ล่ารายชื่อ จี้กองทัพ เปิดภาพ CCTV กรณีตรวจค้นและวิสามัญ “ชัยภูมิ ป่าแส”

เมื่อวันที่ ๒๒ มีนาคม ๒๕๖๐ มีการออกแคมเปญรณรงค์ และรวบรวมรายชื่อผ่านเว็บไซต์ Change.org เพื่อขอให้เจ้าหน้าที่ทหาร เปิดเผยภาพจากกล้องวงจรปิดของจุดตรวจถาวร ที่มีการตรวจค้นและวิสามัญนายชัยภูมิ ป่าแส นักกิจกรรมเยาวชนล่าหู่ หลังจากที่ พล.ท.วิจักขฐ์ สิริบรรสพ แม่ทัพภาคที่ 3 ออกมาเปิดเผยกับสื่อมวลชนว่า มีภาพหลักฐานจากกล้องวงจรปิด แม้ว่าก่อนหน้าที่เจ้าหน้าปฏิเสธมาตลอดว่า กล้องวงจรปิดเสียไม่สามารถใช้งานได้ 

เนื้อหาของข้อเรียกร้อง ดังต่อไปนี้

“เนื่องจากเรื่องราวของ นายชัยภูมิ ป่าแส ที่ถูกวิสามัญในคดีครอบครองยาเสพติด และพยายามทำร้ายเจ้าหน้าที่ด้วยการปาระเบิด ยังเป็นที่กังขาในสังคม เนื่องจากด่านตรวจนี้มีกล้องวงจรปิด แต่กลับยังไม่ถูกนำมาเปิดเผยสู่สาธารณะชน

เรื่องราวนี้สร้างความลำบากใจไม่น้อยให้กับสาธารณะชน เพราะเนื่องจาก นายชัยภูมิ ป่าแสถูกวิสามัญโดยเจ้าหน้าที่ แต่ก็ไม่สามารถยืนยันความจริงใดๆได้นอกจากคำให้การปากเปล่าของแต่ละฝ่ายอันไม่สามารถสร้างความเชื่อถือได้เท่าที่ควร

และจากหัวข้อข่าวได้อ้างอิงว่า “พล.ท.วิจักขฐ์ สิริบรรสพ แม่ทัพภาคที่ 3 เปิดเผยต่อสื่อมวลชนว่า การตั้งด่านเป็นการตั้งด่านปรกติ สามารถตรวจสอบได้จากกล้องวงจรปิด CCTV” นั้นก็หมายความว่า พล.ท.วิจักขฐ์ สิริบรรสพ มีอำนาจการตัดสินใจในการเปิดเผยข้อมูลในกล้องได้

ดังนั้นสิ่งที่จะช่วยคลายข้อกังขาคือการเปิดเผยข้อมูลของกล้องวงจรปิดทั้งสองตัวอย่างโปร่งใส เพราะไม่เช่นนั้นแล้วถ้าเกิดประชาชนผู้บริสุทธิ์คนใดๆเกิดถูกกระทำโดยรัฐไม่ว่าจะด้วยความตั้งใจหรือไม่ ก็มีแนวโน้มว่าประชาชนจะไม่ได้รับความเป็นธรรมอย่างแท้จริง

เรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องไกลตัวเลย เพราะถ้าประชาชนไม่อาจตรวจสอบความจริงจากกล้องได้แล้ว ไม่เท่ากับว่ารัฐกำลังสร้างความหวาดกลัวให้กับประชาชนด้วยการที่เจ้าหน้าที่ใช้อำนาจหน้าที่ในการปิดบังหลักฐานได้หรอกหรือ ดังนั้นเพื่อให้รัฐมีความเป็นธรรมทั้งต่อประชาชนและเจ้าหน้าที่ ความจริงจากกล้องวงจรปิดต้องถูกเปิดเผย

ถ้ารูปการณ์สามารถพิสูจน์ได้ว่า นายชัยภูมิ ป่าแส กระทำผิดจริง ก็จะทำให้ข้อกังขาในสังคมลดลง แต่ถ้า นายชัยภูมิ ป่าแส มิได้กระทำผิดจริง รัฐควรแสดงความรับผิดชอบต่อการตายของ นายชัยภูมิ ป่าแส พื่อให้ประชาชนรับทราบโดยทั่วกันว่าบ้านเมืองมีขื่อมีแปที่ทั้งประชาชนและเจ้าหน้าที่ต่างอยู่ภายใต้กฎหมายเดียวกัน อันเป็นรากฐานที่สำคัญที่ทำให้เกิดความรู้สึกปลอดภัยในสังคมนี้”

ที่มา:https://www.change.org