ฉันรู้สึกเจ็บปวดใจเมื่อแอบได้ยินเด็กๆคุยกันว่า “เราไม่ต้องพูดภาษาคะฉิ่นเดี๋ยวคนอื่นจะรู้ว่าเราเป็นชาวเขา”
“สราม่า” หรือ “ป้ามล” ของเด็กๆชนเผ่าคะฉิ่นแห่งบ้านใหม่สามัคคี ต.เมืองนะ อ.เชียงดาว จ.เชียงใหม่ ได้พูดถึงความกังวลที่มีต่อเด็กๆในหมู่บ้าน ป้ามลมีชื่อจริงว่า นางมล มาลิ เกิดเมื่อวันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2508 ปัจจุบันมีบุตรชายสองคนและบุตรสาวหนึ่งคน ด้วยเหตุผลจากการไม่มีที่ดินทำกินเป็นของตนเอง ป้ามลและครอบครัวจึงต้องไปรับจ้างทำไร่ที่หมู่บ้านแม่ข่า ต.แม่ข่า อ.ฝาง จ.เชียงใหม่ จึงทำให้ลูกๆของป้ามลพูดภาษาคะฉิ่น[1]ไม่ค่อยได้ และไม่นานมานี้เองได้ย้ายกลับไปยังหมู่บ้านใหม่สามัคคี ซึ่งเป็นชุมชนที่มีชนเผ่าคะฉิ่นอาศัยอยู่ ทำให้ตนได้กลับมาอยู่ใกล้ชิดกับพี่น้องคะฉิ่นอีกครั้ง
“ตอนแรกๆที่กลับมาอยู่ใหม่ๆ ลูกๆพูดภาษาคะฉิ่นไม่ได้เลย ฉันก็รู้สึกเสียใจเหมือนกันที่ลูกๆพูดภาษาตนเองไม่ได้ บ้านฉันตั้งอยู่ใกล้ๆถนน ตอนเย็นๆจะมีเด็กมาเดินเล่นกันและคุยกันเป็นภาษาไทย ซึ่งทำให้ฉันรู้สึกเจ็บปวดมากที่เด็กๆ ไม่ยอมพูดภาษาของตนเอง ต่างจากเด็กๆละหู่และจีน ซึ่งยังพูดภาษาของตัวเองอยู่”
ป้ามลได้แต่คิดว่าจะทำอย่างไรให้เด็กๆยอมพูดภาษาตนเอง ยอมเรียนรู้วัฒนธรรมของชนเผ่าตัวเอง เพราะทุกวันนี้คนแก่ๆก็เริ่มตายจากกันไปหมดแล้ว โดยเฉพาะคนที่ทอผ้าเก่งๆในหมู่บ้านก็เหลือแค่สองคน ถ้าปล่อยให้เป็นแบบนี้คะฉิ่นจะยังมีตัวตนอยู่ได้อย่างไร ซึ่งในขณะนั้นป้ามลก็ได้แต่คิด ไม่สามารถทำอะไรได้อีก เพราะไม่รู้ว่าจะเริ่มตรงไหน
จนเมื่อกระทั่งปี 2551 ได้มีโครงการการศึกษาไปซี่ (PEICY) ของสมาคมอิมเพ็คท์ (IMPECT) ได้เข้ามาในชุมชน จึงทำให้ตนเองมองเห็นทางออก เจ้าหน้าที่ได้เข้ามาอบรมเรื่องภาษาแม่และการถ่ายทอดวัฒนธรรม ตอนนั้นตนสังเกตว่าเด็กๆจะเชื่อฟังเจ้าหน้าที่มากกว่าพ่อแม่ เด็กๆเริ่มหันมาสนใจเรียนรู้วัฒนธรรมของตัวเองและจะมานั่งรอให้ผู้รู้มาสอน เช่น ดนตรี ภาษา การทอผ้า และประวัติศาสตร์ของชุมชน เป็นต้น ตนเองก็ได้มาเป็นผู้รู้ด้านการทอผ้าให้เด็กๆ “เดี๋ยวนี้เด็กๆกล้าพูดภาษาคะฉิ่น เวลาอยู่ด้วยกันเป็นกลุ่มก็จะพูดภาษาคะฉิ่นกัน เด็กบางคนสามารถทอผ้าได้เก่งกว่าแม่ด้วยนะ แต่ฉันก็ยังอยากให้เด็กฝึกทำเรื่อยๆ เพราะอยากสอนลายยากๆให้เด็กๆจนสามารถทอเป็นผ้าถุงได้เลย”
อย่างไรก็ตามป้ามลก็ยังมีข้อกังวลใจอยู่ว่า “ถ้าไม่มีการจัดกิจกรรมแบบนี้อย่างต่อเนื่อง จะทำให้เด็กๆไม่มีการสืบทอดวัฒนธรรมอีก และเด็กๆอาจจะมีเวลาว่างเยอะเกินและจะไปมั่วสุมทำสิ่งไม่ดี ฉันก็หวังเป็นอย่างยิ่งว่าจะมีการจัดกิจกรรมแบบนี้ให้เด็กๆที่บ้านอย่างต่อเนื่องเพื่อไม่ให้วัฒนธรรมของคะฉิ่นถูกกลืนหายไป”