มติ ครม. 3 ส.ค. 2553 “แนวนโยบายในการฟื้นฟูวิถีชีวิตชาวกะเหรี่ยง” ก้าวสำคัญสู่ “พ.ร.บ. คุ้มครองและส่งเสริมวิถีกลุ่มชาติพันธุ์และชนเผ่าพื้นเมือง”

มติคณะรัฐมนตรี (ครม.) 3 ส.ค. 2553 เรื่องแนวนโยบายในการฟื้นฟูวิถีชีวิตชาวกะเหรี่ยง เกิดขึ้นจากความพยายามของหลายภาคส่วนที่ต้องการผลักดันให้รัฐไทยออกมารับผิดชอบ คุ้มครองสิทธิ และฟื้นฟูวิถีชีวิตของกลุ่มชาติพันธุ์ต่าง ๆ ที่ถูกเข้าใจผิดมาโดยตลอดด้วยมายาคติเกี่ยวกับชาติพันธุ์ รวมไปถึงนโยบายทางความมั่นคงและนโยบายทางเศรษฐกิจของรัฐมาหลายทศวรรษ โดยชาวกะเหรี่ยงเป็นกลุ่มชาติพันธุ์หนึ่งในจำนวนกว่า 60 กลุ่มที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ประเทศไทยมาหลายชั่วอายุคน แต่ก็ยังคงต้องเผชิญหน้ากับอคติและอุปสรรคมากมายในการดำรงชีวิตและสืบทอดวัฒนธรรมของตน

อคติทางเชื้อชาติที่มีต่อชาวกะเหรี่ยงเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นมาอย่างยาวนาน ส่วนหนึ่งเป็นเพราะความไม่เข้าใจในวัฒนธรรมและวิถีชีวิตที่แตกต่างไปจากคนส่วนใหญ่ในสังคมไทย ประกอบกับการที่สื่อมวลชนในยุคสมัยหนึ่งได้ผลิตซ้ำความเข้าใจผิดต่อกลุ่มชาติพันธุ์ เช่น เรื่องการทำไร่เลื่อนลอย การบุกรุกทำลายป่า การค้าสิ่งผิดกฎหมาย ตลอดจนการก่อความไม่สงบ ซึ่งเป็นไปในทิศทางเดียวกันกับนโยบายบางส่วนของภาครัฐที่กดทับและกระทำเหมือนกลุ่มชาติพันธุ์เป็นภัยต่อความมั่นคง

อุปสรรคทางภูมิศาสตร์และการขาดความรู้เกี่ยวกับกลุ่มชาติพันธุ์ของรัฐเอง ก็เป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ชาวกะเหรี่ยงไม่สามารถเข้าถึงโอกาสในการได้รับสถานะ สิทธิ และบริการขั้นพื้นฐานของรัฐได้ นอกจากนั้น บริบททางสังคม สภาวะเศรษฐกิจ นโยบายหรือโครงการพัฒนาของภาครัฐจำนวนหนึ่งยังมีลักษณะของการกลืนวัฒนธรรม ที่ส่งผลกระทบให้กลุ่มชาติพันธุ์จำยอมต้องปรับตัวหรือละทิ้งวัฒนธรรมของตนเพื่อให้สามารถดำรงชีพอยู่ได้และไม่ถูกเลือกปฏิบัติจากคนในสังคม

การไม่มีเอกสารสิทธิในที่ดินส่งผลให้ชาวกะเหรี่ยงและกลุ่มชาติพันธุ์หลายชุมชนประสบกับปัญหาความรุนแรงจากนโยบายของภาครัฐ อาทิ การถูกบุกรุกและยึดครองที่ดินโดยเอกชนหรือบุคคลภายนอกซึ่งมีสถานะทางกฎหมาย การถูกหน่วยงานราชการเข้ามาอ้างสิทธิในการจัดการทรัพยากรธรรมชาติในพื้นที่โดยไม่คำนึงถึงวิถีชุมชนที่มีมาแต่เดิม การถูกบังคับให้ออกจากที่อยู่อาศัยและที่ดินทำกิน เนื่องจากพื้นที่ดังกล่าวถูกรัฐประกาศเป็นพื้นที่ป่าสงวนและอุทยานแห่งชาติ หรือถูกสัมปทานให้กับโครงการพัฒนา เช่น โครงการเหมืองแร่ โครงการสร้างเขื่อน โครงการแหล่งท่องเที่ยว และโครงการทางการเกษตรต่าง ๆ เป็นต้น

ดังนั้นแล้ว การมีมติครม. 3 สิงหาคม 2553 เรื่องแนวนโยบายในการฟื้นฟูวิถีชีวิตชาวกะเหรี่ยง ฉบับนี้ออกมา จึงได้แสดงถึงการยอมรับจากรัฐต่อสิทธิ ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ วิถีชีวิตและวัฒนธรรมดั้งเดิมของชาวกะเหรี่ยง รวมไปถึงความพยายามที่จะจัดการปัญหาเรื่องความเหลื่อมล้ำ อคติ และความอยุติธรรมที่เกิดขึ้นกับกลุ่มชาติพันธุ์กะเหรี่ยง ผ่านการกำหนดให้มีการคุ้มครองสิทธิและส่งเสริมการฟื้นฟูวิถีชีวิตในมิติต่าง ๆ ตามมติดังกล่าว ถือได้ว่าเป็นก้าวสำคัญสำหรับการวางรากฐานในการออกกฎหมายคุ้มครองสิทธิกลุ่มชาติพันธุ์ในประเทศไทย และเป็นการส่งเสริมสิทธิมนุษยชนและปูทางให้สังคมไทยมุ่งสู่ความเป็นพหุวัฒนธรรมที่เสมอภาคและยั่งยืน

สาระสำคัญจากมติครม. 3 สิงหาคม 2553 
ว่าด้วยเรื่องแนวนโยบายในการฟื้นฟูวิถีชีวิตชาวกะเหรี่ยง

ในมติฯ ดังกล่าววทางคณะรัฐมนตรีได้เห็นชอบหลักการแนวนโยบายและหลักปฏิบัติในการฟื้นฟูวิถีชีวิตชาวกะเหรี่ยง รวมไปถึงได้มีการระบุหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อให้นำมติดังกล่าวไปฏิบัติต่อ โดยมุ่งเน้นไปที่การคุ้มครองสิทธิและฟื้นฟูวิถีของกลุ่มชาติพันธุ์กะเหรี่ยง 5 ด้าน ได้แก่ ด้านอัตลักษณ์ ชาติพันธุ์ และวัฒนธรรม ด้านการจัดการทรัพยากร ด้านสิทธิในสัญชาติ ด้านการสืบทอดมรดกทางวัฒนธรรม ด้านการศึกษา ประกอบไปด้วยมาตราการการฟื้นฟูวิถีชีวิตชาวกะเหรี่ยง 2 ระยะ ได้แก่ มาตรการฟื้นฟูระยะสั้น (ดำเนินการภายใน 6 – 12 เดือน) ซึ่งมีวัตถุประสงค์หลักในการสร้างความเชื่อมั่นให้กับชาวกะเหรี่ยงว่ารัฐบาลให้ความสำคัญและต้องการที่จะแก้ไขปัญหาอย่างแท้จริง โดยเร่งรัดการจัดการบรรเทาความเดือนร้อนเร่งด่วนซึ่งกระทบต่อการดำรงชีวิตของชาวกะเหรี่ยง เพื่อเป็นพื้นฐานในการฟื้นฟูความเป็นอยู่ของชุมชนชาวกะเหรี่ยง และเป็นการวางรากฐานสำหรับมาตราการระยะยาว (ดำเนินการภายใน 1-3 ปี) ซึ่งมีเป้าหมายหลัก คือ การสร้างการมีส่วนร่วมและความเข้มแข็งให้กับชุมชนชาวกะเหรี่ยง รวมไปถึงการยกระดับวิถีชีวิตของกลุ่มชาติพันธุ์ให้ได้รับการยอมรับและเกิดความยั่งยืนในระยะยาว เพื่อให้สามารถดำรงอัตลักษณ์และวิถีวัฒนธรรมของตนได้ต่อไปในอนาคต

ในประเด็นด้านอัตลักษณ์ ชาติพันธุ์ และวัฒนธรรม

เป็นการมุ่งเน้นไปที่การส่งเสริมและสร้างความเข้าใจในอัตลักษณ์ชาติพันธุ์และวัฒนธรรมชาวกะเหรี่ยง ตลอดจนการอยู่ร่วมกันแบบพหุวัฒนธรรม โดยระบุให้อยู่ภายใต้ความรับผิดชอบของกระทรวงวัฒนธรรม กระทรวงศึกษาธิการ และกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์

ในประเด็นด้านสิทธิในสัญชาติ

ได้มีมติให้มีการเร่งรัดการออกเอกสารหลักฐานแสดงตัวตนและการออกสัญชาติไทยตามกฎหมายสัญชาติ มาตรา 7 ทวิ ให้กับชาวกะเหรี่ยงเพื่อให้สามารถเข้าถึงสิทธิและบริการของรัฐได้อย่างเท่าเทียม รวมไปถึงจัดสรรงบประมาณรายหัวตามหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า โดยระบุให้อยู่ภายใต้ความรับผิดชอบของสำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย และ สำนักงานหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าแห่งชาติ 

ในประเด็นด้านการจัดการทรัพยากร

ได้มีมติให้ยุติการจับกุมและให้ความคุ้มครองแก่ชาวกะเหรี่ยงที่เป็นสมาชิกชุมชนดั้งเดิมในพื้นที่ที่กำลังเป็นข้อพิพาท รวมไปถึงการจัดตั้งคณะกรรมการหรือกลไกในการตรวจสอบและกำหนดเขตพื้นที่ที่ชาวกะเหรี่ยงแต่ละชุมชนใช้ในการดำรงวิถีวัฒนธรรม โดยระบุให้อยู่ภายใต้ความรับผิดชอบของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กระทรวงยุติธรรม กระทรวงมหาดไทย คณะกรรมการสิทธิมนุษยชน และเครือข่ายกะเหรี่ยงเพื่อวัฒนธรรมและสิ่งแวดล้อม

ในลำดับต่อมา คือให้เพิกถอนพื้นที่การเป็นพื้นที่อุทยานแห่งชาติ ป่าอนุรักษ์ ป่าสงวน โครงการและนโยบายทับซ้อนอื่น ๆ จากพื้นที่ที่ตรวจสอบแล้วว่าชุมชนชาวกะเหรี่ยงได้ดูแลและใช้ประโยชน์อยู่ก่อนการประกาศของรัฐ ส่งเสริมการเกษตรทางเลือกที่ไม่ใช่เกษตรเชิงเดี่ยวหรือเกษตรเชิงอุตสาหกรรม พร้อมกับยอมรับและผลักดันระบบไร่หมุนเวียนและการใช้ประโยชน์ในพื้นที่ซึ่งเป็นวิถีชีวิตและภูมิปัญญาในการจัดการทรัพยากรธรรมชาติอย่างยั่งยืนตามวัฒนธรรมชาวกะเหรี่ยงให้เป็นมรดกโลกทางวัฒนธรรม และเร่งรัดการออกเอกสารสิทธิในที่ดินให้แก่ชุมชนชาวกะเหรี่ยงเพื่อสร้างความมั่นคงให้กับการฟื้นฟูและดำเนินชีวิตตามวิถีวัฒนธรรม โดยระบุให้เป็นการทำงานร่วมกันของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กระทรวงมหาดไทย กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และกระทรวงวัฒนธรรม

ในประเด็นด้านการศึกษา

เป็นการมุ่งเน้นไปที่การออกแบบหลักสูตรและรูปแบบการศึกษาที่สอดคล้องกับวิถีชีวิตและเป็นประโยชน์ต่อการถ่ายทอดภูมิปัญญาและวัฒนธรรมชาติพันธุ์ โดยระบุให้อยู่ภายใต้ความรับผิดชอบของกระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงมหาดไทย และกระทรวงสาธารณสุข

ในมติได้เร่งให้มีการพัฒนาศักยภาพของบุคลากรทางการศึกษา โดยต้องมีการมีส่วนร่วมของชุมชนชาวกะเหรี่ยง และเร่งให้สนับสนุนทุนการศึกษาในระดับอุดมศึกษาในหลายสาขาวิชาเพื่อให้มีบุคคลากรเพียงพอต่อการพัฒนา

ในลำดับต่อมาจึงให้ปรับรูปแบบของโรงเรียนให้เหมาะสมกับแต่ละชุมชน โดยเฉพาะในระดับเด็กเล็กถึงปฐมวัย ปรับระบบการสอบและเงื่อนไขข้อกำหนดคุณวุฒิของบุคลากรทางการศึกษา รวมไปถึงการส่งเสริมนโยบายพหุภาษาและส่งเสริมทุนการศึกษาแก่กลุ่มกะเหรี่ยงและกลุ่มชาติพันธุ์มากขึ้น เพื่อให้สามารถนำองค์ความรู้ไปปรับประยุกต์และกลับไปทำงานในชุมชนของตนเองได้ 

ในประเด็นด้านการสืบทอดมรดกวัฒนธรรม

เบื้องต้นให้ส่งเสริมศูนย์วัฒนธรรมชุมชนให้สอดคล้องกับวิถีชีวิตและฐานคิดดั้งเดิมของกลุ่มชาติพันธุ์ชาวกะเหรี่ยง โดยเป็นการทำงานร่วมกันของ สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัด สำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ ศูนย์บูรณาการไทยสายใยชุมชน และเครือข่ายกะเหรี่ยงเพื่อวัฒนธรรมและสิ่งแวดล้อม รวมไปถึงให้กระทรวงวัฒนธรรม และกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ทำการสนับสนุนงบประมาณในการจัดตั้งศูนย์วัฒนธรรมและการทำกิจกรรมของเครือข่ายทางวัฒนธรรมของกลุ่มชาติพันธุ์ชาวกะเหรี่ยง

ในลำดับต่อมาให้กำหนดพื้นที่เขตคุ้มครองวัฒนธรรมพิเศษสำหรับกลุ่มชาติพันธุ์ โดยมีพื้นที่นำร่องทั้งหมด 4 แห่งในมติฉบับนี้ ได้แก่

1. บ้านห้วยหินลาดใน ตำบลบ้านโป่ง อำเภอเวียงป่าเป้า จังหวัดเชียงราย

2. ตำบลไล่โว่ อำเภอสังขละบุรี จังหวัดกาญจนบุรี

3. บ้านหนองมณฑา (มอวาคี) ตำบลแม่วิน อำเภอแม่วาง จังหวัดเชียงใหม่

4. บ้านเลตองคุ ตำบลแม่จัน อำเภออุ้มผาง จังหวัดตาก

โดยหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับแนวนโยบายนี้ที่ระบุไว้ในมติคือ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กระทรวงวัฒนธรรม กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กระทรวงมหาดไทย และกระทรวงศึกษาธิการ

การเปลี่ยนแปลงทางความคิดและสังคม

เราไม่สามารถปฏิเสธได้เลยว่าการประกาศมติครม. 3 สิงหาคม 2553 ได้ทำให้คนในสังคมไทยจำนวนหนึ่งเปลี่ยนแปลงแนวคิดและทัศนคติต่อกลุ่มชาติพันธุ์ เริ่มตระหนักรู้ถึงความไม่ถูกต้องที่เกิดในประเทศไทย ถือได้ว่าเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีในการสร้างการรับรู้และความเข้าใจเกี่ยวกับประเด็นปัญหาและความจำเป็นหลายประการของกลุ่มชาติพันธุ์ที่แตกต่างกันไป ร่วมถึงการมองเห็นศักยภาพในการจัดการทรัพยากรธรรมชาติตามวิถีวัฒนธรรมดั้งเดิมซึ่งดำรงความอุดมสมบูรณ์ได้ดีกว่าพื้นที่การเกษตรเชิงเดี่ยว และศักยภาพของความหลากหลายทางวัฒนธรรมของกลุ่มชาติพันธุ์ในฐานะชนเผ่าพื้นเมือง

อีกทั้งยังเป็นแรงผลักดันให้เกิดการขับเคลื่อนการพัฒนากฎหมาย นโยบาย และกลไกต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการคุ้มครองวิถีชีวิตชาติพันธุ์ โดยเฉพาะนโยบายหรือมาตราการเกี่ยวกับกลุ่มชาติพันธุ์ในไทยที่มักจะอยู่ภายใต้มิติด้านความมั่นคงมาตลอด ในปัจจุบันได้ถูกปรับเปลี่ยนให้มาอยู่ในมิติด้านวัฒนธรรมมากขึ้น

นี่จึงเป็นหมุดสำคัญในการยอมรับในสิทธิและชีวิตความเป็นอยู่ของชาติพันธุ์ และเป็นหมุดสำคัญที่ส่งเสริมการรวมตัวของเครือข่ายกลุ่มชาติพันธุ์ให้ลุกขึ้นมาทวงคืนความเข้าใจที่ถูกต้องและสิทธิที่ตนพึงมีในฐานะชนเผ่าพื้นเมืองของผืนแผ่นดินไทย

แต่อย่างไรก็ตาม เราก็ยังพบว่าสาระสำคัญในมติดังกล่าวไม่ได้มีผลในเชิงรูปธรรมก้าวหน้าอย่างชัดเจนมากนัก ส่วนหนึ่งเป็นเพราะนโยบายของหลายหน่วยงานมีความขัดแย้งกับแนวนโยบายในมติ และหลายหน่วยงานมีความคิดเห็นว่าแนวนโยบายดังกล่าวไม่ได้เป็นข้อบังคับทางกฎหมายของหน่วยงาน อีกทั้งยังไม่มีการสนับสนุนงบประมาณเพื่อดำเนินการตามแนวนโยบายนั้น ๆ หลายหน่วยงานจึงยังไม่ได้รับมติดังกล่าวไปปรับใช้อย่างที่ควร

แม้การประกาศให้พื้นที่ของชุมชนชาติพันธุ์เป็นเขตคุ้มครองวัฒนธรรมพิเศษเพื่อปกป้องและฟื้นฟูวัฒนธรรมดั้งเดิมยังคงมีการดำเนินการอย่างต่อเนื่อง แต่ชุมชนชาติพันธุ์หลายแห่ง รวมไปถึงพื้นที่ที่ถูกประกาศเป็นเขตคุ้มครองวัฒนธรรมพิเศษบางแห่ง ก็ยังคงประสบกับสถานการณ์ความรุนแรงจากผู้ไม่ประสงค์ดี เจ้าหน้าที่ และนโยบายของรัฐ อยู่เช่นกัน

ความก้าวหน้าจากมติครม. 3 สิงหาคม 2553       
สู่ พ.ร.บ.คุ้มครองสิทธิและส่งเสริมวิถีชีวิตชาติพันธุ์

จากมติครม. 3 สิงหาคม 2553 เรื่องแนวนโยบายในการฟื้นฟูวิถีชีวิตชาวกะเหรี่ยง สู่ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2560 มาตรา 70 และแผนปฏิรูปประเทศ ต่างก็ระบุไปในทิศทางเดียวกันคือ ให้รัฐส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิของกลุ่มชาติพันธุ์ รวมไปถึงความก้าวหน้าอื่น ๆ ที่เกิดขึ้นต่อเนื่องมาจากมติดังกล่าว ต่างนำไปสู่การยอมรับสิทธิชุมชนและความหลากหลายทางวัฒนธรรม

การตั้งคณะกรรมการและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อศึกษาและจัดการแก้ไขปัญหา การประกาศเขตคุ้มครองวัฒนธรรมพิเศษ และการทำแผนพัฒนาอื่น ๆ ต่างก็ให้ความสำคัญและเอื้อให้กับการผลักดันการออกระเบียบกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการคุ้มครองวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ แต่สถานการณ์วิถีชีวิตของชาติพันธุ์ในประเทศไทย ไม่ว่าจะเป็นกะเหรี่ยง ชาวเล หรือกลุ่มชาติพันธุ์อื่น ๆ ต่างก็ยังคงเผชิญหน้ากับปัญหาและอุปสรรคมากมาย

ความพยายามในการผลักดันร่างพระราชบัญญัติส่งเสริมและคุ้มครองวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ ให้ออกเป็นข้อกฎหมายที่มีมาตลอด ตั้งแต่ปี 2557 จนกระทั่งหมดยุคของรัฐบาลพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ก็ยังไม่มีร่างฉบับใดสามารถบรรลุเป้าหมายได้ แม้ว่าจะมีการเตรียมความพร้อมและพัฒนาข้อกฎหมายจากการศึกษาวิจัยจำนวนมากเพื่อให้เหมาะสมและรอบคอบที่สุด แต่ในรัฐบาลปัจจุบันของนายเศรษฐา ทวีสิน ที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชน ทุกฝ่ายต่างก็มีความหวังกับการได้ออกกฎหมายเกี่ยวกับชาติพันธุ์ฉบับนี้เสียที

ความพยายามนี้ ไม่ได้เป็นเพียงหนึ่งในกลไกสำคัญของการต่อสู้เพื่อให้ได้คืนมาซึ่งความเท่าเทียมและสิทธิที่กลุ่มชาติพันธุ์พึงมี หากแต่ยังหมายถึงก้าวสำคัญของการฟื้นฟูศักยภาพวิถีชีวิตชาติพันธุ์ที่ถูกบีบคั้นให้สูญหายด้วยนโยบายของรัฐ และยังเป็นหนึ่งก้าวสำคัญสำหรับการขับเคลื่อนประเทศให้สามารถยืดอกอย่างภาคภูมิได้ในฐานะรัฐที่เคารพสิทธิ เคารพความเป็นพลเมือง และเคารพความเป็นมนุษย์ 

ในปีพ.ศ. 2567 นี้ ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรได้มีมติรับหลักการและตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญขึ้นมาพิจารณาร่างกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับชาติพันธุ์ทั้งหมด 5 ฉบับ และในช่วงเดือนมีนาคมที่ผ่านมา ได้มีตัวแทนกลุ่มชาติพันธุ์ได้เข้าไปในสภาฯ เพื่อร่วมปฏิบัติหน้าที่กรรมาธิการยกร่างกฎหมายฯ เป็นครั้งแรก เพื่อผลักดันร่างกฎหมายเกี่ยวกับชาติพันธุ์ทุกฉบับ และในปัจจุบันเรากำลังอยู่ในขั้นตอนของการที่รัฐสภากำลังพิจารณาร่าง พ.ร.บ. คุ้มครองและส่งเสริมวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ ทั้งในฐานะพลเมืองของรัฐและในฐานะมนุษย์คนหนึ่ง การจับตาดูความโปร่งใสและความก้าวหน้าของการออกกฎหมายฉบับนี้ที่ใกล้จะเกิดขึ้น จึงเป็นเรื่องที่เราไม่อาจมองข้ามได้

บทความโดย

วรัญญา เดชคำฟู

แหล่งอ้างอิงข้อมูล

เอกสารที่เกี่ยวข้องกับ “มติครม. ๓ ส.ค. ๕๓ เรื่องแนวนโยบายในการฟื้นฟูวิถีชีวิตชาวกะเหรี่ยง”

มติครม. ๓ ส.ค. ๕๓ เรื่องแนวนโยบายในการฟื้นฟูวิถีชีวิตชาวกะเหรี่ยง. สถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง (องค์การมหาชน).
https://web2012.hrdi.or.th/public/files/poly43.pdf

การประชุมคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 3 สิงหาคม 2553 ที่เกี่ยวกับ กระทรวง พม.. กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์
https://www.m-society.go.th/ewtadmin/ewt/mso_web/ewt_news.php?nid=7950

แนวนโยบายและหลักปฏิบัติในการฟื้นฟูวิถีชีวิตชาวกะเหรี่ยง. กลุ่มส่งเสริมเครือข่ายและประสานราชการภูมิภาค สํานักบริหารกลางสํานักงานปลัดกระทรวงวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม. มูลนิธิผสานวัฒนธรรม.

ข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับสถานการณ์ หลัง “มติครม. ๓ ส.ค. ๕๓” และ พ.ร.บ.ชาติพันธุ์

จดหมายเรื่อง ร่างพระราชบัญญัติคุ้มครองและส่งเสริมวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ พ.ศ. …. . สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี.

การคุ้มครองสิทธิและส่งเสริมวิถีชีวิตชาติพันธุ์. Policy Watch จับตาอนาคตประเทศไทย (Thai PBS).

เมื่ออุดมการณ์การดูแลจัดการป่าระหว่างรัฐเป็นศูนย์กลางหลังยุครัฐบาลอำนาจนิยม คสช. มีอำนาจเหนือกว่าอุดมการณ์แบบชุมชนมีส่วนร่วม…. เครือข่ายสื่อชนเผ่าพื้นเมือง.

ภาคประชาชนรุก ภาคนโยบายรับ : ความหวังและความท้าทาย ในสถานการณ์ชาติพันธุ์ ปี 2566. ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน).

ถอดบทเรียน 1 ทศวรรษ คุ้มครองวิถีชีวิตชาวกะเหรี่ยง. The Active.

‘10 ปี มติ ครม.ฟื้นฟูวิถีชีวิตวัฒนธรรมกะเหรี่ยง’ วันนี้ยังถูกจับข้อหาบุกรุกแผ้วถางป่า…!!. สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน).