ส่องอคติไร่หมุนเวียน ผ่านความเห็นผู้คนในสังคมเมือง

“ทำเกษตรบนพื้นที่ป่า = ทำลายป่า” หนึ่งในชุดความคิดที่เกิดจากความไม่รู้และไม่เข้าใจของผู้คนในสังคมเมืองที่อาจไม่เคยรู้จักวิถีชีวิตคนที่อยู่กับป่ามาก่อน เมื่อเกิดสถานการณ์ความขัดแย้งในพื้นที่ป่าที่ถูกสื่อสารออกมายังนอกพื้นที่ผ่านช่องโทรทัศน์ วิทยุ หรือโซเชียลมีเดียต่าง ๆ เรามักจะค้นพบอคติจากความคิดเห็นของผู้คน โดยเฉพาะอย่างยิ่งบนโซเชียลมีเดียอย่างเฟซบุ๊ก

กรณีล่าสุดที่เกิดขึ้นในพื้นที่ชุมชนกะเหรี่ยงบ้านห้วยหินลาดใน อำเภอเวียงป่าเป้า จังหวัดเชียงราย ที่มีชาวบ้านในพื้นที่โพสต์ข้อความพร้อมภาพประกอบว่า เมื่อวันที่ 4 มิถุนายน 2567 มีกลุ่มบุคคลไม่ทราบชื่อขี่มอเตอร์ไซค์จากนอกพื้นที่เข้าไปยังพื้นที่ป่าของบ้านห้วยหินลาดในแล้วกลับออกมา และเมื่อมีชาวบ้านเข้าไปตรวจความเรียบร้อยพบว่า ไร่หมุนเวียนบางแปลงมีร่องรอยถูกทำให้เสียหาย เช่น ข้าวของเครื่องใช้ถูกทำลาย ถูกรื้อทิ้งกระจัดกระจาย ต้นพืชถูกถอนทิ้ง และเมื่อโพสต์ดังกล่าวถูกแชร์ออกไปในวงกว้าง ได้ปรากฎว่ามีผู้เข้ามาแสดงความคิดเห็นต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นอย่างหลากหลายมุมมอง

ไร่หมุนเวียนกับความคิดเห็นบนโลกออนไลน์

เนื่องจากความคิดเห็นที่ปรากฏบนโพสต์ดังกล่าวมีข้อสังเกตเรื่องแนวทางการแสดงความคิดเห็นที่มีทั้งเชิงบวกและเชิงลบ ซึ่งจากการสำรวจความคิดเห็นของประชาชนตามพื้นที่สาธารณะออนไลน์บนเฟซบุ๊กหรือ Facebook Group ที่มีทั้งพื้นที่กลุ่มชาติพันธุ์และชนเผ่าพื้นเมืองและพื้นที่ส่วนภูมิภาคตั้งแต่ระดับจังหวัดและอำเภอลงไปจะพบว่า ในแต่ละกลุ่มพื้นที่มีบริบททางสังคมที่ส่งผลต่อความคิดเห็นของผู้คนในกลุ่มนั้น ๆ อย่างไรบ้าง

พื้นที่สาธารณะออนไลน์ของพี่น้องกะเหรี่ยงอย่าง “กะเหรี่ยงทั่วโลกคุยกัน” หรือแม้กระทั่งในกลุ่มเฟซบุ๊กในอำเภอจอมทอง อำเภอกัลยาณิวัฒนา จังหวัดเชียงใหม่ ที่มีพี่น้องกะเหรี่ยงอาศัยอยู่ในพื้นที่ดังกล่าวเป็นจำนวนมาก ได้มีผู้เข้ามาแสดงความคิดเห็นไปในทิศทางเดียวกันคือ รู้สึกกังวล ห่วงใย และโกรธแค้นต่อเหตุการณ์ที่พี่น้องกะเหรี่ยงบ้านห้วยหินลาดในถูกกระทำเช่นนั้น อย่างไรก็ตามได้มีความคิดเห็นที่น่าสนใจและสะท้อนปัญหา สถานการณ์ปัจจุบันของวิถีชีวิตพี่น้องกะเหรี่ยงได้ในระดับหนึ่ง ดังนี้

“ที่ชาวบ้านต้องออกไปทำไร่เพื่อปลูกข้าวและพืชผักสวนครัวก็เพราะทุกวันนี้อาหารการกินแต่ละมื้อไม่พอกินค่าแรงน้อย (ขั้นต่ำวันละ 300) หมูโลละ 150 อีก 150 ต้องซื้อของใช้ในครัวเรือนมันจะไปพอกินอะไร อีกอย่างไม่น่าทำแบบนี้เลย บอกกันก่อนก็ได้ ใจร้ายจริง ๆ”

“เพราะกะเหรี่ยงที่ยังใช้ชีวิตแบบโลกไดโนเสาร์ไม่พัฒนา อนุรักษ์ป่าเพื่อ… โลกเขาไปไกลแล้วที่ยังไม่พัฒนา บ้านผมอยู่ในเขตอุทยานแห่งชาติ… ทำแบบเจ้าหน้าที่ป่าไม้บอกคือ ทำให้ต้นไม้ใหญ่ ๆ ตายในหน้าฝน พอหน้าแล้งให้ไฟไหม้ให้หมด”

ในขณะที่บนพื้นที่สาธารณะออนไลน์ในพื้นที่ที่เกี่ยวข้องกับบ้านห้วยหินลาดในอย่าง “ข่าวสารเวียงป่าเป้า” ในอำเภอเวียงป่าเป้า จังหวัดเชียงราย ได้มีผู้ใช้เฟซบุ๊กหลายรายเข้ามาตั้งข้อสงสัยว่า กลุ่มบุคคลที่ต้องสงสัยว่าได้เข้าไปทำลายข้าวของในไร่หมุนเวียนชาวบ้านเป็นเจ้าหน้าที่อย่างที่ต้นโพสต์ได้ให้ข้อมูลจริงหรือไม่ หรือมีหลักฐานยืนยันว่าเป็นเจ้าหน้าที่จริงหรือเปล่า หรือแม้กระทั่งกลุ่มเฟซบุ๊กที่อยู่ในพื้นที่ข้างเคียงอย่าง “ชมรมสัพเพเหระ&สัพพะค้าขายในอ.พร้าวจ.เชียงใหม่” ก็ได้มีผู้ใช้เฟซบุ๊กรายหนึ่งเข้ามาแสดงความคิดเห็นที่น่าสนใจและเป็นประโยชน์ต่อการพิจารณาที่มาที่ไปของสาเหตุที่ทำให้เกิดเหตุการณ์ดังกล่าว

“ผมไม่ทราบว่าฝั่งเวียงป่าเป้ามีการชี้แนวเขตร่วมกับอุทยานไหมครับ อุทยานเค้ามีแผนที่เขตอุทยาน ถ้ามีอะไรที่ถือว่ารุกล้ำเขตอุทยานจะมีมาตรการในการดำเนินการป้องปรามการลุกล้ำ แนะนำให้ฝ่ายปกครองประสานไปทางอุทยานเพื่อหาทางแก้ไขร่วมกันครับ”

จากความคิดเห็นดังกล่าว ประสิทธิ์ ศิริ คนรุ่นใหม่บ้านห้วยหินลาดในได้เคยให้ข้อมูลเบื้องต้นของชุมชนว่า บ้านห้วยหินลาดในเป็นหนึ่งในเขตพื้นที่คุ้มครองและส่งเสริมวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ตามมติคณะรัฐมนตรี 3 สิงหาคม 2553 โดยพื้นที่ป่าที่ชาวบ้านได้ใช้สอยประโยชน์ต่าง ๆ รวมถึงพื้นที่ทำไร่หมุนเวียนไม่ได้เป็นพื้นที่เขตอุทยานแห่งชาติใด แต่พื้นที่ป่าที่ชาวบ้านร่วมกันดูแลรักษามาหลายชั่วอายุคนเป็นเวลานานนับร้อยปีก่อนที่จะมีการประกาศกฎหมายต่าง ๆ ที่ควบคุมการใช้สอยพื้นที่ป่าในยุคสมัยต่อมา ซึ่งการใช้สอยประโยชน์จากพื้นที่ป่าในบ้านห้วยหินลาดในจะอยู่ภายใต้การบังคับใช้กฎหมายของ พ.ร.บ.ป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ. 2507 ซึ่งมีเจ้าหน้าที่สังกัดกรมป่าไม้เป็นผู้รับผิดชอบ

ชวนทำความเข้าใจถึงสิทธิทางวิถีชีวิตและวัฒนธรรมในพื้นที่คุ้มครองฯ

พื้นที่คุ้มครองและส่งเสริมวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ตามมติคณะรัฐมนตรี 3 สิงหาคม 2553 มีวัตถุประสงค์เพื่อคุ้มครองวิถีชีวิต ภูมิปัญญา และวัฒนธรรมดั้งเดิมของกลุ่มชาติพันธุ์และชนเผ่าพื้นเมืองไม่ให้ได้รับผลกระทบจากการใช้อำนาจบังคับข้อกฎหมายโดยรัฐ เช่น สามารถใช้เป็นข้อเจรจาต่อรองกับอุทยานฯ หรือป่าไม้กรณีที่ต้องทำข้อตกลงในการใช้สอยพื้นที่ป่าได้ แต่ในทางปฏิบัติจริงมักจะไม่เป็นเช่นนั้น เพราะรัฐมักจะอ้างข้อกฎหมายในพระราชบัญญัติซึ่งมีศักดิ์สูงกว่ามติคณะรัฐมนตรี

อคติไร่หมุนเวียนในสังคมเมือง

จากการสำรวจความคิดเห็นในกลุ่มเฟซบุ๊กระดับจังหวัด เช่น “กลุ่ม เชียงใหม่108 CM108” “เชียงราย – Chiangrai” หรือ “Lampang City” ผู้เขียนสามารถสรุปเบื้องต้นได้ว่า ความคิดเห็นส่วนใหญ่ยังคงไปในทิศทางที่มีอคติต่อกลุ่มชาติพันธุ์และชนเผ่าพื้นเมือง เช่น กล่าวหาว่ากลุ่มชาติพันธุ์และชนเผ่าพื้นเมืองบนพื้นที่สูงเป็นต้นเหตุที่ทำให้เกิด PM2.5 และภัยธรรมชาติต่าง ๆ จากการเผาและแผ้วถางพื้นที่ป่าเพื่อเพาะปลูก กับอีกข้อสันนิษฐานที่พบในคอมเมนต์ตามกลุ่มดังกล่าวคือ สาเหตุอาจมาจากการไปขัดแย้งเรื่องผลประโยชน์กับนายทุนหรือกลุ่มผู้มีอำนาจใดหรือเปล่า


อย่างไรก็ตามในกลุ่มเฟซบุ๊กดังกล่าวได้มีผู้ใช้งานบางรายเข้ามาแสดงความคิดเห็นเพื่อพยายามอธิบายให้สมาชิกกลุ่มนั้น ๆ ได้เข้าใจมากขึ้นว่าไร่หมุนเวียนคืออะไร หรือบ้านห้วยหินลาดในมีระบบการจัดการทรัพยากรป่าในชุมชนอย่างไร

สภาพพื้นที่ป่ากับชุมชน บ้านห้วยหินลาดใน

ผู้ใช้เฟซบุ๊กรายหนึ่งได้แสดงความคิดเห็นในกลุ่ม เชียงราย – Chiangrai ว่า หมู่บ้านรักษาป่าจนต่างชาติเข้ามาดูเป็นต้นแบบ ได้รางวัลทั้งสหประชาชาติ และพึ่งไปรับรางวัลที่มาเลเซีย รวมทั้งมีนิตยสาร National Geographic ระดับโลกสนใจ

โดยผู้ใช้เฟซบุ๊กอีกรายหนึ่งได้เข้ามาแสดงความคิดเห็นเพิ่มเติมอีกว่า เอากลุ่มคนนั่นนี่มาดูงาน มาศึกษา เพื่อให้คนภายนอกรับรู้ของการมีตัวตนของกลุ่มชาติพันธุ์กะเหรี่ยง และเป็นวิธีที่สร้างความชอบธรรมให้ตัวเอง ต้องยอมรับว่ามีบางส่วนที่อาศัยอยู่กับป่าได้ บางส่วนก็บุกรุกป่า ต้องดูเป็นกรณี เรามาพูดถึงกรณีนี้ ตามข้อเท็จจริงว่ามีการบุกรุกแผ้วถางพื้นที่ป่าผืนใหม่ ถ้าชุมชนคิดว่าไม่ได้รับความเป็นธรรมก็ร้องเรียนให้เป็นไปตามขั้นตอนของกฎหมายได้ค่ะ

ในขณะที่ผู้ใช้เฟซบุ๊กอีกรายหนึ่งในกลุ่ม Lampang City ได้แสดงความคิดเห็นว่า ไม่มีคนเข้าใจว่าไร่หมุนเวียนคืออะไรกันเลย หาว่าทำไร่เลื่อนลอยกันซะงั้นไร่หมุนเวียนเขาอนุญาตให้ทำในบางพื้นที่และมีแนวเขตชัดเจน การทำไรหมุนเวียนเขาจะหมุนเวียนกันไปเป็นแปลง ๆ ไป ปีนี้ทำตรงนี้ อีกปีก็ไปทำอีกแปลงแล้วปล่อยให้แปลงที่เคยทำฟื้นตัวอย่างน้อย 3 ถึง 5 ปีถึงย้อนกลับมาทำแปลงเดิม ไม่ได้ถางกันมั่ว คนไม่รู้ก็ด่าไว้ก่อนโดยไม่เข้าใจวิถี เขามีการวิจัยมาแล้วว่ามีประโยชน์อะไรบ้าง คนบนดอยเขารักป่ายิ่งกว่าคนพื้นราบอีกนะครับเพราะป่าคือบ้านของเขาแหล่งอาหารและแหล่งน้ำของเขา มีแต่คนพื้นราบที่ที่เข้าไปตัดไม้ทำลายป่า”

จากข้อคิดเห็นดังกล่าวได้มีผู้เข้ามาตั้งข้อสงสัยว่า ทำไมต้องย้ายที่ปลูกทุกปี แล้วทำที่เดิมไม่ได้หรือ เพราะกว่าต้นไม้จะโตแล้วกลับมาเป็นป่าอีกเมื่อไร ซึ่งผู้ใช้เฟซบุ๊กรายนั้นได้อธิบายเพิ่มเติมว่า ไร่หมุนเวียนไม่ได้เป็นพื้นที่ป่าแต่เป็นพื้นที่ไร่ทำกินของชาวบ้านที่มีการแบ่งเป็นแปลง ๆ ไปว่าปีนี้จะทำที่ไหนก่อนแล้วจะหมุนเวียนกลับมาที่เดิม ซึ่งถ้าไร่ที่ทำปีนี้ ปีหน้าเขาจะไม่ทำ ปล่อยให้พื้นที่ได้ฟื้นตัวเองเหมือนการพักหน้าดินและปล่อยให้ต้นไม้พืชพรรณต่าง ๆ ขึ้นและเติบโตเองตามธรรมชาติ พื้นที่พักไร่บริเวณนั้น (ไร่เหล่า) ก็จะมีหน้าดินอุดมสมบูรณ์และมีสัตว์ป่ามาอาศัยมากกว่าไร่เชิงเดี่ยวด้วย ซึ่งการทำไร่หมุนเวียนจะมีขอบเขตพื้นที่ชัดเจน และปัจจุบันมีแค่ชาวปกาเกอะญอที่ยังคงไว้ซึ่งวิถีชีวิตดังกล่าว

ภาพ : ประสิทธิ์ ศิริ

เรามองเห็น “อคติ” ไร่หมุนเวียนจากผู้คนในสังคมเมืองอย่างไร

อคติที่มีต่อไร่หมุนเวียนได้ทำงานในสังคมไทยที่ไม่ใช่กลุ่มชาติพันธุ์และชนเผ่าพื้นเมืองบนพื้นที่สูงมาเป็นเวลาหลายสิบปีแล้ว ตั้งแต่วาทกรรม “ไร่เลื่อนลอย” ที่ปรากฏอยู่ในหนังสือเรียน หรือแม้กระทั่งหนังสือทั่วไป บทความวิชาการ งานวิจัย หรือช่องทางสื่อมวลชนบางสำนักยังใช้คำนี้สื่อสารวิถีไร่หมุนเวียน ประกอบกับภาพจำที่ถูกส่งต่อกันมาจากอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ มรดกโลก ซึ่งเป็นอุทยานฯ แห่งแรกของประเทศไทยและยังเป็นสถานที่ท่องเที่ยวใกล้กรุงเทพฯ ที่ประชาชนในสังคมเมืองใหญ่นิยมไปท่องเที่ยวธรรมชาติ อีกทั้งยังเป็นต้นแบบการจัดการป่าปลอดคนที่รัฐไทยในยุคนั้นได้แนวคิดจากอุทยานแห่งชาติ Yellowstone ประเทศสหรัฐอเมริกา ซึ่งส่งผลให้ชุดความคิดของผู้คนในสังคมไทยยุคนั้นเข้าใจว่า ป่าที่ดีคือป่าที่มีสีเขียวตลอดทั้งปีและไม่มีผู้คนอาศัยอยู่ แต่เมื่อใดที่ป่าผลัดใบตามวัฏจักรธรรมชาติ หรือพบภูเขาบางลูกมีร่องรอยการเผาหรือถูกแผ้วถางจนโล่งเตียน ทำให้คนเข้าใจว่าเป็นเขาหัวโล้น ป่าไม้ถูกทำลาย หรือเป็นเพราะชาวเขาตัดไม้ทำลายป่าตามที่ถูกปลูกฝังจากหนังสือเรียนหรือข่าวสารในยุคสมัยที่ผ่านมา

อคติดังกล่าวที่ยังคงเกิดขึ้นในปัจจุบันกำลังส่งผลกระทบต่อการรับรู้ในวิถีไร่หมุนเวียนซึ่งเป็นระบบการดูแลป่าและการใช้สอยทรัพยากรในป่าของกลุ่มชาติพันธุ์และชนเผ่าพื้นเมืองยังไม่เป็นที่ยอมรับจากผู้คนในสังคมเมืองส่วนใหญ่ แม้ว่าปัจจุบันจะเริ่มมีคนเข้าถึงวิถีไร่หมุนเวียนของชาวกะเหรี่ยงได้มากขึ้น ประกอบกับการเข้าถึงความรู้ความเข้าใจด้านสิทธิมนุษยชนที่เริ่มทำให้ผู้คนจากภายนอกเริ่มมองเห็นสาเหตุของปัญหาดังกล่าวในมุมมองที่เห็นอกเห็นใจกันมากขึ้นแล้วก็ตาม อคติในไร่หมุนเวียนยังคงเป็นประเด็นที่ทุกคนต้องร่วมกันสื่อสารอย่างต่อเนื่องเพื่อผลักดันให้รัฐเข้ามาแก้ปัญหาอย่างจริงจัง

เรื่องและภาพ : รัชชา สถิตทรงธรรม (เนย)