The International Day of the World’s Indigenous People
ก่อนอื่นขอกล่าวถึงข้อมูลบริบททั่วไปของชนเผ่าพื้นเมืองก่อนว่าเป็นอย่างไรบ้าง ทำไมสหประชาชาติจึงต้องให้ความสำคัญ และมีมาตรการเฉพาะสำหรับการคุ้มครองและปกป้องสิทธิของพวกเขา
ชนเผ่าพื้นเมืองทั่วโลกจากข้อมูลของสหประชาชาติระบุว่ามีประชากรประมาณ 470 ล้านคน อาศัยอยู่ใน 90 ประเทศ คิดเป็น 5-6 เปอร์เซ็นต์ของจำนวนประชากรโลก มีภาษาพูดมากกว่า 7,000 ภาษา มีวัฒนธรรมที่แตกต่างกันกว่า 5,000 วัฒนธรรม และประชากรชนเผ่าพื้นเมืองส่วนใหญ่เป็นกลุ่มที่ยากจนที่สุด
ชนเผ่าพื้นเมืองมีวัฒนธรรม วิถีชีวิตและอัตลักษณ์ ที่แตกต่างไปจากประชากรหลักในสังคมที่พวกเขาอาศัยอยู่ ถึงแม้ว่าจะมีความแตกต่างทางวัฒนธรรม แต่ชนเผ่าพื้นเมืองทั่วโลกกลับประสบปัญหาเหมือนกัน คือ ถูกเลือกปฏิบัติ ถูกละเมิดสิทธิ ถูกแย่งชิงที่ดิน รูปแบบวิถีชีวิตและวัฒนธรรมถูกทำลาย การปฏิบัติตามกฎจารีตประเพณีที่ยึดโยงกับที่ดินและทรัพยากรธรรมชาติไม่ได้รับการยอมรับ พื้นที่หลายแห่งต้องเผชิญกับถูกรุกรานจากโครงการพัฒนาขนาดใหญ่ รวมทั้งถูกป่าอนุรักษ์ของรัฐประกาศทับที่อยู่อาศัยและที่ทำกินของชุมชน สิ่งเหล่านี้ส่งผลกระทบต่อการดำรงชีวิตของชนเผ่าพื้นเมืองโดยตรง ทำให้ชุมชนไม่มีความมั่นคง อัตลักษณ์และการปฏิบัติที่ดีหลายอย่างต้องสูญหายไป และก่อให้เกิดช่องว่างและความเหลื่อมล้ำทางสังคมมากขึ้น
สภาพปัญหาดังกล่าวทำให้ประชาคมโลกตระหนักและเห็นถึงความจำเป็นที่ต้องมีนโยบายและมาตรการเฉพาะขึ้นมาเพื่อปกป้องและคุ้มครองสิทธิและวิถีชีวิตของชนเผ่าพื้นเมืองโดยเสนอให้มีการจัดตั้งคณะทำงานแห่งสหประชาชาติว่าด้วยประชากรชนเผ่าพื้นเมือง (UN Working Group on Indigenous Populations – UNWGIP) ขึ้นมาใน 2525 (ECOSOC resolution 1982/34) เพื่อทำหน้าที่ทบทวนและพัฒนามาตรฐานที่เกี่ยวข้องกับการส่งเสริมและการคุ้มครองสิทธิมนุษยชนและเสรีภาพขั้นพื้นฐานของชนเผ่าพื้นเมือง
คณะทำงานฯ ชุดนี้ได้ริเริ่มและดำเนินกิจกรรมดำเนินหลายอย่าง ที่สำคัญๆ เช่น การศึกษาข้อมูลและสถานการณ์ของชนเผ่าพื้นเมืองเพิ่มเติม การยกร่างปฏิญญาสหประชาชาติว่าด้วยสิทธิชนเผ่าพื้นเมือง การประกาศปีสากลของชนเผ่าพื้นเมืองโลก (International Year of the World’s Indigenous People) ในปี 2536 และการประกาศให้มีวันสากลของชนเผ่าพื้นเมืองโลก (The International Day of the World’s Indigenous Peoples) ขึ้นมาในปี 2537 รวมทั้งการประกาศปีทศวรรษสากลของชนเผ่าพื้นเมืองระยะที่ 1 ( 2538-2547 ) ระยะที่ 2 (2548-2557) เพื่อสร้างความตระหนักและและเรียกร้องให้ประเทศต่างๆ ให้ความสำคัญกับการให้การยอมรับ การคุ้มครองสิทธิและส่งเสริมวิถีชีวิตของชนเผ่าพื้นเมืองที่มีอยู่ในประเทศต่างๆ
ความสำคัญของวันสากลของชนเผ่าพื้นเมืองโลก
สมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติได้ประกาศให้วันที่ 9 สิงหาคมของทุกปีเป็นวันสากลของชนเผ่าพื้นเมืองโลก เมื่อวันที่ 23 ธันวาคม 2537 ตามมติที่ 49/214 เพื่อ
1. ให้ประชาคมโลกรับรู้ ตระหนักถึงปัญหา ความต้องการ และช่วยกันหาแนวทางแก้ไขปัญหาที่ชนเผ่าพื้นเมืองประสบอยู่ โดยจัดทำมาตรการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิของชนเผ่าพื้นเมือง เพื่อยกระดับชีวิตให้มีความเสมอภาคและเท่าเทียมกับคนกลุ่มอื่น ๆ ในสังคม ให้ชนเผ่าพื้นเมืองสามารถธำรงรักษาอัตลักษณ์ วัฒนธรรม และวิถีการดำเนินชีวิตตามที่ตนเองปรารถนาได้
2. ยอมรับคุณค่าและสิ่งดี ๆ ที่ชนเผ่าพื้นเมืองช่วยเหลือหรือมีต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม เช่น การดูแลและรักษาสิ่งแวดล้อม การใช้ทรัพยากรธรรมชาติอย่างยั่งยืน การอนุรักษ์พันธุ์พืชพื้นบ้าน เป็นต้น
3. เป็นพื้นที่ในการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ประสบการณ์และเสริมสร้างความสมานฉันท์ในหมู่ชนเผ่าพื้นเมืองด้วยกันเอง
4. ก่อให้เกิดความภาคภูมิใจในการเป็นชนเผ่าพื้นเมือง
โดยองค์การสหประชาชาติได้เชิญชวนให้มีการเฉลิมฉลองร่วมกันทุกปี ซึ่งในส่วนของรูปแบบและกิจกรรมในการเฉลิมฉลองนั้น มีความหลากหลายขึ้นอยู่กับการออกแบบของแต่ละหน่วยงานและพื้นที่ในการจัดงาน โดยในแต่ละปีสหประชาชาติจะกำหนดประเด็นหลักสำหรับการรณรงค์เป็นการเฉพาะในปี 2567 สหประชาชาติได้กำหนดให้ประเด็น “ชนเผ่าพื้นเมืองที่แยกตัวไปอยู่อย่างโดดเดี่ยวโดยสมัครใจ และกลุ่มที่เพิ่งออกมาติดต่อกับสังคมภายนอก” (Indigenous Peoples in Voluntary Isolation and Initial Contact) เป็นประเด็นการรณรงค์หลัก
ทำไมต้อง 9 สิงหาคม
เหตุผลสำคัญที่สหประชาชาติ เลือกเอาวันที่ 9 สิงหาคม เป็นวันสากลของชนเผ่าพื้นเมืองโลกนั้น เนื่องจากว่าวันที่ 9 สิงหาคม 2525 นั้นเป็นการประชุมครั้งแรกของคณะทำงานสหประชาชาติว่าด้วยประชากรชนเผ่าพื้นเมือง (UN Working Group on Indigenous Populations – UNWGIP) ที่ก่อตั้งขึ้นในปี 2525 ซึ่งถือว่ามีความสำคัญและเป็นย่างก้าวแรกของการนำไปสู่การดำเนินการและพัฒนามาตรฐานต่างๆ ในการคุ้มครองสิทธิของชนเผ่าพื้นเมืองทั่วโลก
การเฉลิมฉลองในประเทศไทย
สำหรับประเทศไทยนั้น เครือข่ายชนเผ่าพื้นเมืองแห่งประเทศไทย (คชท.) กับองค์กรภาคีได้ร่วมกันจัดงานรณรงค์และเฉลิมฉลองเนื่องในวันชนเผ่าพื้นเมืองสากลและประเทศไทยมาอย่างต่อเนื่องทุกปี ตั้งแต่ปี 2550 เป็นต้นมา กิจกรรมที่สำคัญได้แก่ การแสดงศิลปะวัฒนธรรม การจัดนิทรรศการ การเดินรณรงค์ การเสวนาวิชาการ การจำหน่ายสินค้า และการประกาศเจตนารมณ์ร่วมกัน ในปีนี้ ทางคชท. สภาชนเผ่าพื้นเมืองแห่งประเทศไทย (สชพ.) และองค์กรภาคีสนับสนุน ได้ร่วมกันจัดงานเฉลิมฉลองเนื่องในวันชนเผ่าพื้นเมืองแห่งประเทศไทย ภายใต้ธีมงาน “ร่วมฉลองกฎหมายคุ้มครองสิทธิและส่งเสริมวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์และชนเผ่าพื้นเมือง” ระหว่างวันที่ 8-10 สิงหาคม 2567 ณ สถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส และศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร กรุงเทพนมหานคร
ขอเชิญชวนทุกท่านที่สนใจมาร่วมเฉลิมฉลองด้วยกันนะครับ
บทความโดย ฝุยุ่น
#วันชนเผ่าพื้นเมืองแห่งประเทศไทย #วันชนเผ่าพื้นเมือง #วันชนเผ่าพื้นเมืองโลก #วันสากลชนเผ่าพื้นเมืองโลก #IPsDay2024 #WeAreIndigenous #เราคือชนเผ่าพื้นเมือง #IamIndigenous #ฉันคือชนเผ่าพื้นเมือ #IDWIP2024 #IPsDay #Indigenous_Peoples_Day #Thailand #IPD2024 #IMN #ศมส. #สชพ. #มพน. #Pmove #ฉลองกฎหมายชนเผ่า #ผลักดันกฎหมายชาติพันธุ์ #Draftlaws #สภาชนเผ่าพื้นเมือง #กฎหมายชนเผ่า #ชนเผ่าพื้นเมือง #Indigenous #ชาติพันธุ์ #รัฐไทย #ชนเผ่า