เมื่ออุดมการณ์การดูแลจัดการป่าระหว่างรัฐเป็นศูนย์กลางหลังยุครัฐบาลอำนาจนิยม คสช. มีอำนาจเหนือกว่าอุดมการณ์แบบชุมชนมีส่วนร่วม อีกทั้ง มติ ครม. เมื่อวันที่ 3 ส.ค. 2553 เรื่องคุ้มครองวิถีชีวิตและวัฒนธรรมกลุ่มชาติพันธุ์ชุมชนชาวปกาเกอะญอบ้านห้วยหินลาดใน ต.บ้านโป่ง อ.เวียงป่าเป้า จ.เชียงราย ไม่ถูกยกระดับเป็นกฎหมายบังคับใช้อย่างเคร่งครัด

เป็นเหตุให้พื้นที่ชุมชนบ้านห้วยหินลาดในเกิดเหตุการณ์ชายชุดดำพร้อมอาวุธเข้าทำลายพืชไร่ ข้าวของในเขตไร่หมุนเวียนชาวกะเหรี่ยงอยู่ล่าสุดเมื่อวันที่ 4 มิ.ย. 2567 ที่ผ่านมา 

“วันนั้น (5 มิ.ย. 2567) ชาวบ้านเข้าไปไร่เพื่อหยอดข้าว พบว่าข้าวของในไร่ถูกทำลายกระจัดกระจาย ถังรองน้ำฝนไว้ทำไร่ถูกเททิ้งและถูกมีดฟันเสียหาย พื้นที่ทำพิธีกรรมก็ถูกรื้อถอนทิ้ง”

คำบอกเล่าของ นิราภร จะพอ เยาวชนบ้านห้วยหินลาดใน ชาวปกาเกอะญอผู้อยู่ในเหตุการณ์ที่มีกลุ่มชายชุดดำ 3 คน คาดว่าเป็นเจ้าหน้าที่ป่าไม้ คลุมหน้า สะพายปืนยาว ขับมอเตอร์ไซค์ คาดว่าเป็นเจ้าหน้าที่รัฐ เข้าไปทำลายข้าวของ ถอนพืชของชาวบ้าน ทิ้งช้อน จาน ถ้วย ฟืน ปล่อยน้ำจากแทงก์น้ำในบริเวณไร่หมุนเวียนของชาวบ้านห้วยหินลาดใน ต.บ้านโป่ง อ.เวียงป่าเป้า จ.เชียงรายเมื่อวันที่ 4 มิ.ย. พ.ศ. 2567 

นิราภร จะพอ เยาวชนบ้านห้วยหินลาดใน ชาวปกาเกอะญอผู้อยู่ในเหตุการณ์ชายชุดดำบุกรุกเข้าทำลายข้าวของ พืชไร่ชาวบ้าน เมื่อวันที่ 4 มิ.ย. 2567

แม้วันที่ 7 มิ.ย​. 2567 ชาวบ้านห้วยหินลาดในยื่นหนังสือถึงผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย และ สำนักจัดการทรัพยากรป่าไม้ที่2 (เชียงราย) เพื่อขอให้ตรวจสอบกรณีดังกล่าวแล้ว

แต่กรณีนี้นำมาสู่คำถามสำคัญของสังคมว่า ทั้งๆ ที่ดังกล่าวถูกประกาศให้เป็นพื้นที่ “คุ้มครองวิถีชีวิตและวัฒนธรรมกลุ่มชาติพันธุ์” ตามมติครม. วันที่ 3 ส.ค. 2553 เรื่องแนวนโยบายในการฟื้นฟูวิถีชีวิตชาวกะเหรี่ยง ทำไมยังถูกรุกราน คุกคาม ทำลายวิถีชีวิตจากหน่วยงานรัฐอยู่

เป็นพื้นที่คุ้มครองแล้วได้อะไร ขนาดบ้านห้วยหินลาดในยังโดนคุกคาม

อย่างที่ทราบชุมชนห้วยหินลาดใน ต.บ้านโป่ง อ.เวียงป่าเป้า จ.เชียงราย หนึ่งในชุมชนกะเหรี่ยงเผ่าปกาเกอะญอเก่าแก่นานกว่า 100 ปี ตั้งอยู่กลางหุบเขารอยต่อระหว่าง จ.เชียงใหม่ และ จ.เชียงราย

ชุมชนแห่งนี้ถูกบอกเล่าผ่านสายตาผู้ไปพบเห็นว่า เป็นชุมชนที่รายล้อมไปด้วยป่าเขา มีน้ำสะอาดจากธรรมชาติ บางพื้นที่ในชุมชนไฟฟ้า สัญญาณโทรศัพท์ อินเทอร์เน็ตเข้าไม่ถึง คนในชุมชนยังใช้ชีวิตเรียบง่าย หากินด้วยการเก็บของป่า ทำไร่หมุนเวียน ทำสวนชา เลี้ยงหมูกินเอง บางคนบอกว่า “นี่คือหมู่บ้านของความสุขแท้จริง”

แม้ในอดีตชุมชนแห่งนี้ต้องเผชิญกับภัยคุมคามที่เข้ามาทำลายที่อยู่อาศัย วิถีชีวิต วัฒนธรรมและแหล่งอาหารของพวกเขา เช่น การเข้ามาของบริษัทค้าไม้ ที่ได้รับสัมปทานจากรัฐบาลให้ตัดไม้ต้นใหญ่ออกไปขาย การทำเกษตรกรรมเชิงพาณิชย์และเกษตรเชิงเดี่ยว อาทิ อ้อย ข้าวโพด ยางพารา

รวมถึงผลกระทบจากมาตรการกฎหมายควบคุมจัดการพื้นที่ป่าและทรัพยากรธรรมชาติของรัฐ เช่น การประกาศให้พื้นที่ดังกล่าวเป็นเขตป่าสงวนในปีพ.ศ. 2525 และเตรียมประกาศเป็นเขตอุทยานแห่งชาติดอยขุนแจทับซ้อนอีกในปี พ.ศ. 2535 ตามแนวคิดรัฐบาลยุคนั้นที่ว่า “คนอยู่กับป่าไม่ได้”

ทำให้ชาวบ้านกังวลถึงการล่มสลายของชุมชนและวิถีวัฒนธรรมของชนเผ่า จึงมีการเคลื่อนไหวนานหลายปีเพื่อเรียกร้องในสิทธิในการจัดการตนเอง ยืนยันว่า “ปากาเกอะญอมิใช่ผู้ทำลายป่า แต่เป็นผู้อาศัยอยู่ร่วมกับป่าและทรัพยากรธรรมชาติ”

ในที่สุดทำให้พื้นที่ที่ตั้งชุมชนและพื้นที่ป่ากว่า 10,000 ไร่ ถูกประกาศให้เป็นพื้นที่ “คุ้มครองวิถีชีวิตและวัฒนธรรมกลุ่มชาติพันธุ์” ตามมติ ครม. วันที่ 3 ส.ค. 2553 เรื่องแนวนโยบายในการฟื้นฟูวิถีชีวิตชาวกะเหรี่ยง

กฎหมายซ้อนทับ ไม่ชัดเจน เปิดช่องให้เจ้าหน้าที่บังคับใช้กระทำการไล่รื้อ

“แม้เรื่องพื้นที่คุ้มครองมันเกิดมาจากแนวความคิดสิทธิชุมชน ตาม รัฐธรรมนูญ ปี 2540 คือให้ชุมชนและท้องถิ่นมีสิทธิดูแลจัดการตนเอง รวมถึงร่วมรักษาฟื้นฟูวิถีชีวิตและวัฒนธรรมและใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติ แต่มันมีจุดอ่อน” ประยงค์ ดอกลำใย ที่ปรึกษา ขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม หรือ พีมูฟ (P-Move) ผู้ร่วมเคลื่อนไหวและผลักดันให้เกิดกฎหมายคุ้มครองวิถีชีวิตและวัฒนธรรมกลุ่มชาติพันธุ์ ตามมติ ครม.3 ส.ค. 2553 กล่าว

ประยงค์ ดอกลำใย ที่ปรึกษา ขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม หรือ พีมูฟ (P-Move)

ประยงค์ ขยายความคำว่า “จุดอ่อน” ว่า รัฐธรรมนูญ ปี 2540ใช้คำว่า “ทั้งนี้ตามกฎหมายบัญญัติ” กล่าวคือมันคือกฎหมายที่ระบุว่า พื้นที่ป่าหมายถึงที่ดิน ที่ยังไม่มีผู้ใดได้มาโดยชอบด้วยกฎหมายที่ดิน ทำให้พื้นที่ดังกล่าวที่เกิดข้อพิพาทล่าสุดกลายเป็น “พื้นที่ป่าไม้” ตามพระราชบัญญัติป่าไม้ พุทธศักราช 2484

อีกทั้งพื้นที่ดังกล่าวยังถูกรัฐประกาศให้เป็นเขตป่าสงวนแห่งชาติ ปี 2510 ทับซ้อนเข้าไปอีก และยังมีความพยายามของรัฐที่จะประกาศเป็นเขตอุทยานแห่งชาติหรือเขตห้ามล่าสัตว์เพิ่มมาเข้ามาอีก

“ดังนั้นสิทธิชุมชนตามรัฐธรรมนูญปี 2540 เลยใช้ในการคุ้มครองพื้นที่ไม่ได้” ประยงค์กล่าว

บางกระทรวงไม่ยอมรับการทำไร่หมุนเวียน

หลังจากพื้นที่ถูกประกาศให้เป็นคุ้มครองวิถีชีวิตและวัฒนธรรมกลุ่มชาติพันธุ์ ตาม มติ ครม. ปี 2553 แม้ชุมชนห้วยหินลาดในถูกสังคมยอมรับให้เป็นชุมชนต้นแบบในการจัดการตนเอง รวมถึงดูแลรักษาและใช้ประโยชน์จากป่า จนได้รับรางวัลหลายรางวัลทั้งในประเทศและต่างประเทศ

แต่สำหรับ ประยงค์ มองว่า มติ ครม. ดังกล่าวมีจุดอ่อนอีกเช่นกัน กล่าวคือ พื้นที่ส่วนใหญ่ของชุมชนชาวกะเหรี่ยงอยู่ในพื้นที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม แต่กระทรวงที่มีบทบาทผลักดันมติ ครม. ดังกล่าวคือกระทรวงวัฒนธรรมที่มีหน้าที่แตกต่างกัน

“ผมคิดว่าจริงๆ มติ ครม.​ ไม่ว่าจะเสนอโดยกระทรวงไหนก็ตามมันเป็นมติ ครม. ไม่ใช่ มติกระทรวง ดังนั้นแม้กระทรวงทรัพฯ ไม่ได้เสนอ แต่ก็ควรปฏิบัติตามมติดังกล่าว คือต้องยุติการจับกุมชุมนกะเหรี่ยงที่เขาอาศัยอยู่ในพื้นที่มายาวนาน ก่อนการประกาศเขตอนุรักษ์” ประยงค์กล่าว

ประยงค์กล่าวอีกว่า เมื่อมีการยุติการจับกุมแล้ว กระทรวงทรัพฯ ก็ควรมีการสำรวจและมีการกันพื้นที่เหล่านั้นให้เป็นพื้นที่คุ้ครอง

ส่วนต่อมาในมติ ครม​. กล่าวอีกว่า ให้กระทรวงทรัพฯ กระทรวงมหาดไทยและกระทรวงเกษตรฯ ส่งเสริมและให้ยอมรับระบบไร่หมุนเวียนของชาวกะเหรี่ยง

“ในมติ ครม. ระบุเลยว่าไร่หมุนเวียนเป็นระบบการทำเกษตรกรรมที่เหมาะสมและสอดคล้องกับระบบนิเวศบนพื้นที่” ประยงค์กล่าว

แต่ปัญหาที่ประยงค์พบคือกระทรรวงทรัพฯ ปฏิเสธมาตลอดว่ามติ ครม. ตัวนี้ไม่ได้เสนอโดยกระทรวงทรัพฯ ส่วนตัวลองไปคุ้นดูพบว่า ในวันที่มีมติ ครม. นี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพฯ ชื่อคุณสุวิทย์ คุณกิตติก็ไม่ได้มีความเห็นอะไรเกี่ยวกับการทำไร่หมุนเวียน เพราะเมื่อมีมติ ครม. มาให้กระทรวงทรัพฯ ดำเนินการ กระทรวงทรัพฯ ต้องมีความเห็นว่าทำไม่ได้อย่างไร

“เท่าที่เราตรวจสอบจากเอกสารสำนักเลขาธิการ ครม. ก็ไม่ได้มีความเห็นแย้ง ดังนั้นกระทรวงทรัพฯ ต้องดำเนินการตาม มติ ครม. ดังกล่าว แต่ผ่านมา 14 ปี กระทรวงทรัพ์ก็ยังปฏิบัติการไล่รื้อพื้นที่ไร่เหมือนเดิม  อ้างว่าตัวเองมีกฎหมายป่าไม้ กฎหมายอุทยานฯ​ ต้องปฏิบัติตามกฎหมายป่าสงวนแห่งชาติ มันก็เป็นปัญหาว่ามติ ครม. มันถูกละเลยจากกระทรวงทรัพฯ มาโดยตลอด” ประยงค์กล่าว

ประยงค์กล่าวอีกว่าดังนั้นต้องติดตามต่อไปว่าเราควรจะต้องดำเนินการอย่างไรทั้งๆ ที่มติ ครม. ระบุหน่วยงานที่รับผิดชอบชัดเจน ระบุหน้าที่ของกระทรวงทรัพฯ ชัดเจนว่าต้องทำอะไรบ้าง แต่ปรากฏว่าไม่ดำเนินการและก่อให้เกิดความเสียหายต่อชุมชน ทั้งๆ ที่ชุมชนได้รับความคุ้มครองตาม มติ ครม. ดังกล่าว

ทำอย่างไรจะคุ้มครอง “ไร่หมุนเวียน” มรดกทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของไทยได้จริงๆ

สำหรับ ธนากร อัฏฐ์ประดิษฐ์ ที่ปรึกษาคณะกรรมาธิการที่ดิน ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมสภาผู้แทนราษฎร มองว่า มติ ครม. ดังกล่าวไม่เคยถูกนำไปยกระดับอำนาจให้เป็นกฏหมาย พ.ร.บ. สามารถบังคับใช้ได้

อีกทั้งมีมติ ครม. หลายตัวที่ไปยกระดับอำนาจรัฐการบริหารจัดการในพื้นที่แทน มติ ครม. ดังกล่าว เช่น มติ ครม. การพิสูจน์การครอบครองที่ป่าของราษฎร 3 มิ.ย. 2541 ซึ่งหน่วยงานรัฐมักหยิบเอามาอ้างในการจัดการป่า เป็นต้น

ธนากร อัฏฐ์ประดิษฐ์ ที่ปรึกษาคณะกรรมาธิการที่ดิน ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมสภาผู้แทนราษฎร

“อันนี้มันคือปัญหาความขัดแย้งในเชิงอุดมการณ์ของการใช้ประโยชน์ในพื้นที่ป่าระหว่างรัฐเป็นศูนย์กลางกับชุมชนมีส่วนร่วม เพราะ มติ ครม. พิสูจน์การครอบครองที่ป่า ถูกรัฐนำมาอ้างว่ามันสอดคล้องกับอุดมการณ์การจัดการป่าของรัฐเป็นหลัก ส่วน มติ ครม. คุ้มครองพื้นที่ รับใช้อุดมการณ์ของชุมชนในการรักษาป่า”  ธนากรกล่าว

สำหรับธนากร หาก มติ. ครม. คุ้มครองวิถีชีวิตและวัฒนธรรมกลุ่มชาติพันธุ์ไม่ถูกยกระดับเป็นกฎหมาย พ.ร.บ. ก็จะทำให้เกิดข้อพิพาทระหว่างรัฐกับชุมชนชนเฝ่าแบบนี้ต่อไป

งานวิจัยหลายชิ้นยืนยัน “ไร่หมุนเวียน” มีข้อดีต่อป่า

สำหรับธนากร กระทรวงที่ดูแลเรื่องการทำการเกษตร ควรยกระดับเรื่องการทำไร่หมุนเวียนให้มีประโยชน์ต่อการทำเกษตรโดยรวมในพื้นที่เชิงเขาภาคเหนือ ทั้งๆ ที่มีตัวอย่างมีงานศึกษาวิจัยไร่หมุนเวียนหลายชิ้นตั้งแต่ช่วงปี 2540 ถึงปัจจุบัน ที่ให้ภาพการทำการเกษตรที่ดีต่อป่าสามารถนำไปใช้ในระดับนโยบายได้

ตัวอย่างที่ชัดเจนในการทำไร่หมุนเวียนที่เห็นภาพชัดคือ ชุมชนห้วยหินลาดใน ซึ่งเป็นชุมชนต้นแบบการทำไร่หมุนเวียนที่เหมาะสมกับระบบนิเวศ และรักษาป่าไปในตัว

“ในเชิงวิชาการมีงานศึกษาวิจัยที่ตอบได้ชัดเจนแล้วว่า ระบบเกษตรแบบไร่หมุนเวียนของชุมชนชาวกะเหรี่ยงมันมีคุณูปการ มีประโยชน์หลายมิติทั้งทางระบบนิเวศ และในทางสังคม วัฒนธรรม รวมถึงการจัดการผืนป่าที่มีอยู่ในปัจจุบัน แต่ในทางกฎหมายยังไม่รองรับ” ธนากรกล่าว

“ประชาธิปไตย” ถูกทหารล้ม อุดมการณ์จัดการป่าแบบรัฐเป็นศูนย์กลางมีอำนาจมากขึ้น

อีกหนึ่งเหตุผลที่ทำให้ มติ ครม.​ ไม่ถูกยกระดับเป็นกฎหมาย สำหรับธนากร​มองว่ามันเกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองโดยตรง เพราะหลังจาก มติ ครม. 3 ส.ค. 2553 การเมืองไทยมีการเปลี่ยนแปลงหลายรอบ มันทำให้กลไกนิติบัญญัติที่ทำหน้าที่สถาปนากฎหมายนี้ มันไม่ทำงาน เกิดการติดขัด ไม่ราบรื่น

“ฉะนั้นช่วงการเมืองที่ไม่เป็นประชาธิปไตย มีการยึดอำนาจ รัฐประหารปี 2557 มันเลยเป็นโอกาสให้กับฝ่ายอำนาจที่ถืออุดมการณ์การรักษาป่า ที่เชื่อว่าการจัดการป่าโดยรัฐเป็นศูนย์กลางอัพเกรดกฎหมายของตัวเอง โดยเฉพาะหลังรัฐประหารปี 2557 รัฐมีการใช้กฎหมายดูแลจัดการป่าแบบของตัวเอง ไม่ผ่านกลไลนิติบัญญัติแบบรัฐสภาปกติ” ธนากรกล่าว

ธนากรกล่าวอีกว่า วันนี้ (14 มิ.ย. 67) ยังเป็นวันครบรอบวันที่คณะรัฐประหาร คสช. ประกาศคำสั่งที่ 44/2557 ใช้นโยบายทวงคืนผืนป่าของ คสช. นี่คือตัวอย่างว่าอำนาจที่จะสถาปนากฎหมายสิทธิชุมชน ท้องถิ่น คุ้มครองชนเผ่าพื้นเมืองมันถูกบั่นทอนอำนาจโดยระบบการเมืองโดยตรง จึงทำให้เส้นทางของการผลักดันกฎหมายเหล่านี้นั้นมันเลยหยุดชะงักลง

ดังนั้น ภาครัฐ ชุมชน ทุกฝ่ายหลายระดับต้องร่วมกันทำข้อตกลงเกี่ยวกับเรื่องนี้ใหม่ ภายใต้บรรยากาศการเมืองประชาธิปไตย

อีกทั้งการมีส่วนร่วมกันต้องมีหลายระดับ ทั้งในขั้นตอนในระบบสภา นอกสภา และการรับฟังความเห็นจากคนในพื้นที่แบบที่ไม่ใช่การทำแบบสอบถามออนไลน์ แต่ควรมีการลงพื้นที่รับฟังเสียงชุมชนให้ทุกฝ่ายได้มีโอกาสนำเสนอ ถกเถียง แลกเปลี่ยนข้อมูลว่า จริงๆ แล้วต้องการอะไร เป็นอย่างไร

“เพื่อให้กฎหมายในการจัดการป่านั้นตอบโจทย์ทั้งการดูแลจัดการป่า ตอบโจทย์การดูแลวิถีชีวิต วัฒนธรรมชนเผ่า ชาติพันธ์ที่อยู่ในป่า” ธนากรกล่าว

หมายเหตุ : รายงานชิ้นนี้ถอดความจากวงเสวนา “เป็นพื้นที่คุ้มครองแล้วได้อะไร ขนาดบ้านห้วยหินลาดในยังโดนคุกคาม” ของ IMN เครือข่ายสื่อชนเผ่าพื้นเมือง เมื่อวันที่ 14 มิ.ย. 2567 ที่ผ่านมา