คนไทยมักจะรู้จักพวกเขาด้วยการเรียกขานว่า “กะเหรี่ยงคอยาว”
แต่พวกเขาเรียกตัวเองว่า Kayan หรือ กะยัน ที่มีความหมายว่า “มนุษย์”
ราว 40 ปีก่อน (พ.ศ. 2527) ประตูชายแดนไทย เขตจังหวัดแม่ฮ่องสอนได้เปิดรับกลุ่มผู้ประสบภัยจากการสู้รบครั้งใหญ่ระหว่างรัฐบาลทหารพม่าและกองกำลังกะเหรี่ยง ทำให้กลุ่มชาติพันธุ์ในรัฐคะเรนนีของพม่าหลายชนเผ่าต้องอพยพมาฝั่งไทย ไม่ว่าจะเป็นไทใหญ่ กะแย (กะเหรี่ยงแดง) กะยอ (กะเหรี่ยงหูใหญ่) กะยัน (กะเหรี่ยงคอยาว) และอีกหลายกลุ่มที่ได้รับความเดือดร้อนจากภัยสงคราม
นั่นคือครั้งแรกที่คนไทยริมตะเข็บชายแดนได้รู้จักกลุ่มชาติพันธุ์ที่เรียกตนเองว่า “กะยัน” ซึ่งมีเครื่องแต่งกายของสตรีที่โดดเด่น สะดุดตาแก่ผู้พบเห็น คือ ผู้หญิงกะยันจะสวมห่วงทองเหลืองที่คอจนมีลำคอสูงยาว จนใครก็ตามที่ได้พบเห็นครั้งแรกไม่อาจละสายตาในทันทีได้
อาสาสมัครชาวต่างชาติที่เข้ามาดูแลผู้ลี้ภัยในศูนย์อพยพ เห็นว่าการแต่งกายของชาวกะยันมีความน่าสนใจเป็นพิเศษ น่าจะดึงดูดนักท่องเที่ยวและสร้างรายได้มาจุนเจือพี่น้องได้ จึงประสานกับนักธุรกิจการท่องเที่ยวของไทย เพื่อพาชาวกะยัน 3 คน เข้ามายังชายแดนไทยที่หมู่บ้านน้ำเพียงดิน โดยเป็นผู้ชาย 2 คนและผู้หญิง 2 คน ซึ่งก็ได้รับความสนใจเป็นอย่างมากจากนักท่องเที่ยวต่างชาติ ซึ่งตอนนั้นมักนิยมมาเที่ยวชมธรรมชาติของแม่ฮ่องสอน
นั่นจึงเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้กระแส “กะเหรี่ยงคอยาว” เริ่มเป็นที่ร่ำลือทั้งในไทยและต่างประเทศ ทำให้ใครๆ ก็อยากมาเห็น และด้วยสถานการณ์ปัญหาสงครามในพม่าที่ยังคงยืดเยื้อจึงทำให้ผู้คนจากรัฐคะเรนนีทยอยเข้ามายังศูนย์อพยพผู้ลี้ภัยมากขึ้น (บ้านใหม่ในสอย อ.เมือง จ.แม่ฮ่องสอน) รวมถึงกลุ่มชาติพันธุ์ “กะยัน” ที่พากันละทิ้งถิ่นฐานบ้านเกิดเมืองนอนเพราะไม่อาจทนต่อความโหดร้ายของสงครามได้อีก
กะเหรี่ยงคอยาวผู้ผลักดันการท่องเที่ยว
ความน่าสนใจของชาวกะยันอยู่ที่สตรีชาวกะยันสวมห่วงทองเหลืองจนลำคอสูงยาว (ผู้ชายไม่สวม) ซึ่งความเชื่อในการสวมห่วงทองเหลืองนั้นมีหลากหลาย บ้างก็เชื่อว่า เพราะพวกเขาเป็นลูกหลานของหงส์ (แม่) และมังกร (พ่อ) ดังนั้น ผู้หญิงจึงสวมห่วงให้คอยาวเหมือนหงส์ บ้างก็ว่ารัฐคะเรนนีมีกะเหรี่ยงหลายกลุ่ม จึงต้องแสดงอัตลักษณ์ของกลุ่มตนให้ชัดเจนด้วยการสวมห่วงที่คอ จนกลายเป็นอัตลักษณ์ชาติพันธุ์ที่ชัดเจนเป็นร่ำลือไปทั้งโลก ส่งผลให้นักท่องเที่ยวต่างชาติหลั่งไหลเข้ามายังจังหวัดแม่ฮ่องสอนอย่างไม่ขาดสายเพื่อมาชมชีวิตชาวกะยัน
นายภานุเดช ไชยสกุล นายกสมาคมธุรกิจท่องเที่ยวจังหวัดแม่ฮ่องสอน อดีตมัคคุเทศก์แม่ฮ่องสอนนานกว่า 40 ปี ได้กล่าวว่าช่วงรุ่งเรืองที่สุดของการท่องเที่ยวในแม่ฮ่องสอน เที่ยวบินระหว่างเชียงใหม่-แม่ฮ่องสอน โดยสายการบินไทยในเวลานั้นถึงกับต้องเปิดบิน 2 รอบ คือ เช้ากับเย็น เพราะนักท่องเที่ยวเดินทางมาแม่ฮ่องสอนเป็นจำนวนมาก ธุรกิจโรงแรมเฟื่องฟู บรรยากาศการท่องเที่ยวของแม่ฮ่องสอนคึกคัก เมืองแม่ฮ่องสอนเวลานั้นมีนักท่องเที่ยวต่างชาติมากกว่าคนไทยประมาณ 80 เปอร์เซ็นต์
ความนิยมและอยากเห็นกะเหรี่ยงคอยาว ทำให้นักธุรกิจการท่องเที่ยวเริ่มชวนครอบครัวชาวกะยันไปอาศัยอยู่ตามแหล่งท่องเที่ยวต่างๆ เพื่อดึงดูดให้นักท่องเที่ยวมายังสถานที่ที่ตนประกอบการ เช่น ปางช้างในจังหวัดเชียงใหม่ หรือแหล่งท่องเที่ยวของจังหวัดชลบุรี ซึ่งผู้ประกอบการสามารถนำไปโปรโมทหรือสร้างแรงจูงใจให้นักท่องเที่ยวได้ว่า สถานที่ท่องเที่ยวของตนก็มีกะเหรี่ยงคอยาวนะ และได้ผล นักท่องเที่ยวให้ความสนใจเดินทางไปชม
แต่นั่นก็ยังถือว่าเป็นกลุ่มครอบครัวเล็กๆ ไม่อาจนับเป็นชุมชนชาวกะยันดังเช่นที่จังหวัดแม่ฮ่องสอนซึ่งอาศัยอยู่รวมกัน 3 หมู่บ้านในอำเภอเมือง มีจำนวนประชากรราวหนึ่งพันคน คือ บ้านในสอย ต.ปางหมู บ้านห้วยเสือเฒ่า ต.ผาบ่อง และหย่อมบ้านห้วยปูแกง (อยู่ในเขตหมู่บ้านห้วยเดื่อ) ต.ผาบ่อง ซึ่งชาวบ้านห้วยปูแกงส่วนใหญ่ย้ายมาจากบ้านน้ำเพียงดิน ส่วนบ้านน้ำเพียงดินปัจจุบันแทบไม่มีใครอาศัยอยู่แล้ว เนื่องด้วยเป็นพื้นที่ห่างไกล เดินทางเข้ามาในเมืองลำบาก
ดังนี้แล้ว หากใครอยากพบเจอพี่น้องชาวกะยันที่อยู่รวมกันเป็นกลุ่มชุมชน ในเมืองไทยก็จะมีเพียงจังหวัดแม่ฮ่องสอนเท่านั้นสำหรับบ้านห้วยปูแกงนั้นนับได้ว่าเป็นชุมชนชาวกะยันที่มีวิถีชีวิตใกล้เคียงกับชาวกะยันดั้งเดิมที่สุด (ปัจจุบันยังไม่มีไฟฟ้าใช้ นอกจากโซลาร์เซลล์ที่ผลิตไฟฟ้าได้เพียงเล็กน้อย) ที่นี่เคยได้รับรางวัล “แหล่งท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน 2565” ซึ่งเป็นแหล่งท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน 1 ใน 100 ของโลก จากมูลนิธิ Green Destinations Foundation ด้วยชุมชนค่อนข้างเข้มแข็ง มีความสามัคคี มีวัฒนธรรมแข็งแรง ผู้นำชุมชนมีวินัยในการทำงานร่วมกับหน่วยงานอื่นๆ
เอหม่อง ผู้นำรุ่นใหม่ของห้วยปูแกงและเป็นมัคคุเทศก์ให้แก่นักท่องเที่ยวต่างชาติ (ทักษะภาษาอังกฤษดีมาก) ได้พูดถึงการเคลื่อนย้ายของครอบครัวชาวกะยันไว้อย่างน่าสนใจว่า “สำหรับที่นี่ (ห้วยปูแกง) เราจะขอความร่วมมือทุกครอบครัวว่าถ้าไม่ใช่ออกจากหมู่บ้านไปเพื่อการศึกษาแล้ว เราอยากให้อยู่ด้วยกันที่นี่ อย่าไปอยู่กับแหล่งท่องเที่ยวอื่น เพราะนั่นไม่ใช่วิถีชีวิตของพวกเรา เราควรอยู่ที่นี่ เราต้องสร้างพื้นที่การท่องเที่ยวของห้วยปูแกงให้เข้มแข็ง ทำให้นักท่องเที่ยวอยากมาที่นี่ อยากเห็นกะเหรี่ยงคอยาวให้มาแม่ฮ่องสอน ถ้าทุกครอบครัวคิดอยากจากที่นี่ไปที่อื่นหมด ห้วยปูแกงจะเป็นอย่างไร จะมีใครอยากมาที่นี่อีก”
เอหม่องยืนยันหนักแน่นว่า พวกเราจะต้องสร้างที่นี่ให้เข้มแข็งให้ได้ “ปู่ย่าตายายญาติพี่น้องเราอยู่ที่นี่ เราควรอยู่ใกล้กัน อยู่ด้วยกันมิใช่หรือ ถ้าหิวเราหิวด้วยกัน ถ้าอิ่มเราอิ่มด้วยกัน”
ประเพณีกั่งควั่งและต้นธี แหล่งรวมใจชาว “กะยัน”
ปัจจุบันชาวกะยันไม่น้อยยังคงอยู่ในพม่าและบางส่วนกระจายตัวอยู่ประเทศที่ 3 หลายประเทศ (จากการเปิดประเทศให้กับผู้ลี้ภัยเมื่อสิบกว่าปีก่อน) อาทิ อเมริกา ออสเตรเลีย ฯลฯ แต่พวกเขายังคงเดินทางกลับเมืองไทยเพื่อเยี่ยมญาติพี่น้องเกือบทุกปี ชาวกะยันถือว่าไม่ว่าพวกเขาจะอยู่ที่ไหน กะยันทุกคนคือพี่น้องกัน โดยเฉพาะประเพณีปีใหม่กั่งควั่ง หรือคนทั่วไปทักเรียกงานนี้ว่า ปอยต้นธี
ชาวกะยันมีความนับถือ “ต้นธี” ซึ่ง ธี แปลว่า ร่ม รูปทรงของ ธี จะคล้ายร่มทำด้วยไม้ ประดับประดาด้วยการฉลุลายไม้ ต้นธี เป็นเครื่องหมายของความศักดิ์สิทธิ์และความอยู่ร่มเย็นเป็นสุข ดังนั้น จึงต้องนำต้นธีไว้บนยอดเสาสูงกลางลานหมู่บ้าน (ลานวัฒนธรรม) เสาของต้นธี แต่โบราณจะใช้ต้นหว้า ด้วยความเชื่อว่า ต้นหว้าคือต้นไม้ต้นแรกของโลก เป็นแหล่งกำเนิดของสรรพสิ่ง พวกเขาจึงนำต้นหว้ามาตั้งเป็นเสา และประดับยอดด้วยต้นธี ทุกปี ชาวกะยันจะมีพิธีเต้นรำรอบต้นธี เป็นพิธีกรรมศักดิ์สิทธิ์ที่เข้าได้เฉพาะผู้ชาย เต้นรำรอบต้นธีได้เฉพาะผู้ชาย (ส่วนผู้หญิงจะอยู่รอบนอก มองเห็นได้) หากปีไหนเสาต้นธีผุพัง ก็จะมีการปักเสาใหม่ งานประเพณีกั่งควั่ง หรือ ปอยต้นธี จึงถือเป็นประเพณีที่สำคัญมากของลูกหลานชาวกะยัน ลูกหลานที่จากบ้านไปไกลก็จะกลับมา ไม่ต่างจากงานปีใหม่ของทุกกลุ่มชาติพันธุ์ในโลกนี้
โลกาภิวัฒน์ปะทะคนกะยัน
โลกาภิวัฒน์กับยุคสมัยที่เปลี่ยนไป อาจทำให้คนรุ่นใหม่ดำเนินวิถีชีวิตแตกต่างจากแต่ก่อน ปัจจุบันทั้งเด็กและหนุ่มสาวรุ่นใหม่ซึ่งเข้าไปเรียนหนังสือในเมืองหรือทำงานในสังคมทั่วไป พวกเขาปะปนไปกับผู้คนทั่วไป เหมือนคนธรรมดาๆ ผู้หญิงรุ่นใหม่ไม่สวมห่วงทองเหลือง แต่หากมีงานประเพณีหรืองานวัฒนธรรมชุมชน หรือช่วงไฮซีซั่น เด็กผู้หญิงก็จะใส่ห่วงทองเหลืองในวันเสาร์อาทิตย์ (ไม่มีเรียน) เพื่อให้นักท่องเที่ยวถ่ายรูป
พวกเขารู้ดีว่า ห่วงทองเหลือง ทำให้นักท่องเที่ยวเดินทางมาที่หมู่บ้าน ดังนั้น พวกเขาไม่รู้สึกว่าตนเองแปลกประหลาด หากกลับรู้สึกภาคภูมิใจในวิถีวัฒนธรรม “กะยัน” ที่มีเอกลักษณ์ไม่เหมือนใคร มีวิถีวัฒนธรรมไม่ว่าด้านประเพณีความเชื่อ อาหาร การแต่งกาย ศิลปะดนตรี การเต้นรำ ที่เป็นแบบชาว “กะยัน”
หากจะมีสิ่งที่ยังไม่สบายใจก็คือ การที่ชาวกะยันส่วนใหญ่ยังเป็นเสมือนคนไร้รัฐ ไม่อาจนับได้เป็นชนชาติไหน หากได้เพียงบัตรประจำตัวคนซึ่งไม่มีสัญชาติไทย (อนุญาตให้อยู่ในเมืองไทยอย่างถูกกฎหมาย) ยังดีที่ว่าลูกหลานที่เกิดในเมืองไทย ส่วนใหญ่ก็จะได้สัญชาติไทย
และอีกปัญหาคือก็การไม่มีที่ทำกิน ชาวกะยัน โดยเฉพาะบ้านห้วยปูแกง ส่วนมากยังชีพด้วยการขายสินค้าที่ระลึกให้กับนักท่องเที่ยวและรับจ้างใช้แรงงาน ซึ่งโอกาสจะได้พัฒนาไปสู่อาชีพที่ดีกว่าจะมีน้อยกว่าคนได้บัตรสัญชาติไทยอยู่มาก
ซึ่งยังคงเป็นเรื่องที่พวกเขาพยายามร้องขอและต่อสู้กันต่อไป.
บทความโดย: สร้อยแก้ว คำมาลา
แหล่งอ้างอิงข้อมูล :
- กลุ่มชาติพันธุ์จังหวัดแม่ฮ่องสอน, สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดแม่ฮ่องสอน, กันยายน 2564
- สัมภาษณ์ ภานุเดช ไชยสกุล นายกสมาคมธุรกิจท่องเที่ยวจังหวัดแม่ฮ่องสอน
- สัมภาษณ์ นายหน่อง ผู้นำชุมชนชาวกะยัน บ้านห้วยปูแกง
- สัมภาษณ์ นายเอหม่อง ผู้นำชุมชนรุ่นใหม่ชาวกะยัน บ้านห้วยปูแกง