คน-ป่า-ไร่หมุนเวียน

การปะทะกันของแนวคิดเกษตร นิเวศน์ วิถีวัฒนธรรมชาติพันธุ์และชนเผ่ากับนโยบายป่าไม้ที่ดิน

หลายประเทศทั่วโลกเริ่มให้ความสนและและกำลังมองนโยบายเรื่องการอนุรักษ์หลังจากที่คำว่า สภาวะโลกร้อน (Global warming) เริ่มมีการพูดถึงอย่างกว้าขวางตั้งแต่ช่วงปลายศตวรรษที่ 19 เมื่อนักวิทยาศาสตร์เริ่มสังเกตุเหตุการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิของโลกที่สูงขึ้น การออกนโยบายและระเบียบต่างๆ รวมไปถึงการร่วมมือกันในระดับนานาชาติเพื่อเป้าหมายของการลดโลกร้อนของหลายประเทศเช่น การควบคุมการปล่อยก๊าซเรือนกระจก การหันมาใช้พลังงานงานทดแทนจากธรรมชาติ เป็นพียงส่วนหนึ่งที่จะสามารถชะลอการเกิดความเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมออากาศของโลกเท่านั้นและเมื่อช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมาคำว่า “สภาวะโลกเดือด” ถูกพูดถึงอย่ากว้างขวางจากผลกระทบที่รุนแรงขึ้นของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศสิ่งที่เห็นได้ชัดเจนคือ การเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิของโลกทำให้ฤดูกาลเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว การละลายของธารน้ำแข็งที่กำลังละลายอย่างรวดเร็ว การเพิ่มขึ้นและอุ่นขึ้นของระดับน้ำทำเลจนทำให้ปะการังเกิดการฟอกขาว การหันมามองเรื่องการดูแลรักษาป่าและมรดกทางวัฒนธรรมทางสิ่งแวดล้อมถูกหยิบยกขึ้นมาศึกษา วิจัยและพูดถึงอีกครั้งภายใต้สถานการที่โลกกำลังเข้าสู่ “สภาวะโลกเดือด” อย่างเป็นทางการ

การเผาในไร่หมุนเวียนที่มีการทำแนวกันไฟไม่ให้ไฟลามเข้าป่า

การดูแลสิ่งแวดล้อมผ่านคนและป่าภายใต้สภาวะโลกเดือด

การหันมามองเรื่องคนที่อยู่ในพื้นที่ป่าซึ่งกลุ่มคนเหล่านี้เป็นชาติพันธุ์และชนเผ่าที่มีความร่ำรวยทั้งทรัพยากรป่าไม้และวัฒนธรรมการจัดการพื้นที่ป่า การศึกษาวิจัยเรื่อง “ความรู้และภูมิปัญญาในการอยู่กับป่าเป็นมรดกทางวัฒนธรรม” ที่ทำงานศึกษาในพื้นที่ของชาติพันธุ์ชนเผ่าพื้นเมืองทั้งกะเหรี่ยงและม้งใน 4 ชุมชนที่เจาะลึกเรื่องของการใช้ที่ดินเป็นเวลากว่า 5 ปี พบว่าการใช้ชีวิตของชาติพันธุ์และชนเผ่าในพื้นที่สูงของภาคเหนือในประเทศไทยในปัจจุบันมีความเปลี่ยนแปลงไปอย่างมากซึ่งสิ่งเหล่านี้เกิดจากนโยบายของภาครัฐที่ส่งผลกระทบต่อวิถีของการที่ดินของพวกเขามิหนำซ้ำกลุ่มชาติพันธุ์และชนเผ่าที่มีวิถีการใช้ชีวิตอยู่กับป่ายังถูกตีตราว่าเป็นต้นเหตุของการทำให้สภาพป่าเสื่อมโทรม ทำลายพื้นที่ป่าให้ลดลงและเป็นต้นเหตุของสภาวะโลกร้อนและฝุ่นควัน pm 2.5 ที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องและรุนแรงขึ้นในทุกๆ ปีในภาคเหนือแต่การศึกษาในงานวิจัยนี้กลับพบว่ากลุ่มชาติพันธุ์และชนเผ่าพื้นเมืองเหล่านี้ไม่ได้เป็นผู้บุกรุกแต่กลับเป็นผู้ที่มีความสามารถในการดูและรักษาทรัพยากรป่าไม้และจัดการทรัพยากรที่ดินในพื้นที่ของพวกเขาได้เป็นอย่างดีสิ่งเหล่านี้คือ “มรดกทางวัฒนธรรม” ที่ถูกสืบทอดและถูกส่งต่อกันมาเป็นเวลายาวนานภายใต้ภูมิปัญญาของชาติพันธุ์และชนเผ่าแต่ข้อท้าทายใหญ่ก็คือนโยบายป่าไม้และที่ดินที่ชาติพันธุ์ชนเผ่าเหล่านี้กำลังเผชิญอยู่ในปัจจุบันกลับสวนทางกับมรดกและภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมการดูแลรักษาป่าของพวกเขาในปัจจุบัน

โพลสำรวจความคิดเห็นประเด็นคนอยู่กับป่า

ไร่หมุนเวียนมรดกทางวัฒนธรรมทางสิ่งแวดล้อมที่ลดทอนภาวะโลกร้อน

“ไร่หมุนเวียน” ที่ถูกเพาะปลูกเสร็จแล้วจะมีการพักฟื้นหน้าดิน 5-7 ปีซึ่งพื้นที่เหล่านี้จะถูกเรียกว่า “ไร่เหล่า” โดยต้นไม้ที่กำลังฟื้นฟูตัวเองและเติบโตขึ้นในไร่เหล่าเหล่านี้มีความสามารถในการดูซับคาร์บอนไดออกไซด์เพื่อนำมาสร้างต้นและใบใหม่มากกว่าป่าที่โตเต็มที่แล้วแต่โดยธรรมชาติป่าที่โตเต็มที่แล้วนั้นแม้ว่าจะเก็บคาร์บอนได้ดีแต่ความจำเป็นจะดูดซับคาร์บอนมาใช้ย่อมมีความจำเป็นน้อยกว่าป่าที่เกิดใหม่ จากการศึกษาของ ดร.สมศักดิ์ สุขวงศ์ นักวิชาการวนเกษตรและผู้เชี่ยวชาญป่าไม้จากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ พบว่า “ไร่เหล่า” ในพื้นที่ 1 เฮกตาร์(ประมาณ 6.25ไร่)สามารถดูดซับคาร์บอนได้ปีละ ๖ ตัน งานศึกษาของประยงค์ ดอกลำไย และคณะ (๒๕๕๓) ศึกษาที่บ้านหินลาดใน จ.เชียงราย พบว่าไร่เหล่าที่มีการพักฟื้นไว้เป็นเวลา 1 ปี ถึง 10 ปี สามารถสะสมคาร์บอนได้ถึง 17,348 ตัน ขณะที่การปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์จากการเผาไร่หมุนเวียนมีแค่ 780 ตัน เพราะฉะนั้นมีผลต่อการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในชั้นบรรยากาศน้อยมากที่มาจากการเกษตรแบบไร่หมุนเวียน

จากผลการศึกษาต่างๆ การทำการเกษตรแบบไร่หมุนเวียนนอกจากจะไม่เพิ่มคาร์บอนในชั้นบรรยากาศอย่างมีนัยยะสำคัญแล้วอีกนัยหนึ่งระบบการเกษตรแบบนี้มีวัฏจักรที่สร้างสมดุลในตัวมันเองโดยไม่ก่อเกิดคาร์บอนในจำนวนที่จะนำไปสู่การเกิดภาวะโลกร้อนได้ แต่เมื่อใดที่ไร่หมุนเวียนถูกกดดันจากนโยบายป่าไม้และที่ดินจนทำให้มีการปรับระยะการฟื้นตัวลดลงหรือการเปลี่ยนไร่หมุนเวียนให้กลายเป็นไร่ถาวรที่ต้องทำกินซ้ำที่เดิมทุกปีก็เท่ากับว่าเป็นการทำลายวัฏจักรที่เป็นสมดุลตามธรรมชาตินี้ให้หมดไป ด้วยเหตุนี้การเปลี่ยนมาเป็นเกษตรแบบถาวรย่อมนำไปสู่การมีส่วนในการสร้างภาวะโลกร้อนขึ้นได้

ถึงแม้ว่าไร่หมุนเวียนจะถูกขึ้นทะเบียนเป็นมรดกทางวัฒนธรรมของชาติในปี 2556 แล้วก็แต่ในปัจจุบันการทำการเกษตรแบบไร่หมุนเวียนที่มีวิธีการพักฟื้นหน้าดิน 7-10 ปีไม่สามารถที่จะทำแบบเดิมได้อีกต่อไปเนื่องจากข้อจำกัดหลายอย่างที่ส่งผลกระทบต่อวิถีการเกษตรแบบไร่หมุนเวียนโดยเฉพาะเรื่องนโยบายป่าไม้ที่ดินของภาครัฐและวาทะกรรมไร่เลื่อนลอยที่ถูกผลิตซ้ำอย่างต่อเนื่องและส่งต่อมาจนถึงปัจจุบันยังมีผลทำให้ไร่หมุนเวียนถูกมองภาพในแง่ลบอยู่ตลอดเวลาในสังคมไทย

ไร่เหล่าที่มีการพักฟื้นหน้าดินกำลังกลายสภาพเป็นป่าขึ้นมาทดแทน

การปะทะกันของระบบเกษตร นิเวศน์ วิถีวัฒนธรรมชาติพันธุ์และชนเผ่าพื้นเมืองกับนโยบายป่าไม้ที่ดิน

การยกระดับสิทธิในการจัดการทรัพยากรธรรมชาติของชุมชนชาติพันธุ์และชนเผ่าพื้นเมืองครั้งสำคัญเกิดขึ้นเมื่อคณะรัฐมนตรี(ในขณะนั้น)มีมติเห็นชอบ “แนวนโยบายการฟื้นฟูวิถีชีวิตชาวกะเหรี่ยง” เมื่อวันที่ 3 สิงหาคม พ.ศ.2553 ถือเป็นหมุดหมายที่สำคัญที่ประเทศไทยมีการพูดถึงเรื่องการคุ้มครองวิถีและวัฒนธรรมของชาติพันธุ์และชนเผ่าพื้นเมืองอย่างเป็นทางการ 14 ปีผ่านมาสิ่งที่ชาติพันธุ์และชนเผ่าพื้นเมืองกำลังเผชิญอยุ่ในปัจจุบันคือผลพวงจากแผนแม่บทป่าไม้และคำสั่ง คสช.ที่ 64และ66/2557 รวมไปถึงการประกาศเขตอุทยาเพิ่มเติม การปะทะกันในเชิงของแนวคิดในการจัดการทรัพยากรป่าไม้และที่ดินระหว่างชุมชนชาติพันธุ์และชนเผ่าพื้นเมืองกับหน่วยงานของรัฐอย่างกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมยังคงปะทะกันอย่างต่อเนื่อง พื้นที่การช่วงชิงการจัดการทรัพยากรระหว่ารัฐและชุมชนที่เห็นชัดเจนที่สุดคือพื้นที่ชุมชนกะเหรี่ยงที่บ้านสบลาน อ.สะเมิง จ.เชียงใหม่ ซึ่งเป็นพื้นที่ต้นแบบในการจัดการทรัพยากรป่าไม้และที่ดินชุมชนกำลังพยายามเรียกร้องให้กันพื้นที่ของชุมชนออกจากการเขตอุทยาแห่งชาติออบขานเพื่อสิทธิในการจัดการป่าไม้ที่ดินของชุมชนหลังจากที่ชุมชนนี้พิสูจน์ตัวเองมาโดยตลอดว่าชุมชนพวกเขามีศักยภาพในการจัดการพื้นที่ของพวกเขาได้

เยาวชนกะเหรี่ยงกำลังถอนหญ้าในไร่หมุนเวียนของชุมชน

มรดกทางวัฒนธรรมและสิ่งแวดล้อม

ชุมชนของชาติพันธุ์และชนเผ่าพื้นเมืองที่อยู่ในพื้นที่สูงส่วนมากยังอยู่ในพื้นที่ป่าและยังเป็นที่ดินของรัฐพื้นที่ของชุมชนเหล่านี้ยังอยู่ในพื้นที่ของป่าสงวนหรือพื้นที่อุทยานแห่งชาติ คำถามสำคัญคือการที่จะผลักดันและยกระดับให้พื้นที่ “ไร่หมุนเวียน” เป็น “มรดกทางวัฒนธรรมและสิ่งแวดล้อม” จึงไม่ได้เป็นทิศทางที่เป็นบวกมากนักในสถานการณ์ปัจจุบัน จากการสำรวจพื้นที่ไร่หมุนเวียนในปี 2562 พบว่ามีชุมชนที่ยังมีการทำไร่หมุนเวียนอยู่ประมาณ 1,600 ชุมชนแต่ประมาณ 50% ของชุมชนเหล่านี้กำลังเปลี่ยนวิถีการทำการเกษตรแบบไร่หมุนเวียนไปเป็นการเกษตรแบบอื่นเนื่องจากกฎหมายที่จะรับรองเรื่องสิทธิของชาติพันธุ์และชนเผ่าพื้นเมืองและกฎหมายด้านสิ่งแวดล้อมมีความเกี่ยวข้องโดยตรงที่ทำให้พื้นที่มรดกทางวัฒนธรรมและสิ่งแวดล้อมอย่างไร่หมุนเวียนกำลังลดลงไปเรื่อยๆ ในปัจจุบันซึ่งสวนทางกับแนวคิดสากลที่มองว่าต้องรักษาและปกป้องวิถีชีวิตและวัฒนธรรมของชนเผ่าพื้นเมืองเพราะพวกเขาเป็นคนที่รักษาระบบนิเวศน์หลักให้กับคนทั้งโลก

ข้อท้าทายใหญ่ของ พ.ร.บ.คุ้มครองและส่งเสริมวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์และชนเผ่าพื้นเมืองที่ภาคประชาชนเสนอและผ่านวาระที่ 1 ของสภาผู้แทนราษฎรเมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2567 ที่ผ่านมาต้องสู้กับ กฎหมายในการอนุรักษ์ป่าของภาครัฐที่เป็นอุปสรรค ตั้งแต่ พ.ร.บ.ป่าไม้ พ.ศ.2484 ถึง พ.ร.บ.ป่าชุมชน พ.ศ.2562 นี่เป็นด่านสำคัญที่ พ.ร.บ.คุ้มครองและส่งเสริมวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์และชนเผ่าพื้นเมือง ต้องทลายลงให้ได้เพื่อเปิดโอกาสของการให้สิทธิกับกลุ่มชาติพันธุ์ให้สามารถใช้ประโยชน์ รักษาและส่งต่อมรดกทางวัฒนธรรมของสิ่งแวดล้อมนี้ให้ได้