“พ้นกรอบความคิด: ทลายกำแพงความเข้าใจผิดเกี่ยวกับชนเผ่าพื้นเมือง”

เฉลิมฉลองเนื่องในวันชนเผ่าพื้นเมืองแห่งประเทศไทย ประจำปี 2567 ณ Co-working space ThaiPBS

ประเทศไทยเป็นประเทศที่มีความหลากหลาย โดยมีจำนวนชนเผ่าพื้นเมือมากกว่า 70 กลุ่มชาติพันธุ์ ซึ่งคิดเป็นประชากรราว 6.1 ล้านคน หรือประมาณ 9.68% ของประชากรทั้งหมดในประเทศ กลุ่มชาติพันธุ์เหล่านี้กระจายตัวอยู่ในทุกภูมิภาคของประเทศ แต่ละกลุ่มมีวิถีชีวิต ประเพณี วัฒนธรรม และภาษาที่เป็นเอกลักษณ์ของตนเอง อย่างไรก็ตาม การรับรู้และการมองเห็นกลุ่มชาติพันธุ์ในสายตาของสังคมบางส่วนอาจมีความเข้าใจผิด และมองพวกเขาว่าเป็นกลุ่มคนชายขอบที่มีความล้าหลังในการดำรงชีวิต ความเข้าใจผิดนี้ส่วนหนึ่งเกิดจากการที่การพัฒนาและความเจริญทางด้านวัตถุ ผมขออนุญาตนิยามสิ่งนี้ว่า “ความเจริญ” จากมุมมองของสังคมที่เน้นวัตถุ อาจทำให้มองข้ามวิถีชีวิตที่พึ่งพาธรรมชาติและความพอเพียงของกลุ่มชาติพันธุ์ไป ดังนั้น การเข้าใจกลุ่มชาติพันธุ์จึงจำเป็นต้องมองในมุมที่กว้างกว่าเดิม ไม่เพียงแต่พิจารณาจากความเจริญทางด้านวัตถุเท่านั้น แต่ควรคำนึงถึงความยั่งยืนของวิถีชีวิตที่พวกเขาเลือกดำเนินด้วย

ชนเผ่าพื้นเมืองในประเทศไทยสามารถแบ่งออกได้เป็น 3 กลุ่มชาติพันธุ์หลัก ได้แก่

1. กลุ่มชาติพันธุ์ที่อาศัยอยู่ในพื้นที่สูง กลุ่มนี้ส่วนใหญ่จะมีถิ่นฐานบริเวณเทือกเขาและพื้นที่สูงในภาคเหนือ ซึ่งมีวิถีชีวิตที่พึ่งพาป่าไม้และทรัพยากรธรรมชาติเป็นหลัก เกษตรกรรมเป็นอาชีพสำคัญในการดำรงชีพ และการทำเกษตรในพื้นที่สูงต้องอาศัยองค์ความรู้ในการจัดการทรัพยากรธรรมชาติอย่างสมดุลด้วย ที่พวกเขาสืบทอดต่อกันมาจากบรรพชนซึ่งเป็นการรักษาสมดุลของระบบนิเวศ

ชุมชนชนเผ่าอ่าข่า บ้านแม่จันใต้ ต.ท่าก๊อ อ.แม่สรวย จ.เชียงราย

กลุ่มที่ 2. กลุ่มชาติพันธุ์ที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ราบ กลุ่มนี้มักจะตั้งถิ่นฐานอยู่ในบริเวณพื้นที่ราบและมีวิถีชีวิตกลมกลืนไปกับกลุ่มคนในพื้นที่ใกล้เคียง ซึ่งส่วนใหญ่มีอาชีพเกษตรกรรม วิถีชีวิต การดำรงชีพ ทำมาหากินอาจไม่แตกต่างจากประชากรส่วนใหญ่มากนัก แต่การสืบทอดวัฒนธรรมและภาษายังคงมีความสำคัญและเป็นส่วนหนึ่งของอัตลักษณ์ทางวัฒนธรรมที่ยังคงดำรงอยู่และรักษาไว้

กลุ่มที่ 3 กลุ่มชาติพันธุ์ที่อาศัยอยู่ตามชายฝั่งทะเลและหมู่เกาะ โดยจะอาศัยอยู่ในพื้นที่ชายฝั่งทะเลบางส่วนซึ่งเรารู้จักกันในชื่อ “ชาวเล” พวกเขาดำรงชีพด้วยการทำประมงเป็นหลัก ทั้งในทะเลและในพื้นที่เกาะ การสืบทอดประเพณีและวิถีชีวิตที่เกี่ยวข้องกับการทำประมงยังคงมีความสำคัญ เช่นเดียวกับกลุ่มชาติพันธุ์อื่นๆ ที่มีวิถีชีวิตพึ่งพาทรัพยากรธรรมชาติ

แม้กระนั้น บ่อยครั้งที่ความเข้าใจผิดในวิถีชีวิตของกลุ่มชาติพันธุ์นำไปสู่ปัญหาและการตีตราที่เกิดขึ้นในสังคม หนึ่งในความเข้าใจผิดที่พบบ่อยคือ การมองว่ากลุ่มชาติพันธุ์เป็น “คนต่างด้าว” หรือ “ไม่ใช่คนไทย” เพียงแค่การสื่อสารไม่ชัดเจนในภาษาไทยหรือการพูดภาษาไทยกลางไม่ชัดของบางกลุ่ม ด้วยเหตุผลเพียงเท่านี้ก็อาจจะถูกมองว่าเป็นต่างด้าวได้เลย ทั้ง ๆ ที่กลุ่มชาติพันธุ์หลาย ๆ กลุ่ม เช่น ชาวมอญ หรือชาวไทดำ มีประวัติศาสตร์การตั้งถิ่นฐานในประเทศไทยมานานหลายศตวรรษ ตัวอย่างเช่น ชาวมอญที่เข้ามาอาศัยอยู่ในดินแดนนี้ตั้งแต่สมัยอยุธยา หรือชาวไทดำที่อพยพเข้ามาจากจีนตั้งแต่ปี พ.ศ. 2322 ทั้งนี้แม้ว่าพวกเขายังคงรักษาภาษาและวัฒนธรรมของตนเองไว้ แต่การที่พวกเขาไม่ได้พูดภาษาไทยอย่างคล่องแคล่วไม่ได้หมายความว่าพวกเขาไม่ใช่คนไทย

อีกหนึ่งความเข้าใจผิดที่พบเห็นบ่อยคือการเหมารวมว่ากลุ่มชาติพันธุ์ที่อาศัยอยู่ตามพื้นที่ชายแดนเป็นผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกับการค้ายาเสพติด แต่ในความเป็นจริงนั้น ไม่ใช่ทุกคนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ชายแดนจะมีส่วนเกี่ยวข้องกับกิจกรรมที่ผิดกฎหมาย กลุ่มชาติพันธุ์จำนวนมากในพื้นที่ชายแดนมีวิถีชีวิตที่เป็นไปตามกฎหมายและมีอาชีพที่สุจริต เช่น การเกษตรและหัตถกรรม

ความเข้าใจผิดอีกประการคือการมองว่ากลุ่มชาติพันธุ์เป็นผู้ทำลายป่าโดยการทำไร่หมุนเวียน ทั้งที่จริงแล้วการทำไร่หมุนเวียนเป็นวิถีเกษตรกรรมที่มีความยั่งยืน การทำไร่หมุนเวียนเป็นการใช้พื้นที่เกษตรสลับกันในแต่ละปีเพื่อให้ดินและป่าได้รับการฟื้นฟู นอกจากนี้ การทำไร่หมุนเวียนยังถูกยอมรับในระดับนานาชาติว่าเป็นระบบเกษตรนิเวศที่สมดุลด้วยครับ

การถูกมองว่าเป็นคนล้าหลัง และเป็น “ภัยต่อความมั่นคงของรัฐ” ส่งผลให้เกิดปัญหาต่าง ๆ กับกลุ่มชาติพันธุ์ เช่น ปัญหาการจัดการทรัพยากรธรรมชาติ ปัญหาการเข้าถึงสิทธิขั้นพื้นฐาน เช่น การได้รับสัญชาติไทย และปัญหาการสูญเสียอัตลักษณ์ทางวัฒนธรรม

ปัญหาเหล่านี้กลายเป็นส่วนหนึ่งที่สำคัญในปัจจุบัน ที่ทำให้ชนเผ่าพื้นเมืองและกลุ่มชาติพันธุ์ในประเทศไทยร่วมกันผลักดันกฎหมายสำหรับการเรียกร้องสิทธิและความคุ้มครองในฐานะกลุ่มที่มีวัฒนธรรมและวิถีชีวิตเฉพาะตน ซึ่งก็คาดหวังว่าจะเป็นเครื่องมือสำคัญในการแก้ไขปัญหาที่เกี่ยวข้องกับกลุ่มชาติพันธุ์ได้อย่างยั่งยืน

กฎหมายที่เกี่ยวข้องนี้จะเพิ่มคุณค่าความเป็นมนุษย์เพื่อให้เข้าถึงสิทธิต่าง ๆ ได้อย่างเท่าเทียมในประเทศไทย ถึงแม้จะมีข้อถกเถียงหรือการหารือในหลายประเด็นมากมาย แต่ท้ายที่สุดความเข้าใจและเคารพในวิถีชีวิตของกลุ่มชาติพันธุ์จะช่วยสร้างความเป็นธรรมและลดความเหลื่อมล้ำทางสังคมได้

ความหลากหลายเป็นสิ่งที่สวยงามและมีคุณค่าไม่ว่าจะเป็นความหลากหลายทางอาหาร ทางชีวภาพ หรือแม้แต่ชาติพันธุ์ การปกป้องคุ้มครองในความหลากหลายนี้จึงเป็นเรื่องสำคัญที่ผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องต้องร่วมมือผลักดันให้เกิดนโยบายการจัดการที่เป็นรูปธรรมเพื่อลดการตีตรา เหมารวม และวาทกรรมที่สร้างความแตกแยกในสังคม เพื่อยกระดับความเป็นธรรมและความยุติธรรม ลดความเหลื่อมล้ำเพื่อนำมาซึ่งความเจริญที่สวยงามและสงบสุขในสังคมไทย

เขียนโดย: จอกิบู