ของชนเผ่าพื้นเมือง “ปวาเกอะญอ”

วันที่ 14 มิถุนายน 2567 ณ ป่าต้นน้ำบ้านแม่ขอ ตำบลแม่นาจร อำเภอแม่แจ่ม จังหวัดเชียงใหม่ ได้ร่วมกันจัดกิจกรรม “เดปอถู่” อวยพรป่าต้นไม้ของฉัน โดยมีนายสุระวุธ จันทร์งาม นายอำเภอแม่แจ่ม นายไวยิ่ง ทองบือ ประธานมูลนิธิภูมิปัญญาชาติพันธุ์ นายสมเกียรติ รักษ์วนาสวรรค์ ผู้ใหญ่บ้านแม่ขอ นางสาวศศิ นิรมลมณฑล ตัวแทนกลุ่มสตรี มีตัวแทนจากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นตำบลแม่นาจร คณะครูและนักเรียน รวมถึงชุมชนใกล้เคียง 6 หมู่บ้าน เข้าร่วมกิจกรรมครั้งนี้

“เดปอถู่” แปลตรงตัวได้ความว่า “ป่าสะดือ” เป็นกิจกรรมที่ได้จัดขึ้นเพื่อฟื้นฟูความเชื่อของชุมชนที่มีต่อป่า สิ่งศักดิ์สิทธิ์ และการจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม บนฐานองค์ความรู้ภูมิปัญญาของชนเผ่าพื้นเมือง
ปวาเกอะญอ ”

สำหรับการจัดกิจกรรมครั้งนี้ชุมชนมีการปรับเปลี่ยนตามความเชื่อของชุมชน โดยมีการทำสัญญาลักษณ์ ด้วยการผุกเดปอกับต้นไม้ และมีศาสนาจารย์มาเทศนาในเรื่องของการจัดการทรัพยากรธรรมชาติสิ่งแวดล้อม และการดูแลรักษาป่า รวมถึงประกอบพิธีกรรมอวยพรป่าต้นไม้ของฉัน (แบบคริสเตียน)

“เดปอถู่” เป็นความเชื่อที่ชาวกะเหรี่ยงถือปฏิบัติกันมาเป็นเวลาช้านาน กล่าวคือ เมื่อเด็กแรกเกิดผู้เป็นพ่อจะนำรกหรือ”เด”บรรจุในกระบอกไม้ไผ่มัดปากกระบอกพันด้วยผ้า รุ่งเช้าผู้เป็นพ่อจะไปผูกติดกับต้นไม้ โดยจะคัดเลือกต้นไม้สมบูรณ์และมีความแข็งแรง ต้นไม้นี้เรียกว่า “เดปอถู่” เชื่อว่า ขวัญของเด็กผู้นั้นจะอยู่กับต้นไม้นั้นตลอดไป
“เดปอถู่” จะได้รับการดูแลคุ้มครองไม่ให้ผู้ใดตัดหรือโค่น หากต้นไม้ถูกตัดหรือโค่นลงเชื่อว่าขวัญของคนๆ นั้นจะไม่มีที่อยู่ จะทำให้เจ้าของ “เด” เจ็บไข้ได้ป่วย ผู้ที่ใดฝ่าฝืนไม่ว่าจงใจหรือไม่ก็ตามจะถูกปรับโทษด้วยการต้องไปขอขมาลาโทษเพราะถือว่าเป็นการหลบหลู่ไม่ให้เกียรติกับเจ้าของ “เด”

ด้วยเหตุนี้ในชุมชนกะเหรี่ยง จะได้พบเห็นต้นไม้ที่ผูกรกกับเด็กจำนวนมากอยู่รอบๆหมู่บ้าน “เดปอถู่” ไม่ได้มีความหมายเพียงแค่การนำ “เด” ของเด็กมาผูกติดกับต้นไม้เท่านั้น แต่มีความเกี่ยวข้องถึงสภาพแวดล้อม การเคารพต่อสิ่งมีชีวิตต่อธรรมชาติ
นอกจากนั้นในงานยังมีการเสวนาในเรื่อง แนวคิดการจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยมีเครือข่ายและองค์กรภาคีได้ร่วมแลกเปลี่ยนแนวคิดและมุมมองต่อการจัดกิจกรรมครั้งนี้ นายสุระวุธ จันทร์งาม นายอำเภอแม่แจ่ม นายนายอุทัย พายัพธนากร ประธานเครือข่ายลุ่มน้ำแจ่มตอนบน นายสมเกียรติ รักษ์วนาสรรค์ ผู้ใหญ่บ้านแม่ขอ นายไวยิ่ง ทองบือ ประธานมูลนิธิภูมิปัญญาชาติพันธุ์ นายตะวัน สุริยชัยพันธ์ ตัวแทนจากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นตำบลแม่นาจร และนางสาวศศิ นิรมลมณฑล ตัวแทนกลุ่มสตรี ร่วมเสวนา

สำหรับ ชุมชนบ้านแม่ขอ เป็นชุมชนหนึ่งที่อยู่ในพื้นที่โครงการ “ริเริ่มการอนุรักษ์แบบมีส่วนร่วมอย่างครอบคลุม หรือ ICI (Inclusive Conservation Initiative) เป็นโครงการริเริ่มโดย กองทุนสิ่งแวดล้อมโลก (GEF) มุ่งเน้นไปที่การสนับสนุน ชนเผ่าพื้นเมืองและชุมชนท้องถิ่น (IPLCs) ในการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ โดยให้ความสำคัญกับบทบาทของชนเผ่าพื้นเมืองตามวิถีวัฒนธรรมที่มีมายาวนานในการปกป้องธรรมชาติ ICI-เป็นแนวทางใหม่ในการอนุรักษ์ที่ตระหนักถึงคุณค่ามหาศาลของการเสริมพลังชุมชนของชนเผ่าพื้นเมืองและชุมชนท้องถิ่นให้เป็นผู้พิทักษ์สิ่งแวดล้อมระดับโลก







