การประชุมคณะทำงานเอื้ออำนวย

เวทีแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ชนเผ่าพื้นเมืองและชุมชนท้องถิ่นด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ครั้งที่ 11

การประชุมคณะทำงานเอื้ออำนวย (Facilitative Working Group – FWG) ของเวทีแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ชนเผ่าพื้นเมืองและชุมชนท้องถิ่นด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Local Community and Indigenous Peoples Knowledge Platform – LCIPP) ครั้งที่ 11 จัดขึ้นที่กรุงบอนน์ ประเทศเยอรมันนี ตั้งแต่วันที่ 29 พฤษภาคมถึง 1 มิถุนายน 2567 ก่อนการประชุมองค์กรย่อย เพื่อให้คำปรึกษาทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีครั้งที่ 60 (SBSTA 60) ได้เสร็จสิ้นลงแล้ว

การประชุมใช้รูปแบบผสมทั้งการประชุมแบบปกติและการประชุมทางออนไลน์ มีผู้เข้าร่วมประมาณ 100 กว่าคนจากภูมิภาคต่างๆ ทั่วโลก

เนื้อหาการประชุมหลักๆ คือ การทบทวนมติการประชุม FWG ครั้งที่ 10 (การจัดทำรายงาน และร่างแผนงาน LCIPP ปี 2025-2027) ทบทวนและการวางแผนสำหรับการดำเนินกิจกรรมตามแผนงานในระยะที่สอง (2022-2024) เช่น  การประชุมประจำปีของผู้รู้, เวทีเสวนาพหุภาคี, เวทีโต๊ะกลมเยาวชน, เวทีแลกเปลี่ยนในภูมิภาคและระหว่างภูมิภาค, หลักสูตรและสื่อการเรียนรู้ชนเผ่าพื้นเมือง, การต่อยอดผลงานและการมีส่วนร่วมของชนเผ่าพื้นเมืองและชุมชนท้องถิ่นที่เกี่ยวข้องกับหน่วยงานที่ตั้งขึ้นภายใต้อนุสัญญาฯ, การสื่อสารและเว็บไซด์ของ LCIPP

ประชุมมีมติในหลายประเด็นด้วยกัน ที่สำคัญๆ ได้แก่

  • การดำเนินงานตามแผนสามปีที่เหลืออยู่ให้แล้วเสร็จโดยนำเอาข้อเสนอจากเวทีกลุ่มย่อยเข้าไปพิจารณาประกอบด้วย
  • ยืนยันการประสานความร่วมมือกับหน่วยงานที่ตั้งขึ้นและแผนงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง ที่อยู่ภายใต้กรอบอนุสัญญาว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (UNFCCC) เช่น การทบทวนสถานการณ์และการดำเนินงานระดับสากล (Global Stocktake – GST), เป้าหมายสากลว่าด้วยการปรับตัว (Global Goal on Adaptation – GGA), แผนงานการลดก๊าซเรือนกระจก (The Mitigation Programme – MWP), แผนงานการเปลี่ยนผ่านที่เป็นธรรม (Just Transition Work Programme – JTWP) เป็นต้น
  • ยอมรับการสนับสนุนจากหน่วยงานที่อยู่นอกกรอบอนุสัญญาว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เช่น คณะทำงานระหว่างรัฐบาลว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (IPCC) เวทีระหว่างรัฐบาลว่าด้วยนโยบายวิทยาศาสตร์ด้านความหลากหลายทางชีวภาพและบริการจากระบบนิเวศ (IPBES) และ Global Environment Outlook 7 (GEO7)
  • ค้นหาการออกแบบวาระเชิงกลยุทธ และแนวทางการมีส่วนร่วม รวมทั้งนวัตกรรมเพิ่มเติม เช่น โปสเตอร์/แกลเลอรี และโอกาสในการส่งเสริมการแลกเปลี่ยนระหว่างภูมิภาคและระหว่างรุ่น การสร้างความตระหนักรู้เพื่อให้แน่ใจว่าการประชุมของคณะทำงานเอื้ออำนวยมีความก้าวหน้าและเป็นไปตามหน้าที่ของคณะทำงานและผู้ร่วมให้ข้อมูลที่เกี่ยวข้อง
  • จัดทำสารประเด็นร่วมสำหรับใช้ประสานความร่วมมือกับองค์กรย่อยและแผนงานต่างๆ ที่อยู่ทั้งภายใต้และภายนอก UNFCCC  
  • ค้นหาแนวทางที่เป็นรูปธรรมเพื่อให้แน่ใจว่าการเปลี่ยนผ่านไปสู่แผนการดำเนินงานที่เสนอไป ปี 2525-2567 ดำเนินไปได้อย่างราบรื่น
  • จัดประชุมคณะทำงานเอื้ออำนวยครั้งที่ 12 ระหว่างวันที่ 5-8 พฤศจิกายน 2024 ร่วมกับการประชุม SBSTA ครั้งที่ 61 และการประชุมประเทศภาคีสมาชิกครั้งที่ 29 (เมืองบาคู ประเทศอาเซอไบจัน)

อ่านข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับ LCIPP

https://lcipp.unfccc.int/?gad_source=1&gclid=Cj0KCQjwsPCyBhD4ARIsAPaaRf1UlalMv7Oq1oKRwm1rt4GyE92a80tO3pC9RN0FhBBkx0g_nTXaNNYaAhvSEALw_wcB

รายงานโดย ฝุยุ่น