แรงงานจำนวนมากตัดสินใจอพยพเข้าสู่กรุงเทพฯ เมืองศูนย์กลางทางเศรษฐกิจ เพื่อแสวงหาโอกาสที่ดีกว่าในชีวิต ปัจจัยหลักที่ขับเคลื่อนให้แรงงานจำนวนมหาศาลตัดสินใจมายังกรุงเทพฯ คือ “ความกระจุกตัวของโอกาสทางการงาน” เมืองหลวงแห่งนี้เปรียบเสมือนขุมพลังเศรษฐกิจ รวบรวมธุรกิจขนาดใหญ่ บริษัทข้ามชาติ โรงงานอุตสาหกรรม และสถานประกอบการต่างๆ หล่อหลอมให้เกิดตำแหน่งงานหลากหลาย รองรับทักษะและความสามารถของแรงงานจากทุกภูมิภาค แรงจูงใจสำคัญอีกประการหนึ่งคือ “ค่าจ้าง” กรุงเทพฯ มอบค่าจ้างที่สูงกว่าพื้นที่อื่นๆ ของประเทศ จูงใจแรงงานให้ได้มีโอกาสหารายให้เพียงพอต่อการเลี้ยงดูตนเองและครอบครัว
“จินตนา ประลองผล” เป็นแรงงานชาติพันธุ์อีกหนึ่งคนที่ถูกโครงสร้างทางสังคมและเศรษฐกิจ ผลักให้เธอต้องมาทำงานไกลบ้าน ระยะทางกว่า 600 กิโลเมตรจากเชียงใหม่ถึงกรุงเทพฯ เธอต้องปรับตัวให้เข้ากับชีวิตในเมืองใหญ่ เผชิญกับอคติจากชาติพันธุ์ รวมถึงความเป็นผู้หญิงที่ถูกมายาคติกดทับมาอย่างยาวนาน
จินตนา ประลองผล ชนเผ่ากะเหรี่ยงที่ต้องเข้าไปแสวงหางานที่ตรงสายในกรุงเทพ
เมืองที่ถูกแช่แข็งผลักดันคนให้แสวงหาโอกาส
“เราเป็นชนเผ่าปะกาเกอะญอ เป็นคนอำเภออมก๋อย จังหวัดเชียงใหม่ อย่างที่ทราบกันดีว่าพอมันอยู่ห่างไกลจากพื้นที่ชุมชน ในเมืองหรือว่าพื้นที่ที่มันเป็นแหล่งเศรษฐกิจ มันก็อยู่ห่างไกล ดังนั้นการใช้ชีวิตของเราที่บ้านก็จะมีความคล้ายๆ กับสิ่งที่คนในเมืองโรแมนติไซส์ (Romanticize) ซึ่งเราเองก็ไม่ได้อยากจะให้มันมันเป็นอย่างงั้นนะ มันถูกแช่แข็งไว้อย่างนั้น”
เราเรียนจบนิติศาสตร์ จากมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ การที่เราจะไปหางานทำที่บ้านมันเป็นเรื่องยากมากเลยที่จะมีสายอาชีพที่ตรงกับสิ่งที่เราเรียนมา มันยากมากเลย ประเด็นที่เราสนใจคือประเด็นด้านสิ่งแวดล้อม ซึ่งที่เชียงใหม่มันไม่มี ส่วนใหญ่มันก็จะเป็นประเด็นที่ดินป่าไม้ซะส่วนใหญ่ แต่เราอยากทำงานประเด็นด้านกฎหมายสิ่งแวดล้อมเลย แต่ว่าก็อาจจะไม่ได้ตรงกับสิ่งที่เราอยากจะทำจริงๆ เราก็เลยต้องมาแสวงหางานซึ่งมันอยู่ในกรุงเทพ ซึ่งแน่นอนว่าการปรับตัวของเรามันก็ค่อนข้างยากกับเด็กที่อยู่บนดอย เรา อยากไปให้ได้ไกลกว่านี้ อยากสั่งสมประสบการณ์ให้มากกว่านี้ เราอยากเป็นคนที่มีคุณภาพคนนึงเป็นชาติพันธุ์ที่มีคุณภาพคนนึง เพราะเมื่อก่อนอะเราเคยโดนดูถูก ตอนแรกครอบครัวเรายากจนมาก เราเลยต้องถีบตัวเองขึ้นมาเป็นชนชั้นกลาง ระหว่างทางที่ถีบตัวเองขึ้นมา เราก็โดนดูถูกสารพัดไปแล้ว พวกเขาชอบว่ากะเหรี่ยงยาง ซึ่งเป็นคำเหยียดมากๆ เราเองก็อยากยกระดับคุณภาพชีวิตของครอบครัวเราด้วย
จริงๆ มันเกี่ยวข้องกันหมดเลยนะทั้งระบบโครงสร้างทางการเมือง ทางสังคมทางเศรษฐกิจมันรวมศูนย์ กระจุกอยู่แค่ในตัวเมือง เราในฐานะที่ชาติพันธุ์ที่ไม่เคยออกจากพื้นที่ประเทศเชียงใหม่ต้องดิ้นรนลงมาที่กรุงเทพฯ เมืองที่เราไม่เคยมาไม่คิดว่าอยากจะมาอยู่ด้วย แต่เราต้องดิ้นรนลงมาเพราะว่าเราจะได้มีประสบการณ์ ได้มาทำงานให้ตรงกับสิ่งที่เราสนใจ งานที่เราอยากทำมันมากระจุกอยู่ตรงกลางนี้ไง แล้วก็ทางเศรษฐกิจด้วย ค่าแรงที่เชียงใหม่มันก็ถูกมากเมื่อเทียบกับกับค่าครองชีพ ตอนเราเรียนจบมางานแรกเป็นงานราชการที่ทำระหว่างคั่นเวลานะ เขาให้เดือนละแปดพันเก้าพันต่อเดือน แค่นั้นก็คือจบไม่มีสวัสดิการอะไรให้เลย เราจบมาใหม่เราคิดว่าเอาไปก่อนเพราะเรายังไม่มีประสบการณ์มันเหมือนเป็นการปิดตัวเองด้วยนะ แล้วก็ประเภทงานด้วยเราคิดว่าเนื่องจากมันไม่ได้ตรงกับสิ่งที่เราเรียนเขาคงจะคิดให้เราเท่านี้ล่ะมั้ง
อีกอย่างหนึ่งก็คือความกดดันทางสังคมด้วย มันไม่ใช่แค่คนรอบข้างหรือว่าครอบครัวเราเท่านั้น บางทีโซเชียลก็เป็นอีกหนึ่งปัจจัยเหมือนกัน พอเราเห็นเพื่อนเราประสบความสำเร็จสอบได้ เราก็อยากเร่งให้ตัวเองประสบความสำเร็จ ก็เลยแบบมีงานอะไรก็ทำไปก่อน แต่ก็รู้นะว่าเงินเดือนมันไม่ควรจะได้เท่านี้คือมันต่ำกว่าขั้นต่ำอีก แต่ว่าเรื่องปากเรื่องท้องเราทำไงได้ ค่าเรทเท่านี้ให้เราได้เท่านี้จริงๆ หรือ เราก็ยอมรับโดยปริยาย พอไม่พอค่อยว่ากันอีกทีนึง เดือนชนเดือนน่ะ ถามว่าเรามีเก็บไหมไม่มีหรอก แต่ ณ ตอนนั้นเราเป็นเด็กเพิ่งจบมาใหม่ เป็นนักศึกษาใหม่ไม่มีประสบการณ์ เงินเดือนเท่านี้ก็เอาแล้ว น่าจะคล้ายๆ กับหลายๆ คน
ตอนเราลงมาเรียนในเมืองเชียงใหม่เนี่ยเราว่าเราก็ปรับตัวเยอะแล้วนะ คือเราอยู่ในเชียงใหม่มาโดยตลอด แต่ยังต้องปรับตัวให้ชินกับการที่จะต้องมาอยู่ในกรุงเทพฯ ที่มันเป็นชุมชนเมือง ผู้คนเยอะแยะมากมาย หันซ้ายหันขวาก็มีแต่ตึกๆๆๆๆ ซึ่งเราไม่รู้ว่าเราจะคุยกับใครเพราะว่าทุกคนต่างก็ โฟกัสแค่ตัวเองอย่างเดียว ความเป็นชุมชนเมือง หมายถึงว่าการอยู่เป็นเป็นชุมชนน่ะแทบจะไม่มีเลยด้วยซ้ำไปในกรุงเทพฯ เราพูดเสมอว่าตอนที่เรามาทำงานในกรุงเทพฯ เราสามารถนับคำของเราได้เลยว่าวันๆ นึงเราพูดกี่ประโยคเราพูดกี่คำเราพูดกับใครบ้าง ซึ่งมันมันก็เป็นเรื่องน่าตกใจมากเลยนะ
เราเชื่อว่าคนเมือง คนในกรุงหลายคนที่กลายเป็นซอมบี้ไร้ซึ่งความรู้สึกเลยนะ หลายอย่างมันกดทับ เราไม่แปลกใจเลยว่าการที่พี่น้องที่บางกลอยบอกว่าการที่จะบังคับให้น้องบางกลอยลงมาอยู่ในเมืองแล้วทำให้เขาสามารถตายได้อันนี้เป็นความจริงนะ ขนาดเราอยู่ในตัวเชียงใหม่ก็ถือว่าเมืองอยู่นะ พอเราลงมากรุงเทพฯ เรายังต้องปรับตัวเยอะมาก แล้วกับพี่น้องที่ใช้ชีวิตในป่ามาโดยตลอดอยู่กับธรรมชาติมาตลอดจะเป็นยังไง การที่เรามาอยู่ตรงนี้ แน่นอนมันต้องแข่งขันเยอะ เราก็อยากมีประสบการณ์เยอะเราต้องถีบตัวเองไง เราต้องแลกระหว่างการเพิ่มทักษะ การเพิ่มความรู้ การทำให้ตัวเองกลายเป็นคนที่มีประสิทธิภาพ เราก็ต้องแลกมาด้วยคุณภาพชีวิตของเราเหมือนกัน”
ชนเผ่าไทใหญ่ถือป้านรณรงค์ในวันแรงงานสากลที่เชียงใหม่
หญิงชาติพันธุ์และชนเผ่าห่วงโซ่ล่างสุดในวงการแรงงาน?
ผลการวิจัยโดย Forbes นิตยสารเกี่ยวกับธุรกิจและการเงินในสหรัฐอเมริกา ในปี 2022 เผยให้เห็นว่าช่องว่างรายได้ระหว่างเพศส่งผลกระทบที่แตกต่างกันต่อผู้หญิงจากชาติพันธุ์ต่างๆ ผู้หญิงละติน ผู้หญิงผิวดำ และผู้หญิงอเมริกันพื้นเมืองล้วนประสบกับช่องว่างรายได้ที่กว้างกว่าค่าเฉลี่ยสำหรับผู้หญิงทุกคน ในปี 2021 ช่องว่างรายได้ระหว่างเพศสำหรับชาวละตินคือ 54% ผู้หญิงผิวดำได้รับค่าจ้าง 58% ของเงินเดือนของผู้ชาย และผู้หญิงอเมริกันพื้นเมืองได้รับค่าจ้างเพียง 60% ของค่าจ้างที่มอบให้กับเพื่อนร่วมงานชาย
ผู้ชายยังคงมีรายได้มากกว่าผู้หญิงในเกือบทุกอุตสาหกรรม เนื่องจากปัจจัยต่างๆ รวมถึงการแบ่งแยกเพศตามการจ้างงานและอาชีพที่ยังคงมีอยู่ ผู้หญิงต้องหยุดทำงานสาเหตุเพราะพวกเธอมีลูก การแบ่งปันความรับผิดชอบในครอบครัวที่ไม่เท่าเทียมกัน และค่าจ้างที่ไม่ยุติธรรม (ประชาไท, 2023)
ความคิดเก่าคร่ำครึมองว่างานของหญิงกับชายมีการแบ่งแยกอย่างชัดเจน ผู้หญิงจะรับบทบาททำงานที่ใช้ ‘แรงกาย’ น้อยกว่าผู้ชาย ทำให้ผู้ชายได้ค่าแรงที่สูงกว่า แม้ว่าผู้หญิงจะมีโอกาสทางการศึกษาในระดับสูงและได้ทำงานนอกบ้านมากขึ้น แต่ค่าจ้างของหญิงมักต่ำกว่าชายตลอดสามทศวรรษที่ผ่านมา งานวิจัยของวรวรรณ ชาญด้วยวิทย์ จาก TDRI ชี้ว่าแม้ว่าหญิงจะมีการลงทุนเพื่อการศึกษาและมีประสบการณ์ในการทำงานที่ดีขึ้นแล้วก็ตาม แต่หญิงโดยเฉลี่ยก็ยังคงได้รับค่าจ้างต่ำกว่าชาย
แรงงานหญิงออกมาถ่ายรูปขบวนวันแรงงานสากลใน จ.เชียงใหม่
“ค่าแรงเชียงใหม่หลักพัน ค่าแรงกรุงเทพหลักหมื่น ทำไมคนจะไม่ยอมมา ในกรุงเทพอย่างน้อยแม้ว่ามันจะมีค่าครองชีพสูง แต่ว่าค่าตอบแทนมันก็ยังพอโอเคอยู่มันก็ทำให้เราสามารถส่งกลับที่บ้านได้ มีเงินเก็บได้อยู่ แต่ถ้าเราอยู่ที่ประเทศเชียงใหม่เราก็คงจะไม่มีเงินเก็บ แล้วก็ไม่ได้ทำงานในสิ่งที่เราอยากจะทำ ต่อให้มันเป็นพื้นที่ที่เรารักแล้วก็เป็นพื้นที่ปลอดภัยที่สุดสำหรับเราก็ตาม”
นอกจากนี้ ผู้หญิงยังมีโอกาสได้รับการฝึกอบรมน้อยกว่า การลงทุนด้านอาชีพของผู้หญิงได้รับผลกระทบจากการรับรู้ว่าตนจะต้องพักงาน หรือไม่ก้าวหน้าเกินระดับหนึ่งๆ หลังจากมีลูก ผนวกกับการขาดสวัสดิการสำหรับผู้หญิงที่กลับมาทำงาน หลักสูตรอบรมเกี่ยวกับนโยบายส่งเสริมความเสมอภาคระหว่างเพศและผู้นำสตรีในองค์กรในสถานที่ทำงานของ UN WOMEN ระบุว่ามีการใช้ภาษาที่เน้นเพศชายในการบรรยายรายละเอียดงาน ผู้คนมีอคติต่อความสามารถและทักษะการพัฒนาของผู้หญิง ผู้หญิงถูกมองว่าไม่มีความมุ่งมั่นในการทำงานและผู้หญิงมักเป็นกลุ่มแรกที่ถูกเชิญออกยามเกิดวิกฤติ
ส่วนใหญ่พอเขารู้ว่าเราเป็นชาติพันธุ์ ถ้าไม่คิดว่าเราด้อยกว่าก็จะคิดว่าเราไม่ค่อยมีความรู้ ไม่ค่อยมีความสามารถ ถ้าเกิดว่าเราพูดแบบหนึ่งสองสามใช่ไหม เขาก็จะตั้งคำถามกับเราว่ามันใช่หรือเปล่า มันจริงไหม แต่ถ้าเกิดว่าเป็นผู้ชายพูดแบบหนึ่งสองสาม เขาก็มองว่า อ๋อโอเคตามนั้น ไม่เช็กเลย เจอบ่อยแล้วเจอทุกที่ด้วย เราก็คิดในใจว่า อีกละ! เพราะเราถูกทำให้คิดว่าให้เรามีลำดับขั้นที่ต่ำที่สุดในการทำงาน เราก็จะไม่ค่อยกล้าที่จะพูดเท่าไร สังคมมันกดทับเราเยอะจนเราเองก็กดทับตัวเอง เราไม่กล้าที่จะพูดเท่าไร ไม่กล้าจะสื่อสารความรู้สึกที่แท้จริงของเรา เมื่อก่อนจัดการด้วยตัวเองแต่พอตอนนี้เรามีเพื่อนๆ พี่ๆ ที่ทำงานด้วย เขาก็เข้าใจพูดคุยด้วยกัน
แรงงานหญิงไทใหญ่ในขบวนวันแรงงานสากลที่ จ.เชียงใหม่
โอกาส หน้าที่การงานของผู้หญิงชาติพันธุ์และชนเผ่า
เพื่อนเราหลายคนมากเลยที่ไม่สามารถมาถึงโอกาสนี้ น่าเสียดายโอกาสเขามากเลย เขาเป็นคนเก่งนะ แต่เนื่องจากด้วยสภาพโครงสร้างทางสังคมเขาก็ไม่ได้เรียนต่อ เขาต้องแต่งงานมีลูกมีหลาน ครอบครัวไม่ได้สนับสนุนให้เรียน เขามองว่าผู้หญิงต้องอยู่บ้านเรียนไปทำไม เรียนไปก็ต้องแต่งงานเอาผัวแล้วเข้าไปอยู่บ้านผัวอยู่ดีส่วนลูกชายอยากทำอะไรก็ทำจ้า ลูกชายจะถูกประคบประหงมนิดนึง เรานี่ต้องทำตั้งแต่ไม้จิ้มฟันยันเรือรบ ตั้งแต่ล้างจาน หาบน้ำ ไปแบกฟืน ทำทุกอย่างนอกนอกบ้านในบ้านทำหมด มันถูกทำให้เป็นหน้าที่ของผู้หญิงแล้วเราก็ติดมาจนถึงทุกวันนี้นะ เราติดนะ รักในการบริการ การทำให้คนอื่นน่ะ มันส่งผลกับเราหมายถึงว่าถ้าเป็นงานสายบริการน่ะ อย่างเช่นเสิร์ฟน้ำ ทำงานจัดการ เราก็จะเลือกทำงานจัดการมากกว่าที่จะไปอยู่ด้านหน้าเพื่อนำเสนองาน หรือการที่จะเป็นตัวหลักเราจะอยู่ข้างหลังบ้านดีกว่า มันถูกฝังไปแล้วนะ
อุปสรรคที่มีผลต่อความก้าวหน้าในอาชีพการงานโดยเฉพาะกับผู้หญิงและสมาชิกของชนชนเผ่าในบางครั้งถูกสร้างจาก “ความเป็นอื่น” และการกดทับจาก “มายาคติ” ของรัฐไทย ซึ่งถูกสะท้อนผ่านรูปแบบการจ้างงานที่เลือกปฏิบัติ ซึ่งมักทำให้คนงานซึ่งเป็นเพศหญิงติดกับอยู่ในระดับตำแหน่งงานที่ต่ำ มีความคล่องตัวน้อย ค่าจ้างอาจน้อยกว่ากลุ่มคนอื่นๆ อีกทั้งยังมองไม่เห็นในการก้าวหน้าในอาชีพ นอกจากนี้ยังรวมไปถึงปัจจัยการรวมศูนย์อำนาจทางเศรษฐกิจ ที่กระจุกตัวอยู่ในเมืองใหญ่และแช่แข็งเมืองอื่นไว้โดยไม่ได้พัฒนาให้สอดคล้องกับบริบทชุมชน ทำให้คนหนุ่มสาวเหล่านี้ต้องแสวงหางานทำไกลบ้านอย่างเลือกไม่ได้
บทสัมภาษณ์ จินตนา ประลองผล ชนเผ่ากะเหรี่ยง อ.อมก๋อย จ.เชียงใหม่
บทความโดย ณัฐชลี สิงสาวแห
อ้างอิง
ประชาไท. (4 ตุลาคม 2023). สถานการณ์ ‘ช่องว่างค่าจ้างระหว่างเพศ’ เราอยู่ตรงจุดไหนแล้วในปี 2023 นี้. Prachatai. https://prachatai.com/journal/2023/10/106203
รพีพัฒน์ อิงคสิทธิ์. (29 ตุลาคม 2018). เธอ-เขา และค่าจ้างของเราไม่เท่ากัน. The Momentum. https://themomentum.co/gender-pay-gap/
วรวรรณ ชาญด้วยวิทย์. (5 มีนาคม 2561). 3 ทศวรรษ ของการเปลี่ยนแปลงในตลาดแรงงานไทย. TDRI. https://tdri.or.th/2018/03/3decade-thai-labour-market/
UN WOMEN. การอบรมหลักการเสริมสร้างศักยภาพสตรี (WEPs) ความเท่าเทียมทางเพศในสถานที่ทำงาน นโยบายส่งเสริมความเสมอภาคระหว่างเพศและผู้นำสตรีในองค์กร. Kenan Asia. https://www.kenan-asia.org/…/TH-Principle-2-Workplace.pdf
ความหมายของช่องว่างรายได้ระหว่างเพศ. https://th-th.workplace.com/blog/gender-pay-gap…