วิถีชีวิตและจิตวิญญาณบนไร่หมุนเวียน: บททดสอบจากเหตุการณ์ห้วยหินลาดใน

คือชีวิตและจิตวิญญาณ กรณีศึกษาห้วยหินลาดใน หลังชายชุดดำบุกทำลายไร่หมุนเวียน

เหตุการณ์ที่กลุ่มชายชุดดำบุกทำลายไร่หมุนเวียนและพิธีกรรมอันศักดิ์สิทธิ์ของชาวปกาเกอะญอที่บ้านห้วยหินลาดใน จังหวัดเชียงราย ไม่ได้เป็นเพียงการสูญเสียทรัพย์สิน แต่สะท้อนถึงปัญหาเชิงลึกที่ฝังรากลึกในสังคมไทยมายาวนาน นั่นคือ อคติและความเข้าใจผิดต่อระบบไร่หมุนเวียน  ระบบไร่หมุนเวียน เปรียบเสมือนลมหายใจของชาวปกาเกอะญอ เป็นวิถีชีวิตที่สืบทอดภูมิปัญญากับธรรมชาติมายาวนาน ผ่านกระบวนการที่คำนึงถึงความสมดุลของระบบนิเวศ

“ผู้กระทำต้องการทำลายพื้นที่ต้นแบบเช่นนี้ เพื่อเป็นการกระทำเชิงสัญลักษณ์หรือไม่? ว่าพวกเขาไม่ยอมรับไร่หมุนเวียน”

ดร.ประเสริฐ ตระการศุภกร ผู้อำนวยการของสมาคมปกาเกอะญอเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน

ดร.ประเสริฐ ตระการศุภกร ผู้อำนวยการของสมาคมปกาเกอะญอเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน กล่าวด้วยความเป็นกังวลกับทาง IMN ต่อเหตุการณ์กลุ่มคนแต่งชุดดำเข้าทำลายทรัพย์สินในไร่หมุนเวียนของชาวบ้าน อันเป็นการส่งสัญญาณความไม่พอใจต่อการทำไร่หมุนเวียนไม่ใช่เพียงแค่ที่ห้วยหินลาดในเท่านั้น แต่หมายถึงทุกคนที่ทำไร่หมุนเวียนในประเทศนี้

ไม่เพียงเท่านั้นหลังจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นถูกรายงานโดยหลายสำนักข่าว ยกตัวอย่างการรายงานข่าวของ The Active ที่พยายามอธิบายแนวคิดไร่หมุนเวียนด้วยข้อประจักษ์ทางงานวิจัย แต่ก็ยังได้รับความคิดเห็นหลากหลาย ความคิดเห็นของคนในสังคมยังมีทัศนคติแบบเดิมคือ ไร่หมุนเวียนทำลายป่าเผาป่าทำให้เกิดฝุ่นควัน

“ในช่วงที่มีการถางไร่และเผาคือช่วงเวลาที่คนมักเข้าใจผิดต่อวิธีการทำไร่หมุนเวียนมากที่สุด” ประเสริฐเล่าในฐานะของคนที่เกิดและเติบโตรวมทั้งศึกษาทำงานวิจัยด้านไร่หมุนเวียนมาตลอดชีวิต

“มันคือเส้นผมบังภูเขา กลไกในการทำไร่หมุนเวียนเพื่อให้เกิดการใช้ดินที่มีคุณภาพมากขึ้น การเผาของเราจะมีการดูแลจัดการไฟอย่างเป็นระบบ

แม้วันนี้จะมีหลายฝ่ายในสังคมที่ยังมีอคติต่อไร่หมุนเวียนอยู่ แต่ประเสริฐบอกว่าสังคมกำลังเดินมาถูกทางแล้ว และอยากให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องใช้กรณีที่เกิดขึ้นกับห้วยหินลาดใน ให้กลายเป็นโอกาสสำหรับสื่อสารเรื่องไร่หมุนเวียน เพราะสำหรับประเสริฐ เขากล่าวว่า ถ้าไม่มีไร่หมุนเวียนภูมิปัญญาทั้งหมดของชาวปกาเกอะญอก็จะสูญหายไป

“องค์ความรู้ ภูมิปัญญา  จิตวิญญาณของปกาเกอะญออยู่ในการทำไร่หมุนเวียนทั้งหมด เมื่อไม่มีพื้นที่เรียนรู้ ถ้าเราไปปลูกพืชเชิงเดี่ยว จิตวิญญาณของปกาเกอะญอก็จะไม่หลงเหลืออยู่อีกเลย”

ภาพ : ประสิทธิ์ ศิริ

กรณีศึกษาห้วยหินลาดใน มากกว่าการทำลายสิ่งของ แต่มันคือการทำลายจิตวิญญาณของชาวปกาเกอะญอ

“สิ่งที่เกิดขึ้นที่ห้วยหินลาดในแง่ทางจิตวิญญาณมันกระทบต่อจิตใจของผู้คนในพื้นที่ มันเป็นการทำลายระบบความศรัทธาของชุมชน จุดศูนย์รวมของชุมชนในเรื่องของการเริ่มต้นทำไร่หมุนเวียน”

คงไม่มีใครสามารถใช้ชีวิตอยู่ได้อย่างมีความสุข เมื่อวันดีคืนดีมีชายชุดดำ สะพายปืนขี่มอเตอร์ไซต์เข้ามาในพื้นที่บ้าน จากนั้นก็เข้าไปทำลายข้าวของโดยไม่บอกกล่าว และที่มากไปกว่านั้นสิ่งที่พวกเขาทำลายคือ พิธีกรรม จึ ลอ มงา ข่อ  เป็นพิธีกรรมที่ชาวปกาเกอะญอจะทำขึ้นก่อนการเริ่มต้นปีเพาะปลูกใหม่ เพื่อบอกกล่าวเทพดิน เทพน้ำ เทพลมและเทพไฟ ให้ได้รับรู้ว่าพวกเขาจะเริ่มต้นการเพาะปลูก

ภาพจาก: ผู้ใช้เฟชบุ๊ค Prasit Siri

“เราใช้ไม้สี่ท่อนทำเป็นสี่เหลี่ยมความยาวและความกว้าง 1 เมตรเป็นการปลูกแม่ข้าว  7-9 หลุม มันมีตำนานเล่าว่ามีแม่หม้ายที่ช่วยให้หนุ่มกำพร้าในอดีตฟื้นกลับมาสู่การทำไร่หมุนเวียนได้อย่างเต็มรูปแบบ”

ดร.ประเสริฐเล่าตำนานที่สืบทอดกันมาของชาวปกาเกอะญอต่อว่า หนุ่มกำพร้าคนดังกล่าวถูกเบียดบังไม่ให้ทำไร่บนผืนดินแต่ให้ไปทำไร่บนก้อนหิน เจ้าแม่โพสพจึงแปลงตัวมาเป็นแม่หม้ายและช่วยหนุ่มกำพร้าคนนั้นให้ได้กลับมาทำไร่ได้สำเร็จ จึงเป็นสาเหตุให้พิธีนี้เกิดขึ้นทุกปีในวันที่เริ่มเพาะปลูก

ชาวปกาเกอะญอจะนำข้าวมาบูชาเทพเพื่อเรียกขวัญข้าว จากนั้นพวกเขาจะนำด้ามเสียมที่ใช้ปลูกข้าวแช่ลงไปในกระบอกไม้ไผ่ใส่น้ำลงไปและหันไปในทิศที่มีดาวช้าง และในตอนท้ายหนุ่มสาวที่เป็นคนทำพิธีปลูกข้าวใหม่ จะเอาน้ำที่ใส่ไว้ในกระบอกไม้ไผ่รดกันและกันจนเปียกปอน เป็นสัญญาณของความสมบูรณ์ของฟ้าฝนที่กำลังจะเข้ามา

“การทำลายพิธีกรรมนี้เป็นเรื่องใหญ่เพราะกระทบความเชื่อที่เป็นจิตวิญญาณของคนทำไร่หมุนเวียน สิ่งที่จะทำให้ไร่เขาดีงามสมบูรณ์ขึ้นอยู่กับพิธีที่เขาบูชาเทพต่างๆ  ก่อให้เกิดฝนฟ้าสำหรับการปลูกข้าว สิ่งที่เกิดขึ้นมันคือการคุกคาม ถือว่าเป็นเรื่องใหญ่และกระทบต่อการทำไร่หมุนเวียนทั้งระบบ”

ดร.ประเสริฐตั้งข้อสังเกตว่าทำไมกลุ่มชายชุดดำถึงเลือกพื้นที่ห้วยหินลาดในกระทำการดังกล่าว ทั้งที่เป็นพื้นที่ต้นแบบที่ได้รับการยอมรับตั้งแต่ระดับท้องถิ่นไปจนถึงระดับสากล จึงเป็นนัยได้ว่าการกระทำดังกล่าวเป็นการกระทำเชิงสัญลักษณ์ของกลุ่มผู้มีอำนาจ ที่ไม่ยอมรับการมีอยู่ของไร่หมุนเวียน และทำให้คนทำไร่หมุนเวียนเกิดความรู้สึกไม่ปลอดภัยในการทำสิ่งนี้ แม้ว่าแนวโน้มของสังคมและสากลต่างเริ่มยอมรับแนวคิดของชนพื้นเมืองและแนวคิดของไร่หมุนเวียนว่าคือการรักษาความหลากหลายทางระบบนิเวศ

กฤษฎา บุญชัย เลขาธิการมูลนิธิชุมชนท้องถิ่นพัฒนา

กฤษฎา บุญชัย เลขาธิการมูลนิธิชุมชนท้องถิ่นพัฒนา องค์กรที่ทำงานเรื่องสิทธิชุมชน ต่อทรัพยากรและการพัฒนาที่ยั่งยืนมา 30 กว่าปีก็เคยได้ให้ข้อมูลกับทาง IMN ไว้ว่า บทบาทของชนเผ่าพื้นเมือง คือกลุ่มบุคคลสำคัญสำหรับโลกใบนี้ในการรับมือการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ

ดังนั้นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับห้วยหินลาดใน ในมุมมองของดร.ประเสริฐ จึงขัดแย้งกับความจริงที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน และเป็นนัยบางอย่างที่อีกฝ่ายกำลังแสดงให้เห็นว่าเขาสามารถจัดการอย่างไรกับพื้นที่ตรงนี้ก็ได้

“มันเป็นวิธีการตอบโต้ในรูปแบบที่ใช้ความเงียบและความรุนแรง แต่เกิดผลกระทบต่อจิตใจของชาวบ้าน” ดร.ประเสริฐกล่าวทิ้งท้ายต่อประเด็นนี้

ไร่หมุนเวียนแพะรับบาปของการทำลายป่า

ศ.ดร.ปีเตอร์ ร็อสเส็ต นักวิจัยเฉพาะทางและเกษตรศาสตร์จาก ECOSUR ผู้เข้ามาเป็นศาสตราจารย์อาคันตุกะของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในช่วงปลายปี 2563 ถึงต้นปี 2564 ได้เคยกล่าวไว้ในการบรรยายสาธารณะหัวข้อ “ไร่หมุนเวียน” และความ(ไม่)ยั่งยืน? ว่าข้อวิจารณ์หลักที่การเพาะปลูกแบบไร่หมุนเวียนพบเจอมักเป็นมายาคติ แต่จากการศึกษากลับพบว่า การเพาะปลูกแบบหมุนเวียนกลับทำให้มีหน้าดินเพิ่มขึ้น แสดงให้เห็นว่าการเพาะปลูกแบบหมุนเวียนมีความมั่นคงยั่งยืนมากกว่า เป็นการดูแลรักษาและจัดการป่า

            โดยดร.ประเสริฐก็กล่าวเสริมว่า พื้นที่ที่ทำไร่หมุนเวียนเก่าแก่เป็นร้อยปีระบบนิเวศน์ป่า พื้นที่ทำกิน ชุมชนยังมีความยั่งยืนอยู่ และมีการแยกพื้นที่ทำกินกับพื้นที่ป่าอย่างชัดเจน

            อย่างไรก็ดีวาทกรรมไร่หมุนเวียนทำลายป่าก็ได้แทรกซึมฝังลึกอยู่ในสังคมไทยมาตั้งแต่ปี 2502 ที่เริ่มมีการใช้คำศัพท์ให้กับคนที่อยู่ตามป่าเขาว่า ‘ชาวเขา’ มีการแปะป้ายเรื่องของภัยความมั่นคงจากการเข้ามาของพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย

            “รวมทั้งผ่านระบบการศึกษาในการปลูกฝังว่าชาวเขาทำลายป่าทำไร่เลื่อนลอย” ดร.ประเสริฐกล่าวถึงสาเหตุสำคัญที่ทำให้คนบางส่วนยังมีอคติต่อไร่หมุนเวียน “การปลูกฝังกันมาตั้งแต่เด็ก โดยเฉพาะกับเจ้าหน้าที่ที่ควบคุมดูแลป่า พวกเขาเชื่ออย่างสนิทใจว่าไร่หมุนเวียนคือไร่เลื่อนลอยที่ทำลายป่า”

โดยทัศนคติต่อไร่หมุนเวียนเริ่มมีการเปลี่ยนแปลงตั้งแต่ปี 2522 เป็นต้นมา มีงานวิจัยจากทั้งในไทยและต่างประเทศที่ยืนยันว่าไร่หมุนเวียนสร้างเสถียรภาพให้กับดิน น้ำและป่า จนกระทั่งเกิดนโยบายผลักดันคนออกจากป่าในชื่อ โครงการจัดสรรที่ดินทำกินแก่ราษฎรผู้ยากไร้ในพื้นที่ป่าสงวนเสื่อมโทรม (คจก.) ที่มีแนวคิดไล่คนออกจากป่า ทำให้ภาคประชาสังคมและคนชนเผ่าพื้นเมืองออกมาส่งเสียงรณรงค์ สร้างพื้นที่พูดคุยทางสังคมมากขึ้น ในที่สุดมติคณะรัฐมนตรี 3 สิงหาคม 2553  เรื่องแนวนโยบายในการฟื้นฟูวิถีชีวิตชาวกะเหรี่ยงก็ได้ออกมา โดยเนื้อหาในเรื่องการจัดการทรัพยากรได้ระบุถึง การส่งเสริมความหลากหลายทางชีวภาพในชุมชนบนพื้นที่สูง เช่น การรักษาความหลากหลายของการสร้างพันธุ์พืช การสร้างความมั่นคงทางอาหาร การสร้างความสมดุลของนิเวศผ่านกระบวนการระบบไร่หมุนเวียน

            “ตั้งแต่ช่วง 2017 เป็นต้นมา เป็นที่ยอมรับแล้วว่าวิทยาศาสตร์อย่างเดียวแก้ปัญหาโลกร้อน และการลดลงของปัญหาความหลากหลายชีวภาพไม่ได้ ต้องอาศัยความรู้อื่นที่หลากหลาย และหนึ่งในนั้นคือภูมิปัญญาของชนเผ่าพื้นเมืองที่พิสูจน์ตัวเองแล้วว่าอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพ ในดินแดนของพวกเขาได้จริง”  ดร.ประเสริฐกล่าว

            โดยได้มีกรณีศึกษาในประเทศเนปาล ที่มีการยอมรับทางกฎหมายของหลักปฏิบัติตามจารีตประเพณีที่มีชื่อว่า ‘Shyagya’ ของชนเผ่าพื้นเมือง รัฐบาลท้องถิ่นของเนปาลในปี 2022 ออกกฎหมาย Shyagya Conservation Act, 2022 มาใช้เพื่อรับรองและรักษาประเพณี Shagya ของชุมชนท้องถิ่น เพื่อแสดงให้เห็นถึงการที่รัฐยอมรับและเคารพในความหลากหลายของการใช้ชีวิตของผู้คนในการปกครองของตนเอง ซึ่งในประเทศไทยร่างกฎหมายชนเผ่าพื้นเมืองสภาก็มีมติรับร่างหลักการกฎหมายดังกล่าวแล้ว

            “มันยากมากที่เราจะหยุดทำไร่หมุนเวียนและเราจะอยู่กินได้ตามธรรมชาติของเราอย่างไร”

            ดร.ประเสริฐใช้โอกาสนี้ในการชี้แจงถึงกลุ่มคนที่ต้องการอนุรักษ์ป่าและธรรมชาติ ให้เข้าใจว่ากระบวนการทำไร่หมุนเวียนนั้น หลังการเก็บเกี่ยวชาวปกาเกอะญอจะปล่อยให้พื้นที่ไร่ได้ฟื้นตัวด้วย และหากเป็นการทำไร่หมุนเวียนที่ครบวงจร พื้นที่ดังกล่าวจะได้โอกาสในการฟื้นตัวสูงถึง 5-7 ปี ซึ่งชาวบ้านจะเรียกพื้นที่ในระหว่างการพักฟื้นว่า ‘ไร่เหล่า’

ภาพ: ไร่เหล่า          

จากการค้นคว้าข้อมูลและศึกษาของดร.ประเสริฐ พบว่าพื้นที่ไร่เหล่าสร้างความสมบูรณ์ให้กับดิน มีต้นไม้บางประเภทช่วยให้ดินมีความสมบูรณ์มากขึ้นเช่นต้นตองเต้า นอกจากนี้พื้นที่ดังกล่าวยังกลายเป็นที่อยู่อาศัยและขยายพันธุ์ของสัตว์ป่าขนาดเล็ก เช่น นก, หนู, ตุ่น  เพราะสัตว์เหล่านี้ต่างเข้ามาหาอาหารและที่หลบภัยในพื้นที่ไร่เหล่า

            “นอกจากชาวบ้านจะหมุนเวียนพื้นที่ทำกิน สัตว์ก็หมุนเวียนพื้นที่ทำกินตามไปด้วย ทำให้ระบบนิเวศน์ทั้งระบบอยู่ได้ สัตว์และพืชอยู่ได้คนก็อยู่ได้”

            ดร.ประเสริฐกล่าวในตอนท้ายว่า เขาไม่ท้อที่จะต้องทำการสื่อสารเรื่องของไร่หมุนเวียนต่อไป และจำเป็นต้องค้นหาวิธีการในการเผยแพร่ข้อมูลให้กลุ่มคนที่ยังไม่เข้าใจได้เข้าใจ เพราะไร่หมุนเวียนคือวิถีชีวิตของชาวปกาเกอะญอ หากไร่หมุนเวียนถูกทำลายไม่ใช่แค่วิถีชีวิตของชาวปกาเกอะญอจะสูญหายไปเท่านั้น แต่ความหลากหลายทางชีวภาพในป่าก็จะสูญหายตามไปด้วยเช่นกัน

เขียนโดย: ณฐาภพ  สังเกตุ