เซอ โปก คือ หนึ่งในพิธีที่ผู้เฒ่าผู้มีวิชาอาคมของชุมชนชาวลเวือะจะทำการเสี่ยงทายให้กับคนเข้าพิธี โดยส่วนมากมักเป็นเรื่องเหมาะเคราะห์ร้ายเกี่ยวกับคราวต้องเจ็บป่วย เซอ โปก ถูกทำสืบทอดกันมาอย่างยาวนาน จนคล้ายกลายเป็นส่วนหนึ่งของความเชื่อและวัฒนธรรมของชุมชน

ในครั้งหนึ่ง ผู้เขียนเคยมีอาการป่วยที่ไม่สามารถทราบสาเหตุได้ เริ่มจากมีอาการปวดท้อง รู้สึกเหมือนในท้องเต็มไปด้วยของหนัก ๆ ทับอยู่ ขยับตัวยากหายใจลำบาก นอนพักเป็นวัน ๆ ก็ยิ่งทรุดมีอาการอ่อนเพลียไร้เรี่ยวแรง จนไม่สามารถนอนหงายหรือลุกไปไหนทำอะไรด้วยตัวเองได้ เป็นอย่างนี้ต่อเนื่องจนทำให้ต้องหยุดเรียนถึง 3 วัน เพราะต้องสลับไปมาอยู่กับบ้านและโรงพยาบาล (รพสต.) ตอนแรกคิดว่าเป็นแค่อาการปวดท้องตามปกติ เหมือนที่หมอแจ้งให้กินยาตรงเวลาแล้วจะหาย แต่พอนานไปอาการแย่ลงเรื่อย ๆ จนทุกคนในบ้านเป็นห่วงและขอพาตัวไปทำพิธีเซอโปก
แต่ด้วยความที่เราเป็นคนไม่เชื่อ จึงขอดื้อและเลือกที่ยังทานยาเพื่อระงับอาการ แต่เมื่อไม่มีวี่แววดีขึ้นเลย และถ้าหากปล่อยไว้คงไม่ดีแน่ ที่บ้านจึงเห็นตรงกัน ว่าต้องมีการเซอโปกเพื่อหาสาเหตุอาการป่วยได้แล้ว จึงเชิญผู้เฒ่ามาทำพิธี ผู้เฒ่ามาถึงก็สั่งให้คุณแม่เอาเสื้อของเราที่ไม่ใส่แล้วออกมา 1 ตัว พร้อมตักข้าวสารในบ้านมา 1 แก้ว จากนั้นจะให้เราถ่มน้ำลายใส่เสื้อ เพื่อให้แกนำกลับไปเพื่อทำพิธีเสี่ยงทาย
เซอ โปก หรือพิธีเสี่ยงทายจะทำขึ้นที่บ้านของผู้เฒ่า ท่ามกลางบรรยากาศแสนเงียบ มีแต่เสียงพูดคุยไร้เสียงดนตรี ในพิธีไม่มีการเซ่นไหว้ใด ๆ มีเพียงแก้วน้ำ 1ข้าวสารและเสื้อ โดยทราบจากการสอบถามผู้เฒ่าว่าพิธีนี้ เราจะทำตอนไหนเวลาใดได้ทั้งนั้น ขึ้นอยู่กับความรุนแรงของอาการ วิธีการดูเหมือนจะง่ายมาก คือ เริ่มจากการตั้งคำถาม แล้วหยิบเมล็ดข้าวสารออกมานับ ในครั้งแรกผู้เฒ่าท่องคาถาแล้วถามลมว่า
“หากอาการนี้เกิดจากโรคภัยที่ควรหาย ขอให้นับเม็ดข้าวออกมาเป็นคู่”
จากนั้นจะทำแบบเดียวกันไปอีกรวม 3 ครั้ง และต้องเหมือนกันเป็นเลขคู่หรือคี่เท่านั้น จึงเป็นการยืนยันคำตอบว่าใช่ โดยของเราสองครั้งแรกผ่านไป ข้าวสารออกมาเป็นคู่ แต่ครั้งที่ 3 ปรากฏว่า ข้าวสารดันกลับไม่ออกมาเป็นคู่ จึงต้องทำการเสี่ยงทายใหม่ ในครั้งนี้ผู้เฒ่าเปลี่ยนคำถาม
“หากการเจ็บป่วยนี้ มีสาเหตุมาจากภูตผีวิญญาณ ให้นับข้าวสารออกมาเป็นคี่”
แม้ว่าการนั่งนับเมล็ดข้าวนั้นยากแล้ว แต่การทำใจให้เชื่อว่าทั้ง 3 ครั้งที่ผู้เฒ่านับ ตัวเลขออกมาเป็นคี่หมดมันยากกว่า ผู้เฒ่าใช้เวลาไปกับการหลับตา ปล่อยเวลาผ่านไปโดยไม่มีคำพูด ความเงียบซึ่งเงียบมากอยู่แล้วกลายเป็นวังเวง เสียงเดียวที่ดังเป็นเสียงเต้นของใจระลึก ซึ่งไม่รู้ว่าหลังจากนั้นจะต้องเจอกับอะไร มันคล้ายกับเราเฝ้ารอการกลับมาของไฟฟ้าที่ดับลงชั่วขณะในหมู่บ้านกลางป่า

ผู้เฒ่าบอกทุกคนในพิธีว่า สาเหตุการป่วยครั้งนี้ มีที่มาจากตอไม้หลังบ้าน ซึ่งเป็นที่สถิตของภูตผีวิญญาณ จึงใช้ให้คนที่บ้านไปขุดเอาตอไม้นั้นออก สำคัญสุดคือต้องขุดขึ้นมาอย่าเหลือราก ผู้เฒ่าย้ำให้ขุดไม่ใช่แค่เพียงตัด เพื่อเป็นการถอนอาการให้โรคที่เป็นค่อย ๆ คลาย ถึงตรงนี้มีพ่อกับพี่ชายของเรารับอาสาไปทำให้ พ่อเคยเล่าให้ฟังถึงตอนนั้นในทำนองไม่ได้สนใจสิ่งที่ทำลงไป ว่าทำทำไมหรือเพราะอะไร แต่หากมันช่วยลูกสาวของพ่อได้พ่อก็พร้อมจะทำ
หลังจากนั้น อาการป่วยของเราเริ่มดีขึ้น เรื่องราวเหมือนจะจบแต่ก็ไม่ เพราะมารู้ภายหลัง ถึงชนิดของตอที่ถูกขุดออกไปนั้น เป็นตอของต้นไม้ชนิดเดียวกับที่ชาวบ้านนับถือ คือต้นไทร ซึ่งชาวบ้านเชื่อกันว่า ไม่ควรไปตัดโดยที่ยังไม่ได้รับอนุญาต และขาดการทำพิธีขอขมาอย่างถูกต้อง เพราะต้นไทรเป็นต้นไม้ที่มีสิ่งศักดิ์สิทธิ์สิงสถิตย์ปกปักรักษาอยู่ แล้วในหมู่บ้านที่เราอาศัยในทุกปีจะมีการทำพิธี ‘โนกตะตู’ เพื่อบูชาต้นไทร โดยต้องใช้หมู กับต้มไก่ถวาย เพื่อแสดงถึงความเคารพ และมอบสิ่งที่พอมีนี้กำนัลให้กับการทำหน้าที่ช่วยคุ้มครองหมู่บ้าน เพราะลเวือะแถบนี้เชื่อกันว่า สิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่สถิตอยู่ในต้นไทร เป็นทั้งผู้ปกปักรักษาดูแลคนในหมู่บ้าน พร้อมคอยช่วยสอดส่องดูแลให้การเพาะปลูก ผลผลิตและการเก็บเกี่ยวทุกฤดูราบรื่น
ไม่ใช่แค่นั้น ครั้งไหนหรือเมื่อไหร่ที่เกิดภัยธรรมชาติขึ้น ผู้เฒ่าทั้งหลายจะพากันไปเสี่ยงทายที่ต้นไทร แล้วถือเอาผลการเสี่ยงทายนั้นเป็นคำแนะนำ เพราะถือว่าต้นไทรเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่มีอำนาจ สูงสุดในบรรดาภูตผีทั้งหลาย
แม้ในมุมมองของเราจะเข้าใจไปเองว่า พิธีกรรมนี้เป็นเพียงวัฒนธรรมสำหรับคนแก่และผู้มีความเชื่อเรื่องภูตผีวิญญาณเพราะการเจ็บป่วยในยุคนั้น แต่เรื่องราวนี้สะท้อนให้รู้สึกอย่างตรงไปตรงมาได้ ถึงความสำคัญของทรัพยากรธรรมชาติ อย่างน้อยก็ทำให้เห็นว่าเราควรอนุรักษ์ป่าไม้ มากกว่าจะตัดทำลาย เพราะสุดท้ายต่อให้ไม่เชื่อก็ต้องขอบคุณ ที่เพียงแค่ตอที่ยังหลงเหลือของต้นไม้ก็สามารถช่วยให้เราหายจากความเจ็บป่วยครั้งหนึ่งในชีวิตได้
__________________________________
บทความนี้เป็นส่วนหนึ่งของกิจกรรม อบรมเยาวชนนักสื่อสารชนเผ่าพื้นเมือง ซึ่งจัดขึ้นที่ บ้านละอูบ ต.ห้วยห้อม อ.แม่ลาน้อย จ.แม่ฮ่องสอน โดย TKN – เครือข่ายเด็กและเยาวชนต้นกล้าชนเผ่าพื้นเมือง
เรียบเรียงโดย: ปริตา งามจิตเจริญ