“Self determination” ในมิติชนเผ่าพื้นเมืองในประเทศไทย

Self – determination หรือการจัดการตนเอง คำนี้เป็นคำกว้าง ๆ ที่ต้องตีความกันอีกทีในขั้นตอนการปฏิบัติ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อ “การจัดการตนเอง” โดยชุมชน ต้องเกี่ยวพันกับหลายภาคส่วน ทั้งหน่วยงานรัฐ กฎหมาย นโยบาย ภาคประชาสังคม และชุมชนใกล้เคียง ดังนั้นการสร้าง “ความเข้าใจร่วม” ระหว่างทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้ตกผลึกถึงความชัดเจนและขอบเขตที่เหมาะสมต่อบริบทของแต่ละพื้นที่จึงมีความจำเป็นยิ่ง

บทความนี้ จะพาไปดูสาระสำคัญที่ถอดออกมาจากวงพูดคุยออนไลน์ ผ่านทาง IMN Live: Special EP #7 เมื่อต้นเดือนเมษายน 2567 ที่ผ่านมา ในหัวข้อ “Self – determination คืออะไร” โดยเป็นการเล่ามุมมองและแบ่งปันความรู้จากคุณกิตติศักดิ์ รัตนกระจ่างศรี อดีตประธานสภาชนเผ่าพื้นเมืองแห่งประเทศไทย และผู้อำนวยการมูลนิธิชนเผ่าพื้นเมืองเพื่อการศึกษาและสิ่งแวดล้อม พร้อมด้วยคุณสุมิตรชัย หัตถสาร นักกฎหมายและผู้อำนวยการศูนย์พิทักษ์และฟื้นฟูสิทธิชุมชนท้องถิ่น โดยที่มาของการหยิบยกประเด็นนี้ขึ้นมาพูดคุย ก็สืบเนื่องมาจากขณะนี้มีการตั้งคณะกรรมการวิสามัญพิจารณาศึกษาร่างพระราชบัญญัติคุ้มครองและส่งเสริมวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ พ.ศ. … ที่เสนอโดยคณะรัฐมนตรี ควบคู่กับร่างกฎหมายฉบับอื่นที่เสนอโดยพรรคการเมือง 2 ฉบับ และโดยภาคประชาชนอีกสองฉบับ รวมทั้งสิ้นเป็น 5 ร่าง โดยประเด็นสำคัญที่กำลังพิจารณาศึกษากันอยู่ นอกจากการหาคำนิยามของคำว่า “ชนเผ่าพื้นเมือง” แล้ว อีกคำที่ยังหาข้อสรุปที่ชัดเจนกันไม่ได้ คือเรื่องของการจัดการตนเอง หรือ Self determination นั่นเอง

คุณกิตติศักดิ์ รัตนกระจ่างศรี อดีตประธานสภาชนเผ่าพื้นเมืองแห่งประเทศไทย

ความหมายของคำว่า Self determination ในมุมมองของภาคประชาชนที่กำลังเสนอร่างกฎหมาย 2 ฉบับที่เกี่ยวกับชนเผ่าพื้นเมืองและชาติพันธุ์คือร่างพระราชบัญญัติสภาชนเผ่าพื้นเมืองแห่งประเทศไทยที่เสนอโดยสภาชนเผ่าพื้นเมืองแห่งประเทศไทยและอีกหนึ่งฉบับคือร่างพระราชบัญญัติส่งเสริมและคุ้มครองวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์และชนเผ่าพื้นเมืองที่เสนอโดยขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรมหรือ P-move ที่ได้เสนอต่อรัฐสภาและได้ผ่านสภาในวาระที่ 1 เมื่อปลายเดือนกุมภาพันธ์ 2567 ซึ่งความหมายของคำนี้เป็นอย่างไรกับมุมมองของภาคประชาชนในร่าง พรบ.ทั้ง 2 ฉบับนี้

จริงๆ แล้วคำว่า self determination ในภาษาไทยมีความหมายที่แตกต่างกันออกไป เช่น สิทธิในการกำหนดอนาคตตนเอง สิทธิในการกำหนดใจตัวเองรวมไปถึงสิทธิในการกำหนดชะตาชีวิตของตนเอง แต่คำว่า self determination คำนี้กลับถูกโยงให้เป็นประเด็นด้านความมั่นคงของประเทศ โดยเฉพาะจากมุมมองของฝ่ายรัฐบางหน่วยงานและฝ่ายความมั่นคง แต่ในความหมายของภาคประชาชนที่เสนอร่าง พรบ.สภาชนเผ่าพื้นเมือง และร่าง พรบ.ส่งเสริมและคุ้มครองวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์และชนเผ่าพื้นเมืองไม่ได้มีความหมายที่จะแยกตัวเป็นอิสระหรือต้องการที่จะปกครองตนเอง แต่กลับเป็นไปในเชิงที่จะให้สิทธิและเสรีภาพกับชนเผ่าพื้นเมืองในการกำหนดอนาคตของของตัวเองในการที่จะรักษาจารีต ประเพณี วัฒนธรรม เศรษฐกิจและสังคมของกลุ่มชนเผ่าพื้นเมืองในยุคนี้ได้อย่างไรให้เข้ากับยุคสมัยที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็วและเป็นการเปิดพื้นที่ให้ชนเผ่าพื้นเมืองได้ใช้ต้นทุน ศักภาพและองค์ความรู้ในการร่วมพัฒนาประเทศไปด้วยกัน

เยาวชนบ้านแม่ปอคี จ.ตาก กำลังอธิบายวิธีการจัดการที่ดินของชุมชนบ้านแม่ปอคีให้กับ นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี(ตำแหน่งในขณะนั้น) ฟัง

self determinatiom ได้ถูกระบุไว้ในในกติการะหว่างประเทศที่ว่าด้วยสิทธิมนุษยชน 2 กติกาด้วยกันคือกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและการเมืองกับกติการระหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิทางเศรษฐกิจและสังคมวัฒนธรรมที่ระบุเรื่อง Right to self determination (RSD) ไว้ในข้อที่ 1. ของทั้งสองกติกา สิทธินี้ถือว่าเป็นรากเหง้าของสิทธิพื้นฐานของมนุษย์และเป็นสิทธิที่ติดตัวมนุษย์มาตั้งแต่เกิดเพราะในเมื่อมนุษย์เกิดขึ้นมาแล้วก็ต้องมีสิทธิที่จะกำหนดชะตาชีวิตของตัวเองได้และ self determination นอกจากจะเป็นสิทธิในระดับปัจเจกบุคคลแล้วสิทธินี้ยังเป็นสิทธิ์ของการรวมหมู่เป็นกลุ่มคน ชุมชนและสังคมขึ้นมา ซึ่งสิทธินี้เป็นสิทธิที่จะสามารถร่วมกันกำหนดชะตาชีวิตของชุมชนหรือสังคมในทิศทางที่ร่วมกันกำหนด สรุปคือ self determination เป็นสิทธิทางธรรมชาติที่ติดตัวมนุษย์มาตั้งแต่เกิดและเป็นสิทธิทางการเมือง เศรษฐกิจ สังคมและวัฒนธรรมพื้นฐานของมนุษย์ทุกคน

ในยุคล่าอาณานิคม self determination ถูกริดรอนอย่างหนักจากประเทศเจ้าอาณานิคมที่กระทำต่อประเทศที่ตกอยู่ใต้อาณานิคมของตัวเองจนถึงช่วงสงครามโลกครั้งที่ 1 เรื่อง self determination กลับนำมาถูกพูดถึงอีกครั้งแต่ยังไม่ได้ถูกยอมรับเท่าที่ควร จนหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 จึงเกิดมติ 1514 (XV) ของสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติ เรื่องการให้เอกราชกับดินแดนอาณานิคม โดยในข้อ 1.1 ของมติ 1514 (XV) ได้กำหนดไว้ว่า “กลุ่มชนทั้งปวงมีสิทธิในการกำหนดชะตากรรมตนเอง โดยสิทธิดังกล่าวพวกเขามีเสรีภาพในการตัดสินใจในสถานะทางการเมือง การพัฒนา เศรษฐกิจ สังคมและวัฒนธรรมของตนเองได้อย่างเสรี” หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ประเทศเจ้าอาณานิคมทั้งหลายได้ถูกบังคับให้รับมติ 1514 (XV) ของสหประชาชาติเพื่อปลดปล่อยประเทศที่อยู่ใต้อาณานิคมของตัวเองให้เป็นอิสระ self determination จึงไม่ใช่สิทธิ์ของการแบ่งแยกดินแดนหรือตั้งตนเป็นรัฐอิสระแต่เป็นสิทธิ์ของประเทศที่เคยตกเป็นอาณานิคมสามารถที่จะลุกขึ้นมาเพื่อกำหนดชะตาชีวิตในด้านเศรษฐกิจ สังคม การเมือง วัฒนธรรมและอัตลักษณ์ของประเทศตนเองได้และ กลังจากนั้นมาคำว่า self determination ก็ได้มีการพัฒนาและแตกแนวคิดออกเป็น 2 ทางคือ Internal self determination สิทธิในการกำหนดชะตาชีวิตของตัวเองภายในรัฐหรือประเทศตัวเองเช่น สิทธิที่จะกำหนดอัตลักษณ์ ภาษา วิถีและวัฒนธรรมของตัวเอง self determination จึงเป็นสิทธิ์ที่ชนเผ่าพื้นเมืองใช้เป็นรากฐานในการเรียกร้องให้ UN รับรองเพื่อที่จะสามารถกำหนดชะตาชีวิตของตัวเองได้บนพื้นฐานของความเป็นชนเผ่าพื้นเมืองแต่ถ้าชนเผ่าพื้นเมืองไม่มีสิทธิ์นี้พวกเขาก็ไม่มารถที่จะกำหนดทิศทางของชนเผ่าหรือชาติพันธุ์ของตัวเองได้และ External self determination สิทธิในการกำหนดชะตาชีวิตของตัวเองภายนอกรัฐหรือประเทศตัวเอง

เราปฏิเสธไม่ได้เลยว่าแต่ละชนเผ่าพื้นเมืองที่อยู่ในประเทศไทยมีวิถีของการดำรงชีวิตที่แตกต่างกันตามพื้นที่อยู่อาศัยเช่นชนเผ่าพื้นเมืองที่เป็นชาวเลวีถีชีวิตของพวกเขาต้องอาศัยทะเลในการดำรงชีวิตเป็นหลักและชนเผ่าพื้นเมืองที่อาศัยอยู่ในพื้นที่สูงทางภาคเหนือของไทยก็จะอาศัยป่าในการดำรงชีวิตเช่นกันทรัพยากรเหล่านี้เป็นเหมือนต้นทุนของพวกเขาในการสร้างระบบเศรษฐกิจ สังคมตามจารีตและวัฒนธรรมตามวีถีของแต่ละที่ตามที่ควรจะเป็น ทว่าในความเป็นจริงชุมชนชนของชนเผ่าพื้นเมืองเหล่านี้กลับถูกปิดกั้นการดำรงชีวิตตามวิถีด้วยกฎหมายที่ออกมาจากรัฐส่วนกลางเช่น ชนเผ่าพื้นเมืองในภาคเหนือไม่สามารถอาศัยป่าในการดำรงชีวิตได้เหมือนเดิมเนื่องจากป่าที่เคยเป็นเหมือนแหล่งผลิตอาหารของของชุมชนถูกรัฐจากส่วนกลางประกาศเป็นเขตป่าสงวนและอุทยานทับ การเข้าไปใช้พื้นที่ป่าในการดำรงชีวิตกลับกลายเป็นเรื่องผิดกฎหมายจากกฎหมายป่าไม้ของส่วนกลางทับพื้นที่ของพวกเขา แต่ในมุมมองของภาคประชาชนที่กำลังเสนอร่างพรบ.ทั้ง 2 ร่างคือ ร่าง พรบ.สภาชนเผ่าพื้นเมือง และร่างพรบ.ส่งเสริมและคุ้มครองวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์และชนเผ่าพื้นเมือง มองถึงสิทธิในการกำหนดวิถีชีวิตของตนเองภายใน (Internal self determination) ภายใต้เงื่อนไขที่กลุ่มชนเผ่าพื้นเมืองที่จะกำหนดอนาคตของตัวเองร่วมกับรัฐเช่น สิทธิในการใช้ทรัพยากรในพื้นที่ของตนเองเพื่อดำรงชีพ สิทธิในการกำหนดการศึกษาให้สอดคล้องกับวิถีชีวิต สิทธิในการดำรงวัฒนธรรมและจารีตของตนเอง หลายกลุ่มของชนเผ่าพื้นเมืองก็มีการเรียกร้องสิทธิที่เขาควรจะมีมาโดยตลอดแต่ข้อเรียกร้องเหล่านั้นกลับถูกตีตกและใช้ข้อกำหนดของกฎหมายจากรัฐส่วนกลางมาเป็นเกณฑ์พิจารณาแทนโดยที่กลุ่มคนที่เป็นชนเผ่าพื้นเมืองเหล่านี้ไม่สามารถกำหนดอะไรได้เลยทั้งกับตัวเองและสังคมแม้ว่าโลกยุคใหม่ที่เรื่อง “สิทธิเสรีภาพ” เป็นสิ่งที่รัฐบาลในทุกประเทศต้องเคารพ สนับสนุน คุ้มครองและส่งเสริมให้คนทุกคน “เท่าเทียมกัน” ไม่ว่าจะเป็นใคร มาจากไหน ชาติพันธุ์อะไร ก็ตาม

ชาวบ้านชนเผ่าลีซูกำลังอธิบายขอบเขตของพื้นที่ป่าและการจัดการพื้นที่ป่าของชุมชนให้กับเจ้าหน้าที่ฟัง

ไทยจะเป็นอย่างไรถ้ายังไม่ให้ความสำคัญกับ self determination กับชนเผ่าพื้นเมือง

เมื่อวันที่ 13 กันยายน 2550 ประเทศไทยและอีก 143 ประเทศลงนามปฏิญญาสหประชาชาติว่าด้วยสิทธิชนเผ่าพื้นเมืองและสิทธิในวัฒนธรรม ธรรมเนียม ประเพณี (มาตรา 2-3, 5-6, 15) ได้เขียนไว้ว่า

“ชนเผ่าพื้นเมืองและชุมชนของพวกเขามีสิทธิที่จะมีชีวิตอยู่โดยปราศจากการเลือกปฏิบัติบนพื้นฐานของแหล่งที่มา ภาษา อัตลักษณ์ หรือวัฒนธรรมประเพณีของพวกเขา ภาครัฐมีความรับผิดชอบที่จะต้องร่วมทำงานกับชนเผ่าพื้นเมืองเพื่อกำจัดการเลือกปฏิบัติทุกรูปแบบและส่งเสริมให้ผู้คนในสังคมเกิดความอดทนอดกลั้นต่อความแตกต่างหลากหลาย นอกจากนี้ ชนเผ่าพื้นเมืองยังมีสิทธิในการกำหนดชะตาชีวิตตัวเอง (Slef determination) ซึ่งรวมไปถึงสถานะทางการเมืองและทิศทางการพัฒนาเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรมที่อาจส่งผลต่อพวกเขาหรือชุมชนของพวกเขา โดยรัฐควรเปิดโอกาสให้ชนเผ่าพื้นเมืองได้มีส่วนร่วมในสถาบันทางเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรมต่างๆ” ซึ่งมันค่อนข้างขัดแย้งกับสิ่งที่เกิดขึ้นและเป็นอยู่ในประเทศของเราเนื่องจากไทยไปลงนามในปฏิญญาสหประชาติว่าด้วยสิทธิชนเผ่าพื้นเมืองแต่ไทยกลับไม่ยอมรับว่าเรามี  “ชนเผ่าพื้นเมือง” อยู่ในประเทศ

ประเทศไทยต้องมีความจริงจังในการแก้ปัญหาเรื่องสิทธิและเสรีภาพตามปฏิญญาสหประชาชาติว่าด้วยสิทธิชนเผ่าพื้นเมืองและไม่ควรมองเรื่อง Self determination ในมิติทางด้านความมั่นคงแต่ควรมองเรื่องเหล่านี้ให้เป็นเป้าหมายของการแก้ไขความเหลื่อมล้ำในสังคมไทย ตามเป้าหมายของการพัฒนาที่ยังยืน (Sustainable Development Goals: SDGs) ที่ไม่ควรทิ้งทั้งชาติพันธุ์และชนเผ่าพื้นเมืองไว้ข้างหลัง ในสายตาของประชาคมโลกไทยอาจจะมีปัญหาเรื่องความน่าเชื่อลดลงกับการที่ไม่ยอมรับกับการมีตัวตัวอยู่ของชนเผ่าพื้นเมืองและแก้ปัญหาเรื่องสิทธิของชนเผ่าพื้นเมืองและชาติพันธุ์

เรียบเรียงโดย อนุชา ตาดี