เปิดตัวเลขเด็กจี!! พบมีจำนวนกว่าครึ่งแสน เข้าเรียนได้แต่ไร้สิทธิด้านอื่น

พบเด็กติดรหัสจี (G) ทั่วประเทศ กว่าหกหมื่นคนในระบบการศึกษาขั้นพื้นฐานของประเทศไทย แม้ได้รับสิทธิในการศึกษาขั้นพื้นฐาน  แต่ยังมีข้อจำกัดในการเข้าถึงสิทธิ์ด้านอื่นๆอีกมากมาย  สถานะปัจจุบันคือนักเรียนไร้รัฐ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเห็นตรงกันให้เร่งแก้ปัญหา พบขั้นตอนติดอยู่ที่กระทรวงสาธารณสุข ผลักภาระให้ครู โรงพยาบาลท้องถิ่นรับผิดชอบ

เมื่อวันที่ 20 ธันวาคม 2559 องค์กรแพลน ประเทศไทย (เชียงราย) ร่วมกับมูลนิธิพัฒนาชาติพันธุ์และชนกลุ่มน้อย พร้อมทั้งเครือข่ายชนเผ่าพื้นเมืองแห่งประเทศไทย ได้พาสื่อมวลชนเข้าพื้นที่บ้านห้วยหมากเลี่ยม ตำบลม่อนปิ่น อำเภอฝาง จังหวัดเชียงใหม่ เพื่อร่วมค้นหาและติดตามปัญหาที่เด็กนักเรียนรหัสจีประสบอยู่ ซึ่งเด็กรหัสจีในเขตอำเภอฝางส่วนใหญ่ เป็นชนเผ่าดาราอัง

นายสุมิร วอพะพอ

นายสุมิตร  วอพะพอ ผู้จัดการโครงการสถานะบุคคลและสิทธิพลเมือง องค์การแพลนประเทศไทย ให้ข้อมูลว่า “เด็กติดจี (G) หรือเด็กรหัสจี หมายถึงเด็กนักเรียนในระบบการศึกษาขั้นพื้นฐานของประเทศไทย ที่ยังไม่ได้ถือครองสัญชาติไทย ไม่สามารถเดินทางออกนอกพื้นที่ และไม่สามารถเข้าถึงบริการด้านสุขภาพตามหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าได้ ตลอดจนขาดสิทธิในด้านอื่นๆตามที่พลเมืองไทยได้รับ เว้นเสียแต่สามารถเข้าเรียนในระบบการศึกษาขั้นพื้นฐานได้ โดยที่โรงเรียนจะมีระบบการคัดแยกเด็กนักเรียนกลุ่มนี้ด้วยการระบุอักษร G นำหน้าเลขประจำตัวประชาชน โดยแต่ละหลักมีความหมายดังนี้

หลักที่ 1 อักษร G ย่อมาจากคำว่า Generate หมายถึงการออกเลขประจำตัว 13 หลัก ซึ่งเป็นเลขที่ถูกกำหนดขึ้นโดยระบบ DMC (Data Management Center)

หลักที่ 2 และ 3   หมายถึง รหัสจังหวัด

หลักที่ 4 และ 5    หมายถึง รหัสอำเภอ

หลักที่ 6 และ 7    หมายถึง รหัสปีการศึกษา

หลักที่ 8 ถึง 13   หมายถึง เลขลำดับที่ของนักเรียนที่ไม่มีเลขประจำตัวคนที่เท่าใด ของระบบฐานข้อมูล DMC”

ปัจจุบันสำรวจพบเด็กนักเรียนติดรหัส G ในระบการศึกษาขั้นพื้นฐานของประเทศทไทย จำนวน 67,433 คน โดยขั้นตอนการขึ้นทะเบียนเด็กนักเรียนรหัสจีนั้นเริ่มต้นที่โรงเรียน  โดยส่วนใหญ่มักเป็นโรงเรียนชายขอบ กล่าวคือ เมื่อโรงเรียนจะเริ่มต้นปีการศึกษาใหม่ในแต่ละภาคเรียน จะมีการเปิดรับสมัครนักเรียนใหม่ หากพบว่าเด็กคนใดไม่มีหลักฐานแสดงตัวตน หรือเอกสารที่ระบุสถานะการเป็นพลเมืองไทย (เลขประจำตัว 13 หลัก) ทางโรงเรียนจะดำเนินการสอบประวัติและส่งข้อมูลให้กับสำนักงานเขตการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) เพื่อดำเนินการกำหนดหมายเลขประจำตัวนักเรียน 13 หลัก ประเภทเด็กนักเรียนรหัสจี

ทั้งนี้เพื่อเป็นไปตามนโยบายของรัฐที่ต้องจัดการศึกษาขั้นพื้นฐาน   แก่เด็กในราชอาณาจักรไทยทุกคนที่ต้องการเรียน โดยไม่แบ่งแยกว่าเป็นประชากรไทยหรือไม่ก็ตาม

นายประสิทธิ์ เศรษฐีวรฤทธิ์

นายประสิทธิ์ เศรษฐีวรฤทธิ์

“เพราะระบบการศึกษาของไทยเรา โดยเฉพาะโรงเรียนมีหน้าที่ต้องจัดการเรียนการสอนแก่เด็กทุกคนที่ต้องการเรียน โดยไม่มีเลือกปฏิบัติว่าจะมีสัญชาติไทยหรือไม่”  นายประสิทธิ์   เศรษฐีวรฤทธิ์ ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านห้วยหมากเลี่ยมกล่าวชี้แจง พร้อมทั้งอธิบายเพิ่มเติมว่า ในโรงเรียนบ้านห้วยหมากเลี่ยม เปิดทำการเรียนการสอนตั้งแต่ระดับชั้นอนุบาล จนถึงระดับประถมศึกษาปีที่ 6 มีนักเรียนทั้งหมด 310 คน ในจำนวนนี้ เป็นนักเรียนที่ติดรหัสจี จำนวน 178 คน ซึ่งเกินกว่าครึ่งของนักเรียนทั้งหมด

แม้โรงเรียนจะไม่ได้แบกรับภาระโดยตรง  เนื่องจากได้รับการสนับสนุนงบประมาณรายหัวของเด็กนักเรียนรหัสจีจากกระทรวงศึกษาธิการ แต่ภาระต่างๆ โดยเฉพาะค่าใช้จ่ายในการรักาพยาบาลที่เกิดขึ้น ได้ตกไปอยู่ที่ครู ผู้ปกครองและโรงพยาบาลในท้องถิ่น

img_9393

นายสมจิตร์  อุดมโชคมหาศาล หัวหน้งานเวชระเบียน โรงพยาบาลฝาง กล่าวว่า “ทางโรงพยาบาลเรา ไม่สามารถ ปฏิเสธการรักษาผู้ป่วยได้ โรงพยาบาลต้องให้การรักษาแก่ผู้ป่วยทุกคนอย่างเต็มความสามารถ แต่กรณีที่มีเด็กกลุ่มจีเข้ามารับการรักษา  จะไม่ได้รับการคุ้มครองตามหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า เนื่องจากยังไม่มีสถานะเป็นพลเมืองไทย ดังนั้นเมื่อเกิดค่าใช้จ่ายขึ้น บางครั้งครู หรือผู้ปกครองที่พาเด็กมารักษาตัว ต้องเป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่าย แต่กรณีที่ไม่มีเงินชำระค่ารักษาได้ ทางโรงพยาบาลก็ต้องทำสัญญาการผ่อนชำระ  และมีระบบการติดตามหนี้สิน  ท้ายที่สุดแล้วเมื่อไม่สามารถติดตามหนี้สินได้  ก็กลายเป็นหนี้สูญของโรงพยาบาล ปัจจุบันโรงพยาบาลฝางต้องแบกรับหนี้สูญกว่า  10 ล้านบาท”

เมื่อถูกจัดสถานะให้เป็นเด็กรหัสจี เปรียบเสมือนถูกตัดขาดโอกาสในการสานฝันของตนเองให้เป็นจริง “หนูมีความฝัน หนูอยากไปเดินทางไปเที่ยวเหมือนกับเพื่อนๆ  หนูอยากเรียนต่อ เพื่อเลี้ยงดูพ่อแม่  ช่วยพ่อแม่ทำงาน หนูไม่อยากเห็นพ่อแม่เหนื่อยอีกแล้ว” หนึ่งเสียงสะท้อนสั้นๆ จากเด็กหญิงหมวยจิ่ง  บากน้อย หนึ่งในเด็กที่รหัสจี ที่รอคอยความหวังให้ผู้ที่เกี่ยวข้องช่วยเติมเต็มสิทธ์ให้เท่าเทียมกับเด็กๆ ทั่วไป

img_9399

ดญ. หมวยจิ่ง บากน้อย

เพื่อไม่ให้วภาระตกอยู่ที่ครู  ผู้ปกครอง และโรงพยาบาล หน่วยงานรัฐในพื้นที่และภาคประชาสังคมที่เกี่ยวข้อง  ต่างมีความเห็นตรงกันให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งดำเนินการรับรองสิทธิของเด็กนักเรียนที่ติดรหัสจีให้ชัดเจน  โดยเฉพาะกระทรวงสาธาณะสุข ที่มีความล่าช่าในการดำเนินการตามมติคณะรัฐมนตรี 20 เมษายน 2559 ว่าด้วยเรื่องการเพิ่มเติมรายชื่อของผู้ตกสำรวจ

นายวิวัฒน์  ตามี่ ผู้แทนเครือข่ายชนเผ่าพื้นเมืองแห่งประเทศไทยและในนาม 37 องค์กรพัฒนาเอกชนที่ทำงานด้านสุขภาพ ได้อธิบายถึงแนวทางการแก้ไขปัญหาที่ผ่านมาว่า “เคยมีข้อเสนอทางนโยบายผ่านกระทรวงสาธารณะสุข ตั้งแต่ พ.ศ. 2548 เป็นต้นมา จนกระทั่งได้มีมติคณะรัฐมนตรีให้เพิ่มชื่อบุคคลผู้มีปัญหาสถานะบุคคลและสิทธิ์ เข้าสู่กองทุนให้สิทธิ์ (คืนสิทธิ์) ตามมติครม. 23 มีนาคม 2553 เมื่อวันทื่ 20 เมษายน 2558 โดยครั้งนั้นมีผู้ได้รับสิทธิ์ทั้งสิ้น 208, 631 คน  แต่ก็ยังมีกลุ่มเด็กจี ที่ตกไปจากมติครม.

เนื่องจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเห็นว่ายังขาดข้อมูลที่ชัดเจน”  การขับเคลื่อนของภาคประชาสังคมร่วมกับหน่วยงานรัฐในพื้นที่นั้นยังไม่สิ้นสุด เนื่องจากมีความพยายามอย่างต่อเนื่องในการติดตามและแก้ไขปัญหาของของเด็กจีในระดับนโยบาย  ทั้งนี้นายนิวัฒน์  ตามี่ ยังให้ข้อมูลเพิ่มเติมอีกว่า เมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม 2559 สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี ได้มีหนังสือถึงรัฐมนตรีกระทรวงสาธารณะสุขว่า  ขณะนี้ยังไม่สามารถอนุมัติให้เด็กเหล่านี้เข้าสู่บริการด้านสาธารณะสุขได้ เนื่องจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมีข้อเสนอให้กลับไปทบทวนตัวเลขของจำนวนผู้ได้รับสิทธิ์และจำนวนผู้ขาดสิทธิ์ในปัจจุบัน” หลากหลายหน่วยงานที่ต้องส่งเรื่องต่อในการดำเนินงานอย่างซับซ้อน  ยิ่งส่งผลให้กระบวนการดำเนินงานล่าช้ามากยิ่งขึ้น

นายวิวัฒน์  ตามี่ กล่าวสรุปว่า “สิ่งที่เครือข่ายองค์กรพัฒนาเอกชน 37 องค์กร ร่วมกันเรียกร้องอย่างเร่งด่วนในตอนนี้ มิได้หมายถึงการให้สิทธิในสัญชาติโดยทันที  หากแต่เป็นการเรียกร้องให้เด็กๆ ได้เข้าถึงสิทธิขั้นพื้นพื้นฐานในการรับบริการด้านสุขภาพ ที่มนุษย์ทั่วไปพึงมีตามหลักสิทธิมนุษยชนสากล และอยากให้มีการเร่งดำเนินการให้แล้วเสร็จภายในปี 2559 เพื่อเป็นของขวัญปีใหม่อันล้ำค่าให้แก่เด็กๆ”