ม่อนแจ่ม: ความย้อนแย้งของนโยบายส่งเสริมการท่องเที่ยว

จุดเริ่มต้นของความขัดแย้ง

ความขัดแย้งในการใช้พื้นที่ดินระหว่างเจ้าหน้าที่ป่าไม้กับชาวบ้านที่ดอยม่อนแจ่ม  ผู้นำชุมชนให้ข้อมูลว่าเดิมนั้นมีพื้นที่ทำการเกษตรประมาณ 4,500 ไร่ แต่เมื่อในหลวงรัชกาลที่ 9 ได้เสด็จที่บ้านหนองหอยเก่าหลายครั้ง แล้วเอาโครงการหลวงเข้ามาตั้งเมื่อปี 2527 และมีนโยบายส่งเสริมการปลูกพืชเชิงพาณิชย์ พระองค์ท่านจึงได้ขอความร่วมมือให้ชาวบ้านมีส่วนในการช่วยฟื้นฟูป่า ชาวบ้านจึงยินดียกที่ดินทำกินเกือบครึ่งหนึ่งของชุมชนเพื่อทำการฟื้นฟูร่วมกับหน่วยงานป่าไม้ให้กลับคืนสู่สภาพป่าดังเดิม คงเหลือพื้นที่ทำกินเพียงประมาณ 2,800 ไร่เท่านั้น ตั้งแต่ปี 2545 เป็นต้นมา ชาวบ้านได้ร่วมมือกับเจ้าหน้าที่ป่าไม้ทำการปักเขตแบ่งแนวชัดเจนระหว่างที่ทำกินของชาวบ้านกับเขตป่าสงวนแห่งชาติแม่ริม ไม่ให้มีการรุกล้ำซึ่งกันและกัน

เข้าสู่ปี 2546 โครงการหลวงได้ให้เจ้าพนักงานของ สปก. เข้ามารังวัดเพื่อทำแผนที่ให้มีรูปแปลงการใช้ที่ดิน เพราะตอนนั้นโครงการหลวงต้องการจดทะเบียนพืชผักปลอดสารพิษที่ชาวบ้านปลูกส่งโครงการหลวง จึงจำเป็นต้องมีการระบุถึงจุดบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (GAP) แต่การรังวัดและทำแผนที่ในครั้งนั้นก็มีจุดบกพร่องหลายประการด้วยกัน

ปี 2562 ชาวบ้านเริ่มมีการสร้างที่พักรับนักท่องเที่ยวมากขึ้น เจ้าหน้าที่ป่าไม้ได้ฟ้องร้องดำเนินคดีกับชาวบ้าน ด้วยข้อหาบุกรุก แผ้วถาง ทำลายป่า ซื้อขายเปลี่ยนมือให้คนนอกชุมชน และชาวบ้านเป็นนอมินีให้นายทุนจากข้างนอก รวมทั้งการใช้พื้นที่ผิดวัตถุประสงค์ โดยเจ้าหน้าที่ป่าไม้อ้างว่ามีการจัดทำแผนที่เมื่อปี 2552 แต่เมื่อตรวจสอบข้อเท็จจริงแล้ว เจ้าหน้าที่ป่าไม้ยอมรับว่าเป็นการใช้แผนที่ของโครงการหลวงที่ทำเมื่อปี 2546 ซึ่งไม่มีความสมบูรณ์  แม้ที่ผ่านมาจะมีการตั้งคณะทำงานในระดับอำเภอเพื่อแก้ไขปัญหานี้ แต่ก็ไม่ได้มีความคืบหน้าในระดับปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรมแต่อย่างใด

อย่างไรก็ตาม เฉพาะในพื้นที่เขตของสามหมู่บ้านนั้น ตั้งแต่ปี 2562 เป็นต้นมา ครั้งแล้วครั้งเล่าที่เจ้าหน้าที่ป่าไม้ร่วมกับหน่วยงานความมั่นคงของจังหวัดเชียงใหม่ได้พยายามกดดันด้วยการสั่งให้บริษัทเอกชนรื้อเสาสัญญาณโทรศัพท์ ตัดไฟ ตัดน้ำ และพยายามเข้าไปรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างเพื่อรับนักท่องเที่ยวของชาวบ้าน ทั้งๆ ที่ก่อนหน้านั้น 20 คดีถูกส่งจากเจ้าหน้าที่ขึ้นถึงอัยการ อัยการได้ลงความเห็นว่าไม่ฟ้อง แต่ในทางกฎหมายก็ยังมีการดำเนินการฟ้องคดีใหม่เพิ่มอีก ซึ่งในความเข้าใจของชาวบ้านนั้นยังคงมีความพยายามของเจ้าหน้าที่ระดับสูงบางหน่วยงานในการผลักดันเข้าสู่กระบวนการทางกฎหมายเพื่อเอาผิดชาวบ้านให้ได้อยู่

ความย้อนแย้งของนโยบายด้านการพัฒนาที่เน้นการท่องเที่ยวของหน่วยงานรัฐในกรณีของม่อนแจ่ม
อยู่ที่การเปลี่ยนนโยบายของโครงการหลวง ที่เริ่มต้นด้วยการพยายามส่งเสริมการท่องเที่ยวในพื้นที่ชุมชนที่ตั้งของโครงการหลวงตั้งแต่ต้นทศวรรษ 2540 แต่กลับยุตินโยบายด้านนี้โดยสิ้นเชิงในยุคที่มีการเปลี่ยนคณะผู้บริหารโครงการหลวงชุดใหม่ ตั้งแต่ปี 2560 เป็นต้นมา ซึ่งเป็นช่วงเวลาต่อเนื่องจากที่รัฐบาลพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา มีนโยบายทวงคืนผืนป่า ตั้งแต่ปี 2557 ขณะที่ม่อนแจ่มได้กลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่นิยมของนักท่องเที่ยว กับคนรุ่นใหม่ในชุมชนได้ก้าวเข้าสู่ธุรกิจบริการที่พักนักท่องเที่ยวอย่างเต็มตัวแล้ว  กล่าวคือ ในยุคที่โครงการหลวงเริ่มขยายงานจากการส่งเสริมการเกษตรไปเป็นการท่องเที่ยวในช่วงต้นทศวรรษ 2540 ปรากฏชัดในบทเขียนชัดเจนที่ว่า

ในระยะแรก โครงการหลวงเริ่มต้นด้วยการเกษตร โดยไม่ได้เน้นในเรื่องของการท่องเที่ยว แต่ในพื้นที่ของโครงการมีจุดเด่นที่ดึงดูดให้คนสนใจมาท่องเที่ยว ได้แก่

  • ผลผลิตทางการเกษตร ที่มีพืชผัก ผลไม้ ดอกไม้เมืองหนาวที่แปลก และงดงาม ทำให้นักท่องเที่ยวชาวไทยเดินทางมาเที่ยว โดยเฉพาะในฤดูหนาว
  • ภูมิประเทศที่เป็นป่าเขา มีความหลากหลายทางชีวภาพ ทั้งพืช และสัตว์ เหมาะสำหรับการเดินป่าศึกษาธรรมชาติ และการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์
  • ภูมิอากาศเย็นสบาย โดยเฉพาะในฤดูหนาว
  • มีชาวเขาเผ่าต่างๆ ที่มีวัฒนธรรม ประเพณี ชีวิตความเป็นอยู่ ความเชื่อ การสร้างบ้านเรือน และการแต่งกายที่แตกต่างกัน เหมาะสำหรับคนที่ชอบการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม

จากสิ่งดึงดูดใจที่กล่าวมาแล้ว ทำให้มีนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทย และชาวต่างประเทศเดินทางมาท่องเที่ยวในพื้นที่โครงการหลวงเป็นจำนวนมาก และเพิ่มมากขึ้นทุกปี โครงการหลวงจึงได้พัฒนาพื้นที่ในโครงการให้เป็นแหล่งท่องเที่ยว และสามารถหารายได้เสริมให้กับคนในท้องที่ โดยในระยะแรกได้พัฒนาสถานีหลักของโครงการให้เป็นแหล่งท่องเที่ยว 2 แห่ง คือสถานีเกษตรหลวงอ่างขาง และสถานีวิจัยอินทนนท์ จนติดตลาด เป็นที่รู้จักของนักท่องเที่ยวทั่วไป ทั้งชาวไทย และชาวต่างประเทศ จนในปี พ.ศ. 2543 มูลนิธิโครงการหลวงได้รับรางวัลจากการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย ในฐานะที่เป็นหน่วยงานพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวดีเด่น

เพื่อส่งเสริมให้เกิดการท่องเที่ยวในพื้นที่โครงการหลวง นอกจากการฝึกอบรมบุคลากรของโครงการหลวงกับชาวบ้านในพื้นที่โครงการหลวงดังที่ได้กล่าวมาข้างต้นแล้ว ในส่วนของงานวิชาการ ได้ให้ทุนการวิจัยแก่นักวิชาการเพื่อทำแผนแม่บทการจัดการท่องเที่ยวในพื้นที่โครงการหลวง การประชาสัมพันธ์การท่องเที่ยวในพื้นที่โครงการหลวง การประเมินผลโครงการพัฒนาการท่องเที่ยวในพื้นที่โครงการหลวง รวมทั้งการเผยแพร่ในช่องทางการสื่อสิ่งพิมพ์ ผลการส่งเสริมและประชาสัมพันธ์มาตั้งแต่ต้นทศวรรษ 2540 ทำให้ความนิยมของนักท่องเที่ยวในการเดินทางเข้าพื้นที่โครงการหลวงเริ่มมีมากขึ้น โดยเฉพาะที่สถานีเกษตรหลวงอ่างขางและดอยอินทนนท์ ขณะเดียวกัน ชาวบ้านที่เป็นคนรุ่นใหม่ในสองพื้นที่และพื้นที่อื่นๆ เริ่มเรียนรู้และเริ่มกิจการบ้านพักรับนักท่องเที่ยวของตัวเองมากขึ้นตั้งแต่ต้นทศวรรษ 2550

อย่างไรก็ตาม งานด้านการท่องเที่ยวของโครงการหลวงมีอันต้องยุติลงในยุคเปลี่ยนผ่านคณะกรรมการบริหารมูลนิธิโครงการหลวง ช่วงปลายทศวรรษ 2550 ต่อต้นทศวรรษ 2560 เริ่มต้นจากบ้านพักรับนักท่องเที่ยวของโครงการหลวงที่ดอยอ่างขางและดอยอินทนนท์ถูกสั่งปิด บ้านพักรับนักท่องเที่ยวของชาวบ้านที่ดอยอ่างขางต้องหยุดดำเนินกิจการทั้งหมด ขณะที่ที่ดอยอินทนนท์นั้นชาวบ้านยังคงดำเนินการต่อ แต่ถูกจำกัดและเข้มงวดอย่างมากจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ส่วนในพื้นที่ม่อนแจ่ม โครงการหลวงได้เลิกกิจการร้านอาหารและกาแฟบนจุดท่องเที่ยวม่อนแจ่ม แล้วเปลี่ยนพื้นที่ท่องเที่ยวยอดนิยมดังกล่าวเป็นศูนย์เรียนรู้การปลูกป่าเฉลิมพระเกียรติแทน ดังปรากฏในเนื้อหาของข่าวเมื่อวันที่ 27 กรกฎาคม 2562 ถึงภารกิจที่สำคัญอีกอย่างหนึ่งของโครงการหลวงคือ

การส่งเสริมให้ชุมชนรักษ์ ฟื้นฟู ดูแลรักษาป่าต้นน้ำลำธาร ตามวัตถุประสงค์หลักของมูลนิธิโครงการหลวง ดังนั้นมูลนิธิโครงการหลวง โดยศูนย์พัฒนาโครงการหลวงหนองหอยจึงได้จัดกิจกรรมการปลูกป่าในพื้นที่ขึ้นในช่วงเดือนกรกฎาคมของทุกปี และในปีนี้ซึ่งเป็นปีมหามงคลและเนื่องในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษาพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในวันที่ 28 กรกฎาคม นี้ มูลนิธิโครงการหลวงจึงได้จัดกิจกรรมการปลูกป่าเฉลิมพระเกียรติครั้งนี้ขึ้น และมีแนวคิดที่จะปรับพื้นที่บริเวณม่อนแจ่มให้กลายเป็นศูนย์เรียนรู้การปลูกป่าในระบบวนเกษตร ภายใต้แนวคิดการใช้พื้นที่อย่างถูกต้องตามระบบอนุรักษ์ดินและน้ำเพื่อให้เกิดความยั่งยืน เป็นตัวอย่างแก่เกษตรกรและประชาชนโดยทั่วไป ….พลเอก กัมปนาท รุดดิษฐ์ องคมนตรี ประธานกรรมการบริหาร มูลนิธิโครงการหลวง เป็นประธานในพิธี มีหน่วยงานภาครัฐ เอกชนในอำเภอแม่ริม บุคลากรของมูลนิธิโครงการหลวง ผู้นำชุมชน และราษฎรชุมชนบ้านหนองหอยเก่า จำนวนกว่า 350 คน ร่วมกันปลูกต้นไม้จำนวน 2,650 ต้น

การที่ชาวบ้านเปลี่ยนพื้นที่ทำการเกษตรมาเป็นพื้นที่ปลูกสร้างบ้านพักเพื่อให้บริการนักท่องเที่ยวได้กลายเป็นประเด็นปัญหาความมั่นคงของชาติในทัศนะของเจ้าหน้าที่หน่วยงานรัฐ กล่าวคือ แม้พื้นที่รอบข้างที่อยู่อาศัยและที่ทำกินของชาวบ้านจะอยู่ภายใต้เขตป่าสงวนแม่ริม ซึ่งมีสำนักจัดการทรัพยากรป่าไม้ที่ 1 (เชียงใหม่) เป็นหน่วยงานรับผิดชอบหลัก แต่ในทางปฏิบัติแล้วการสั่งการและสนธิกำลังของเจ้าหน้าที่เพื่อเข้าไปดำเนินการเอาผิดกับชาวบ้านที่ทำบ้านพักนักท่องเที่ยวแต่ละครั้งที่ผ่านมา เป็นการดำเนินการภายใต้กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายใน (กอ.รมน.) จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งมีผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่เป็นผู้อำนวยการหรือประธาน มีหน่วยงานทั้งฝ่ายทหาร ตำรวจ ปกครอง ป่าไม้ และอื่นๆ ร่วมกันทำงาน  ขณะที่ในส่วนของการฟ้องร้องทางกฎหมายเพื่อดำเนินคดีกับชาวบ้านที่เป็นเจ้าของสิ่งปลูกสร้างบ้านพักนักท่องเที่ยวก็ยังไม่มีน้ำหนักและหลักฐานเพียงพอ เพราะชาวบ้านไม่ได้บุกรุกพื้นที่เขตป่าสงวน แต่เป็นการทำประโยชน์ในที่ดินของตนเอง ประการสำคัญคือแผนที่และข้อมูลที่เจ้าหน้าที่มีอยู่ในมือนั้นยังมีความคลาดเคลื่อนและไม่ถูกต้องอยู่มาก ชาวบ้านจึงมิอาจยอมรับได้ แต่พยายามต่อสู้เรียกร้องเพื่อความเป็นธรรมอยู่ ทางออกในการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งระหว่างเจ้าหน้าที่กับชาวบ้านจึงยังคงดูเป็นเรื่องยากอยู่

มุมมองทางวิชาการ

            ในแง่มุมทางวิชาการ นักนิเวศวิทยาการเมืองมองพื้นที่ป่าไม้และที่ดินบนที่สูงว่าเป็นพื้นที่ของการขยายปริมณฑล (territorialization) ของอำนาจรัฐเข้าไปยังพื้นที่ทางกายภาพ ด้วยการแสวงหาประโยชน์จากการสัปทานป่าในอดีตมาเป็นการประกาศเขตพื้นที่อนุรักษ์ด้วยการตรากฎหมายขึ้นมาบังคับใช้ เพราะผลพวงของวิธีคิดที่รับมาจากตะวันตกที่ว่าพื้นที่ป่าต้องปราศจากคน กำหนดให้วิถีการผลิตของผู้คนและพืชที่ปลูกบนภูเขาเป็นสิ่งที่ละเมิดต่อกฎหมายของรัฐ จำแนกความเป็นกลุ่มคนในสังคม (racialization) เป็นคนเมืองและคนป่า ตามมาด้วยมายาคติว่าคนป่าเป็นคนอื่น เป็นคนป่าเถื่อนและผู้ละเมิดกฎหมาย นำมาซึ่งความขัดแย้งระหว่างคนในเมือง(และเจ้าหน้าที่รัฐ)กับคนบนภูเขาในมิติของทรัพยากรธรรมชาติ ตามมาด้วยการใช้กฎหมายและความรุนแรงต่อกลุ่มชาติพันธุ์บนพื้นที่สูง เป็นการทำสงครามของเจ้าหน้าที่รัฐเพื่อปกป้องผืนป่าของแผ่นดิน ซึ่งเป็นประเด็นความมั่นคงของชาติ  ดังนั้น ในระดับของปรากฏการณ์ในพื้นที่ จึงไม่แปลกที่ครั้งแล้วครั้งเล่าเจ้าหน้าที่รัฐจากหลายหน่วยงานสนธิกำลังกัน พร้อมอาวุธสงครามครบมือ พยายามเข้าไปรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างบ้านพักรับนักท่องเที่ยวและยึดที่ดินของชาวบ้านคืนเพื่อฟื้นฟูเป็นพื้นที่ป่า ดังกรณีของม่อนแจ่มที่นำเสนอแล้วข้างต้น เป็นปฏิบัติการภายใต้นโยบายทวงคืนผืนป่าของรัฐบาล คสช. และกฎหมายป่าไม้ที่มีการปรับปรุงขึ้นใหม่ซึ่งมีความเข้มงวดมากขึ้น การที่เจ้าหน้าที่รัฐมีวิธีคิด นโยบายและการบังคับใช้กฎหมายอันปราศจากการมีส่วนร่วมของภาคประชาชน แทนที่จะนำมาซึ่งการสยบยอมของชาวบ้าน กลับยิ่งเพิ่มปัญหา ความเดือดร้อนและเป็นการสุมไฟให้ชาวบ้านลุกขึ้นมาต่อต้านด้วยวิธีการที่รุนแรงมากขึ้น เพราะความพยายามของชาวบ้านในการพึ่งกระบวนการยุติธรรมทางกฎหมายและการเจรจาเพื่อปรับเปลี่ยนวิธีคิดและนโยบายของรัฐนั้นแทบจะเป็นไปไม่ได้เลยในยุคปัจจุบัน

เอกสารอ้างอิง

ฉัตรแก้ว สิมารักษ์. 2546. แหล่งท่องเที่ยวในพื้นที่โครงการหลวง. กรุงเทพฯ: ศิริวัฒนา อินเตอร์พริ้นท์.

กองพัฒนาเกษตรที่สูง. 2545. คู่มือไกด์ท้องถิ่น: เรื่อง แหล่งท่องเที่ยวในพื้นที่โครงการหลวง. เชียงใหม่: กองพัฒนาเกษตรที่สูง สำนักปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์.

ชัช พงษ์ศิวัฒม์. 2546. การพัฒนาศักยภาพการให้บริการและการเพิ่มพูนปริมาณธุรกิจท่องเที่ยวของสถานีเกษตรหลวงอินทนนท์. รายงานการวิจัย ประจำปี 2555. เชียงใหม่: มหาวิทยาลัยแม่โจ้.

[พุทธวรรณ ขันต้นทอง. 2555. โครงการพัฒนาเพื่อการส่งเสริมการท่องเที่ยวฤดูร้อนเส้นทางท่องเที่ยว ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงห้วยลึก พิพิธภัณฑ์โรงงานหลวงที่ 1 (ฝาง) สถานีเกษตรหลวงอ่างขาง และศูนย์พัฒนาโครงการหลวงหนองเขียว. รายงานการวิจัยฉบับสมบูรณ์ ประจำปี 2555. เชียงใหม่: วิทยาลัยศิลปะ สื่อ และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยเชียงใหม่.

มหาวิทยาลัยเกริก. 2546. โครงการศึกษาจัดทำแผนแม่บทเพื่อพัฒนาการท่องเที่ยวในพื้นที่โครงการหลวง. มหาวิทยาลัยเกริก.

ทัศนี ศรีมงคล. 2546. วัฒนธรรมของชุมชนโครงการหลวง. กรุงเทพฯ: ศิริวัฒนา อินเตอร์พริ้นท์. [1]  ประสิทธิ์ กาบจันทร์ นิคม วงศ์นันตา และวิทยา เจริญอรุณวัฒนา. 2548. แนวคิดการท่องเที่ยวเชิงเกษตรของประชาชนบ้านแม่สาใหม่ ตำบลโป่งแยง อำเภอแม่ริม จังหวัดเชียงใหม่. รายงานผลการวิจัย มูลนิธิโครงการหลวง.

Anan Ganjanapan. 1996. “The Politics of Environment in Northern Thailand: Ethnicity and Highland Development Programs”, in Seeing Forest for Trees: Environment and Environmentalism in Thailand, Philip Hirsh (ed.), pp. 202-222. Chiang Mai: Silkworm Books.

Vandergeest, Peter and Nancy Lee Peluso. 1995. “Territorialization and State Power in Thailand”, Theory and Society 24: 385-426.

Vandergeest, Peter. 1996. “Mapping Nature: Territorialization of Forest Rights in Thailand”, Society and Natural Resources 9:159-175.

Vandergeest, Peter and Nancy Lee Peluso. 2006. “Empires of Forestry: Professional Forestry and State Power in Southeast Asia, Part 1”, Environment and History 12: 31–64.

Chusak Wittayapak. 2008. “History and geography of identifications related to resource conflicts and ethnic violence in Northern Thailand”, Asia Pacific Viewpoint 49(1): 111-127.

Vandergeest, Peter. 2003. “Racialization and Citizenship in Thailand Forest Politics”, Society and Natural Resources 16: 19-37.

Peluso, Nancy Lee and Peter Vandergeest. 2011. “Political Ecologies of War and Forests: Counterinsurgencies and the Making of National Natures”, Annals of the Association of American Geographers, 101(3): 587–608.