ในวันที่โลกเต็มไปด้วยปัญหาด้านสิ่งแวดล้อม ไม่ว่าจะเป็นการเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศ ขยะพลาสติก การสูญเสียความหลากหลายทางชีวิตภาพ และอีกมากมาย ทำให้ประเด็นเรื่องทรัพยากรธรรมชาติและพื้นที่อนุรักษ์ได้กลายมาเป็นประเด็นร้อนในสังคมไทยที่เกิดข้อถกเถียงกันในสังคมอย่างยืดเยื้อ อาทิ ประเด็นกะเหรี่ยงบางกลอย ในผืนป่ามรดกโลกแก่งกระจาน หรือล่าสุดประเด็นทับลานที่สั่นคลอนความเห็นต่างของผู้คน จนเกิดกระแสเซฟทับลานในโลกไซเบอร์อย่างล้นหลาม ล่าสุดประเด็นคนอยู่กับป่า และการประกาศพื้นที่อุทยานทับซ้อนที่อยู่อาศัยดั้งเดิมของกลุ่มชาติพันธุ์และชนเผ่าพื้นเมืองกว่า 4,000 ชุมชน ได้ถูกพูดถึงอีกครั้ง เมื่อประเด็นของร่างพระราชกฤษฎีกา (พ.ร.ฎ.) ว่าด้วยการจัดการพื้นที่ป่าอนุรักษ์ ที่ได้กลายเป็นประเด็นที่ไม่เพียงแต่สร้างคำถามจากชาวบ้านในพื้นที่ป่า แต่ยังจุดประกายให้เกิดการแถลงข่าวจากคณะกรรมาธิการด้านที่ดิน ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ของรัฐสภา โดยมีข้อเรียกร้องให้ชะลอการพิจารณาเพื่อแก้ปัญหาที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต
เมื่อวันที่ 15 พฤศจิกายน 2567 ทางเพจ IMN เครือข่ายสื่อชนพื้นเมือง จึงได้เสวนาหัวข้อ “พ.ร.ฎ. ป่าอนุรักษ์ กฎหมายเปลี่ยนคนอยู่กับป่า ให้กลายเป็นผู้บุกรุก” ผ่าน IMN Live ในเวลา 19.00 – 20.00 น. โดยมี ธนากร อัฏฐ์ประดิษฐ์ ที่ปรึกษาประจำคณะกรรมาธิการการที่ดิน ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม สภาผู้แทนราษฎร กับ สว่าง เลายี่ป๋า ผู้แทนชุมชนคนรักษ์ป่า เป็นผู้ร่วมเสวนา และมี พนม ทะโน ดำเนินรายการ
จุดเริ่มต้นของ พ.ร.ฎ. ป่าอนุรักษ์
กลางกระแสความขัดแย้งเรื่องที่ดินและทรัพยากรธรรมชาติของประเทศไทย พนมได้เปิดบทสนทนาถึง พระราชกฤษฎีกาจัดการพื้นที่ป่าอนุรักษ์ หรือ พ.ร.ฎ. ป่าอนุรักษ์ ที่กลายมาเป็นหัวข้อถกเถียงอย่างร้อนแรงอีกครั้ง เมื่อคณะกรรมาธิการที่ดิน ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมแห่งรัฐสภา ออกแถลงการณ์ขอให้รัฐบาลชะลอการผลักดันร่างกฎหมายฉบับเอาไว้ก่อน
ธนากร อัฏฐ์ประดิษฐ์ ในฐานะที่ปรึกษาคณะกรรมาธิการ การที่ดิน ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งงแวดล้อม ได้กล่าวถึงจุดเริ่มต้นของพระราชกฤษฎีกาโครงการอนุรักษ์ โดยกล่าวว่า กฎหมายฉบับดังกล่าวเป็นกฎหมายลูกที่มีจุดเริ่มต้นมาจากสถานการณ์ทางการเมืองในประเทศไทย หลังการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองและการรัฐประหารในปี 2557 ซึ่งนำไปสู่การจัดตั้งสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ที่ถูกแต่งตั้งขึ้นโดยคณะรัฐประหาร ในช่วงนั้น ประเทศไทยขาดกลไกปกติของสภาผู้แทนราษฎร ส่งผลให้มีการผลักดันแก้ไขและตรากฎหมายทั้งเก่าและใหม่อย่างต่อเนื่อง ในระยะเวลา 3-4 ปีหลังจากการรัฐประหาร จึงมีกฎหมายที่ผ่านการพิจารณาและประกาศใช้มากกว่า 300 ฉบับ รวมถึงพระราชบัญญัติสำคัญ 2 ฉบับ คือ พระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติ พ.ศ. 2562 และพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2562 ซึ่งมีผลบังคับใช้ในเดือนพฤษภาคม ปี 2562 และถูกออกแบบมาเพื่อจัดการกับปัญหาสำคัญที่ค้างคามาเป็นเวลานาน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ปัญหาที่ดินทำกินของประชาชน กฎหมายทั้ง พ.ร.บ. อุทยานฯ และ พ.ร.บ. สงวนคุ้มครองฯ ระบุถึงการแก้ไขปัญหาที่ดินทำกินของประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากการประกาศเขตป่าของรัฐตลอด 50-60 ปีที่ผ่านมา ซึ่งมักทับซ้อนกับพื้นที่ชุมชนดั้งเดิม โดยกฎหมายได้กำหนดให้รัฐบาลหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเสนอแผนแก้ไขปัญหาต่อคณะรัฐมนตรี เพื่อออกเป็นพระราชกฤษฎีกา ตามที่ระบุไว้ตั้งแต่ปี 2562
“เพราะฉะนั้นเมื่อ พ.ร.บ. ระบุไว้ว่า ตัวอย่างเช่นมาตรา 64 ของ พ.ร.บ.อุทยานแห่งชาติ มาตรา 121 ของ พ.ร.บ. สงวนคุ้มครองฯ เขียนไว้ว่า ต้องมีการสำรวจแนวเขตที่ดินสำรวจพื้นที่ใช้ประโยชน์ของชุมชนและไปตราเป็นพระราชกฤษฎีกาออกมา หลังจากปี 2562 เป็นต้นมาเขาก็มีการวางกรอบไว้ว่าช่วงนั้นให้เวลา 240 วัน ในการดำเนินการเรื่องเหล่านี้”
ธนากร กล่าวอย่างมีนัยยะสำคัญ พร้อมอธิบายต่อว่า การสำรวจการใช้ที่ดินของชุมชนในเขตทับซ้อนป่าอนุรักษ์ทั่วประเทศตามกฎหมายปี 2562 ต้องดำเนินการให้แล้วเสร็จภายในกรอบเวลาที่กำหนด 240 วัน แต่จนถึงปี 2567 ยังไม่เสร็จสิ้นและมีการขยายเวลามาแล้ว 2 ครั้ง ล่าสุดต้องดำเนินการให้เสร็จภายในเดือนพฤศจิกายนนี้ จึงเกิดความวุ่นวายในการเร่งเสนอร่างพระราชกฤษฎีกาต่อคณะรัฐมนตรีในช่วงโค้งสุดท้าย โดยตลอดกระบวนการนี้มีปัญหาและข้อสังเกตมากมาย
สำรวจเสร็จจะมีขั้นตอนอย่างไรต่อ? และทำไมกระบวนการถึงใช้เวลายืดเยื้อจนกลายเป็น 2 ปี ทั้งที่ช่วงแรกตั้งกรอบเวลาไว้เพียง 240 วัน?
“ตามตัวบทกฎหมายที่ระบุไว้ใน พ.ร.บ. กำหนดกรอบเวลา 240 วันสำหรับการสำรวจการถือครองที่ดินของประชาชนในพื้นที่เหล่านี้ เพื่อไม่ให้กระบวนการยืดเยื้อ โดยทฤษฎีแล้ว การสำรวจนี้จะนำไปสู่การรวบรวมข้อมูลเพื่อออกแบบโครงการ และท้ายที่สุดตราเป็นพระราชกฤษฎีกา (พ.ร.ฎ.) เพื่อแก้ไขปัญหาที่ดินทำกินในเขตป่าอนุรักษ์ของประชาชน นี่คือสิ่งที่ตัวกฎหมายใหญ่หรือ พ.ร.บ. วางไว้ แต่ปัญหาก็คือ ในทางปฏิบัติ กระบวนการนี้เจออุปสรรคหลายอย่าง ทำให้ไม่สามารถดำเนินการให้เสร็จตามกรอบเวลา 240 วัน และกลายเป็นการยืดเยื้อจนถึงปัจจุบัน พูดง่าย ๆ คือ สำรวจพื้นที่การถือครองเพื่อรวบรวมข้อมูล ออกแบบโครงการ และตราเป็นพระราชกฤษฎีกาตามที่กฎหมายกำหนด โดยมีเป้าหมายเพื่อแก้ไขปัญหาการอยู่อาศัยและการใช้ประโยชน์ที่ดินในเขตพื้นที่อนุรักษ์ตามแนวคิดของกฎหมาย” ธนากรกล่าว
การสำรวจชุมชนในพื้นที่ป่าและการมีส่วนร่วมจากประชาชน
สำหรับประเด็นการมีส่วนร่วมของพี่น้องในชุมชนที่ได้รับผลกระทบจากโครงการต่างๆ หรือการสำรวจที่เกี่ยวข้องกับกรมอุทยานและกรมป่าไม้ เพื่อทำความเข้าใจถึงผลกระทบและปัญหาที่เกิดขึ้นในพื้นที่ สว่าง เลายี่ป๋า ในฐานะประชาชนคนที่อยู่กับป่า เล่าว่า “ได้มีการสำรวจเหมือนกัน” แต่กระบวนการดังกล่าวกลับพบปัญหาที่ยังไม่ได้รับการแก้ไขอย่างครบถ้วน ในมุมมองของเขา, กระบวนการสำรวจที่ถูกจัดขึ้นนั้นไม่ได้สามารถสะท้อนความจริงในพื้นที่ได้ทั้งหมด ซึ่งเกิดจากหลายปัจจัยทั้งจากเวลาที่จำกัดและการขาดการมีส่วนร่วมจากชุมชน
“ผม 240 วันสำหรับพื้นที่ที่แต่ละอุทยานหรือเขตรักษาพันธุ์ป่า มีประชาชนอาศัยอยู่ในเขตป่าค่อนข้างเยอะ บางพื้นที่ยังไม่ได้รับการสำรวจ กระบวนการมีส่วนร่วม(ของชุมชน)มีน้อย”
สว่างกล่าว และเขามีความเห็นว่า โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับประชาชนที่ส่วนใหญ่เป็นชาติพันธุ์พื้นเมือง การทำงานในพื้นที่เหล่านี้จำเป็นต้องมีความเข้าใจลึกซึ้งและการอธิบายที่เหมาะสม
ในระหว่างการสนทนา, ผู้ดำเนินรายการได้ถามถึงกระบวนการสำรวจในพื้นที่ป่าทับซ้อนที่ชุมชนที่สว่างอาศัยอยู่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งวิธีการและขั้นตอนการสำรวจ ความชัดเจนในการมีส่วนร่วมของชุมชนและผลลัพธ์ที่จะตามมาหลังจากการสำรวจเสร็จสิ้น
สว่างได้อธิบายถึงกระบวนการตาม พ.ร.บ.อุทยาน ปี 2562 ซึ่งระบุให้มีการสำรวจพื้นที่ภายใต้การอนุรักษ์ โดยชาวบ้านในเขตป่าจะต้องแจ้งตัวตนภายใน 90 วันผ่านผู้ใหญ่บ้านและกระบวนการสำรวจจะเริ่มภายใน 240 วัน หลังจากนั้นจะมีการแต่งตั้งคณะกรรมการเพื่อดำเนินการสำรวจ ซึ่งจะต้องมีการมีส่วนร่วมจากชุมชนและองค์กรปกครองท้องถิ่นในทุกขั้นตอน
“การสำรวจจะเริ่มจากการชี้แจงวัตถุประสงค์ให้ชัดเจน, จากนั้นจะมีการแบ่งโซนการสำรวจ, และเจ้าของพื้นที่จะได้รับโอกาสตรวจสอบข้อมูลการสำรวจของตนเอง ว่าพิกัดและขนาดพื้นที่ถูกต้องหรือไม่” สว่างกล่าวเสริม
เขายังชี้ให้เห็นถึงปัญหาที่เกิดขึ้นในกระบวนการสำรวจในหลายพื้นที่ เช่น ในบางชุมชน การมีส่วนร่วมไม่กระจายอย่างแท้จริง” บางครั้งตัวแทนที่มาร่วมก็ไม่ได้สะท้อนความคิดเห็นของชุมชน, และบางครั้งการสื่อสารกับเจ้าหน้าที่ก็ไม่เป็นไปตามที่คาดหวัง.” เขายังกล่าวอีกว่าในบางกรณีที่การสำรวจเสร็จสิ้นแล้ว ข้อมูลก็อาจจะสูญหายไปโดยไม่มีการส่งคืนข้อมูลให้ชาวบ้านหรือให้โอกาสในการตรวจสอบซ้ำ.
เมื่อพิธีกรซักถามถึงสถานการณ์หากข้อมูลที่สำรวจหายไป ว่าในกรณีเช่นนี้จะมีการสำรวจใหม่หรือไม่ และกระบวนการจะเดินหน้าต่อไปอย่างไร. สว่างตอบว่าในบางกรณีที่ข้อมูลสูญหาย, กระบวนการแก้ไขอาจยังคงดำเนินต่อไปได้ แต่ในหลายครั้งการแก้ไขก็ยังไม่เกิดขึ้นจริง “ปากก็พูดว่าแก้ไขได้อยู่ แต่ไม่มีกระบวนการที่ทำต่อ ไม่มีแผนที่ชัดเจน” สว่างกล่าว
ข้อมูลสูญหายในกระบวนการสำรวจที่ดินชุมชนในพื้นที่ป่าอนุรักษ์
สำหรับประเด็นนี้ ธนากรได้แชร์ประสบการณ์จากการดำเนินงานในสมัยสภาผู้แทนราษฎรชุดที่แล้ว ซึ่งในช่วงนั้นได้มีการสำรวจพื้นที่อนุรักษ์จากหลายชุมชน โดยในระหว่าง 240 วันที่ต้องดำเนินการสำรวจชุมชนกว่า 4,000 ชุมชนได้ยื่นเรื่องสอบถามถึงปัญหาของกระบวนการที่หลากหลายและไม่ชัดเจนหรือไม่ได้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน หรือบางครั้งข้อมูลที่สำรวจไปแล้วไม่ได้รับการชี้แจงอย่างชัดเจนกับชุมชน
“บางครั้งชุมชนไม่รับรู้รายละเอียดเกี่ยวกับกระบวนการสำรวจอย่างแท้จริง เช่น ไม่ทราบว่าใช้วิธีการใดในการสำรวจ, จะมีการเดินสำรวจแนวเขตทั้งหมดใหม่หรือไม่, หรือใช้ข้อมูลพื้นฐานจากช่วงเวลาใดมาเป็นฐานเพื่ออัพเดทกับผู้นำชุมชนหรือประชาชนในพื้นที่นั้น ๆ นอกจากนี้ยังมีบางคนที่บอกว่าไม่รู้เลยว่าข้อมูลที่เจ้าหน้าที่ส่งกลับไปนั้นมีลักษณะเป็นอย่างไร และแม้เจ้าหน้าที่จะชี้แจงว่ามีการดำเนินการสำรวจตามกระบวนการแล้วเสร็จ แต่ข้อมูลเหล่านั้นก็ไม่ชัดเจนพอสำหรับชุมชนที่จะเข้าใจ” ธนากรอธิบาย
ในหลายกรณีข้อมูลที่สูญหายไม่สามารถนำมาวิเคราะห์เพื่อแก้ไขปัญหาได้อย่างถูกต้อง ธนากรยังกล่าวเพิ่มเติมว่า ในช่วงที่มีการร้องเรียนเข้ามา คณะกรรมาธิการได้ทำการสรุปปัญหาดังกล่าวและเสนอให้สภาพิจารณา ซึ่งต่อเนื่องมาจนถึงสภาผู้แทนราษฎรชุดปัจจุบัน แต่ไม่ได้มีคำตอบชัดเจนว่าในระหว่าง 240 วันข้อมูลเหล่านั้นที่ต้องมีการสำรวจจริงๆ มันมีความถูกต้อง ผ่านกระบวนการมีส่วนร่วม ผ่านความเข้าใจและสามารถนำไปแก้ปัญหาต่อได้ขนาดไหน อันนี้ไม่ยืนยัน
ข้อกังวลที่นำมาสู่การแถลงข่าวจากคณะกรรมาธิการด้านที่ดิน ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ของรัฐสภา ขอให้ชะลอการพิจารณาเพื่อ พ.ร.ฎ. ป่าอนุรักษ์ ออกไป
เมื่อย้อนกลับมามองกระบวนการสำรวจที่ผ่านมา ไม่ว่าจะเป็นในอดีตหรือกระบวนการที่เพิ่งผ่านมาในช่วง 2 ปีหลังจากการแก้ไขกฎหมาย พ.ร.บ.อุทยานฯ และ พ.ร.บ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า จะเห็นว่ามีความพยายามในการดำเนินการสำรวจพื้นที่เหล่านี้อยู่ แต่ถึงแม้จะมีการสำรวจหลายครั้ง กระบวนการยังคงมีปัญหาอยู่พอสมควร ขณะที่การสำรวจยังคงมีข้อจำกัด หน้าที่สำคัญคือการเร่งผลักดันร่างพระราชกฤษฎีกาในโครงการการจัดการพื้นที่ป่าอนุรักษ์ ล่าสุดจากข่าวที่ได้เห็น คณะกรรมาธิการที่ดิน ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมได้ออกแถลงข่าวเพื่อชะลอและผลักดันพระราชกฤษฎีกานี้ออกไป
โดยธนากรได้กล่าวว่า “หลังจากที่เริ่มทำงานในสภาผู้แทนราษฎรชุดนี้ เราก็พบว่าเรื่องการร้องเรียนเกี่ยวกับกฎหมายในพื้นที่ป่าอนุรักษ์ยังคงมีเข้ามาอยู่ต่อเนื่อง ทั้งในส่วนของการบังคับใช้กฎหมาย และการตั้งคำถามต่อกฎหมายลำดับรองและระเบียบต่างๆ ที่ออกมา ซึ่งไม่ใช่แค่เกี่ยวกับพระราชกฤษฎีกาทั้ง 2 ฉบับนี้เท่านั้น คณะกรรมาธิการได้พิจารณาปัญหาที่เกี่ยวข้องกับประชาชนจำนวนมากที่อาศัยอยู่ใน 4,000 กว่าชุมชน ซึ่งมีทั้งประชาชนและองค์กรเอกชนที่ทำงานด้านนี้ร้องเรียนเข้ามา มีการเชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้ามาร่วมพูดคุย เพื่อให้ข้อมูลและช่วยกันหาข้อสรุปเกี่ยวกับข้อสังเกตและข้อกังวลจากหลายฝ่าย ซึ่งมีประมาณ 2-3 ปัญหาหลักที่คณะกรรมาธิการเห็นว่าเป็นประเด็นสำคัญ ปัญหาหลักประการแรกคือการเชื่อมโยงระหว่างพระราชกฤษฎีกากับพระราชบัญญัติทั้ง 2 ฉบับในปี 2562 ที่มีกฎหมายนี้เกิดขึ้นโดยขาดการมีส่วนร่วมจากประชาชนตั้งแต่ต้น ข้อสังเกตที่สำคัญคือกฎหมายตัวนี้ไม่ได้มีความยึดโยงกับประชาชนในพื้นที่ ซึ่งอาจทำให้ไม่สามารถแก้ไขปัญหาข้อพิพาทระหว่างคนกับป่าได้อย่างมีประสิทธิภาพ อีกทั้งยังมีปัญหาในกระบวนการมีส่วนร่วมที่เกิดขึ้นตั้งแต่การร่างกฎหมาย จนถึงการสำรวจ 240 วันที่ชุมชนและประชาชนในพื้นที่หลายแห่งไม่รู้ถึงกระบวนการนี้เลย รวมทั้งการขัดแย้งในเรื่องของการเร่งรัดการผ่านร่างพระราชกฤษฎีกา ที่มีข้อกังวลเกี่ยวกับแผนที่แนวเขตที่ไม่ครอบคลุมทุกพื้นที่ที่จำเป็น”
โดยธนากรได้ให้ข้อมูลเพิ่มเติมในประเด็นนี้ว่า ควรจะมีแผนที่ครอบคลุมทุกป่าอุทยานทั่วประเทศประมาณ 200 กว่าป่า ซึ่งข้อมูลนี้ครอบคลุมกว่า 4,000 ชุมชน แต่เมื่อดูร่างที่ได้มีการเสนอไป พบว่าแผนที่ที่แนบไปนั้นไม่ถึง 10 แห่งด้วยซ้ำ จึงเป็นข้อสังเกตที่อาจขัดต่อกฎหมายที่ระบุไว้ ซึ่งเป็นปัญหาที่ต้องให้ความสนใจต่อไป
ในส่วนประเด็นที่สองอันเกี่ยวกับเนื้อหาของร่างพระราชกฤษฎีกา ธนากรได้ให้ความเห็นว่า “ข้อกังวลเกี่ยวกับเนื้อหาของร่างพระราชกฤษฎีกา ซึ่งคณะกรรมาธิการตั้งข้อสังเกตว่าอาจจะไปสู่การจำกัดสิทธิของประชาชนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่อนุรักษ์เดิม โดยเนื้อหาของร่างกฎหมายนี้กำหนดให้ชุมชนที่อยู่อาศัยในพื้นที่อนุรักษ์ต้องเปลี่ยนสถานะเป็นโครงการอนุรักษ์ภายใต้กฎหมายที่กำหนด เช่น ต้องจำกัดพื้นที่การครอบครองไม่เกิน 20 ไร่ต่อครอบครัวและไม่เกิน 40 ไร่ต่อครัวเรือน รวมถึงต้องปฏิบัติตามเงื่อนไขต่าง ๆ ที่กำหนดไว้ ซึ่งจะกระทบต่อสิทธิของประชาชนที่อาศัยอยู่มาก่อน” ซึ่งอาจจะทำให้เกิดการจำกัดสิทธิ์ของชุมชนที่อยู่มาก่อนเพราะการเปลี่ยนแปลงสถานะของชุมชนในพื้นที่อนุรักษ์เป็นโครงการอนุรักษ์นั้นหมายความว่าชุมชนเหล่านี้จะต้องตกอยู่ภายใต้เงื่อนไขต่าง ๆ ที่จำกัดสิทธิ์ในหลายประเด็น และจะเป็นเหตุผลสำคัญที่คณะกรรมาธิการต้องออกมาแถลงเพื่อชะลอการดำเนินการเหล่านี้ออกไปก่อน
ชะตากรรมของชุมชนหลังผ่าน พ.ร.ฎ.ป่าอนุรักษ์
สว่าง ตัวแทนชุมชนในพื้นที่ป่าอนุรักษ์ สอท้อนว่าชาวบ้านมีความรู้สึกว่ากฎหมายและพระราชกฤษฎีกาฉบับนี้ไม่ตอบโจทย์ในการแก้ปัญหาที่แท้จริง กลับทำให้เกิดการบังคับใช้เงื่อนไขที่ไม่สอดคล้องกับวิถีชีวิตและการทำกินของพวกเขา ซึ่งการห้ามใช้เคมีหรือการจำกัดการทำการเกษตรแบบหมุนเวียนอาจไม่ได้เป็นทางออกที่ยั่งยืน นอกจากนี้ยังมีข้อสงสัยว่าแท้จริงแล้วภาครัฐควรจะมีการสนับสนุนการใช้วิธีการทดแทนที่เหมาะสมมากกว่า หรือควรจะจัดการกับต้นเหตุที่เกิดขึ้นจากการทำการเกษตรที่ไม่ยั่งยืน
“ความรู้สึกเครียดและกังวลของชาวบ้านในชุมชนยังสะท้อนให้เห็นถึงความไม่พอใจเกี่ยวกับกระบวนการสำรวจที่มีเงื่อนไขหลากหลายที่ดูเหมือนจะไม่เป็นธรรม ซึ่งสร้างความขัดแย้งระหว่างเจ้าหน้าที่กับชุมชนอย่างต่อเนื่อง ชาวบ้านมองว่าเงื่อนไขและกฎเกณฑ์ที่เพิ่มมากขึ้นทำให้เกิดช่องว่างในการบังคับใช้กฎหมาย ซึ่งอาจนำไปสู่การคอร์รัปชั่นและปัญหาความไม่ร่วมมือในการจัดการทรัพยากรร่วมกัน” สว่างกล่าว
รวมเขาได้เล็งเห็นปัญหาด้านวัฒนธรรมครอบครัวว่าที่ผ่านมาพี่น้องชาติพันธุ์ยังอยู่กันเป็นครอบครัวใหญ่ ทำให้ผู้สูงอายุในชุมชนมีลูกหลานดูแล แต่หากในอนาคตพวกเขาไม่มีที่ดินทำกิน ก็จะทำให้เกิดการอพยพแรงงาน ผู้สูงอายุในชุมชนจะขาดคนดูแล และเป็นภาระของรัฐในที่สุด
อีกประเด็นที่น่าสนใจ สว่างเห็นว่าพื้นที่ของพี่น้องชนเผ่าพื้นเมืองคือแหล่งผลิตอาหารของคนเมือง ในช่วงโควิดที่ผ่านมา พี่น้องชาติพันธุ์บนดอยได้แบ่งปันพืชผัก เช่น ฟักทอง ให้กับชุมชนในพื้นที่ราบ รวมถึงสังคมในเมืองใหญ่ เช่น กรุงเทพฯ และเชียงใหม่ ซึ่งแสดงถึงการช่วยเหลือและการแบ่งปันในระบบชุมชนที่มีความยืดหยุ่นและเอื้อเฟื้อกันมาตลอด อย่างไรก็ตาม การมีพระราชบัญญัติข้อหนึ่งที่ห้ามไม่ให้บุคคลภายนอกเช่าหรือทำกินในที่ดินของผู้อื่นนั้น อาจทำให้ระบบแบ่งปันและการสนับสนุนกันในชุมชนที่เคยมีมา หายไป” เมื่อรัฐไม่เข้าใจว่าวัตถุดิบเหล่านี้มาจากชุมชนชนเผ่าพื้นเมืองหรือพี่น้องชาติพันธุ์ทั้งสิ้น ก็อาจจะส่งผลต่อภาคการเกษตรที่เป็นเสมือนครัวหลังใหญ่ของพี่น้องคนเมือง
หลังร่างพระราชกฤษฎีกาผ่านมติ ครม. และหลังพระราชกฤษฎีกามีผลบังคับใช้ ชุมชนได้รับผลกระทบอย่างไร?
ในช่วงสุดท้าย มีคำถามจากทางบ้านที่น่าสนใจ ถ้าร่างพระราชกฤษฎีกาผ่านมติ ครม. แล้วจะเกิดอะไรขึ้น? ธนากรตอบว่า หลังจากที่ผ่านมติ ครม. แล้ว จะเข้าสู่กระบวนการประกาศเป็นพระราชกฤษฎีกา โดยคาดว่าจะประกาศภายในเดือนนี้ เมื่อประกาศออกมาแล้ว กฎหมายจะเริ่มมีผลบังคับใช้ เจ้าหน้าที่รัฐจะเริ่มดำเนินการตามกระบวนการอนุรักษ์ ซึ่งจะมีการจัดตั้งโครงการอนุรักษ์ในพื้นที่ต่าง ๆ อย่างไรก็ตาม ยังมีบางพื้นที่ที่ยังไม่ได้รับการรับรองแนวเขตจากกรมการปกครอง ซึ่งจะต้องดำเนินการให้เสร็จสมบูรณ์ก่อน
และคำถามที่ว่า หลังจากพระราชกฤษฎีกามีผลบังคับใช้แล้ว ชุมชนที่ได้รับผลกระทบจะทำอย่างไร? ธนากรกล่าวโดยมีสาระสำคัญว่า ในส่วนของชุมชนที่ไม่ได้ถูกแนบท้ายในครั้งแรกยังคงเป็นคำถามว่ากฎหมายจะถูกบังคับใช้กับพวกเขาอย่างไร อย่างไรก็ตาม ควรมีการพูดคุยเพื่อปรับปรุงกฎหมายเพื่อให้มีความเหมาะสมกับการจัดการทรัพยากรและสิทธิของชุมชนในพื้นที่ โดยควรมีการเปิดการสนทนาเพื่อเพิ่มการมีส่วนร่วมจากชุมชนและคำนึงถึงความแตกต่างในแต่ละพื้นที่ เช่น การใช้ประโยชน์จากที่ดินในพื้นที่อนุรักษ์ ซึ่งจะต้องมีการพิจารณาในระดับท้องถิ่นเพื่อให้สอดคล้องกับบริบทของแต่ละชุมชน
ยังมีโอกาสที่จะปรับปรุงกฎหมายในขั้นตอนนี้ไหม? ธนากรยอมรับว่าในขั้นตอนนี้ การแก้ไขกฎหมายคงเป็นเรื่องยาก แต่หากชุมชนและประชาสังคมมีการผลักดันและสื่อสารกับรัฐบาลอย่างมีประสิทธิภาพ การแก้ไขหรือการปรับปรุงกฎหมายอาจจะเป็นไปได้ในภายหลัง โดยรัฐบาลอาจรับฟังเสียงจากชุมชนเพื่อสร้างความสมดุลในการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและคำนึงถึงสิทธิของชุมชน
รัฐบาลประชาธิปไตยกับประตูที่เปิดสู่แนวทางที่ยอมรับสิทธิและความหลากหลายของชุมชน
เมื่อมองไปในอนาคตถึงแนวทางในการเดินหน้าต่อในสถานการณ์นี้ ว่ายังมีช่องทาง โอกาส หรือประตูบานไหนที่เปิดไว้ให้เราได้เดินหน้าต่อหรือไม่ โดยเฉพาะในประเด็นที่ต้องปรึกษาและพูดคุยกับชาวบ้านให้มากขึ้น ว่าควรมีกระบวนการที่มีความชอบธรรมทางการเมืองให้มากกว่านี้ ทั้งในมิติของการมีส่วนร่วมและความถูกต้องตามกระบวนการ จะเป็นไปได้มากน้อยขนาดไหน
ธนากรกล่าวว่า “เรื่องโอกาสนั้น ถ้าเรามองว่า การมีส่วนร่วมของประชาชนถูกปิดกั้นไปเพราะสถานการณ์ทางการเมืองในอดีต แต่ตอนนี้เรามีรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งในระบอบประชาธิปไตย ผมคิดว่านี่เป็นจังหวะที่ประชาชนมีความชอบธรรมในการส่งเสียง ตั้งคำถาม และกำหนดทิศทางใหม่ เช่น ปัญหาคนอยู่กับป่าและการอนุรักษ์ทรัพยากรในพื้นที่ที่มีชุมชนอาศัยอยู่จำนวนมาก คำถามคือเราจะกำหนดทิศทางนี้ไปในแนวทางใด ผมอยากชวนให้มองในระดับที่ลึกกว่าเรื่องกฎหมาย การถามว่าชาวบ้านในพื้นที่เขตอนุรักษ์จริง ๆ แล้วมีสิทธิชุมชนที่รัฐธรรมนูญให้ไว้หรือไม่? หรือเราต้องแปรเปลี่ยนชีวิตพวกเขาให้เข้ากับโครงการอนุรักษ์ที่กำหนดไว้ภายใต้กฎหมายใดกฎหมายหนึ่ง หากมองในมิติของสิทธิชุมชนที่มีอำนาจในการดูแลและจัดการทรัพยากรของตัวเอง ตอนนี้ยังไม่ได้รับการบรรจุในกฎหมายเลย มันเหมือนการบอนไซชีวิตของชุมชนให้ต้องปรับตัวให้เข้ากับโครงสร้างที่ออกแบบมาเป็นมาตรฐานเดียวทั่วประเทศ ซึ่งอาจไม่เหมาะสมกับความหลากหลายของชุมชนชาติพันธุ์ หรือชุมชนท้องถิ่นที่มีวิถีชีวิตแตกต่างกัน โอกาสที่จะปรับเปลี่ยนแนวทางจึงขึ้นอยู่กับเสียงของชุมชนทั้ง 4,000 แห่งนี้ ว่าพวกเขาจะร่วมกันส่งเสียงและพูดคุยกับรัฐบาลประชาธิปไตยได้มากน้อยแค่ไหน เพื่อเปิดประตูสู่แนวทางที่ยอมรับสิทธิและความหลากหลายของชุมชน พร้อมทั้งหาจุดสมดุลระหว่างการอนุรักษ์และสิทธิชุมชนอย่างแท้จริง”
ทั้งนี้ สว่าง ได้กล่าวทิ้งท้ายก่อนจบรายการว่า “ผมอยากเสนอให้เราเชื่อว่าคนอยู่กับป่าได้จริง โดยดูจากหลักฐาน เช่น แม่ฮ่องสอนที่มีพี่น้องชาติพันธุ์ 80 – 90% และป่าประมาณ 88 – 90% หรือเชียงใหม่ที่มีการจัดการป่าร่วมกัน เช่น การปลูกป่า ดับไฟ ลาดตระเวน และทำแนวกันไฟ ซึ่งสะท้อนถึงบทบาทสำคัญของชุมชนในการดูแลป่า แต่กฎหมายในปัจจุบันกลับมองข้ามประโยชน์และความร่วมมือเหล่านี้ การใช้กฎหมายที่เข้มงวดขึ้นอาจไม่ช่วยป่าได้จริง ผมคิดว่าการเปิดโอกาสให้ชุมชนมีส่วนร่วมกับหน่วยงานต่าง ๆ และสร้างความเข้าใจร่วมจะเป็นทางออกที่ดีสำหรับเรื่องนี้”
เรียบเรียง: คเณศณัฏฐ์ สิมลาโคตร