ประสิทธิ์ ลีปรีชา

ความขัดแย้งเรื่องที่ดินและป่าไม้ในพื้นที่ม่อนแจ่มซึ่งเป็นแหล่งท่องเที่ยวยอดนิยมบนภูเขาของจังหวัดเชียงใหม่ กลายเป็นข่าวใหญ่ทั้งในสื่อกระแสหลักและสื่อสังคมออนไลน์ครั้งแล้วครั้งเล่า ล่าสุดคือเมื่อวันที่ 29 สิงหาคม 2565 เจ้าหน้าที่ป่าไม้สนธิกำลังกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จำนวนกว่า 100 นาย คนในเครื่องแบบหลายนายติดอาวุธสงครามครบมือ เดินทางเข้าเตรียมทำการรื้อถอนบ้านพักรับนักท่องเที่ยวของชาวม้งในพื้นที่ม่อนแจ่ม เป้าหมายแรกนี้คือจำนวน 5 หลัง แต่ชาวบ้านกว่า 500 คน ได้ทำการปิดถนนในหมู่บ้าน ทำให้เจ้าหน้าที่ไม่สามารถเดินทางเข้าไปยังพื้นที่เป้าหมายได้ การเจรจาระหว่างหัวหน้าหน่วยงานป่าไม้กับตัวแทนชาวบ้านดำเนินการยาวนานกว่าสองชั่วโมง ในที่สุดฝ่ายเจ้าหน้าที่ได้ออกจากพื้นที่เผชิญหน้า มารวมตัวประชุมหารือกันที่สำนักงานโครงการหลวงหนองหอย ขณะเดียวกันผู้นำหมู่บ้านม้งในกลุ่มเครือข่ายสิ่งแวดล้อมม้งจำนวน 12 หมู่บ้านได้เข้ายื่นหนังสือถึงหัวหน้าสำนักงานป่าไม้เขตที่ 16 ที่เป็นหัวหน้าชุดปฏิบัติการดังกล่าว จากนั้นเจ้าหน้าที่ทั้งหมดจึงเดินทางกลับลงไปในที่สุด



ถัดมาเมื่อวันที่ 5 กันยายน 2565 ชาวบ้านได้เดินเท้าจากหมู่บ้านลงไปยื่นหนังสือที่สำนักงานเทศบาลตำบลแม่แรม ที่ศาลากลางจังหวัดเชียงใหม่ และถวายฎีกาต่อสำนักพระราชวัง กับทั้งที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมกับหน่วยงานอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องในกรุงเทพฯ
ปัญหาความขัดแย้งเรื่องการใช้ที่ดินระหว่างหน่วยงานป่าไม้กับชาวบ้านในพื้นที่ม่อนแจ่มเป็นประเด็นที่เรื้อรังมานาน ดังนั้น การย้อนกลับไปทำความเข้าใจถึงพัฒนาการของชุมชน กับความย้อนแย้งของนโยบายส่งเสริมการท่องเที่ยวที่หน่วยงานภายนอกนำเข้าไปในพื้นที่ และมาตรการด้านความมั่นคง นอกจากจะทำให้เกิดความเข้าใจที่มาที่ไปแล้ว น่าจะนำไปสู่การหาทางออกในการแก้ไขปัญหาร่วมกันที่ดีขึ้น
ความเป็นมาของม่อนแจ่ม

พื้นที่ที่ปัจจุบันคนภายนอกรู้จักกันในชื่อ “ม่อนแจ่ม” ครอบคลุม 3 หมู่บ้านทางการด้วยกัน คือหนองหอยเก่า หนองหอยใหม่ และแม่ขิ-ปางไฮ จำนวนประชากรรวมประมาณ 3,800 คน ชาวบ้านส่วนใหญ่เป็นกลุ่มชาติพันธุ์ม้ง เฉพาะบ้านหนองหอยเก่ากับหนองหอยใหม่มีบางครอบครัวที่เป็นลีซูและจีนฮ่อ ส่วนบ้านแม่ขิ-ปางไฮมีส่วนหนึ่งเป็นคนไทยพื้นราบ
ย้อนกลับไปถึงพัฒนาการของชุมชนม้งในพื้นที่ม่อนแจ่ม จากคำบอกเล่าของผู้อาวุโสและบันทึกของเยาวชนรุ่นใหม่ของบ้านหนองหอยเก่า หนองหอยใหม่และแม่ขิ-ปางไฮ ซึ่งเป็นหมู่บ้านร่วมบนดอยม่อนแจ่ม ม้งรุ่นแรกจำนวน 35 ครัวเรือนเข้าตั้งชุมชนที่บ้านหนองหอยเมื่อปี 2447 จนกระทั่งถึงปี 2484 จึงได้รับการยกฐานะเป็นหมู่บ้านทางการและมีการแต่งตั้งผู้ใหญ่บ้านคนแรก ด้วยปัญหาการถูกโจรเข้ามาปล้นฆ่าชาวบ้าน โรคระบาด กับภัยอันตรายจากสัตว์ป่า จึงเกิดการย้ายถิ่นฐานไปยังพื้นที่บริเวณใกล้เคียงเป็นบางช่วงเวลา แต่สุดท้ายก็กลับมาตั้งชุมชนถาวรอยู่ที่หมู่บ้านหนองหอยเก่าในปัจจุบันตั้งแต่ปี 2498 เป็นต้นมา ซึ่งมีหลักฐานแสดงให้เห็นถึงพื้นที่ทำกินของชาวบ้านในชุมชนหนองหอยปรากฏในภาพถ่ายทางอากาศเมื่อปี 2497
ต่อมาป่าสงวนแม่ริม ซึ่งครอบคลุมเขตภูเขาในพื้นที่ตำบลขี้เหล็ก สันโป่ง ห้วยทราย สะลวง แม่แรม และตำบลโป่งแยงในเขตอำเภอแม่ริม ถูกประกาศเมื่อวันที่ 20 พฤศจิกายน 2507 ภายหลังจากที่รัฐบาลมีการตราพระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติฉบับแรกของประเทศ เมื่อวันที่ 6 เมษายน 2507 อย่างไรก็ตาม กรมป่าไม้ไม่ได้กันพื้นที่อยู่อาศัยและที่ทำกินของชาวม้งในพื้นที่ชุมชนหนองหอยออกจากการประกาศเขตป่าสงวนแม่ริมดังกล่าวแต่อย่างใด
จนกระทั่งปี 2545 ชาวบ้านและเจ้าหน้าที่ป่าไม้จึงได้ร่วมกันปักเขตแบ่งแนวชัดเจนระหว่างที่ทำกินของชาวบ้านกับเขตป่าสงวนแห่งชาติ ไม่ให้มีการรุกล้ำซึ่งกันและกัน กระนั้นก็ตาม ความขัดแย้งเรื่องการใช้ที่ดินกับป่าไม้ระหว่างสองฝ่ายยังคงกลายเป็นปัญหาใหญ่ในปัจจุบัน โดยเฉพาะภายหลังจากม่อนแจ่มได้กลายมาเป็นแหล่งท่องเที่ยวยอดนิยมแห่งหนึ่งของจังหวัดเชียงใหม่
หลังจากที่รัฐบาลส่วนกลางเริ่มให้ความสนใจกับปัญหาและมีนโยบายการพัฒนาชาวเขาเมื่อปี 2502 เข้าสู่ปี 2505 โรงเรียนชายแดนสงเคราะห์ที่ 14 ได้รับการจัดตั้งขึ้นโดยกองกำกับการตำรวจตระเวนชายแดนที่ 5 ค่ายดารารัศมี แต่ภายหลัง คือเมื่อปี 2510 สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชนนีได้เสด็จเยี่ยมราษฎรที่บ้านหนองหอย จึงมีการเปลี่ยนชื่อเป็นโรงเรียนเจ้าแม่หลวงอุปถัมภ์ 2 ดังที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน
อาชีพหลักของชาวม้งบ้านหนองหอยในยุคก่อนกลางทศวรรษ 2520 เป็นการทำเกษตรแบบพึ่งตนเองเป็นหลัก คือปลูกข้าวเพื่อบริโภคในครัวเรือน ปลูกข้าวโพดเพื่อเลี้ยงสัตว์และเสริมเป็นอาหาร กับมีฝิ่นที่เป็นพืชเศรษฐกิจหลักและใช้เป็นยารักษาโรค การเสด็จเยี่ยมและเรียนรู้วิถีชีวิตของราษฎรของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ตั้งแต่กลางทศวรรษ 2500 เป็นต้นมา รวมทั้งการเสด็จครั้งแรกที่บ้านหนองหอยเมื่อปี 2509 นำมาซึ่งพระราชดำริในการจัดตั้งโครงการหลวงขึ้นเมื่อปี 2512 เพื่อมุ่งส่งเสริมพืชเงินสดที่ถูกกฎหมายแทนการปลูกฝิ่นของราษฎรบนพื้นที่สูง เพราะซื้อขายและเสพฝิ่นถูกรัฐบาลประกาศให้เป็นของผิดกฎหมายตั้งแต่เมื่อปี 2502
สำหรับที่บ้านหนองหอย เมื่อปี 2527 โครงการหลวงได้จัดตั้งศูนย์พัฒนาโครงการหลวงหนองหอยขึ้น เน้นส่งเสริมอาชีพการเกษตร โดยเฉพาะการปลูกผัก เช่น ผักกาดขาวปลี ผักกาดหอมห่อ หอมญี่ปุ่น ปวยเล้ง ฯลฯ เพราะเป็นพื้นที่สูงประมาณ 1,200 เมตรจากระดับน้ำทะเล ซึ่งเหมาะกับการปลูกพืชเมืองหนาว พื้นที่หนองหอยจึงเป็นแหล่งผลิตผักมากเป็นอันดับหนึ่งของโครงการหลวง ชาวบ้านเกือบทั้งหมดเคยเป็นสมาชิกของโครงการหลวง แต่ปัจจุบันมีเพียงประมาณร้อยละ 40 จากจำนวนกว่า 600 ครอบครัวในพื้นที่รับผิดชอบ
จุดเริ่มต้นของการท่องเที่ยวที่ม่อนแจ่ม

เจ้าหน้าที่ท่านหนึ่งได้ให้ข้อมูลว่าการท่องเที่ยวในพื้นที่ม่อนแจ่มซึ่งครอบคลุมเขตพื้นที่หมู่บ้านหนองหอยเก่า หนองหอยใหม่ และแม่ขิ-ปางไฮ เริ่มเมื่อต้นทศวรรษ 2540 โดยสำนักพัฒนาเกษตรที่สูงของโครงการหลวงได้รับผิดชอบให้ส่งเสริมการท่องเที่ยว เน้นการท่องเที่ยวเชิงเกษตรและเชิงวัฒนธรรม เน้นให้นักท่องเที่ยวเข้ามาชมพื้นที่และแปลงปลูกพืชของโครงการหลวง กับเรียนรู้วิถีชีวิตและประเพณีของชาวบ้านแต่ละชาติพันธุ์ เน้นให้ชาวบ้านทำเป็นอาชีพเสริมนอกเหนือจากการทำการเกษตร แต่ตอนหลังชาวบ้านเริ่มตอบสนองความต้องการด้านที่พักแก่นักท่องเที่ยวด้วยการสร้างสิ่งปลูกสร้างถาวรมากขึ้น ยึดการท่องเที่ยวเป็นอาชีพหลัก โครงการหลวงจึงยกเลิกกิจการการท่องเที่ยว เพราะไม่อยากให้ถูกกล่าวหาว่าเป็นตัวอย่างให้ชาวบ้านทำการปลูกสร้างสิ่งปลูกสร้างถาวร ท่ามกลางความขัดแย้งในการใช้พื้นที่ดินระหว่างหน่วยงานป่าไม้กับชาวบ้านในปัจจุบัน เจ้าหน้าที่โครงการหลวงพยายามวางตัวเป็นกลาง ปล่อยให้เป็นเรื่องของกระบวนการทางกฎหมาย

ในส่วนของชาวบ้าน จากเอกสารที่จัดทำขึ้นโดยชุมชนและจากการสัมภาษณ์ชาวบ้านที่เกี่ยวข้อง โครงการหลวงเริ่มเน้นการส่งเสริมการท่องเที่ยวประมาณปี 2540 โดยการพาตัวแทนชาวบ้านเดินทางไปรับการฝึกอบรมกับดูงานการจัดการท่องเที่ยวในชุมชนท่องเที่ยวอื่นในพื้นราบและที่ดอยอ่างขาง กลับมาในหมู่บ้านชาวบ้านก็ยังไม่รู้จะเริ่มต้นธุรกิจการท่องเที่ยวอย่างไร โครงการหลวงได้สร้างบ้านพักนักท่องเที่ยว (Guest House) ขึ้นหนึ่งหลัง กับแต่งตั้งคณะกรรมการท่องเที่ยวของหมู่บ้านขึ้น มีนายสรพงษ์ เมธาอนันต์กุล เป็นประธาน แต่ในยุคนั้นก็ยังไม่มีกิจกรรมอะไรมากนัก เผอิญว่าเมื่อปี 2550 คุณ “แจ่ม” ที่ติดตามผู้บริหารโครงการหลวงในยุคนั้นเข้ามาในชุมชนหนองหอยเก่า เห็นว่าจุดเนินเขาที่ปัจจุบันเป็นม่อนแจ่มในตอนนั้นเป็นที่ดินทำกินของชาวบ้าน ซึ่งมีลักษณะของดินปนหิน ไม่ได้ใช้ประโยชน์ในการเพาะปลูกอย่างเต็มที่ จึงขอซื้อจากเจ้าของ แล้วประชาสัมพันธ์ให้กลายเป็นจุดท่องเที่ยว ตั้งชื่อเป็น “ม่อนแจ่ม” ด้วยการเชิญเพื่อนดารานักแสดงมาถ่ายทำวิดีโอแล้วนำไปเผยแพร่ จากนั้นมาจึงมีนักท่องเที่ยวจากชุมชนพื้นราบเริ่มรู้จักและขึ้นมาเที่ยวมากขึ้น โครงการหลวงจึงสร้างอาคารชั่วคราวขึ้นตรงจุดชมวิวม่อนแจ่ม ทำเป็นร้านขายอาหารกับกาแฟ ทำแปลงปลูกดอกไม้ กับให้บริการกางเต็นท์เพื่อให้นักท่องเที่ยวพักค้างคืนในช่วงแรก
ช่วงกลางถึงปลายทศวรรษ 2540 นั้น ในพื้นที่ส่งเสริมการท่องเที่ยวของโครงการหลวงอย่างดอยอ่างขางและดอยอินทนนท์ โครงการหลวงได้สร้างบ้านพักรับนักท่องเที่ยวกับทำลานกางเต็นท์ขึ้น เช่นเดียวกับการบ้านพักและลานกางเต็นท์ของอุทยานแห่งชาติในกรณีของดอยอินทนนท์ เริ่มมีนักท่องเที่ยวขึ้นไปใช้บริการของทั้งสองแห่งมากขึ้น ชาวบ้านที่หนองหอยจึงได้ไปเรียนรู้จากทั้งสองพื้นที่ดังกล่าว ระหว่างปี 2551 จึงมีคนรุ่นใหม่ในหมู่บ้านเริ่มทำการปลูกสร้างที่พักกับทำลานกางเต็นท์รับนักท่องเที่ยวในที่ดินของตน โดยเฉพาะเจ้าของที่ดินที่อยู่ในจุดชมวิวสวยงาม ต่อมาเมื่อมีจำนวนนักท่องเที่ยวขึ้นไปพักค้างคืนมากขึ้น เจ้าของที่ดินแปลงอื่นๆ จึงเปลี่ยนพื้นที่ทำการเกษตรของตนมาสร้างบ้านพักรับนักท่องเที่ยวมากขึ้นตามลำดับ ปัจจุบันมีสมาชิกที่เข้ากลุ่มวิสาหกิจท่องเที่ยวชุมชนม่อนแจ่ม ประมาณ 120 เจ้า ค้างเพียงไม่กี่เจ้าที่ไม่ได้เข้าร่วม ในจำนวนนี้รวมแล้วมีที่พักทั้งที่สร้างแบบชั่วคราวและค่อนข้างถาวรประมาณ 1,000 หน่วยหรือหลัง จากการประเมินของตัวแทนหมู่บ้าน แต่ละปีน่าจะมีเงินหมุนเวียนเกี่ยวกับการท่องเที่ยวในม่อนแจ่มประมาณ 500 ล้านบาท นับเป็นการสร้างรายได้ให้กับชุมชนมากกว่าการปลูกพืชเงินสดอย่างแน่นอน สำคัญคือการเปลี่ยนมาให้บริการที่พักแก่นักท่องเที่ยวทำให้สามารถลดการใช้สารเคมีและปัญหาการชะล้างหน้าดินลงไปได้มาก
เอกสารอ้างอิง
www.facebook.com/thaithenorth, และ https://www.facebook.com/tpbsnorth, 29 สิงหาคม 2565
สำนักข่าวไทย, 5 กันยายน 2565 และ The Reporters, 6 กันยายน 2565
http://old.forest.go.th/ chaingmai_1/forestfarm39/farm/web/images/stories/file/cm_K1003.pdf, สืบค้นเมื่อ 30 กันยายน 2565
https://www.forest.go.th/economy/th, สืบค้นเมื่อ 30 กันยายน 2565
กองสงเคราะห์ชาวเขา 2545
มูลนิธิโครงการหลวง ม.ป.ป.