ผู้ลี้ภัยกะเหรี่ยงนับพันคน เดือดร้อนหนัก เร่งระดมความช่วยเหลือ ขาดแคลนทั้งอาหาร ยา เครื่องนุ่งห่ม และของใช้ยามหน้าฝน ทั้งนี้กลุ่มเครือข่ายกะเหรี่ยงในประเทศไทย ได้ส่งมอบของบริจาคชุดแรกแก่ผู้ลี้ภัยสงครามชาวกะเหรี่ยงในประเทศเมียนมาร์แล้ว ยังต้องการเสบียงและของใช้จำเป็นอีกจำนวนมาก เนื่องจากจำนวนผู้อพยพเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง
จากเหตุการณ์สู้รบที่เกิดขึ้นในฝั่งประเทศเพื่อนบ้าน เขตรัฐกะเหรี่ยง ประเทศเมียนมาร์ เนื่องจากกองกำลังกะเหรี่ยง BGF สนธิกำลังกับกองทัพพม่าบุกโจมตีฐานของกะเหรี่ยงพุทธ DKBA ที่ผ่านมา ส่งผลให้ประชาชน เด็ก ผู้ญิงและคนชราต้องทิ้งบ้านเรือนหนีภัยสงครามออกจากพื้นที่สู้รบ โดยไม่มีเสบียง และเครื่องนุ่งห่มที่เพียงพอ ล่าสุดจำนวนผู้อพยพเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ และกำลังขาดแคลนอาหาร เครื่องนุ่งห่มอย่างหนัก
เมื่อกลางเดือนกันยายนที่ผ่านมา นายลอยพอ สุริยบุปผา สมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัดเชียงใหม่ อำเภออมก๋อย และประธานกลุ่มกะเหรี่ยงในประเทศไทย (Karen Thai Group) พร้อมคณะ ได้นำของบริจาคจากชาวกะเหรี่ยงและประชาชนในประเทศไทย มอบให้กับผู้ลี้ภัยตามจุดต่างๆ ในเขตรัฐกะเหรี่ยง ประกอบด้วย บ้านแม่ตะวอ จำนวนผู้ลี้ภัยประมาณ 300 คน, บ้านพิเอปู จำนวน 360 คน, บ้านทีชี้ฆี จำนวน 250 – 300 คน โดยประมาณ และจุดบ้านแม่ลองทะ จำนวน 70 ครอบครัว หรือประมาณ 250 – 300 คน
นายลอยพอ กล่าวว่า “สะเบียงที่นำไปมอบให้กับผู้ลี้ภัยทางสงครามนั้น เป็นของบริจาคที่ระดมได้จากพี่น้องกะเหรี่ยง และประชาชนไทย ในประเทศไทย ซี่งส่วนใหญ่เป็นข่าวสาร บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป และเสื้อผ้าบางส่วน ซึ่งยังต้องการของบริจาคอีกเป็นจำนวนมาก เนื่องจากผู้ลี้ภัยส่วนใหญ่ไม่ได้นำอุปกรณ์ในการดำรงชีพมาด้วย ในจำนวนนี้นอกจากชายฉกรรจ์แล้วส่วนใหญ่เป็นเด็ก และสตรี และคนชราที่อยู่ในสภาพอิดโรย ต้องอาศัยอยู่ในบ้านหรือเพิงพักเดียวกันอย่างแอดัด” นายลอยพอ กล่าวต่อว่า “ในขณะนี้ยังเปิดรับบริจาคของอีกเป็นจำนวนมาก เช่น ข้าวสาร อาหารบรรจุกระป๋อง บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป และยาสามัญประจำบ้าน รวมทั้งยากันยุง รองเท้า เสื้อผ้าและผ้าใบกันฝนด้วย” โดยสามารถโอนเงินบริจาคได้ที่ บัญชีนายลอยพอ สุริยบุปผา เลขที่บัญชี 505 008 7534 ธนาคารไทยพานิชย์ สาขาฮอด หมายเลขโทรศัพท์ 09 7260 6203 ซึ่งจะมีการถ่ายเอกสารใบเสร็จในการซื้อของ ส่งให้กับผู้บริจาค เพื่อแสดงความโปร่งใสในขั้นตอนการรับบริจาคด้วย
นายลอยพอ สรุปทิ้งท้ายว่า “สภาพความเป็นอยู่ของผู้ลี้ภัยสงครามในรัฐกะเหรี่ยงนั้นลำบากมาก หากเรามีน้อยก็ช่วยน้อย หากมีมากก็ช่วยเหลือกันตามกำลัง เพราะการช่วยเหลือด้านมนุยธรรมไม่มีการแบ่งแยกเรื่องเชื้อชาติ หรือศาสนา”