชีวิต โดยไม่เกี่ยวกับการแบ่งแยกดินแดน ซึ่งก็เป็นส่วนหนึ่งของความคิดแบบประชาธิปไตย ที่อธิปไตยเป็นของประชาชน และความเป็นประชาชนในระดับท้องถิ่นอาจมีความมุ่งหวังในการพัฒนาที่แตกต่างกันไป ด้วยเหตุนี้ “ปฏิญญาสหประชาชาติว่าด้วยสิทธิของชนเผ่าพื้นเมือง” จึงได้เน้นย้ำไว้ในมาตรา 46 ว่าไม่เปิดให้ผู้ใดใช้ประโยชน์จากปฏิญญานี้ทำให้เกิดความแตกแยกหรือการแบ่งแยกดินแดน

ภาพปรากฏ

เครือข่ายชนเผ่าพื้นเมืองแห่งประเทศไทย (คชท.) ได้เริ่มจัดงานมหกรรมชนเผ่าพื้นเมืองแห่งประเทศไทยมาตั้งแต่ปี 2550 และประกาศให้ทุกวันที่ 9 สิงหาคม ของทุกปีเป็นวันชนเผ่าพื้นเมืองแห่งประเทศไทยด้วย เพื่อขานรับกับวันชนเผ่าพื้นเมืองโลก ของสหประชาชาติ และในปี 2553 คชท. ซึ่งเป็นผู้ประสานงานหลักในการจัดงานวันชนเผ่าพื้นเมืองแห่งประเทศไทย ได้ประกาศเจตนารมณ์ในการจัดตั้งสภาชนเผ่าพื้นเมืองประเทศไทย (สชพ,) ในปี พ.ศ.2557 ได้มีการจัดเวทีประชุมสมัชชาระดับชาติว่าด้วยสภาชนเผ่าพื้นเมืองประเทศไทย ครั้งที่ 1 และมีมติรับรองธรรมนูญสภาชนเผ่าพื้นเมืองประเทศไทยให้เป็นกติการ่วมที่ต้องถือปฏิบัติ นับจากนั้นมา ได้มีการยกร่าง “ร่างพระราชบัญญัติสภาชนเผ่าพื้นเมืองแห่งประเทศไทย พ.ศ. …” ซึ่งผ่านการประชาพิจารณ์และปรับแก้หลายครั้ง และในที่สุด ได้ยื่นเสนอต่อประธานสภาผู้แทนราษฎร ณ อาคารรัฐสภาแห่งใหม่ เมื่อวันที่ 7 เมษายน 2564 สถานะปัจจุบัน “ร่างพระราชบัญญัติสภาชนเผ่าพื้นเมืองแห่งประเทศไทย พ.ศ. …” ได้รับการยอมรับหลักการจากสภาผู้แทนราษฎรให้ร่วมเป็น 1 ใน 5 ร่างกฎหมายที่เกี่ยวข้องอยู่ในขั้นการพิจารณาของคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติคุ้มครองและส่งเสริมวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ พ.ศ. …

ทำไมจึงต้องเป็นสภาชนเผ่าพื้นเมืองแห่งประเทศไทย

ในอดีต ชนเผ่าพื้นเมืองบางส่วน เช่น ชาวเลในภาคใต้ขาดทั้งนโยบายและมาตรการส่งเสริมและคุ้มครองวิถีชีวิตจึงต้องช่วยเหลือตนเองมาตลอด ในขณะที่ชนเผ่าพื้นเมืองทางภาคเหนือตอนบนกลับมีโครงการขนาดใหญ่เข้ามายังพื้นที่ของพวกเขาโดยส่งเสริมแกมบังคับให้รับการส่งเสริมเหล่านั้น ที่เรียกกันว่าเป็นการพัฒนาจากบนสู่ล่าง ทั้งนักพัฒนาและผู้เชี่ยวชาญต่างชาติล้วนขาดความรู้ ความเข้าใจในวิถีวัฒนธรรมของพวกเขาอย่างแท้จริง ไร่หมุนเวียนถูกเรียกว่าไร่เลื่อนลอย การปลูกพืชผสมถูกแทนที่ด้วยพืชเชิงเดี่ยว การเพาะปลูกแบบอินทรีย์ถูกแทนที่ด้วยการพึ่งพิงเคมีเกษตร โครงสร้างการปกครองตามจารีตประเพณีถูกแทนที่ด้วยรูปแบบการปกครองของทางราชการ การใช้ภาษาแม่ถูกปิดทับด้วยภาษาราชการ ผลที่เกิดตามมา คือการสูญเสียมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมและภาษาแม่ การสูญเสียความหลากหลายของพันธุ์พืชพื้นบ้านและความมั่นคงทางอาหารให้แก่การปลูกพืชเชิงเดี่ยวเพื่อการค้าที่ทำลายป่าธรรมชาติอย่างกว้างขวางและอาหารที่ปนเปื้อนด้วยสารพิษ และภาวการณ์เป็นหนี้เป็นสินเรื้อรัง ตลอดจนการถูกขับไล่ ไล่รื้อที่อยู่อาศัย การจับกุมและการทำร้ายร่างกายในพื้นที่ป่าอนุรักษ์ ด้วยปัญหาที่รุมเร้าเหล่านี้ทำให้ชนเผ่าพื้นเมืองขาดความมั่นใจและความเคารพตนเองต่างไปจากกลุ่มชาติพันธุ์อื่น ๆ ที่อยู่ในสังคมกระแสหลัก

เมื่อชนเผ่าพื้นเมืองเหล่านี้สร้างพื้นที่ร่วมเพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างกัน จนถึงขั้นจัดตั้งเป็นสภาชนเผ่าพื้นเมืองแห่งประเทศไทย ที่ปัจจุบันมีสมาชิกจาก 46 กลุ่มชาติพันธุ์ พวกเขามุ่งหมายที่จะร่วมคิด ร่วมทำ และร่วมเสพผลจากการกระทำของเขาเอง ด้วยความคาดหวังว่าจะได้รับการสนับสนุนทั้งจากหน่วยงานของรัฐและเอกชน ดังนั้น หากมีการจัดตั้งคณะกรรมการอำนวยการร่วมเพื่อทำหน้าที่เอื้ออำนวยและประสานงานระหว่างหน่วยงานผู้ให้การสนับสนุนย่อมเป็นคุณูปการมากกว่าจะเป็นคณะกรรมการระดับชาติที่ทำหน้าที่ควบคุมและกำหนดนโยบายให้ชนเผ่าพื้นเมืองต้องดำเนินการตามนั้น นี่จึงเป็นความหมายของ “การกำหนดตนเอง” อย่างแท้จริง

เขียนโดย ชูพินิจ เกษมณี

ผู้อาวุโสสภาชนเผ่าพื้นเมืองแห่งประเทศไทย