ณ ตอนนี้ร่าง พ.ร.บ. ส่งเสริมและคุ้มครองกลุ่มชาติพันธุ์และชนเผ่าพื้นเมือง มีการจัดทำมาแล้ว 5 ฉบับร่างที่สภาฯ รับหลักการ อันได้แก่ ร่างของสภาชนเผ่าพื้นเมืองแห่งประเทศไทย, ร่างของพรรคก้าวไกล, ร่างของขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม P-move, ร่างของรัฐบาลและร่างของพรรคเพื่อไทย
โดยรายละเอียดแต่ละร่างนั้นต่างพูดถึงการปกป้องและคุ้มครองสิทธิชาติพันธุ์ และมีบางฉบับพูดถึงสิทธิชนเผ่าพื้นเมืองด้วย อย่างไรก็ดี มีหนึ่งประเด็นที่น่าจับตาตอนนี้คือการใช้นิยามระหว่างคำสองคำนี้คือ “ชาติพันธุ์” และคำว่า “ชนเผ่าพื้นเมือง” ซึ่งหน่วยงานรัฐบางส่วนไม่สนับสนุนการใช้คำว่าชนเผ่าพื้นเมือง ระบุลงใน พ.ร.บ. ส่งเสริมและคุ้มครองกลุ่มชาติพันธุ์และชนเผ่าพื้นเมือง โดยให้เหตุผลว่า
- ประเทศไทยไม่เคยตกเป็นอาณานิคม
- ในประเทศไทยมีแต่คนเผ่าไทย
- การใช้คำว่าชนเผ่าพื้นเมือง จะเป็นการสร้างกระแสให้มลายูทางตอนใต้ใช้เป็นข้อเรียกร้องมากขึ้น เช่น สิทธิในการกำหนดตนเอง
- มองว่ากลุ่มชาติพันธุ์และชนเผ่าพื้นเมืองในไทยเป็นผู้อพยพเข้ามาใหม่
ในขณะที่ฝั่งที่มีการผลักดันให้ใช้คำว่าชนเผ่าพื้นเมืองมองว่า คำว่าชาติพันธุ์นั้นหมายถึงคนทุกคน มีนัยเป็นกลุ่ม แต่ชนเผ่าพื้นเมืองมีลักษณะเฉพาะมากกว่านั้น เช่น การไม่ใช่กลุ่มที่ครอบงำสังคม กลุ่มที่มีวัฒนธรรมและภาษาที่ไม่ใช่ภาษาหลัก และมีความมุ่งมั่นในการสืบสานวัฒนธรรมของตนเอง เป็นต้น ดังนั้นจึงจำเป็นต้องใช้คำว่าชนเผ่าพื้นเมืองด้วยเพื่อได้รับการคุ้มครองสิทธิ เนื่องจากพวกเขาหลายกลุ่มยังคงถูกละเมิดสิทธิในด้านต่างๆ เช่น การเข้าถึงทรัพยากร สิทธิพลเมือง และการถูกเลือกปฏิบัติ
โดยศักดิ์ดา แสนมี่ เลขาธิการสภาชนเผ่าพื้นเมืองแห่งประเทศไทย ได้ให้ความเห็นเพิ่มเติมว่า พวกเราไม่ได้ต้องการเสนอคำว่าชนเผ่าพื้นเมืองเพื่อที่ไปจัดตั้งหรือเพื่อทำให้เกิดการแบ่งแยก หรือสิทธิพิเศษอื่นๆ แต่อย่างใด
“เราแค่นิยามตัวเองเพื่อรักษาสิทธิของเรา”
ศักดิ์ดากล่าว
เชื่อว่าแต่ละฝ่ายต่างมีเหตุผลเป็นของตนเอง แต่หากเราใช้ข้อมูลทางประวัติศาสตร์มาตอบคำถามเรื่องนี้ น่าจะเป็นอีกหนึ่งตัวเลือกให้เห็นความชัดเจนถึงความเป็นมาของกลุ่มชาติพันธุ์และชนเผ่าพื้นเมืองในไทย และสุดท้ายคำนิยามไหนกันที่น่าจะเหมาะสมที่สุด ในการใช้เพื่อปกป้องและคุ้มครองสิทธิกลุ่มชาติพันธุ์และชนเผ่าพื้นเมือง
อาณานิคมภายใน ในสมัยรัชกาลที่ 5
“กรณีของสยามคือลักษณะของอาณานิคมภายใน”
ผศ.ดร.พิพัฒน์ กระแจะจันทร์ อาจารย์ภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะศิลปศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์ ได้ตอบคำถามถึงกรณีที่ทาง IMN ถามเรื่องรัฐไทยหรือสยามในสมัยยุคล่าอาณานิคม แม้สยามจะไม่เคยตกเป็นอาณานิคมของชาติตะวันตก อย่างไรดี เดิมทีรัฐสยามถือว่าเป็นรัฐที่มีอำนาจหลักอยู่ในเขตลุ่มน้ำเจ้าพระยาในภาคกลางเป็นหลัก แต่มีอำนาจเหนืออาณาจักรอื่นไม่ว่าจะเป็นล้านนา ล้างช้าง กัมพูชา ปัตตานี และมลายู
“เราเรียกพื้นที่เหล่านี้ว่าประเทศราช พอเจ้าอาณานิคมอังกฤษและฝรั่งเศสเข้ามา สยามจึงจำเป็นต้องผนวกรัฐพวกนี้เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของการสร้างแผนที่ของรัฐชาติขึ้นมาใหม่ ในขณะเดียวกันก็ต้องผนวกประชากรต่างชาติพันธุ์ให้อยู่ในประเทศเดียวกัน”
ผศ.ดร.พิพัฒน์เล่าต่อว่า สยามพยายามทำให้อาณาจักรเหล่านั้น ผู้คนในอีสาน เหนือ กลาง และใต้กลายเป็นส่วนหนึ่งของสยาม ด้วยเครื่องมือหลายอย่าง ไม่ว่าจะเป็นการบังคับให้เรียนภาษาไทยผ่านระบบโรงเรียน การออกนโยบายในเรื่องของการแต่งกาย รวมทั้งภาวะของการเข้าไปครอบงำทางวัฒนธรรมการเมือง เช่น กรณีในล้านนารัชกาลที่ 5 แต่งตั้งให้พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงพิชิตปรีชากรขึ้นไปปกครองในฐานะข้าหลวง เข้าไปเปลี่ยนระบบโครงสร้างทางการเมืองหลายอย่างของล้านนา
“มีการลดอำนาจเอาเจ้าท้องถิ่น แต่งตั้งคนของสยามเข้าไปปกครอง เกิดระบบการจัดเก็บภาษี เผยแพร่วัฒนธรรมสยาม ภาวะเหล่านี้เป็นลักษณะของสิ่งที่เราเรียกกันว่า การสร้างอาณานิคมภายในขอบเขตของสยาม”
ซึ่งแน่นอนในแต่ละพื้นที่ที่รัฐสยามเข้าไป ล้วนมีคนท้องถิ่นอาศัยอยู่ พวกเขามีการปกครองและวัฒนธรรมเป็นของตนเอง แต่ก็ถูกกระบวนการผนวกรัฐประเทศราชของสยามอย่างค่อยเป็นค่อยไป
“การบอกว่ามีแค่เผ่าไทยเผ่าเดียวมันไม่ใช่ข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์”
ในช่วงรัชกาลที่ 4 ถึง รัชกาลที่ 5 ผศ.ดร.พิพัฒน์มองว่าวิธีคิดในการปกครองเริ่มเปลี่ยนไป เพราะการที่สยามปล่อยให้ประเทศราชยังดำรงสถานะที่มีกษัตริย์ปกครองของตัวเอง ปล่อยให้มีความหลากหลายทางด้านชาติพันธุ์ โดยที่ชาติพันธุ์เหล่านั้นไม่ได้มีความรู้สึกผูกพันกับรัฐส่วนกลาง ก่อปัญหาในเรื่องของความมั่นคงของรัฐสยาม โดยเฉพาะหลังเหตุการณ์ ร.ศ.112 (พ.ศ.2436) เพราะในกรณีเช่นนี้อังกฤษหรือฝรั่งเศสอาจจะใช้เป็นเหตุผลของการบอกว่า อำนาจในประเทศราชเหล่านั้นไม่ใช่ของสยาม และพวกเขามีกษัตริย์ปกครองของตนเอง เพราะฉะนั้นก็ขึ้นอยู่กับพวกเขาจะเลือกอยู่กับใคร เป็นสิ่งที่รัฐสยามไม่สามารถยอมรับภาวะแบบนั้นได้ รวมทั้งหากคนพื้นเมืองในพื้นที่ต่างๆ บอกว่าตัวเองไม่ใช่คนของสยาม ก็จะเท่ากับว่าดินแดนตรงนั้นก็จะกลายเป็นของคนอื่นหรือว่ารัฐอื่นไป
ในอีกด้านหนึ่งดร.สุชล มัลลิกะมาลย์ อาจารย์จากคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ที่ได้ทำการศึกษาเรื่องการจัดราชการพลเมืองต่างชาติพันธุ์ในพื้นที่ชายแดนสยาม (1870-1910) : พื้นที่ของกลุ่มชาติพันธุ์ และการเจรจาต่อรองความแตกต่าง ให้ความเห็นต่อเรื่องนี้ว่า
“มันมีการช่วงชิงพื้นที่ ถ้าเรานึกไปถึงในสมัย ร.5 จะจินตนาการไม่ออกเลยกับคำว่าคนนี้ไม่ใช่คนไทย ผลักออกไป ในสมัยนั้นมีแต่ดึงดูดให้คนเข้ามา”
ดร.สุชลลงรายละเอียดเพิ่มเติมว่า ในสมัยนั้นหัวหน้ากลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ เช่น หัวหน้ากลุ่มลาหู่, หัวหน้ากลุ่มชนเผ่าเมี่ยน ที่อยู่ในสภาวะอาณานิคมที่ถูกบีบเข้ามา พวกเขาจึงต้องร่วมมือกันและเลือกข้างที่ดีกว่าระหว่างการเข้ากับสยามหรืออังกฤษหรือฝรั่งเศส
ยกตัวอย่างเช่น หากหัวหน้ากลุ่มลาหู่เข้าร่วมกับเชียงแสน พื้นที่ตรงนั้นก็ถูกนับเป็นส่วนหนึ่งของเชียงแสนซึ่งขึ้นตรงกับสยาม แต่ถ้าหากพวกเขาเข้าร่วมกับเชียงตุงก็จะเป็นส่วนหนึ่งของรัฐฉานที่อังกฤษปกครอง
โดยผลลัพธ์ของการเลือกข้างนั้น ดร.สุชล ได้พบว่าก็มีทั้งกลุ่มที่เลือกรัฐสยาม และเลือกฝั่งหลวงพระบางเพื่อเข้ากับฝรั่งเศส รวมทั้งเลือกฝั่งเชียงตุงเพื่อไปเข้ากับประเทศอังกฤษ
“ถามว่าทำไมบางส่วนมาเลือกรัฐสยามเพราะว่ารัฐสยามเจรจาต่อรองได้” ดร.สุชลกล่าว
จะเห็นได้ว่าในยุคของรัชกาลที่ 5 กลุ่มชนพื้นเมืองต่างๆ นั้น เป็นกลุ่มตัวละครสำคัญของรัฐสยามในการคานอำนาจกับกลุ่มผู้ล่าอาณานิคม รวมทั้งสยามเองก็ได้รับประโยชน์จากคนกลุ่มต่างๆ เหล่านี้จากการเก็บภาษีจากการปลูกฝิ่น ซึ่งสายตาที่รัฐสยามหรือรัฐไทยมองกลุ่มชาติพันธุ์และชนเผ่าพื้นเมืองก็ได้เปลี่ยนไปอีกครั้งหลังเหตุการณ์ปฏิวัติ 2475 และมีการสร้างรัฐไทยสมัยใหม่ขึ้นมา
การสลายความเป็นชาติพันธุ์และชนเผ่าพื้นเมือง ด้วยแนวคิดชาตินิยมในยุคสงครามเย็น
“สถานการณ์ในช่วงก่อนสงครามโลกครั้งที่ 2 กับหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 สายตาที่รัฐมองกลุ่มชาติพันธุ์นั้นไม่เหมือนเดิม”
ผศ.ดร.พิพัฒน์ ได้อธิบายว่าในช่วงก่อนสงครามโลกครั้งที่ 2 รัฐมองกลุ่มชาติพันธุ์และชนพื้นเมืองด้วยสายตาว่าพวกเขาไม่มีพิษมีภัย มีความยินดีกับการที่คนเหล่านี้อพยพเข้ามา เพราะสร้างรายได้ให้กับรัฐ ในขณะที่สถานการณ์ช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 เป็นความรู้สึกที่รัฐเริ่มไม่ไว้วางใจ เหตุผลหลักๆ เพราะว่าการปลุกความรู้สึกชาตินิยมสมัยจอมพล ป.พิบูลสงคราม ทำให้รู้สึกว่าอะไรก็ตามที่ไม่เป็นไทยไม่น่าไว้วางใจ
“ยิ่งหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 รัฐมองว่าชาวเขาบางกลุ่มเป็นคอมมิวนิสต์ สิ่งที่รัฐทำคือการกำจัดให้ออกไปจากประเทศ เพราะฉะนั้นวิธีคิดของรัฐไทยในสองช่วงเวลานี้จึงแตกต่างกันโดยสิ้นเชิง”
จนกระทั่งมาถึงปี 2508 ได้มีการออก พ.ร.บ.สัญชาติ พ.ศ.2508 ให้กับกลุ่มบุคคลที่อพยพเข้ามาในประเทศไทยและอาศัยอยู่เป็นเวลานาน ซึ่งใน พ.ร.บ. ก็ได้ระบุถึงกลุ่มชาวเขา 9 เผ่า ได้แก่ “แม้ว (ม้ง) เมี่ยน มูเซอ (ลาหู่) ลีซอ (ลีซู) อีก้อ (อ่าข่า) กะเหรี่ยง ลัวะ ถิ่น และขมุ” เพื่อกำหนดสิทธิในเรื่องของสัญชาติ
โดยสาเหตุของการออก พ.ร.บ. ฉบับนี้ ผศ.ดร.พิพัฒน์ให้เหตุผลว่า หลังจากเกิดเหตุการณ์เสียงปืนแตกในช่วงสงครามเย็น สถานการณ์คอมมิวนิสต์มีความรุนแรงมากขึ้น รัฐจึงเริ่มสงสัยกลุ่มชาติพันธุ์หลายๆ กลุ่มที่ไม่ใช่ไทย โดยเฉพาะกลุ่มชาวเขา เพราะอยู่ในพื้นที่ชายแดนและมีความเข้มข้นรุนแรงของสถานการณ์ ใครถูกพิสูจน์ว่าเข้ามาก่อนหน้านี้จะได้สัญชาติ แต่หลังจาก พ.ศ.2508 คือไม่ได้รับ แต่กระบวนการพิสูจน์นี้คลุมเครือ ไม่เป็นไปตามข้อเท็จจริง เพราะความไม่ไว้วางใจทางชาติพันธุ์
อย่างไรก็ดี ผศ.ดร.พิพัฒน์ ชี้ให้เห็นถึงปัญหาว่า เกณฑ์ที่จะเลือกว่าใครอยู่ประเทศไทยมาก่อนหรือหลัง หลายๆ กรณีไม่ได้เป็นไปตามข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นทางประวัติศาสตร์ เพราะมายาคติของส่วนราชการไทยสมัยก่อนมองแค่ว่าชาวเขาคือคนที่อพยพเข้ามาอยู่ใหม่ เช่นเดียวกับกลุ่มชาติพันธุ์อีกหลายๆ กลุ่มในไทย
ในสมัยนั้นกระบวนการพิสูจน์ว่าเป็นคนดั้งเดิมหรือไม่ดั้งเดิมนั้น รัฐจะส่ง 2 หน่วยงานเข้าไปสำรวจคือ หน่วยสถาบันวิจัยชาวเขา เข้าไปทำการเก็บข้อมูลเชิงประวัติศาสตร์ความเป็นมา กับอีกหน่วยคือหน่วยปฏิบัติการเชิงจิตวิทยา ของฝ่ายความมั่นคงเพื่อประเมินว่า คนกลุ่มนี้มีแนวโน้มว่าจะกลายเป็นคอมมิวนิสต์หรือไม่ ถ้ามีก็ไม่ให้สัญชาติ แล้วก็หมายหัวเลยว่ากลุ่มชาติพันธุ์ไหนที่จะไม่ให้สัญชาติ
เล่ามาถึงตรงนี้เราจะเห็นว่ารัฐไทยมีความพยายามอยู่ตลอดตั้งแต่สมัยยุคล่าอาณานิคมจนถึงยุคคอมมิวนิสต์ ในการพยายามผนวกรวมกลุ่มชนพื้นเมืองต่างๆ ให้มาเป็นไทยเหมือนกัน เพราะความกังวลเรื่องความมั่นคงเป็นปัจจัยสำคัญ
ผศ.ดร.พิพัฒน์ กล่าวทิ้งท้ายในประเด็นนี้ว่าตั้งแต่หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 รัฐไทยไม่ได้ปฏิบัติต่อกลุ่มชาติพันธุ์และชนพื้นเมือง ในฐานะที่เป็นพลเมืองของประเทศแต่มองเป็นอื่น มันจึงฝังรากในระบบคิดของคนในสังคม ทำให้เราไม่ได้เคารพความหลากหลายทางชาติพันธุ์มาตั้งแต่ตอนนั้น
แม้ว่าหลังจากปี 2540 การเข้ามาของทฤษฎีทางด้านมานุษยวิทยา และการสื่อสารเรื่องชาติพันธุ์ในสื่อสาธารณะ จะค่อยๆ ปรับเปลี่ยนทัศนคติของรัฐไทยไปพร้อมๆ กัน แต่จนถึงวันนี้ก็รัฐไทยก็ยังมีความกังวลเรื่องความมั่นคงไม่เปลี่ยนแปลง เห็นได้จากความกังวลในนิยามคำว่าชนพื้นเมือง ทั้งๆ ที่คำนี้เป็นคำเก่า ในปาฐกถาผู้แทนราษฎร พ.ศ.2477 ก็ใช้คำว่า “ชนพื้นเมือง” มาแล้ว และมองคนเหล่านี้ในฐานะว่าเป็น “พลเมือง”
ชาติพันธุ์หรือชนเผ่าพื้นเมือง ความมั่นคงหรือสิทธิมนุษยชน
“ผมคิดว่ามันจะใช้คำไหนก็ได้ แต่ต้องอธิบายให้คนเข้าใจ บางกลุ่มชาติพันธุ์เองเขาอาจจะไม่ได้ยอมรับว่าตัวเองเป็นชนเผ่าก็ได้ เพราะพวกเขาอยู่ในโครงข่ายการปกครองของรัฐมาโดยตลอด และคำว่าชนเผ่าในภาษาอังกฤษ หรือ Tribal Society คือกลุ่มคนที่อยู่ในป่า ซึ่งมันให้ภาพนั้นอยู่”
ดร.สุชลอยากให้มองว่าคำว่าเผ่า ในความหมายของ “เผ่าพันธุ์” เช่น เผ่าไทย เผ่าลาว เผ่าม้ง ทุกคนคือเผ่าพันธุ์ และคำว่าเผ่าก็มีความยืดหยุ่น ดังนั้นลำดับแรกกลุ่มชาติพันธุ์และชนพื้นเมืองควรที่จะสื่อสารกันภายในกลุ่มให้ชัดเจนก่อนว่า ทุกคนรู้สึกเป็นส่วนหนึ่งของคำเหล่านี้หรือไม่อย่างไร
ในส่วนเรื่องความมั่นคง ดร.สุชลมองว่าในมาตรา 1 แห่งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย เขียนกำชับไว้ชัดเจนว่าประเทศไทยเป็นราชอาณาจักรอันหนึ่งอันเดียวจะแบ่งแยกมิได้ ซึ่งพ.ร.บ.ก็ไม่สามารถขัดรัฐธรรมนูญได้อยู่แล้ว
“การใช้คำว่าชนพื้นเมืองมันไม่ได้ส่งผลต่อความมั่นคงของรัฐ ปัญหามันอยู่ตรงที่ว่าความคิดของฝ่ายความมั่นคงมองทุกอย่างในแง่ร้ายไว้ก่อน” ผศ.ดร.พิพัฒน์กล่าว
เพราะว่าระบบคิดเบื้องหลังคือการมองรัฐไทยเป็นรัฐเดี่ยว ความเป็นรัฐเดี่ยวต้องการเรื่องของเอกภาพ จึงทำให้รู้สึกว่าอะไรที่มันหลากหลายควบคุมไม่ได้ ความแตกต่างคือความเปราะบางของรัฐ
ผศ.ดร.พิพัฒน์แยกความกังวลของรัฐต่อเรื่องนี้เป็น 2 ประเด็น หนึ่งคือเรื่องความมั่นคง โดยเฉพาะความกังวลต่อสถานการณ์ในภาคใต้ตอนล่าง
“รัฐไม่เคยตั้งคำถามกับตัวเองว่า ทำไมสถานการณ์ภาคใต้ถึงได้ดำรงอยู่ การปล่อยให้กลุ่มชาติพันธุ์ทำอะไรของตัวเอง จริงๆ ไม่ใช่ประเด็นเรื่องความมั่นคง แต่เป็นประเด็นเรื่องของสิทธิของความเป็นมนุษย์”
ประเด็นต่อมาคือเรื่องสิทธิในทรัพยากร รัฐหวงห้ามการใช้ทรัพยากรกับคนท้องถิ่นดั้งเดิม เพราะทัศนคติการมองกลุ่มชาติพันธุ์ทำลายป่าถูกปลูกฝังมาไม่ต่ำกว่า 100 ปี รัฐมองว่าในเมื่อคนเหล่านั้นอยู่ในเขตพื้นที่ป่า ภูเขา เป็นแหล่งต้นน้ำลำธาร คือคนที่ทำลายแหล่งต้นน้ำ ทั้งๆ ที่ป่าไม้ถูกทำลายจากนายทุนและสัมปทานป่าไม้และแร่ของรัฐ
“จริงๆ รัฐไทยพยายามปกป้องผลประโยชน์ของคนพื้นราบ แต่ไม่ได้ใส่ใจวิถีชีวิตของคนพื้นที่สูง” ผศ.ดร.พิพัฒน์กล่าว
ดังนั้นจะเห็นได้ว่าการที่รัฐไทยไม่อยากให้ใช้คำว่าชนพื้นเมือง เพราะมีความกังวลในการไปเพิ่มสิทธิการใช้ทรัพยากรบางอย่างให้กับกลุ่มเหล่านี้
“ผมคิดว่าควรใช้ทั้งสองคำคู่กันคือชาติพันธุ์และชนเผ่าพื้นเมือง เพราะมันพ่วงไปด้วยเรื่องของสิทธิทางวัฒนธรรมและสิทธิในเรื่องของทรัพยากร”
ผศ.ดร.พิพัฒน์ได้กล่าวสรุปในตอนท้ายว่า คำว่าชาติพันธุ์และชนเผ่าพื้นเมืองทั้งสองคำนี้ผูกกับแนวคิดคนละแนวคิด แต่ซ้อนทับและเหลื่อมกัน เวลาพูดถึงกลุ่มชาติพันธุ์คือร่มใหญ่ ที่ครอบคำว่าชนเผ่าพื้นเมืองอีกชั้นหนึ่ง
ความเป็นกลุ่มชาติพันธุ์เน้นเรื่องทางวัฒนธรรม ฉะนั้นการดำรงไว้ของคำว่ากลุ่มชาติพันธุ์ ช่วยทำให้การดำรงทางวัฒนธรรมของกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ สามารถทำได้ง่ายขึ้น ตัวอย่างเช่น ระบบการศึกษาบ้านเราใช้ภาษาไทยกลางไม่ใช่ภาษาท้องถิ่น เพราะฉะนั้นการมี พ.ร.บ.ตัวนี้จะช่วยทำให้ภาษาวัฒนธรรมของกลุ่มชาติพันธุ์ดำรงอยู่ได้ เรื่องนี้สำคัญเพราะวัฒนธรรมของกลุ่มชาติพันธุ์คือทุนทางวัฒนธรรมของสังคมไทย
ส่วนคำว่าชนเผ่าพื้นเมืองช่วยในเรื่องของสิทธิในการใช้ประโยชน์แบบดั้งเดิม ซึ่งมันสำคัญในหลายครั้งหลายกรณี เช่นกรณีของบางกลอยเป็นกรณีสำคัญ ที่คนในพื้นที่อาศัยอยู่ตรงนั้นมานาน พอมีการประกาศเป็นอุทยานแห่งชาติกลายเป็นว่าสิ่งที่มาทีหลังมาลิดรอนสิทธิของคนในพื้นที่ดั้งเดิม มันเหมือนเราไม่เคารพในสิทธิของคนอื่นหรือประชาธิปไตยนั่นเอง
ท้ายที่สุดแล้วจึงเป็นเรื่องที่น่าจับตามองกันต่อว่า สุดท้ายแล้วรัฐไทยจะยอมรับการมีอยู่ของชนเผ่าพื้นเมืองหรือไม่ และเพียงคำว่าชาติพันธุ์นั้นจะเพียงพอในการปกป้องและคุ้มครองสิทธิพี่น้องชนเผ่าพื้นเมืองในไทยมากน้อยแค่ไหน หนึ่งในกระบวนการสำคัญในตอนนี้ คือขั้นตอนการพิจารณาศึกษาของคณะกรรมการวิสามัญฯ ร่าง พ.ร.บ. คุ้มครองและส่งเสริมวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ พ.ศ. … ซึ่งได้หารือกันในประเด็นนี้มาแล้วครั้งหนึ่งเมื่อวันที่ 28 มีนาคมที่ผ่านมา แต่เนื่องจากยังหาข้อสรุปไม่ได้ จึงยกให้เป็นวาระสืบเนื่อง ที่จะให้หน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องโดยเฉพาะหน่วยงานความมั่นคงและกระทรวงการต่างประเทศ มาร่วมชี้แจงอีกครั้งหนึ่งในการประชุมรอบถัดไปนวันที่ 4 เมษายน 2567 นี้
ณฐาภพ สังเกตุ เรียบเรียง