“เรามีบันทึกประวัติศาสตร์ที่บ่งบอกได้ว่า ชาวเมี่ยนเรามีมานานกว่า 2,700 ปี”
คุณสมชาย รุ่งรัชตะวาณิช ประธานมูลนิธิอิ้วเมี่ยน-ไทย ได้บอกเล่าถึงความภาคภูมิใจในความเป็นมาของชาติพันธุ์เมี่ยน ที่มีการบันทึกไว้ในหนังสือเดินทางข้ามเขตภูเขา หรือ “เกียเซ็นป๊อง” ในภาษาเมี่ยน ที่มีการเรียนรู้ และถ่ายทอดให้ลูกหลานฟังจากรุ่นหนึ่งไปสู่อีกรุ่นหนึ่ง
กลุ่มชาติพันธุ์เมี่ยนตั้งถิ่นฐานกระจายอยู่ในหลายประเทศ ได้แก่ประเทศจีน เวียดนาม ลาว และไทย ชาวเมี่ยนจะเรียกตัวเองว่า “เมี่ยน” หรือ “อิ้วเมี่ยน” ซึ่งหมายถึง “มนุษย์”
“อิ้วเมี่ยน” คือหนึ่งใน 60 กลุ่มชาติพันธุ์ในเมืองไทยซึ่งอยู่มานานแล้ว โดยกระจายอยู่ตามเขตภูเขาของภาคเหนือตอนบน เช่น เชียงใหม่ เชียงราย พะเยา น่าน และภาคเหนือตอนล่าง เช่น ตาก สุโขทัย และกำแพงเพชร
ชาวอิ้วเมี่ยนเป็นกลุ่มชาติพันธุ์ที่มีเครื่องแต่งกายค่อนข้างโดดเด่น โดยเฉพาะเครื่องแต่งกายของสตรี โดยชุดเสื้อ-กางเกง จะใช้พื้นสีดำ ที่เสื้อจะมีคอปกเสื้อบุด้วยไหมพรมสีแดงปุกปุยยาวมาจนถึงช่วงเอว ผ้าโพกหัวมีลายปักของเมี่ยนที่เป็นลวดลายเฉพาะ เช่นเดียวกับกางเกงของผู้หญิงก็จะมีลายปักที่สวยงาม ซึ่งหากมีงานบุญหรืองานพิธีของเมี่ยน ผู้หญิงเมี่ยนมักจะนำเอาเครื่องประดับเงินมาประดับตกแต่งชุดตนเองให้มีความสวยงาม ตระการตา
ชาวอิ้วเมี่ยนนั้น เครื่องเงินมีความสำคัญและเกี่ยวข้องกับวิถีชีวิตของพวกเขามาก ไม่ว่าจะเป็นการซื้อขาย แลกเปลี่ยนสินค้า การนำมาทำเป็นเครื่องประดับ รวมทั้งใช้เป็นสินสอดและสิ่งของในการสู่ขอหญิงสาวมาเป็นคู่ชีวิตเพื่อสร้างครอบครัว โดยฝ่ายชายจะต้องมีเครื่องเงินสำหรับใช้สู่ขอหรือเป็นเครื่องหมั้นหมายหญิงสาวที่ชายหนุ่มหมายปองไว้
เก้าออน แซ่ฟ่าน ช่างเครื่องเงินแห่งหมู่บ้านสะนาว อ.ปัว จ.น่าน ได้เล่าถึงความสำคัญของเครื่องเงินที่มีต่อชาวเมี่ยนว่า สมัยก่อนที่ยังไม่มีเงิน หรือธนบัตรใช้เหมือนปัจจุบัน ชาวเมี่ยนจะใช้เครื่องเงินแทน เครื่องเงินจึงเป็นสิ่งที่มีความสำคัญ และเป็นการบ่งบอกฐานะหรือศักยภาพของแต่ละครอบครัวในชุมชน
นอกจากนี้เครื่องเงินของชาวอิ้วเมี่ยน ยังบอกเล่าถึงเรื่องราววิถีชีวิต ความศรัทธาและความเชื่อที่สะท้อนผ่านลวดลายการแกะสลักบนเครื่องประดับเงิน โดยเฉพาะกำไลเงินข้อแขนคู่หนึ่งที่ชาวเมี่ยนเรียกว่า “สะเฝียนเจี้ยม” หรือ กำไลหมั้น
กำไลหมั้นหมายคู่รักของหนุ่มเมี่ยนที่จะมอบให้กับคนรักก่อนแต่งงานหรือในวันแต่งงานเพื่อเป็นการบ่งบอกว่าผู้หญิงคนนี้มีการหมั้นหมายแล้ว หรือมีเจ้าของแล้ว
“สะเฝียนเจี้ยม” นอกจากจะถูกสลักลวดลายเพื่อให้กำไลคู่ดูสวยงามแล้ว หากแต่ยังแฝงด้วยความหมายที่เป็นมงคลในการครองเรือนให้กับคู่สามีภรรยาด้วย
โดยมีลายสำคัญ 4 ลายดังนี้
ลายเถาวัลย์ หมายถึง ให้รักกันเหนียวแน่น
ลายดอกแตง หมายถึง ให้มีลูกกันเยอะๆ เหมือนลูกแตง
ลายเส้นตรง หมายถึง ให้มีความซื่อตรง ซื่อสัตย์ต่อกัน
ลายดอกหญ้า หมายถึง ให้ทั้งคู่มีลูกหลานแพร่กระจายออกไปมากมายเหมือนดอกหญ้า
เมื่อเครื่องเงินคือเครื่องหมายของความมั่งคั่งหรือเป็นการแสดงศักยภาพของผู้นำครอบครัว การตีหรือการทำเครื่องเงินจึงยังคงดำรงอยู่ในวิถีชีวิตของชาวเมี่ยนตลอดมา ต่อมาการตีเงินได้รับการส่งเสริมและพัฒนาจากหน่วยงานภาครัฐและองค์กรต่างๆ รวมถึงมีดีไซเนอร์ระดับมืออาชีพหลายคนมาช่วยกันออกแบบ (ผ่านศูนย์ศิลปาชีพในโครงการพระราชดำริ) จึงทำให้เครื่องเงินของชาวเมี่ยนมีความร่วมสมัยและเป็นที่ถูกใจของผู้นิยมเครื่องประดับ การตีเงินจึงกลายเป็นอาชีพใหม่ของคนเมี่ยน โดยเฉพาะที่หมู่บ้านห้วยสะนาว อ.ปัว จ.น่าน เครื่องเงินที่นี่ได้รับความนิยมและเป็นที่สนใจทั้งของคนไทยและต่างประเทศ จนทำให้ทุกคนในหมู่บ้านหันมาตีเงิน ซึ่งมีรายได้ดีจนหลายครอบครัวสามารถพัฒนาตนเองจนกลายมาเป็นผู้ประกอบการ
เครื่องเงินเมี่ยนจังหวัดน่านสามารถสร้างรายได้มากกว่า 200 ล้านบาท/ปี (โดยเฉลี่ย) จนทำให้ภาคธุรกิจเครื่องเงินน่านต้องเปิดสถาบันเพื่อผลิตช่างเงินรองรับตลาดที่ขยายตัวเพราะผู้ที่จะทำงานการผลิตด้านนี้ต้องอาศัยองค์ความรู้และทักษะความสามารถเฉพาะทาง ซึ่งยังไม่มีหลักสูตรการเรียนการสอนที่ไหนจะสอนได้
คุณสมชาย รุ่งรัชตะวาณิช เจ้าของดอยคำซิลเวอร์ ซึ่งเป็นผู้ก่อตั้งสถาบันสอนการเป็นช่างเงิน ได้กล่าวว่า “นอกจากการผลิตช่างเงินรุ่นใหม่เพื่อมาแทนที่คนรุ่นเก่าที่หลายคนเริ่มทำไม่ไหวแล้ว การตั้งสถาบันฯ ยังเป็นการจัดการ จัดระบบองค์ความรู้เรื่องการตีเงิน เพราะสิ่งนี้นอกจากจะเป็นรายได้ การสร้างอาชีพให้กับทุกคนแล้ว ยังถือได้ว่า สิ่งที่นี่คือการตอบแทนสังคม เราทำมาหากินบนผืนแผ่นดินไทย เราก็ควรให้อะไรคืนกลับกับสังคมบ้าง”
เศรษฐกิจเครื่องเงินของน่านยังคงรุ่งโรจน์ แม้ว่าสถานการณ์โควิดจะทำให้รายได้และกิจการมีการสะดุดหรือชะงักไปบ้าง แต่การสั่งเครื่องเงินจากต่างประเทศและในประเทศยังคงมีเข้ามาไม่ขาดสาย และหลังจากโรคโควิด-19 กลายเป็นโรคประจำถิ่นและวิถีชีวิตคนไทยเข้าสู่ปกติแล้ว คาดว่าเครื่องเงินเมี่ยนในจังหวัดน่าน ก็จะยังคงเติบโตงดงามต่อไป
เครื่องเงินจึงเป็นทั้งงาน “หัตศิลป์” และเป็น “อัตลักษณ์” ทางวัฒนธรรมที่สำคัญอย่างหนึ่งของชาวอิ้วเมี่ยน ที่มีการเรียนรู้ สืบทอดต่อกัน และมีการปรับตัวให้เหมาะสมกับสภาวการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไป